"สิทธิบัตรยา" : ค้ากำไร หรือ ค่าชีวิตคน?

 

ที่มา www.localtalk2004.com

เรื่องโดย สิริลักษณ์ ศรีประสิทธิ์

 

 

 "ข้อบังคับเรื่องสิทธิบัตร" ที่กำลังเป็นหัวข้อเจรจาในการทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทยและสหรัฐฯ อยู่ในขณะนี้ หากข้อบังคับดังกล่าวบรรลุผลจะส่งผลให้เกิดการจำกัดการแข่งขัน และลดทอนโอกาสในการเข้าถึงยาราคาไม่แพงในประเทศไทย ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นภัยคุกคามต่ออนาคตของโครงการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยโรคเอดส์ในไทย และอาจรวมถึงยาตัวอื่นๆ ที่ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ ด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง ฯลฯ

 

ปัจจุบัน ยาราคาไม่แพงต่างก็อาศัยยาชื่อสามัญ (Generic drug) ที่ผลิตขึ้นแทนยาต้นตำรับ (Original drug) แต่หากข้อบังคับเรื่องสิทธิบัตรดังกล่าวถูกใช้ จะส่งผลให้ประชาชนนับแสนนับล้านคนขาดโอกาส หรือเข้าไม่ถึงการดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพได้ เนื่องจากติดสิทธิบัตรยาของบรรดาบริษัทต่าง ๆ ไม่เพียงเท่านั้นข้อบังคับยังใช้ครอบคลุมไปถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่มีเนื้อหาเข้มงวดและผูกมัดเกินกว่ามาตรฐานที่ได้ตกลงไว้ในองค์การการค้าโลก (WTO) ด้วย

 

แต่สำหรับประเทศอินเดีย ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ผลิตยาราคาถูกแหล่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยการผลิตยาชื่อสามัญราคาถูกในอินเดียกว่า 67% ถูกส่งไปใช้ในประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ขณะนี้กำลังต่อสู้กับบริษัทยาที่ถูกรัฐบาลอินเดียปฏิเสธการยื่นขอสิทธิบัตรยา บริษัทยาจึงยื่นฟ้องดำเนินคดีกับรัฐบาลอินเดียที่ยืนเคียงข้างประชาชนของตน และรักษาไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงยาและการรักษาที่จำเป็นต่อชีวิต มากกว่าเงินและผลกำไร

 

นี่จึงเป็นบทเรียนสำคัญแก่รัฐบาลไทย และรัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาได้หันมาศึกษา และหันมาดูแลประชาชน แม้ว่าต้องเดินหน้าชนกับบริษัทยาก็ตาม!

 

 

อินเดีย ปะทะ โนวาร์ติส

ประชากรกว่า 100,000 คนทั่วโลกมีชีวิตอยู่ได้ด้วยยาราคาถูกที่ผลิตจากประเทศอินเดีย ซึ่งกฎหมายของประเทศอินเดียมุ่งเน้นช่วยชีวิตผู้คนที่สำคัญมากไปกว่าเรื่องของสิทธิบัตร แต่บริษัทโนวาร์ติส (Novartis) กลับกำลังฟ้องร้องรัฐบาลอินเดียเพื่อให้มีการแก้ไขกฎหมายสำคัญนี้

 

ในอินเดีย บริษัทโนวาร์ติสขายยากลีเวค (Gleevec) ในราคา 2,500 เหรียญสหรัฐ (120,000 รูปี) ต่อผู้ป่วยต่อเดือน แต่บริษัทยาชื่อสามัญของอินเดียสามารถขายได้ในราคา 175 เหรียญสหรัฐ (8,000 รูปี) ต่อผู้ป่วยต่อเดือนเท่านั้นเอง ซึ่งยารักษาโรคมะเร็ง หรือกลีเวคนี้ เป็นยารักษาโรคมะเร็งในเลือด หรือลูคิเมีย ผลิตและจำหน่ายไปทั่วโลก โดยบริษัทโนวาร์ติสของสวิตเซอร์แลนด์ และบริษัทยาในอินเดีย อาทิ Cipia, Hetero, Natco และ Ranbaxy

 

ยากลีเวคเป็นยาที่ได้สิทธิบัตรในประเทศไทยเช่นกัน ราคาขายในโรงพยาบาลของรัฐ ขนาด 100 มิลลิกรัม เม็ดละ 1,000 บาท ส่วนราคาขายในโรงพยาบาลเอกชนเม็ดละ 1,300 บาท ส่วนขนาด 400 มิลลิกรัม ราคาขายอยู่ที่ขวดละ 109,000 บาท หนึ่งขวดมี 30 เม็ด เม็ดละประมาณ 3,600 บาท ผู้ป่วยต้องกินทุกวันวันละ 1 เม็ด ดังนั้นผู้ป่วยคนไทยจะต้องเสียค่ายา 109,000 ต่อเดือน ขณะที่ราคาชื่อสามัญในอินเดียเม็ดละ 30 บาท

 

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2549 บริษัทโนวาร์ติส ซึ่งเป็นบริษัทยาจากสวิตเซอร์แลนด์ได้ยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีกับสำนักงานสิทธิบัตรของอินเดีย ฐานปฏิเสธคำขอสิทธิบัตรยารักษามะเร็ง Imatinib Mesylate หรือในชื่อทางการค้า กลีเวค (Gleevec) ต่อสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาและท้าทายกฎหมายสิทธิบัตรของอินเดีย

 

ด้านผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ อินเดีย กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสาธารณสุขประชาชนของอินเดีย และองค์กรหมอไร้พรมแดน (MSF) ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณกุศลด้านการแพทย์นานาชาติ ก็กำลังเรียกร้องให้บริษัทโนวาร์ติสถอนฟ้องคดีทันที โดยมีประชาชนหลายแสนคนจาก 150 ประเทศทั่วโลกร่วมลงชื่อออนไลน์ในครั้งนี้ด้วย (ร่วมลงชื่อคัดค้านการยื่นฟ้องรัฐบาลอินเดียได้ที่ http://www.msf.org/petition_india/international.html )

 

การผลิตยาชื่อสามัญ (มีราคาถูกกว่ายาที่ติดสิทธิบัตรอยู่มาก) ในอินเดีย เพราะรัฐบาลมีการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร หรือ Compulsory License (CL) เป็นมาตรการหนึ่งในกฎหมายสิทธิบัตรที่เกิดขึ้นตามความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา (Trade-related Aspects of Intellectual Property - TRIPS) ขององค์การการค้าโลก ถือเป็นเครื่องมือของรัฐที่จะถ่วงดุลระหว่างเจ้าของสิทธิบัตรกับประชาชนผู้บริโภค

โดยรัฐมีสิทธิจะไปนำของที่มีความจำเป็นยิ่งต่อชีวิต เช่นยาที่ติดสิทธิบัตรมาผลิตเองและขายในราคาถูกหรือให้ฟรีแก่ประชาชน หากยังผลิตไม่ได้ก็สามารถให้ประเทศอื่นที่มีความสามารถผลิตแทนได้ โดยรัฐต้องจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสมให้บริษัทเจ้าของสิทธิบัตรด้วยเช่นกัน

 

 

"สิทธิบัตร" ผูกขาดชีวิตคน?

กระทรวงสาธารณสุขของไทยก็เคยประกาศใช้มาตรการนี้เช่นกัน ซึ่งเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วในการผลิตยาต้านไวรัส เอฟาไวแรนซ์ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสเอชไอวี และยาเอฟฟาไวแรนซ์ที่สั่งผลิตจากอินเดียโดยใช้มาตรการนี้และจะมาถึงไทยในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้ ทำให้ยาดังกล่าว ที่ปกติแล้วสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซื้อจากบริษัทเม็ดละ 73 บาท แต่หากใช้มาตรการบังคับใช้สิทธินำเข้าจากอินเดียราคาจะลงไปอยู่ที่ 6-12 บาทต่อเม็ด ซึ่งจะทำให้รัฐบาลไทยประหยัดงบประมาณได้มากถึง 50-80%

 

ขณะที่ยาต้านไวรัสคาเร็ทตรา (kaletra) นั้น ราคาขายปกติอยู่ที่ 11,580 บาท/คน/เดือน เมื่อประเทศไทยเริ่มใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิอย่างจริงจัง บริษัทก็ติดต่อลดราคาลงเหลือ 5,900 บาท/คน/เดือน อย่างไรก็ตาม หากใช้มาตรการนี้นำเข้าจากอินเดียราคาจะอยู่ที่ประมาณ 4,000/คน/เดือน

 

ย้อนกลับไปยัง บริษัทโนวาร์ติสที่ยื่นขอสิทธิบัตรในอินเดียและได้สิทธิผูกขาดชั่วคราวเมื่อปี 2541 โนวาร์ติสยื่นขอสิทธิบัตรยากลีเวคที่สำนักงานสิทธิบัตรที่เมืองเชนไนน์ในรัฐทมิฬนาดูล

 

ในขณะนั้นอินเดียยังไม่ให้สิทธิบัตรกับยาดังกล่าวจนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2546 โนวาร์ติสได้รับสิทธิผูกขาดตลาด เป็นเวลา 5 ปีตามบทเฉพาะกาลของกฎหมายสิทธิบัตรฉบับเก่าของอินเดีย การให้สิทธิผูกขาดตลาดเป็นไปตามความผูกผันตามข้อตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS) ขององค์การการค้าโลก สำหรับประเทศที่ไม่ได้ให้สิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ก่อนปี 2548

 

ตั้งแต่ปี 2548 เมื่อสำนักงานสิทธิบัตรของอินเดียเริ่มพิจารณาคำขอสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์ สิทธิผูกขาดจะถูกแทนที่โดยสิทธิบัตร (ในกรณีที่คำขอจดสิทธิบัตรผ่านการพิจารณา) หรือถูกยกเลิก (ในกรณีที่คำขอสิทธิบัตรนั้นตกไป) ซึ่งในประการหลังเป็นกรณีของยากลีเวคที่คำขอจดสิทธิบัตรยาไม่ผ่านการพิจารณา

แต่การเข้าถึงยากลีเวคของผู้ป่วยมะเร็งได้รับผลกระทบ จากสิทธิผูกขาดตลาด (Exclusive Marketing Rights-EMR) ทำหน้าที่ผูกขาดเช่นเดียวกับสิทธิบัตร คือขัดขวางไม่ให้บริษัทชื่อสามัญต่าง ๆ ในอินเดียไม่สามารถผลิตยาชื่อสามัญของกลีเวคได้ บริษัทเหล่านี้ถูกบังคับให้เก็บสินค้าออกจากตลาดทั้งในอินเดียและประเทศต่าง ๆ

 

 

ยกเลิกสิทธิบัตร ต่อชีวิตคน!

กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งได้ยื่นคัดค้านการจดสิทธิบัตรปี 2548 อินเดียแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรโดยผูกพันตามข้อตกลง TRIPS เต็มที่ ขณะเดียวกันคำขอสิทธิบัตรของโนวาร์ติสก็เริ่มเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานสิทธิบัตรในเมืองเชนไนน์ กฎหมายสิทธิบัตรของอินเดียเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปยื่นคัดค้านคำขอฯ ก่อนที่จะออก ดังนั้น สมาคมผู้ป่วยโรคมะเร็งของอินเดียได้ยื่นคัดค้านในนามของผู้ป่วยมะเร็งต่อสำนักงานสิทธิบัตรเมืองเชนไนน์เพื่อคัดค้าน

 

ต่อมา สำนักงานสิทธิบัตร เมืองเชนไนน์ปฏิเสธคำขอสิทธิบัตรในยากลีเวคเดือนมกราคม 2549 สำนักงานสิทธิบัตรเมืองเชนไนน์ ปฏิเสธคำขอสิทธิบัตรในยากลีเวค เนื่องจากเป็นเพียงรูปแบบใหม่ของยาเก่าเท่านั้น คำตัดสินของสำนักงานสิทธิบัตรเมืองเชนไนน์ ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งหลายพันคนให้สามารถเข้าถึงยาราคาถูกได้ แทนที่จะถูกยกเลิกสิทธิผูกขาดไปจนถึงปี 2561 และมีผลยกเลิกสิทธิผูกขาดตลาดทันที

 

นอกจากนี้ คำตัดสินของสำนักงานสิทธิบัตรเมืองเชนไนน์ยังเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญสำหรับการพิจารณาสิทธิบัตรยาของอินเดียนับจากนี้ว่า คำขอสิทธิบัตรที่ไม่ใช่โมเลกุลใหม่จะไม่ได้รับการพิจารณา ซึ่งมียาชื่อการค้าอีกหลายตัวอยู่ในขั้นตอนการพิจารณารวมทั้งยาต้านไวรัสเอชไอวี/เอดส์

 

โนวาร์ติส ท้าทายคำตัดสินของสำนักงานสิทธิบัตรและกฎหมายสิทธิบัตรของอินเดีย วันที่ 17 พฤษภาคม 2549 บริษัทโนวาร์ติส ยื่นฟ้องศาลสูงเมืองเชนไนน์ 2 คดี คดีแรก ฟ้องเพิกถอนคำตัดสินสำนักงานสิทธิบัตร เมืองเชนไนน์ ที่ปฏิเสธคำขอสิทธิบัตรยากลีเวค โดยคดีนี้ทนายความของสมาคมผู้ป่วยโรคมะเร็งอินเดียจะต้องขึ้นให้การในศาล ฐานะที่เป็นผู้คัดค้านคำขอสิทธิบัตร

 

การที่โนวาร์ติสท้าทายต่อคำตัดสินของสำนักงานสิทธิบัตรครั้งนี้ ทำให้เกิดความวิตกกังวลต่อผู้ป่วยมะเร็งว่า จะเกิดภาวะขาดยากลีเวคที่เป็นชื่อสามัญในตลาด และยังทำให้ผู้ป่วยโรคอื่น ๆ กังวลว่าจะกระทบต่อยาตัวอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสิทธิบัตร 4 แห่งของอินเดีย เนื่องจากคำตัดสินในกรณีของยากลีเวค สร้างบรรทัดฐานที่สำคัญกับการพิจารณาสิทธิบัตรยา

 

คดีที่สอง บริษัทโนวาร์ติสฟ้องว่ากฎหมายสิทธิบัตรของอินเดีย ในมาตรา 3 (d) ไม่เป็นไปตามข้อตกลง TRIPS ฉะนั้นจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งตามมาตรา 3 (d) ของกฎหมายสิทธิบัตรของอินเดีย - มาตรการป้องกันด้านสาธารณสุขที่สำคัญ มาตรานี้มีเจตนารมณ์ที่จะป้องกันมิให้บริษัทยาได้สิทธิบัตรในยาที่มีการพัฒนาเพียงเล็กน้อย หรือมีข้อบ่งใช้ใหม่ในตัวยาเก่า

 

เมื่ออินเดียปฏิบัติตามข้อตกลง TRIPS ด้วยให้สิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ในปี 2548 อินเดียได้บรรจุมาตรการป้องกันที่สำคัญที่จะปฏิเสธคำขอสิทธิบัตรในรูปแบบใหม่ของตัวยาเก่าหรือข้อบ่งใช้ใหม่ ในกฎหมายสิทธิบัตรของอินเดียไม่ถือว่านั่นเป็นนวัตกรรมใหม่ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ชัดเจนว่า เป็นขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นจริง ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลง TRIPS ที่ไม่นิยามว่าอะไรคือการประดิษฐ์ใหม่ โดยอนุญาตให้สมาชิกขององค์การการค้าโลกไปพิจารณาอย่างอิสระถึงวิธีการที่เหมาะสมในทางปฏิบัติ

 

ยิ่งไปกว่านั้น คำประกาศโดฮา ยังระบุให้การปฏิบัติตามข้อตกลง TRIPS จะต้องมีมาตรการที่ทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงยาและมาตรา 3 (d) ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ว่านี้ด้วย

 

 

ชีวิตในอุ้งมือเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐ

สถานการณ์โลกปัจจุบัน ปัญหาใหญ่ที่ชาวโลกในแถบประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนกำลังประสบอยู่ คือการเข้าไม่ถึงยาของประชาชน จึงเป็นเหตุให้สมาชิกองค์การการค้าโลกจึงร่วมกันออก ปฏิญญาโดฮา เพื่อเป็นมาตรการสำคัญในการลดอุปสรรคต่อการเข้าถึงยาของประชาชน นั่นคือ มาตรการบังคับใช้สิทธิในการผลิตยาได้ในราคาถูก และการนำเข้าซ้อนเพื่อให้ชาวโลกที่สามสามารถมียาที่จำเป็นต้องใช้ได้ทันสถานการณ์

 

ทั้งนี้ สิทธิเหล่านี้จะหมดไปทันที ถ้าไทยมีการตกลงทำเขตการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกา รวมถึงการขยายอายุของสิทธิบัตรออกไปอีก 5 ปี โดยอ้างว่าเป็นการชดเชยความล่าช้าของการดำเนินการให้สิทธิบัตร ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศ การผลิตยาชื่อสามัญขึ้นมาแข่งขันจะทำไม่ได้ เพราะต้องรออีก 25 ปี จึงจะสามารถผลิตยาออกจำหน่ายได้ ในทางธุรกิจการรอให้ยาหมดสิทธิบัตร ในขณะที่ผู้คนเคยชินกับการใช้ยาแบรนด์เนม (brand name/trade name) นั้น ๆ มานานถึง 25 ปี จึงมีคู่แข่งผลิตยาชื่อสามัญออกมาสู้หลังหมดสิทธิบัตร พบว่าไม่คุ้มไม่จูงใจ นักธุรกิจหันไปทำธุรกิจอื่นดีกว่า นั่นจึงจะส่งผลระยะยาวต่อความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศในการพึ่งตนเองด้วย

 

หากตลาดยาถูกผูกขาดโดยการเพิ่มอายุสิทธิบัตรและผูกขาดข้อมูลตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบด้านราคา ทำให้ยาแต่ละชนิดมีราคาแพงขึ้น 0.1-1.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี(ประมาณ 4-44 ล้านบาท) ซึ่งภายในระยะเวลา 10 ปีของการผูกขาด ยาแต่ละตัวจะแพงขึ้น 13.9 -90.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 556 - 3,608 ล้านบาท)

 

จากประมาณการยาขึ้นทะเบียนใหม่เฉลี่ยปีละ 60 ชนิด จะทำให้รายจ่ายของประเทศต้องเพิ่มขึ้น 6.4-65.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อหนึ่งปี (ประมาณ 256-2,636 ล้านบาท) ของการผูกขาดทางการตลาด และหากบริษัทยาสามารถผูกขาดยาได้ถึง 10 ปี ค่าใช้จ่ายด้านยาจะสูงถึง 836.7-5,411.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(ประมาณ 33,468-216,456 ล้านบาท)

 

ปัจจุบันตัวเลขการบริโภคยาของคนไทยอยู่ที่ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 52,000 ล้านบาท ซึ่งจำนวนนี้ 53.6% เป็นการใช้ยาที่ผลิตในประเทศ

 

 

กล้า กล้า หน่อย เพื่อชีวิตคนไทย

ด้าน รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหนึ่งในสมาชิกกลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ประเด็นปัญหาขณะนี้ คือระบบสิทธิบัตรยาได้ก่อให้เกิดปัญหาอย่างมากในประเทศที่กำลังพัฒนา และด้อยพัฒนา เพราะยามีราคาที่แพงมาก รวมถึงบริษัทยายังมีลักษณะที่ผูกขาดตลาดยาอีกด้วย

 

รศ.ดร.จิราพร กล่าวเสริมว่า การใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยานี้ ที่ในประเทศไทยก็เพิ่งจะเริ่มประกาศใช้ไป หากถามว่าทำไมถึงไม่สนใจและทำมาตั้งนานแล้ว เนื่องจากมีปัจจัยหลายข้อด้วยกัน ข้อแรก การที่จะประกาศใช้มาตรการนี้ได้นั้น รัฐบาล และนักการเมืองต้องมีความกล้าหาญมาก ประกอบกับนโยบายของรัฐมนตรี ของกระทรวงก็ต้องเห็นร่วมกันด้วย เพื่อการออกกฎระเบียบ หรือกฎหมายเพื่อทำมาใช้ในการแก้ไขปัญหา

 

ข้อสอง คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นต้องอยู่ในสถานการณ์ที่รุนแรงมาก (จำเป็นต้องหาวิธีทางแก้ไข) ข้อสาม คือ ปัญหาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภายในประเทศ เรื่องของความสามารถในผลิตยาในประเทศ จนต้องประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร

 

"สำหรับประเทศไทยแล้ว สาเหตุหลักสำคัญ คือมาจากข้อแรก หรือมาจากเจตจำนงทางการเมืองของคณะรัฐบาล และรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข แต่มาตอนนี้ นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความกล้าหาญมากที่จะใช้มาตรการดังกล่าวนี้ รวมทั้งปัญหาก็รุมเร้าหนักมาก ทั้งการใช้ระบบประกันสุขภาพ ที่ต้องการให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการดูแลรักษาได้ แต่ในการบริหารจัดการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. กำลังแบกภาระเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเรื่องยาที่สูงมาก"

 

รศ.ดร.จิราพร กล่าวต่อว่า "ความสำเร็จครั้งนี้ จึงถือเป็นเรื่องดีเช่นเดียวกับที่รัฐบาลอินเดียก็ดูแลประชาชนของตน ในการประกาศใช้มาตรการบังคับสิทธิฯ ของไทยจึงเป็นก้าวย่างที่สำคัญ และคงต้องยกความสำเร็จนี้ให้กับองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ที่ร่วมมือกันในการเรียกร้อง และพยายามขับเคลื่อนเรื่องสิทธิบัตรยา ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคม เครือข่ายผู้ติดเชื้อ รวมถึงเจตจำนงทางการเมืองของรัฐบาลที่มาสอดรับร่วมกันในครั้งนี้ด้วย"

 

"ไม่เพียงแค่นี้ ต่อไปในอนาคต หากตัวแรก (ยา) สามารถทำได้ ก็น่าไม่ยากนักสำหรับตัวต่อ ๆ ไป และไม่ว่ารัฐบาลชุดใดจะขึ้นมาบริหาร จะได้ไม่มีข้อนู่นนี่ ที่แสดงความเกรงกลัวว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งหรือไปกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐอเมริกาด้วย" รศ.ดร.จิราพร กล่าวทิ้งท้าย

 

 

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะไม่ถ้วนหน้า

แนวโน้มในอนาคตสำหรับรัฐบาลอินเดีย จากแรงกดดันของบริษัทยาที่เพิ่มมากขึ้นในการเรียกร้องขอสิทธิบัตรนี่เอง อาจส่งผลต่อรัฐบาลอินเดียหันมาทบทวนนโยบายหรือกฎหมายสิทธิบัตรใหม่ เพื่อบรรเทากระแสดังกล่าวก็เป็นได้

 

"การสงวนสิทธิในการผลิตยาชื่อสามัญอาจยังคงดำเนินการต่อไปเพื่อชาวอินเดีย แต่ไม่แน่ว่ารัฐบาลอาจจะไม่สามารถส่งออก หรือจำหน่ายยาชื่อสามัญในราคาถูกนี้ไปยังประเทศกำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนาต่าง ๆ ได้อีกแล้ว ถึงเมื่อนั้น รัฐบาลไทยเองก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเพิ่มความกล้ามากขึ้น เพื่อประกาศใช้ข้อบังคับสิทธิเหนือสิทธิบัตรยากับตัวยาที่จำเป็นเพิ่มขึ้น เพื่อความอยู่รอดของคนไทย ไม่เพียงเท่านั้นรัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณเพื่อการพัฒนาศักยภาพเทคโนโลยีการผลิตยา การค้นคว้าวิจัยยาเพื่อเสถียรภาพความมั่นคงของชีวิตคนไทยมากขึ้นอีกด้วย"

 

หมายเหตุ:

TRIPS หรือ ทริบส์ ย่อมาจาก Trade Related Aspects of Intellectual Property Rights ข้อตกลงว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก ซึ่งกำหนดมาตรการคุ้มครองขั้นต่ำไว้หลายระดับ โดยที่รัฐบาลแต่ละประเทศจะต้องเลือกและใช้คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้กับประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลก ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นในการเจรจาการค้าโลก รอบอุรุกวัยในปี 2529-2537 ซึ่งเป็นรอบที่สรุปตกลงให้ก่อตั้งองค์การการค้าโลกขึ้น ข้อตกลงทริปส์มีผลบังคับใช้กับประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (หรือ WTO-World Trade Organization) ทั้งหมด

 

Doha Declaration หรือ คำประกาศโดฮา เกิดจากการเจรจาเกี่ยวกับยาและสุขภาพภายใต้องค์การการค้าโลกที่เรียกกันว่า ข้อตกลงรอบโดฮา หรือ ปฏิญญาโดฮา นั้น ประเทศสมาชิกมีความเห็นร่วมกันว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและการรักษาพยาบาลผู้ป่วย จึงได้ทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อลดอุปสรรคต่อการเข้าถึงยาของประชาชนในประเทศด้อยพัฒนา หรือกำลังพัฒนา ที่ยังไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยี หรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิตยา

 

ทำให้การใช้ มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (Compulsory License) เพื่อผลิตยา ซึ่งเป็นการลดเงื่อนไขการผูกขาดตลาดของบริษัทยาโดยการเปิดโอกาสให้ประเทศที่จำเป็นต้องใช้ยาเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุข หรือโรคระบาดร้ายแรงภายในประเทศ สามารถใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเพื่อทำการผลิตยา หรือนำเข้าซ้อนในช่วงที่ยานั้นมีสิทธิบัตรคุ้มครองอยู่ในประเทศได้ เป็นมาตรการของรัฐบาลที่อนุญาตให้เพิกถอนสิทธิบัตรได้ เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่ง (รัฐหรือเอกชน) สามารถใช้สิทธิบัตรนั้นได้ โดยจ่ายค่าชดเชยตามสมควรให้แก่ผู้ทรงสิทธิ

 

0000000000

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงการรักษา องค์การหมอไร้พรมแดน-เบลเยี่ยม (ประเทศไทย) (MSF, Campaign for Access to Essential Medicines)

 

www.ftawatch.org กลุ่มศึกษาข้อตกลงการเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA WATCH)

 

"สุขภาพประชาชนบนความเสี่ยง" เอกสารสรุปผลกระทบ ข้อตกลงการค้าเสรีของสหรัฐฯ ส่อเค้าคุกคาม การเข้าถึงยาในประเทศไทย โดย Oxfam International, เมษายน 2549

 

www.prachatai.com

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท