Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 10 ก.พ. 2550 เมื่อวันที่ 9 ก.พ. เวลา 14.00 น. เครือข่ายจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรม นำประชาธิปไตย(จคป.) แถลงข่าว ที่ห้องประชุม 1 ตึก1 ชั้น 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยนายไชยันต์ ไชยพร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นายอนันต์ เหล่าเลิศวรกุล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ นายสุรัตน์ โหราชัยกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นางสาว ประทับจิตร นีละไพจิตร นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ บุตรสาวของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน

           


เริ่มแถลงข่าวโดยนายอนันต์ อ่านแถลงการณ์ มีใจความว่าเครือข่ายจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรมฯ เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีคำสั่งโยกย้ายพ.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และแต่งตั้ง พ.ต.อ.เสรีพิสุทธ์ เตมียาเวส ดำรงตำแหน่งรักษาการแทน


 


อีกทั้งเห็นด้วยกับมติเอกฉันท์ของคณะกรรมการป.ป.ช. ที่ได้ชี้มูลความผิดของ พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ เทพจันดา อดีตผู้กำกับกองกำกับการสืบสวนกองบังคับการตำรวจนครบาล6 กับพวก กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีสั่งการให้ควบคุมหรือจับกุมกลุ่มประชาชนที่ร้องตะโกนต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่บริเวณหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิล์ดพลาซ่า เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2549


 


เนื่องจากเป็นนิมิตหมายที่ดีว่า สังคมไทยจะได้รับความยุติธรรมกลับคืนมา และสิทธิของประชาชนในฐานะที่เป็นมนุษย์และเป็นพลเมืองของประเทศไทยจะได้รับความคุ้มครองอีกครั้ง หลังจากที่ถูกทำลาย และถูกล่วงละเมิดอย่างรุนแรงในสมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร    


           


นางสาวประทับจิตร กล่าวว่า มีความยินดีที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดพ.ต.อ.ฤทธิรงค์ ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิด และเห็นว่าควรดำเนินการมากกว่าให้ออกจากราชการและโยกย้ายให้ไปรับตำแหน่งอื่น เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องรับโทษทางอาญาไม่น้อยไปกว่าประชาชนทั่วไปที่กระทำความผิดเพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้สังคมไทย


           


"เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจและมีปืนอยู่ในมือ ดังนั้น เวลากระทำผิด โทษที่ได้รับจะต้องหนักกว่าโทษที่ประชาชนทั่วไปที่ทำความผิดได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ได้รับความคาดหวังเป็นอย่างสูงจากประชาชนในการรักษาความปลอดภัย ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่มักจะถูกลงโทษเพียงทางวินัย แต่ถูกละเลยที่จะมีการลงโทษจำคุกตามความผิดทางอาญา"


 


นางสาวประทับจิตร กล่าวถึง กรณีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร ผู้เป็นบิดา ว่า แม้จะมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่ามีการกระทำผิดจริง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เคยถูกตัดสินว่าผิดแล้ว ก็ยังสามารถลับเข้าไปทำงานได้ และในระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ผู้ต้องสงสัยที่ตกเป็นจำเลยบางคนกลับได้รับรางวัล ซึ่งเมื่อร้องเรียน ก็มีเพียงการถอนรางวัลเท่านั้น


 


อย่างไรก็ตาม ทางครอบครัวนีละไพจิตร คาดหวังความจริงใจจากทุกฝ่ายที่เข้ามาเพื่อช่วยทำให้คดีนี้กระจ่างขึ้น โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผบ.ตร. ก็ตาม ทางครอบครัวก็ยังติดตามถามถึงการทำงานและความคืบหน้าของคดี เพื่อที่ผู้กระทำความผิดจะต้องมารับโทษและหากผู้มีหน้าที่ดำเนินคดี ไม่ทำหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายก็ถือเป็นความผิดทางอาญาด้วยเช่นกัน


 


นายสุรัตน์ กล่าวว่า การโยกย้ายตำแหน่ง ผบ.ตร.ครั้งนี้หวังว่าคงจะมีอะไรที่ดีกว่าเดิม ทั้งนี้ ต้องรอดูที่ผลลัพธ์ ในอนาคต เพราะการเปลี่ยนอย่างเดียวไม่ใช่ว่าจะเกิดปาฏิหาริย์ขึ้นมาได้ ที่ผ่านมา มีคดีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นจำนวนมากโดยขณะนี้ มีการรวบรวมกรณีต่างๆ จากคดีฆ่าตัดตอนแล้ว และหลังจากที่ตัวเลขชัดเจนมากขึ้นตามที่กระทรวงยุติธรรมชี้ให้เห็น ทางเครือข่ายฯ จะมีการตั้งคำถามไปยัง ผบ.ตร.คนใหม่ว่า จะจัดการอย่างไรกับกรณีนี้และความคืบหน้าจะเป็นเช่นไร ทั้งนี้ตัวเลขของกระทรวงยุติธรรม ใน 2,500 ราย มีอยู่ 1,700 รายที่ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด


 


อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าแม้จะเป็นกรณีเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการฆ่าตัดตอน เพราะวิธีการจัดการที่ถูกต้อง ต้องเป็นไปตามกฎหมายในระบบนิติรัฐซึ่งต้องผ่านการดำเนินคดีสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงตามกระบวนการยุติธรรมก่อน


 


นายสุรัตน์ กล่าวต่อไปว่า มีแหล่งข่าวของสื่อมวลชนที่เชื่อว่าการฆ่าตัดตอนมี 2 รอบด้วยกันและอาจจะมีมากกว่า 5,000 ราย ด้วยซ้ำ ทั้งนี้ต้องรอการยืนยัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้เสียหายเริ่มออกมาและแจ้งให้นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณและหน่วยงานของรัฐบางหน่วยงานได้ทราบข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร หลังจากหวาดกลัวอยู่กับระบอบทักษิณจนต้องปิดบังตัวเองไม่กล้าที่จะออกมาชี้แจงได้ซึ่งพบว่ามีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และพบว่าเยาวชนหลายคนก็ได้รับผลกระทบหลังจากที่พ่อแม่ถูกยิงเสียชีวิตจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลชุดที่แล้ว


 


นายไชยันต์ กล่าวว่า หลังป.ป.ช.ชี้มูลแล้ว ทางเครือข่ายจุฬาฯจะติดตามการอำนวยความยุติธรรมของอัยการสูงสุดว่าจะให้ความชัดเจนกรณีตำรวจทำร้ายประชาชนได้แค่ไหน และยังตั้งข้อสงสัยกรณีมีข่าวระบุว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ให้พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ ออกจากราชการไว้ก่อนแล้วให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทั้งที่ควรจะตัดสินได้แล้วว่าจะไล่ออกหรือไม่


 


อย่างไรก็ตามขณะนี้ทางเครือข่ายฯ กำลังประสานกับนาย ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และองค์กรสิทธิมนุษยชน รวมทั้งผู้ที่ถูกทำร้ายหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ คาดว่าจะไปยื่นหนังสือต่อ พ.ต.อ.เสรีพิสุทธ์ เตมียาเวส ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติในวันอังคารที่จะถึงนี้ เพื่อยืนยันว่าจะติดตามคดีต่างๆ ที่เป็นการละเมิดต่อสิทธิของประชาชน


 


นายไชยันต์ กล่าวว่า อำนาจของเจ้าหน้าที่ทุกคนควรจะต้องถูกตรวจสอบ แม้แต่การทำงานของพ.ต.อ.เสรีพิสุทธ์ ก็ต้องได้รับทั้งการตรวจสอบและแรงสนับสนุนจากสังคมด้วย อย่างไรก็ตามขณะนี้ควรจับตาดูผลของนโยบายประชานิยมของทักษิณ รวมทั้งคดีการฆ่าตัดตอน ที่พ.ต.ท.ทักษิณอ้างว่าตนเองมีความเป็นประชาธิปไตยแต่ในทางปฏิบัติกลับทำสวนทางกัน


 


000000


 



แถลงการณ์เครือข่ายจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรม นำประชาธิปไตย (จคป.)


วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550


 


เครือข่ายจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรม นำประชาธิปไตย (จคป.) เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่ พล.อ สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีคำสั่งโยกย้ายให้ พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ ไปช่วยราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี และมีคำสั่ง แต่งตั้งให้ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ


 


คำสั่งโยกย้ายและแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงสุดในสำนักงานตำรวจแห่งชาติในครั้งนี้ กับทั้งมติ เอกฉันท์ของคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งวินิจฉัยว่า พ.ต.อ. ฤทธิรงค์ เทพจันดา อดีตผู้กำกับการกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 กองบัญชาการตำรวจนครบาล กับพวกกระทำความผิดร้ายแรงต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการนั้น เป็นนิมิตที่ดีว่า สังคมไทยจะได้รับความยุติธรรมกลับคืนมา และสิทธิของประชาชนในฐานะที่เป็นมนุษย์และเป็นพลเมืองของประเทศไทยจะได้รับความคุ้มครองอีกครั้ง หลังจากที่ถูกทำลาย และถูกล่วงละเมิดอย่างรุนแรงในสมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร


 


สังคมที่สุขสงบและประสบสันติย่อมตั้งอยู่บนพื้นฐานของปัจจัยที่สำคัญหลายปัจจัย ปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งคือ ผู้มีหน้าที่ธำรงรักษ์ความสุขสงบและสันติของราษฎรอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทุ่มเทกายและใจทำงานในหน้าที่โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ยอมสยบรับใช้นักการเมืองที่ไร้คุณธรรมจรรยา


 


เครือข่าย จคป. จึงหวังอย่างยิ่งว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหลายที่มีเกียรติภูมิ ที่สัตย์ซื่อในตำแหน่งหน้าที่ ที่มีสุจริตมั่นคงในวิญญาณของตำรวจ และที่ถือประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบันมี พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้นำ จะได้เร่งสะสางคดีต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในสมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็นคดีฆ่าตัดตอนในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด คดีอุ้มฆ่าทนายความสมชาย นีละไพจิตร รวมถึงคดีต่างๆ ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงต่อสวัสดิภาพของประชาชนและต่อความมั่นคงและความเชื่อถือของประเทศ อย่างคดีเพลิงไหม้โรงเรียนจำนวนมากในภาคเหนือและภาคอีสาน และคดีลอบวางระเบิด ไม่ว่าจะเป็นระเบิดที่หน้าบ้านประธานองคมนตรี ระเบิดที่หน้าพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ระเบิดในกรุงเทพมหานครและจังหวัดนนทบุรีในช่วงปีใหม่ ระเบิดที่สำนักงานใหญ่ของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ รวมทั้งระเบิดที่ลอบวางตามสถานที่อื่นๆ อีกจำนวนมาก นอกจากนี้ ตำรวจควรใช้โอกาสนี้ ริเริ่มปรับเปลี่ยนองค์กรของตำรวจด้วยตัวตำรวจเอง เพื่อให้ตำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ต้องตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองฉ้อฉลในการกระทำผิด รวมทั้งไม่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นที่สิงสถิตของตำรวจชั่วที่ชอบลงมือกระทำผิดต่อประชาชนเสียเอง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net