Skip to main content
sharethis

โดย วิทยากร บุญเรือง


 



งานประเพณีปอยหลวง (ที่มาภาพ : http://www.lannacorner.net)


 


ประเพณีปอยหลวงนั้น คือการเฉลิมฉลองเสนาสนะที่สร้างขึ้นในวัด เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ กำแพงวัดหรือ กุฏิ เป็นต้น (ทั้งนี้ มีกำหนดขึ้นมาภายหลังด้วยว่า การจะมีปอยหลวงได้นั้น ของที่จะถวายควรจะมีราคาตั้งแต่หนึ่งแสนบาทขึ้นไป ถ้าราคาต่ำกว่านั้นก็อนุญาตให้เพียงทำบุญถวายเท่านั้น) เพื่อถวายทานให้เป็นสมบัติในพระศาสนาต่อไป


 


การที่เรียกว่า ปอยหลวง เพราะเป็นงานใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลเป็นจำนวนมาก มีกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งทางศาสนาและด้านมหรสพเพื่อความบันเทิง ทั้งยังต้องจัดการอำนวยความสะดวกด้านบริการแก่แขกต่างหมู่บ้านซึ่งจะมีทั้งสมณะและฆราวาสทุกเพศทุกวัย ทางวัดและศรัทธาเจ้าภาพต้องดูแลให้ทั่วถึง


 


ในการเตรียมงานอันดับแรกต้องมีการประชุมปรึกษาหารือระหว่างทางวัดและคณะกรรมการหมู่บ้านฝ่ายต่างๆ เพื่อแบ่งสรรหน้าที่กัน นับตั้งแต่เรื่องการพิมพ์ฎีกาแผ่กุศล งานส่วนใหญ่จะจัดเป็นหมวดหรือกลุ่มเพื่อให้ดำเนินการได้โดยสะดวก เช่น กลุ่มพ่อบ้านมีหน้าที่ทางด้านจัดสถานที่ ติดต่อประสานงานกับชุมชนอื่น กลุ่มแม่บ้านมีหน้าที่ด้านอาหารการกินที่จะใช้เลี้ยงพระสงฆ์ตลอดจนแขกเหรื่อที่จะมาร่วมงานในแต่ละวัน กลุ่มหนุ่มสาวอาจมีหน้าที่บริการยกข้าวน้ำมาเลี้ยงแขก และอาจรวมถึงการติดต่อมหรสพที่จะมาเล่นในงานครั้งนั้น ฝ่ายกลุ่มผู้เฒ่าชายส่วนใหญ่ก็จะได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ด้านศาสนพิธีและการต้อนรับแขกเหรื่อที่จะมาทำบุญร่วมกัน และกลุ่มผู้เฒ่าหญิงก็มีหน้าที่แต่งดาเครื่องไทยทาน ของใช้ที่จะใช้ในพิธีทางศาสนา สำหรับหญิงสาวจะได้รับการฝึกหัดให้เป็นช่างฟ้อนเพื่อฟ้อนรับครัวทานหรือไทยทานที่จะแห่เข้าสู่วัดในวันงาน


 


เมื่อแบ่งหน้าที่กันแล้วต่างฝ่ายก็จะไปจัดเตรียมวางแผนดำเนินงานในฝ่ายของตนตามที่ได้รับมอบหมาย แต่ละฝ่ายจะมีการประสานงานกันตลอดเวลา ส่วนแต่ละครอบครัวก็จะเตรียมตัวก็เตรียมเครื่องปัจจัยไทยทาน แต่งดา ต้นครัวทาน ซึ่งอาจทำเป็นการภายในครอบครัวหรือจัดทำร่วมกันเป็นกลุ่มก็ได้ เตรียมการต้อนรับญาติพี่น้องต่างบ้าน ซึ่งมักจะมานอนแรมเพื่อแอ่วปอยหลวงโดยเฉพาะ ทางด้านอาหารการกินบางบ้านถึงกับต้องซื้อหมูหรือวัวเป็นตัวเพื่อล้มมา"เลี้ยงดู"แขกญาติพี่น้อง ตลอดจนจัดหาที่นอนหมอนมุ้งเตรียมไว้ตามจำนวนคนที่คาดว่าจะมาเที่ยวงาน สิ่งสำคัญที่ทุกครอบครัวจะไม่ลืมคือ การจัดหาเสื้อใหม่ผ้าใหม่สำหรับทุกคนในครอบครัวที่จะใส่ไปเที่ยวงาน โดยเฉพาะเด็กและหนุ่มสาวจะคึกคักเป็นพิเศษ ดังนั้นตลาดในช่วงก่อนวันงานจะคึกคักไปด้วยผู้คนจับจ่ายสิ่งของตามความประสงค์ของตน


 


ก่อนที่จะมีงานปอยหลวงนั้น จะมีการทานตุง และช่อ (ธงสามเหลี่ยม) เสียก่อนตุงนี้จะเป็นผืนผ้าที่ ถักทอด้วยด้ายซึ่งอาจมีการประดับด้วยดิ้นสีเงิน สีทอง หรือสีอื่นๆ ที่สวยงาม บางผืนอาจทอเป็นรูป ปีนักษัตรที่ตนเกิด ความยาวของตุงประมาณ 3-4 วา และมีความกว้างประมาณ 1 ใน 16 ของความยาว ตุงนี้จะนำตุงไปปักเรียงรายกันไว้ตามถนนหนทางเข้าหมู่บ้าน ส่วนช่อหรือธงสามเหลี่ยมซึ่งหากใช้เป็นการชั่วคราวก็จะตัดด้วยกระดาษ มีความยาวขนาดประมาณ 1 ศอก กว้างประมาณ 1 คืบ ก็ถวายทานพร้อมกับการตุง การถวายทานจะทำกันในพระวิหาร พร้อมกับการตักบาตรทำบุญโดยปกติในวันสีล หรือวันธรรมสวนะ ก่อนที่จะถึงวันงานปอยหลวง ดังนั้นที่เรียงรายสลับกันอย่างสวยงามสองข้างทางจะเป็นสัญลักษณ์ให้คนที่สัญจรผ่านไปมาได้ทราบว่าวัดแห่งนั้นกำลังจะมี ปอยหลวง นอกจากจะมีการทานตุงผ้าแล้ว ทางวัดอาจจะจัดทำธงชาติและธงธรรมจักรอันเป็นสัญลักษณ์ของชาติและพระ พุทธศานา ปักตลอดแนวตามบริเวณหน้าวัด หรือทางเข้าวัดทุกด้าน


 


 



"ตุง" อีกหนึ่งสัญลักษณ์ ของงานปอยหลวง (ที่มาภาพ : http://www.lannacorner.net)


 


สิ่งพิเศษที่จะต้องจัดเตรียมก่อนที่จะมีงานปอยหลวงตามความเชื่อในโบราณประเพณี เมื่อจะมีงานพิธีต้องมีศักดิ์สิทธิ์ปกป้องคุ้มครองให้งานดำเนินไปโดยราบรื่นไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคใด ๆ ให้เดือดร้อน จึงมีการอัญเชิญพระอุปคุตมาคุ้มครองงาน พระอุปคุตนี้ได้ชื่อว่าเป็นอรหันต์ที่อาศัยอยู่ในสะดือทะเลเป็นผู้ที่สามารถปราบพระยามารที่อาจมาทำลายพิธีทำบุญนี้ได้


 


ในการอัญเชิญอุปคุตนนั้น ชาวบ้านนำขบวนแห่ไปอัญเชิญพระอุปคุตไปที่แม่น้ำแล้ว ให้ตัวแทนลงไปงมก้อนหินขึ้นมาแล้วถามคนที่รอบนฝั่งว่า"ใช่หรือไม่" เมื่อคนบนฝั่งบอกว่าไม่ใช่ก็งมหาต่อไปอีกสองสามครั้ง จนคนบนฝั่งบอกว่าใช่แล้ว ก็เชิญก้อนหินที่สมมุติว่าเป็นอุปคุตไปใส่พานที่เตรียมมาด้วย จากนั้นก็พากันแห่เพื่อนำไปไว้บนหออุปคุตที่สร้างคล้ายศาลเพียงตา หลังคามุงด้วยผ้าขาวซึ่งจะตั้งไว้ที่ข้างวิหาร บาตร กรวยดอกไม้ ธูป เทียน คนโทน้ำและสำรับอาหาร 1 สำรับ และประตูรั้วปักสัปทนแทนร่มกันแดดกันฝน และจะต้องถวายสำรับอาหารทั้งมื้อเช้า และเพล เมื่อเสร็จงานปอยหลวงแล้วก็จะมีพิธีอัญเชิญอุปคุตกลับไปสู่แม่น้ำที่นำมานั้น


 


สิ่งสำคัญที่อาจถือเป็นหัวใจของปอยหลวงคือต้นครัวทาน ซึ่งชาวบ้านที่จัดงานและชาวบ้านจากต่างหมู่บ้านจะนำมาถวายทานกันแทบทุกครอบครัว บรรยากาศที่สนุกสนานครึกครื้นที่สุดของงานคือช่วงที่มีการแห่ต้นครัวทานไปถวายวัด ในช่วงบ่ายหรือเย็นจะมีการตีกลองฆ้อง และฟ้อนที่นิยมคือฟ้อนเล็บส่วนฟ้อนอย่างอื่น เช่น ฟ้อนเงี้ยว ฟ้อนดาบ ช่างฟ้อนจะฟ้อนในบริเวณที่มีคนมุงดูครัวทานอย่างหนาแน่น อย่างบริเวณประตูวัดก่อนที่เคลื่อนจะเข้าไปในวัดหรือลานวัด ระหว่างที่แห่ต้นครัวทาน ศรัทธาเจ้าภาพอาจหงบ่านาว คือโปรยทาน(ใช้เงินเหรียญฝังไว้ในลูกมะนาว) ไปด้วยต้นครัวทานนี้อาจทำได้หลายรูปแบบตามแต่ความคิดสร้างสรรค์แต่ละคนจะคิดขึ้นมา ถ้าต้นครัวทานของใครสวยงามก็จะเป็นที่ชื่นชมของบรรดาแขกเหรื่อตลอดจนบุคคลที่จะมายืนชมกันอย่างคับคั่ง ต้นครัวทานคือจะต้องมียอด หรือเงินธนบัตรจำนวนต่าง ๆ ที่ใช้ไม้ตับหนีบไว้และเสียบที่ต้นเป็นช่อชั้นอย่างสวยงามนั้น


 


บรรยากาศในงานปอยหลวงนั้นจะคึกคักเต็มไปด้วยผู้คน ทั้งคนแก่ หนุ่มสาว เด็กเล็ก พ่อค้าแม่ค้า ศรัทธาญาติโยม ตลอดจนพระสงฆ์องคเจ้าที่มาร่วมงานตามคำเชิญของวัดเจ้าภาพ พระภิกษุที่ได้รับอารธนานิมนต์มาเป็นพิเศษเพื่อเป็นเจ้านั้น จะเป็นผู้ที่มีน้ำเสียงในการให้พรไพเราะมีโวหารที่สละสลวยเพราะจะต้องให้พรแก่ศรัทธาที่นำต้นครัวทานมาถวายทาน เจ้าพรอาจจะพรรณนาถึงความงดงามของต้นครัวทานนั้น ๆ เพื่อให้ผู้ที่นำครัวทานมาถวายทานเกิดความปลาบปลื้มใจ ผู้ที่เสร็จภารกิจทางด้านศาสนาแล้วก็จะไปนั่งชมมหรสพต่าง ๆ


 


ในเวลาประมาณ 3-5 วันที่จัดงานปอยหลวงนั้น ทางวัดเจ้าภาพจะจัดอาหารเลี้ยงคนที่มาร่วมงานทั้งมื้อกลางวันและมื้อเย็น ชนิดกับข้าวที่นิยมทำเลี้ยงกัน เช่น ยำหนัง แกงหยวกกล้วยเป็นต้น ขนมที่นำมาเลี้ยง ขนมศิลาอ่อน ขนมปาด ขนมเปียกปูนโรยมะพร้าว


 


เมื่องานเฉลิมฉลองเสร็จสิ้นลงตามที่กำหนดไว้แล้ว วันสุดท้ายหลังวันฉลองก็จะมีพิธีถวายทานศาสนวัตถุหรือศาสนสถานที่ร่วมมือกันและมีเจตนาจะถวายทาน โดยในช่วงเช้าจะมีการทำบุญใส่บาตรแล้วปู่อาจารย์ก็กล่าวเวนทาน พระสงฆ์อนุโมทนาแล้วก็เป็นเสร็จพิธี


 


000


 



"ช่างฟ้อน" กำลังฟ้อนรำทางเหนือ ต้อนรับแขกเหรื่อ ที่วัดหนองแฝก


 


... เมื่อวันที่ 1-4 กุมภาพันธ์ 2550 ที่ผ่านมา ที่วัดหนองแฝก ตำบลหนองแฝก อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ มีงานประเพณีปอยหลวง อันเป็นงานทางด้านศาสนวัฒนธรรมท้องถิ่นของทางภาคเหนือ อีกทั้งยังมีกิจกรรม "สืบศิลป์ถิ่นอีสาน-ล้านนา ครั้งที่ 2" ควบคู่กันไปอีกด้วย ...


 


ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งที่ 2 ที่คณะแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมจากภาคอีสาน ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชุมชนตำบลหนองแฝก ซึ่งก่อนหน้านั้น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นสถาบันแรกที่ดำเนินกิจกรรมนี้ร่วมกับ อบต.หนองแฝก


 


ในปีนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด คณะโปงลางชมรมดนตรีมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ได้เป็นคณะที่สานต่อความสำพันธ์เชิงวัฒนธรรม ล้านนา - อีสาน โดยได้นำการแสดงโปงลางมาแสดงในคืนวันที่ 3 กุมภาพันธ์


 


โดยจากการถามไถ่ผู้ร่วมงานผู้เกี่ยวข้องผู้ติดตามทั้งชาวเหนือและชาวอีสาน พบว่าประเพณีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างของคนทั้ง 2 ถิ่นนี้มีความคล้ายคลึงกัน อาจจะมีการคลาดเคลื่อนด้านเวลาของงานพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ อยู่บ้าง และผู้ร่วมงานส่วนใหญ่ก็รู้สึกดี ที่จะได้มีการแลกเปลี่ยนแบบนี้ อันจะได้ช่วยขยายขอบเขตการเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมของชาวบ้านได้อย่างเป็นรูปธรรม แทนการเรียนรู้ผ่านจอโทรทัศน์


 


 



การแสดงของคณะโปงลางชมรมดนตรีมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด


 


สำหรับค่ำคืนวันงาน ที่มีการละเล่นของคณะโปงลางชมรมดนตรีมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ถือว่าเป็นภาพที่ยากนักจะได้เห็นที่วัยรุ่นทางภาคเหนือจะได้เห็นวัฒนธรรมที่ถูกปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม เนื่องจากเคยสำผัสแต่ดนตรีสตริง , ลูกทุ่ง หรือดนตรีพื้นเมือง-คำเมือง รูปแบบใหม่ที่ถูกกลืนกรายให้กระเดียดออกไปทางแนวทางรับใช้ระบบตลาด  สิ่งที่พวกเขาได้เห็น คือการแสดงวัฒนธรรมถิ่นของอีสาน ที่มีจังหวะจะโคน เร่าร้อน โดดเด่น เป็นธรรมชาติ ผ่านการใช้องค์ประกอบใหม่ๆ มาเสริมเติมแต่งเพียงเล็กน้อย ซึ่งผิดกับการละเล่นดนตรีทางเหนือ (เพลงคำเมือง , เพลงซอ) ที่ถ้าคุณจะได้เห็นได้ฟังตามเวทีงานวัดในปัจจุบัน  นั่นมันคือ เพลงคำเมืองและเพลงซอ ที่ถูกบิดเบือนไปค่อนข้างมาก


 


ล่าสุดมีการมิกซ์เพลงซอเข้ากับการสวมชุดว่ายน้ำ เพื่อผลประโยชน์ทางด้านการตลาด การขาย sex  กลับหาได้เป็นสิ่งที่ยังช่วยคงความภูมิใจ ที่จะรักษาภูมิปัญญาไว้เพื่อทำให้โลกรู้ถึงการมีตัวตนของชุมชน  สิ่งนี้กลับกลายเป็นสิ่งที่สนองการตลาดรูปแบบใหม่ ที่บุกตะลุยเข้าไปในท้องถิ่น และนำเอกลักษณ์ท้องถิ่นไปขายแบบสั่ว ๆ


 


ถึงแม้ในแถบอีสานเอง ก็จะมีกรณีคล้ายๆ กันกับสถานการณ์ทางภาคเหนือ ที่ระบบตลาดได้เข้าไปจับจองและหาประโยชน์จากสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ากระเป๋านายทุนไม่กี่ราย --- แต่กลุ่มคนเล็กๆ อย่างที่ ชมรมดนตรีมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ดก็ยังหยัดยืนสู้ ก็ยังจะมีอยู่ / และหวังว่าทุกที่จะเป็นเช่นนั้น.


 


 







 


บทสัมภาษณ์  อาจารย์อนุสรณ์ งอมสงัด : วิทยาลัยนิติรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด - อาจารย์ผู้ติดตามดูแลคณะโปงลางชมรมดนตรีมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด


 


 


อาจารย์เคยอยู่ทั้งในภาคเหนือและภาคอีสาน อาจารย์คิดว่าคนรุ่นใหม่ในมีความกระตือรือร้น เกี่ยวกับการอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมถิ่น มากน้อย เพิ่มขึ้นลดลง อย่างไร?


 


สถานการณ์เกี่ยวกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมถิ่น สำหรับภาคเหนือจะมีการอนุรักษ์ค่อนข้างมากทางด้านภาษา การแต่งกายส่วนใหญ่แบบล้านนาจะพบในเขตอำเภอ แต่ก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะ ส่วนในเมืองเชียงใหม่ การแต่งกายพบน้อยที่แต่งชุดพื้นเมือง แต่ด้านภาษาจะอนุรักษ์ไว้มาก แม้แต่ตลาดในตัวเมืองก็ "อู้คำเมือง"


 


ในภาคอีสานวัฒนธรรมประเพณีค่อนข้างเข้มแข็ง แต่การแต่งกายจะสมัยนิยม และพูดภาษาไทยกลางโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น จะนิยมพูดภาษาไทยกลาง แม้แต่บางคนยังไม่พูด ลาว (อีสาน) เลยก็มี


 


ส่วนการละเล่น ศิลปวัฒนธรรม ถ้าพูดถึงเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ดนะ ชมรมนักศึกษายังมีน้อยเรียกว่าแทบจะไม่มีเลย เพราะไม่พบเห็นการจัดกิจกรรม .. แต่จะพูดอย่างนั้นก็ไม่ถูกเท่าไหร่เพราะว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ดเพิ่งก่อตั้งได้ 10 ปีมานี้เอง การพัฒนาก็ค่อยเป็นค่อยไปแต่ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ  เริ่มมีนักศึกษาเข้ามาเยอะและเริ่มรวมกลุ่มกันมากขึ้น  ด้านวัฒนธรรมนั้น มันมีการเลื่อนไหลนะ ไม่ตายตัวไม่หยุดนิ่ง จะคงไว้บางส่วนบางส่วนมันก็ต้องปรับตัวเข้ายุคสมัย


 


ถามว่านักศึกษาเยาวชนอนุรักษ์ไหมเขาก็คงไว้นะ ผู้เฒ่าผู้แก่จะมีงานบุญประเพณีเขาก็เข้าร่วม ยิ่งมีงานรื่นเริงเขาเข้าร่วมแน่นอน ลักษณะคนอีสานเป็นคนรักสนุก


 


ถ้า ถามว่ากังวลไหม? เกี่ยวกับสถานการณ์ทางด้านวัฒนธรรม ผมไม่มีความกังวลเลย เพราะวัฒนธรรมมันไม่ตายตัว  บางสิ่งบางอย่างมันก็หมดอายุลงบ้างแต่มันไม่ใช่ว่าตายไปเลยนะ ที่นี่ (มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด)เรามีศูนย์วัฒนธรรม ซึ่งเราก็ได้มีการนำเอา "หมอลำเพลิน" ซึ่งเป็นศิลปการแสดงพื้นบ้านภาคอีสานที่ใกล้จะล้มหายไป นำเอามาเล่นเพื่ออัดวีดีโอไว้  มันก็จำเป็นในปรัชญาสถาบันนะ ที่ต้องอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ไว้ อีกอย่างเพื่อการศึกษาแล้วนั้นถือว่าดีมาก


 


 


แล้วการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมถิ่น อาจารย์คิดว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่? ที่จะนำพาไปสู่ความสมานฉันท์อันแท้จริง และถ้ามันสำคัญมันสำคัญในแง่ไหน?


 


ความสมานฉันท์นี่สมาฉันท์อะไร?  เพราะการแลกเปลี่ยนมันไม่ได้เกิดการเปลี่ยนมือนะ  การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมมันทำให้เราทราบและอาจจะนำของที่อื่นไปประยุกต์กับวัฒนธรรมของเราได้ รวมไปถึง ถ้าจะว่าไปแล้ว วัฒนธรรมอีสาน กับเหนือ มันคล้ายกันมากทั้งภาษาพูดด้วย


 


นักศึกษาผมที่ไปด้วยพูดลาว ทางเหนืออู้กำเมืองเขาเข้าใจกัน การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมถามว่าสำคัญไหม ก็สำคัญนะเป็นการเปิดหูเปิดตา ได้รับรู้ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ว่าใครมีอะไรบ้าง เพิ่มโอกาสของการเข้าถึงความรู้ รวมทั้งเกิดความรู้จักกันด้วย


 


คาดหวังว่าทางเหนือจะไปแลกเปลี่ยนที่ร้อยเอ็ดบ้างไหม?


 


มันแล้วแต่โอกาสมากกว่า ให้ผมฟันธงเลยไม่ได้นะอย่างเช่นงานนี้ ทางเหนือเขามีงานปอยหลวงอยู่แล้ว ส่วนทางมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด อาจารย์ทางดนตรีรู้จักกับทางโน้นเลยถือโอกาสเข้าร่วมแต่ถ้าโอกาสดีทางเหนือมาแลกเปลี่ยนกับทางร้อยเอ็ดเราก็ยินดีครับ


 


การต้อนรับมันเป็นศิลปะของการดูแลกันครับ.


 


 


 


 


000


 


... ในรอบปีที่ผ่านมา ประชาชนทางภาคเหนือและภาคอีสานถูกจับตามองอย่างไม่กระพริบตา โดยเฉพาะสถานการณ์ทางด้านการเมืองที่บีบบังคบ เพราะดูเหมือนคล้ายๆ กับ ประชาชนของทั้งสองภูมิภาคนี้ให้การสนับสนุนอำนาจเดิมที่พึ่งโดนหักโค่นโดยการทำรัฐประหารครั้งล่าสุด


 


เหตุเนื่องด้วยทั้งสองภูมิภาคนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ต้องประสบกับปัญหาปากท้อง ดังนั้นการเข้ามาของนโยบายการเมืองที่ใช้แนวทางประชานิยม ย่อมเป็นเหตุเป็นผลให้ประชาชนที่ประสบปัญหาเหล่านั้น ได้กระทำการใดๆ อันเป็นการปัดเป่าปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน นั่นก็คือการนำคะแนนเสียงแลกเปลี่ยนกับการบรรเทาภัยเฉพาะหน้า --- และแน่นอน ที่คนของทั้งสองภูมิภาคนี้จะต้องถูกปรามาส , สบประมาทจากชนชั้น "กระฎุมพี" ในเมืองใหญ่ หมู่มวลที่ซึ่งไม่ได้เผชิญปัญหาประเภท "ต้องดิ้นรนหาไรใส่ปากท้อง ไปวันต่อวัน"


 


และ ณ ช่วงเวลาที่อึมครึมแบบนี้ คุณคงจะไม่ได้เห็นภาพการเคลื่อนย้ายมวลชน ของคนทั้งสองภูมิภาคเพื่อไปทำกิจกรรมทางการเมืองใดๆ (ถ้าไม่เคลื่อนสนับสนุนอำนาจฝ่ายปกครองปัจจุบันล่ะหมดสิทธิ์) วันนี้กระผมจึงได้นำเสนอ สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่กระผมได้เข้าไปสัมผัสที่งานปอยหลวงวัดหนองแฝก


 


ภาพของคนทั้งสองภูมิภาคสามารถเชื่อมโยงการเคลื่อนไหวในเชิงวัฒนธรรม และเป็นสิ่งที่สมควรกระทำในห้วงเวลาที่หลายสิ่งหลายอย่างยังคงดูสับสนงุนงงอย่างเช่นในห้วงเวลานี้เป็นอย่างยิ่ง  


 


การกลับไปหาสิ่งที่เปรียบเสมือนเบ้าหลอมของท้องถิ่น ร่วมกันอนุรักษ์และนำไปแลกเปลี่ยนกับถิ่นอื่น เพื่อผสานความหลากหลายเข้าด้วยกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างหมกมุ่นอยู่ในท้องถิ่นหรือชุมชนของตนเองดังแนววัฒนธรรมชุมชนเดิมๆ อันคร่ำครึล้าสมัย --- จากนี้ไปแต่ละชุมชนคงจะต้องสร้างเครือข่ายการเคลื่อนไหว ซึ่งอาจจะเริ่มจากการแลกเปลี่ยนเชิงวัฒนธรรม ซึ่งอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสรรค์สร้างสิ่งที่มีพลังอื่นๆ ในวาระต่อไป ...


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net