Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวอิสระไทใหญ่ (S.H.A.N.) รายงานวันที่ 12 ก.พ. 50 ว่า ในเดือนกุมภาพันธ์นี้มีชาวบ้าน(ไทใหญ่) จากภาคกลางรัฐฉานพากันอพยพมายังชายแดนไทยด้านอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ไม่ขาดสาย เหตุเนื่องจากถูกทหารพม่าบังคับใช้แรงงานจนไม่มีเวลาทำงานให้กับครอบครัวตนเอง


 


โดยชาวบ้านที่อพยพมานี้ ส่วนใหญ่มาจากหมู่บ้านโห๋ป่าง บ้านนาหมากขอ ตำบลบ้านเลา บ้านแป และบ้านนาคู ตำบลเก็งลม อำเภอกุ๋นฮิง ภาคกลางรัฐฉาน โดยอพยพมากันเป็นกลุ่มๆ ละ 5 - 15 คน โดยเมื่อวันที่ 3 ก.พ. เดินทางมาถึงชายแดนไทยด้านอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ รวม 16 คน และวันที่ 7 ก.พ. อีก 23 คน


 


ผู้อพยพคนหนึ่งเปิดเผยว่า ที่พวกตนพากันอพยพมานั้นใช่ว่าอยากจะมาหางานทำในประเทศไทย แต่เป็นเพราะไม่อาจทนต่อความกดขี่ข่มเหงของทหารพม่าได้ เนื่องจากในแต่ละสัปดาห์พวกตนต้องถูกทหารพม่าบังคับให้ผลัดกันไปทำงานไม่ต่ำกว่า 3 วัน จนไม่มีเวลาพอที่จะทำงานให้กับครอบครัวตนเอง 


 


"ทหารพม่าที่บังคับให้พวกผมทำงานเป็นประจำได้แก่ กองพันทหารราบเบาที่ 524 นำโดยพันโทติ่นหลุ่น และกองพันทหารราบที่ 246 นำโดยพันตรีมิ้นอ่อง ซึ่งทั้งสองกองพันนี้ดูแลพื้นที่ตำบลบ้านเลา และตำบลเก็งลมซึ่งเป็นที่พวกผมอาศัยอยู่ โดยพวกผมได้ถูกบังคับให้ปลูกต้นสบู่ดำ ทำนาปรัง พร้อมกับต้องผลัดกันไปทำงานในค่าย เช่น ทำรั้ว ขุดบังเกอร์ นอกนั้นก็ซ่อมแซมถนนไม่ต่ำกว่าอาทิตย์ละ 3 วัน" ผู้อพยพคนเดิมกล่าว


 


ขณะที่ผู้อพยพอีกคนหนึ่งเปิดเผยว่า หมู่บ้านที่พวกตนอาศัยอยู่ ก่อนนั้นเมื่อปี 2539 ได้ถูกทหารพม่าสั่งย้ายแล้วครั้งหนึ่ง และเมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา ก็ได้รับอนุญาตให้เข้าไปอยู่ได้ตามเดิม แต่ก็มีผู้ย้ายไปอยู่ไม่มากนัก เนื่องจากหวั่นเกรงกันว่าจะถูกสั่งย้ายอีก ด้วยเหตุที่ไม่มีชาวบ้านอาศัยอยู่มากเหมือนเมื่อก่อน พวกตนจึงต้องผลัดกันทำงานหนักมากขึ้น ขณะที่เมล็ดพันธุ์ต้นสบู่ดำก็ต้องซื้อจากทหารพม่า และหลังจากนำไปเพาะได้ต้นกล้าแล้วก็ต้องนำไปปลูกให้โดยที่ไม่ได้รับค่าแรงแถมยังต้องนำห่อข้าวไปกินกันเองด้วย


 


ทั้งนี้ ตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ปี 2539 - 2540 มีชาวบ้านจากภาคกลางและภาคใต้รัฐฉานพากันอพยพเข้าประเทศไทยแล้วนับแสนคน เหตุเนื่องจากถูกทหารพม่าบังคับย้ายหมู่บ้านและบังคับใช้แรงงานอย่างหนัก ส่วนสาเหตุที่กองทัพพม่าได้บังคับย้ายหมู่บ้านนั้น เพราะต้องการตัดกำลังสนับสนุนกองกำลังไทใหญ่ SSA จากชาวบ้าน โดยกองทัพพม่าได้ยึดนโยบาย 4 ตัด ได้แก่ ตัดเสบียงอาหาร ตัดการติดต่อสื่อสาร ตัดเส้นทางการคมนาคม และตัดข้อมูลข่าวสาร ส่งผลให้ชาวบ้านต้องประสบกับความลำบากในการประกอบอาชีพ เนื่องจากต้องเข้าออกหมู่บ้านตามเวลาที่กำหนดและขาดการรับรู้ข่าวสารจากภายนอก     


 


 


--------------------------------------------------------------------------------


ข่าวทั้งหมดแปลและสรุปความโดยสำนักข่าวเชื่อม เป็นหน่วยงานข่าวภาคภาษาไทยของสำนักข่าว S.H.A.N (Shan Herald Agency for News) ซึ่งเป็นเครือข่ายของศูนย์ข่าวสาละวิน (Salween News Network) ท่านสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ chuem@cm.ksc.co.th และ snn_news@cm.ksc.co.th พร้อมติดตามอ่านข่าวสารย้อนหลังรวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศพม่าภาคภาษาไทยได้ที่ www.salweennews.org ภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org และภาคภาษาไทยใหญ่ได้ที่ www.mongloi.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net