Skip to main content
sharethis

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ


สมาชิกคณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม


สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


 


 


การวิเคราะห์ร่างข้อตกลงเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น(JTEPA)นี้พิจารณาจากบทที่ 10 เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาตั้งแต่มาตรา 122 ถึงมาตรา 144  รวมทั้งหมด 23  มาตรา เปรียบเทียบกับความตกลงซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วในกรณีความตกลงเอฟทีเอญี่ปุ่น-มาเลเซีย(JMEPA) และความตกลงที่เจรจาเสร็จสิ้นแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภากรณีเอฟทีเอญี่ปุ่น-ฟิลิปปินส์(JPEPA) อีกทั้งได้สัมภาษณ์นักกฎหมายและนักวิชาการที่ติดตามในประเด็นเหล่านี้อย่างใกล้ชิดระหว่างประเทศคือศาสตราจารย์คาร์ลอส คอร์เรีย(Professor Carlos Correa)  ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลอาร์เจนตินาและเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มประเทศ G77 ในการเจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในองค์กรการค้าโลก(TRIPs) ในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ(CBD)  และสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตร (ITPGR-FA ) รวมถึงได้แลกเปลี่ยนกับนักวิชาการด้านกฎหมาย ด้านเภสัชศาสตร์ เกษตรกรรม และจุลชีววิทยา หลายท่านในประเทศไทย และผนวกกับประสบการณ์ที่ติดตามนโยบายและมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพของผู้เขียนเอง[1]


 


จากกระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมา พบว่า ข้อตกลงเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาและทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นมีช่องโหว่ที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ  ซึ่งงานชิ้นนี้จะเคราะห์ประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความเสียหายและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และชี้ทางออกแก่รัฐบาลที่จะแก้ไขปรับปรุงความตกลงดังกล่าว ดังต่อไปนี้


 


1. ข้อตกลงเรื่องสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับจุลชีพตามธรรมชาติ


 


ภายใต้กฎหมายสิทธิบัตร พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2542 ไม่อนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตโดยบัญญัติไว้ว่า "จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ"  แต่ข้อบทในความตกลงเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นกลับเขียนข้อความซึ่งเปิดโอกาสให้มีการจดสิทธิบัตรจุลชีพตามธรรมชาติ  ดังปรากฏอยู่ในข้อบทตามมาตรา 130(3) ว่า


 


"ภาคีแต่ละฝ่ายจะต้องให้ความมั่นใจว่าคำขอรับสิทธิบัตรใดๆจะไม่ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลเพียงอย่างเดียวว่า สาระที่ขอถือสิทธิในคำขอนั้นเกี่ยวข้องกับจุลชีพที่เกิดตามธรรมชาติ" [2]


           


คณะเจรจาอ้างว่าข้อบทดังกล่าวไม่ได้มากไปกว่าพันธกรณีที่ประเทศมีภายใต้องค์กรการค้าโลก แต่ศาสตราจารย์คาร์ลอส คอร์เรีย ซึ่งเพิ่งเดินทางมาประเทศไทยเพื่อสนับสนุนรัฐบาลไทยในการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ์เมื่อเร็วๆนี้เห็นว่า ข้อบทในมาตรา 130(3)นั้น  "เป็นข้อตกลงที่มากไปกว่าข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาในองค์กรการค้าโลกหรือที่เรียกกันว่าเป็นทริปส์ผนวก(TRIPS-Plus)" 


 


คาร์ลอสวิเคราะห์ว่า "มาตรา 130 (3) อาจตีความในแง่ที่ให้มีการออกสิทธิบัตรที่มาจากจุลชีพตามธรรมชาติได้หากคำขอนั้นมีเงื่อนไขครบตามกฎหมายสิทธิบัตร (มีความใหม่ ขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และประยุกต์ใช้ทางอุตสาหกรรมได้) หรือกล่าวในแง่หนึ่งว่าเป็นการวางเงื่อนไขให้จุลชีพตามธรรมชาตินั้นอาจเป็นการ "การประดิษฐ์" ก็ได้"


 


เมื่อเปรียบเทียบกับความตกลงเอฟทีเอที่ฟิลิปปินส์และมาเลเซียทำกับญี่ปุ่นพบว่า ฟิลิปปินส์ไม่ยินยอมให้มีข้อความใดๆ เกี่ยวกับเรื่องจุลชีพเลย ในขณะที่มาเลเซียมีข้อความที่กล่าวถึงการจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับ "จุลชีพ" ซึ่งมีค่าเท่ากับพันธกรณีที่ประเทศทั้งสองมีกับองค์กรการค้าโลกเท่านั้น การยอมให้ญี่ปุ่นผลักดันข้อความที่เกี่ยวข้องกับการจดสิทธิบัตรจุลชีพตามธรรมชาติจึงเป็นความผิดพลาดที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาและกระทรวงต่างประเทศต้องรับผิดชอบ


           


คณะเจรจาอ้างว่า "นักกฎหมายของกรมทรัพย์สินทางปัญญาและกระทรวงการต่างประเทศ อ่านข้อนี้แล้วเห็นว่า ถ้อยคำที่อยู่ในข้อ 130 วรรค 3 ไม่มีผลบังคับให้ไทยต้องออกสิทธิบัตรให้จุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติแก่คนญี่ปุ่นแต่อย่างใด"


 


การตีความเช่นนี้จึงเป็นการตีความแต่ฝ่ายเดียวของคณะเจรจาฝ่ายไทย  การตีความเข้าข้างตัวเองเช่นนี้ไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย นอกจากว่าเป็นข้อแก้ต่างว่าตนเองไม่ได้ทำผิดพลาดอะไรในระหว่างการเจรจาเท่านั้น


           


หลายท่านที่อ่านบทวิเคราะห์นี้คงจดจำกรณีอนุญาโตตุลาการตัดสินกรณีไอทีวีซึ่งให้ประโยชน์แก่ไอทีวีเช่นลดค่าเช่า เพิ่มสัดส่วนรายการบันเทิง เป็นต้น แต่ในท้ายที่สุด ศาลได้พิพากษาให้คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะเนื่องจากเป็นการตัดสินที่ไม่ได้ยึดตัวสัญญาที่ไอทีวีลงนามกับรัฐบาลเป็นตัวกำกับ เป็นการตีความเกินไปกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญา การตีความของคณะเจรจาJTEPAโดยตีความเอาเองแต่เพียงข้างเดียวโดยมิได้สนใจข้อบทในความตกลงก็มีความหมายเช่นเดียวกับการตีความของคณะอนุญาโตตุลาการในกรณีไอทีวีนั่นเอง


 


คำถามที่คณะเจรจาต้องตอบคือว่า หาก "เป็นความเข้าใจร่วมกันของทั้งฝ่ายไทยและญี่ปุ่นตลอดมาตั้งแต่ระหว่างการเจรจาว่า การจดสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับจุลชีพตามธรรมชาติไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้"[3] ทำไมจึงจำเป็นต้องคงมาตรา 130 (3)เอาไว้ ทำไมไม่ตัดมาตรานี้ออกไปเสียเหมือนดังกรณีฟิลิปปินส์ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ใช้บรรทัดฐานเดียวกับกรณีมาเลเซียซึ่งเขียนข้อบทไว้เท่ากับพันธกรณีที่มีในข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้องค์กรการค้าโลกเท่านั้น


           


ในความเห็นของผู้เขียนและนักวิชาการหลายท่าน "สิทธิบัตรเกี่ยวกับจุลชีพตามธรรมชาติ" ยังหมายถึงการอนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรในยีน หรือสารสกัดที่ได้จากจุลชีพได้ด้วย ดังเช่น นายเดนิส กอนซาลเวส(Danis Gonslves) ร่วมกับมหาวิทยาลัยคอร์แนลฉวยโอกาสยื่นจดสิทธิบัตรไวรัสใบด่างจุดวงแหวนสายพันธุ์ไทยเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2545 และได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2549 หลังจากร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรสหกรณ์วิจัยมะละกอจีเอ็มโอให้ต้านทานโรคใบด่างจุดวงแหวน 


 


สิทธิบัตรสหรัฐหมายเลข 7,078,586 ดังกล่าวมีข้อถือสิทธิ(Claims) ทั้งหมด 51 รายการ ซึ่งจะส่งผลให้มะละกอดัดแปลงพันธุกรรมที่กระทรวงเกษตรฯ ทำวิจัยในประเทศไทยทั้งหมดในประเทศไทยกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของนายเดนนิส กอนซาลเวส และมหาวิทยาลัยคอร์แนล กรรมสิทธิ์นี้ยังครอบคลุมไปถึงมะละกอสายพันธุ์ท้องถิ่นอื่นๆ ที่ผสมข้ามกับมะละกอดัดแปลงพันธุกรรม  รวมไปถึงกรรมสิทธิ์ในพันธุ์พืชตระกูลแตง มะเขือเทศ และพืชอื่นๆ ทั้งหมดที่นำเอายีนจากไวรัสใบด่างจุดวงแหวนสายพันธุ์ไทยไปใช้ประโยชน์ด้วย  เกษตรกรและแม้กระทั่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็ได้รับผลกระทบด้วยเพราะจะถูกเรียกเก็บค่าสิทธิบัตรสูงถึง 35 % ของยอดขายจากผลิตภัณฑ์หากพบว่าเกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรที่เขาจดเอาไว้ 


           


ผลกระทบจากการลงนามเอฟทีเอระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมิได้ให้ประโยชน์กับประเทศญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียวเท่านั้น แต่เป็นการเปิดให้สหรัฐอเมริกา ยุโรปและประเทศอุตสาหกรรมอื่นทั้งหมดที่เป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลกไปพร้อมๆ กันด้วย ตามหลักปฏิบัติต่อ "คนชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favoured-Nation Treatment)"  ที่ระบุไว้ในมาตราที่ 4 และ 5 ของข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้องค์กรการค้าโลก


           


ในแง่นี้นอกจากนายเดนิส กอนซาลเวสจะจดสิทธิบัตรไวรัสใบด่างจุดวงแหวนของมะละกอกับสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าของสหรัฐอเมริกาแล้ว โดยอานิสงค์ของเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น เขายังสามารถจดสิทธิบัตรดังกล่าวกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยได้โดยตรง ซึ่งจะทำให้เขาสามารถไล่จับเกษตรกรไทยที่ปลูกมะละกอสายพันธุ์ท้องถิ่นที่บังเอิญมีเกสรมะละกอของมะละกอจีเอ็มโอปลิวมาผสม  เกษตรกรอาจต้องได้รับโทษสูงสุดคือ "จำคุกสองปี ปรับสี่แสนบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ"    ตามมาตรา 85(5) ของพ.ร.บ.สิทธิบัตร


           


รัฐบาลต้องแก้ไขและปิดช่องโหว่นี้ด้วยการตัดข้อความใน 130(3)ออกทั้งหมดเช่นเดียวกับที่ปรากฏใน JPEPA หรือตัดข้อความ "related to naturally occurring" ออกไปเพื่อให้ข้อบทในเรื่องนี้ใน JTEPA เหมือนกับกรณี JMEPA ก็ได้


 


การแก้ไขข้อสัญญานี้ไม่ควรทำให้ประเทศไทยต้องเสียอะไรให้กับการแลกเปลี่ยนกับฝ่ายญี่ปุ่นอีกเนื่องจากเป็นการปรับปรุงตัวสัญญาให้เป็นไปเช่นเดียวกับมาตรฐานทั่วไปที่ญี่ปุ่นทำกับฟิลิปปินส์ และมาเลเซียซึ่งเป็นสมาชิกชาติอาเซียนเหมือนกันกับไทยนั้นเอง       


 


 


2. กรณีเปิดให้การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่มากชนิดเท่ากับมาตรฐานระหว่างประเทศ


 


ในมาตรา 135(1) (2) กล่าวว่าให้ภาคีแต่ละฝ่ายให้การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่บนมาตรฐานระหว่างประเทศ และต้องให้การคุ้มครองพืชหรือสายพันธุ์พืชให้มากสายพันธุ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ และโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะปฎิบัติได้  ตามรายละเอียดข้างล่างนี้


 


"1. คู่ภาคีตระหนักถึงความสำคัญของการให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ในลักษณะที่อยู่บนพื้นฐานของมาตรฐานระหว่างประเทศ เพื่อความมุ่งประสงค์นี้ ภาคีแต่ละฝ่ายจะต้องให้ความมั่นใจว่าสิทธิที่เกี่ยวกับพันธุ์พืชใหม่ได้รับการให้ความคุ้มครองอย่างเพียงพอ


2. ภาคีแต่ละฝ่าย โดยคำนึงถึงข้อกังวลของภาคีอีกฝ่าย จะต้องพยายามคุ้มครองพันธุ์พืชหรือสายพันธุ์พืชให้มากพันธุ์หรือสายพันธุ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะได้ ในลักษณะที่กำหนดไว้ในวรรค 1 ข้างต้นโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถปฏิบัติได้"


 


ข้อบทนี้คือการผลักดันให้ประเทศไทยใช้มาตรฐานการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามมาตรฐานของสหภาพคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่(UPOV) หรือให้ใกล้เคียงกับมาตรฐานของ UPOV1991 ให้มากที่สุดและให้เร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำได้นั่นเอง               


 


การยอมให้มีตัวบทนี้อยู่ในร่างข้อตกลงเอฟทีเอระหว่างไทย-ญี่ปุ่นทำให้เกิดผลกระทบต่อกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ของไทย เนื่องจากกฎหมายของไทยตราขึ้นภายใต้หลักการ Sui Generis ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้องค์กรการค้าโลกมาตรา 27.3(b)


 


ทั้งนี้โดยนอกเหนือจากให้การคุ้มครองพันธุ์พืชท้องถิ่นแล้ว คำประกาศพันธุ์พืชใหม่จะต้องประกาศอย่างระมัดระวังโดยต้องคำนึงถึงเงื่อนไขหลายประการ เช่น ต้องเป็นชนิดพืชที่มีสายพันธุ์พื้นเมืองดีเด่น เป็นพันธุ์พืชที่กระทรวงเกษตรมีขีดความสามารถในการวิจัยแข่งขันได้  ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองเกษตรกรไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น ในขณะที่มาตรฐานคุ้มครองพันธุ์พืชตาม UPOV1991 นั้นบังคับให้ประเทศภาคีต้องให้การคุ้มครองพืชทุกชนิดไม่มีข้อยกเว้น


 


ในแง่นี้ผู้เขียนจึงไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปจากการศึกษาเรื่อง "ข้อสังเกตต่อร่างความตกลง JTEP" ของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ที่สรุปว่า "บทบัญญัติด้านทรัพย์สินทางปัญญาใน JTEPA ไม่ได้มีเนื้อหาที่อ่อนไหวมากนัก" และ "พันธกรณีตามความตกลงระหว่างประเทศที่กำหนดอยู่ใน JTEPA เป็นพันธกรณีที่ไทยมีอยู่แล้วตามความตกลง TRIPS เนื่องจาก JTEPA ไม่มีข้อกำหนดให้ประเทศภาคีต้องเข้าเป็นภาคีสมาชิกของความตกลงระหว่างประเทศอื่นที่ยังไม่ได้เป็นภาคีสมาชิก"(หน้า 115)  เพราะแม้ญี่ปุ่นจะมิได้เรียกร้องให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีของUPOV1991 เหมือนกับที่สหรัฐเรียกร้องต่อไทยระหว่างการเจรจาเอฟทีเอ แต่การเขียนข้อบทที่ได้วิเคราะห์ข้างต้นในมาตรา 135(1)(2) ก็มีความหมายใกล้เคียงกับการเข้าเป็นสมาชิกUPOV1991 นั่นเอง


 


ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการวิเคราะห์ของ รศ.ลาวัณย์ ถนัดศิลปะกุล นักกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งวิเคราะห์ว่า "ญี่ปุ่นใช้ท่วงทำนองการเจรจาที่ดูนุ่มนวลกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา แต่วัตถุประสงค์และข้อเรียกร้องของทั้งสองประเทศนั้นเหมือนกันเมื่อเจรจากับไทย"


           


การที่หัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น อ้างรายงานของทีดีอาร์ไอเพื่อชี้นำให้สังคมและรัฐบาลเห็นว่าการลงนามเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นมีผลกระทบน้อยและไม่มีความเสี่ยงนั้นใช้ไม่ได้อย่างน้อยในกรณีเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับประเด็นด้านทรัพยากรชีวภาพ เนื่องจากทีดีอาร์ไอไม่มีความเชี่ยวชาญและไม่ได้ติดตามประเด็นเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดแต่อย่างใด ตัวอย่างข้อเสนอที่ไม่สมเหตุสมผลของทีดีอาร์ไอเกี่ยวกับงานศึกษาเรื่องเอฟทีเอคือ ข้อเสนอที่ให้ประเทศไทยเจรจาต่อรองกับสหรัฐโดยเสนอให้ไทยเข้าเป็นภาคีUPOV1978 แทนที่จะเป็นภาคีของUPOV1991 (งานวิจัยเรื่อง "ยุทธศาสตร์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อรองรับผลกระทบจากความตกลงการค้าเสรีที่ต่อ SME พ.ศ.2549)  ทั้งๆ ที่เป็นข้อเสนอที่ไม่อาจทำได้ ทั้งนี้เพราะประเทศใหม่ที่ไม่เคยเป็นภาคีUPOV1978 มาก่อนจะต้องเป็นภาคีของUPOV1991ได้สถานเดียวตามเกณฑ์ที่สหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่วางเอาไว้เท่านั้น


 


คณะผู้เจรจาฝ่ายไทยอาจอ้างว่าการคุ้มครองพันธุ์พืชตามมาตรฐานระหว่างประเทศหมายถึง การปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีตาม TRIPs 27.3(b) ก็ได้ คำอธิบายนี้ไม่น่าจะถูกต้องเนื่องจาก "ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ในลักษณะที่อยู่บนพื้นฐานของมาตรฐานระหว่างประเทศ" นั้นหมายถึงได้เฉพาะ UPOV1991 ได้เท่านั้นเพราะกล่าวถึง "พันธุ์พืชใหม่"ไว้อย่างเฉพาะเจาะจง ในขณะที่ข้อตกลงตาม  TRIPs 27.3(b) กล่าวถึงการให้สิทธิบัตรที่กล่าวถึง พืช สัตว์ และจุลชีพ โดยทั่วไปเท่านั้น (ในทางวิชาการชนิดพืช หรือพืช กับ"สายพันธุ์พืช"มีความหมายแตกต่างกันอย่างชัดเจน)


 


คณะผู้เจรจาอ้างว่าการประกาศการให้การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่นั้นทำได้ตามกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของไทยเพราะได้เจรจากับฝ่ายญี่ปุ่นแล้ว และเป็นที่เข้าใจตรงกันว่าเราจะให้การคุ้มครองตามกฎหมายไทยเท่านั้น แต่ข้อบทในมาตรา135(3)กลับเขียนเอาไว้ว่า


 


 "โดยไม่คำนึงถึงข้อ 124 และข้อ 125 ภาคีแต่ละฝ่ายอาจจำกัดขอบเขตของพันธุ์พืชหรือสายพันธุ์พืชซึ่งภาคีนั้นได้ให้สิทธิที่กล่าวถึงในวรรค 1 ข้างต้นแก่คนชาติของภาคีอีกฝ่าย เท่ากับพันธุ์หรือสายพันธุ์พืชที่ภาคีอีกฝ่ายให้สิทธิแก่คนชาติของฝ่ายแรกโดยเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของตน"


 


ข้อบทนี้มิได้ให้อำนาจไทยในการประกาศรายชื่อพืชใหม่ที่จะได้รับการคุ้มครองได้ตามอำเภอใจ เพราะการประกาศรายชื่อนั้นต้องเป็นไปตามวรรค(1) และ(2)เท่านั้น


 


วรรค(3) ซึ่งคณะเจรจาอ้างว่าเราสามารถประกาศชนิดของพืชได้ภายใต้กฎหมายไทยนั้น เป็นความเข้าใจผิด เพราะความหมายในข้อบทนี้หมายถึง การที่แต่ละฝ่ายจะให้การคุ้มครองสายพันธุ์พืชและชนิดพืชเท่ากับชนิดและสายพันธุ์ที่อีกฝ่ายหนึ่งให้เท่านั้น แต่มิได้หมายความว่าเราสามารถประกาศชนิดพันธุ์พืชที่ได้ตามหลักเกณฑ์ภายใต้กฎหมายไทย หากแต่ต้องเป็นไปตาม"มาตรฐานระหว่างประเทศ"เท่านั้น


 


คณะเจรจาบางท่านได้สนทนากับผู้เขียนและอธิบายว่าได้ทำความเข้าใจกับฝ่ายญี่ปุ่นแล้วว่าเราจะให้การคุ้มครองพันธุ์พืชภายใต้กฎหมายของไทยเท่านั้นซึ่งญี่ปุ่นก็เข้าใจ แต่ความ "ความเข้าใจระหว่างการเจรจา" ไม่อาจนำมารับประกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศได้หากยังปรากฏข้อบทใน(1)และ(2)อยู่


           


ผู้เขียนเห็นว่าควรตัดมาตรา 135 ออกเสียทั้งมาตรา เช่นเดียวกับ JPEPA ซึ่งไม่ปรากฏข้อความนี้แต่อย่างใด เพราะการคงมาตรานี้เอาไว้จะสร้างความเสียหายและผลกระทบต่อเกษตรกรไทยในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆได้ใช้สิทธิ "หลักประติบัติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง" ดังที่ปรากฏในมาตรา 4 และ 5 ของความตกลงทริปส์ 


 


หากได้มีการทำความเข้าใจตรงกัน "ระหว่างนักเจรจาทั้งสองฝ่าย" ดังคำกล่าวอ้าง ฝ่ายญี่ปุ่นคงไม่ติดใจใดๆที่จะตัดข้อความในมาตรานี้ออกกระมัง เว้นเสียแต่ว่าญี่ปุ่นมีความประสงค์เป็นอย่างอื่น


 


3. สิ่งที่ควรกำหนดไว้เพิ่มเติมในข้อบทเพื่อปกป้องทรัพยากรชีวภาพของประเทศ


 


นอกเหนือจากเสนอให้ตัดข้อบทในข้อ 1 และ 2 ซึ่งได้กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ผู้เขียนขอเสนอให้เพิ่มข้อบทเพิ่มเติมไว้ในภาคผนวก ดังเช่นที่ปรากฏในเอฟทีเอญี่ปุ่น-มาเลเซีย JMEPA ใน Annex 4 referred to in Chapter 7  ซึ่งเป็นการสงวนข้อตกลงสำหรับมาเลเซียที่จะมิให้ใช้ "หลักประติบัติเยี่ยงคนชาติ" และ "หลักประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง" ทั้งในด้านอุตสาหกรรม ป่าไม้ เกษตรกรรม และประมง ทั้งนี้เพื่อการวิจัยของรัฐบาล และปกป้องทรัพยากรชีวภาพในประเทศของเขา


 


ทั้งมาเลเซียและประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรชีวภาพเป็นจำนวนมาก การสงวนทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไว้สำหรับประชาชนของตนเป็นความจำเป็น ข้อบทใดๆที่เกี่ยวกับการความตกลงทางการค้าที่ทำให้คนต่างชาติเข้ามายึดครองและทรัพยากรธรรมชาติ ได้เทียบเท่ากับประชาชนเจ้าของประเทศเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้

 


นโยบายของรัฐบาลไทยภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ได้ให้ความสำคัญของเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอย่างมาก ดังที่ปรากฏยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ หากรัฐบาลประสงค์จะดำเนินการตามนโยบายข้างต้น รัฐบาลต้องแก้ไขปรับปรุงร่างความตกลงนี้โดยเพิ่มเติมภาคผนวกที่ปรากฏใน JMEPA ไว้ใน JTEPA ด้วย


 


แม้มีข้อจำกัดมากมายในการเข้าถึงเอกสารความตกลง JTEPA เนื่องจากถูกตีตราประทับว่า "ลับ" อีกทั้งไม่อนุญาตให้มีการถ่ายเอกสารเพื่อนำไปศึกษาได้อย่างทั่วถึงและกว้างขวาง ผู้เขียนยังพบช่องโหว่สำคัญซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศได้ถึงเพียงนี้


 


รัฐบาลต้องยืดระยะเวลาการตัดสินใจลงนามเกี่ยวกับเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นออกไปให้นานอย่างน้อย 6 เดือนเพื่อที่จะให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสได้ดูร่างความตกลงนี้ และปรับปรุงตัวบทในความตกลงฉบับนี้มิให้มีช่องโหว่ที่จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศและประชาชนในอนาคต


 

 

 

-------------------------------------------------------

 

[1] ผู้เชียนมีส่วนร่วมในการผลักดันและร่วมร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชปี 2542 และกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 อีกทั้งเคยเป็นกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช ภายใต้กฎหมายดังกล่าว 1 วาระ


[2] Each party shall ensure that any patent application shall not be rejected solely on the grounds that the subject matter claimed in the application is  related to a naturally occurring micro-organism

[3] ข้อความนี้อยู่ในคำชี้แจงของคณะเจรจาในเว็บไซท์ของสำนักเจรจา JTEPA

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net