กลุ่มชาติพันธุ์รำลึก 60 ปีสัญญาปางโหลงทวงถามรัฐบาลทหารพม่า

ประชาไทภาคเหนือ รายงาน

 

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา บริเวณชายแดนไทย-พม่า ด้านจังหวัดเชียงใหม่ สภากลุ่มชาติพันธุ์ (ENC - Ethnic Nationalities) ได้จัดงานรำลึกครบรอบ 60 ปีสนธิสัญญาปางโหลง (Panglong Agreement) ที่พม่าและรัฐต่างๆ ได้ทำร่วมกันลงนามเมื่อปี 1947 หรือเมื่อ 60 ปีที่แล้ว โดยมีผู้นำและตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ประกอบด้วย ชนชาวไทใหญ่ คะฉิ่น ชิน ลาหู่ มอญ อาข่า อาระกัน กะเหรี่ยง คะยา รวมถึงชาวต่างชาติและผู้สื่อข่าวเข้าร่วมหลายร้อยคน

 

 

 

เจ้าแสงศึก ที่ปรึกษาสภากลุ่มชาติพันธุ์

 

โดยเจ้าแสงศึก ที่ปรึกษาสภากลุ่มชาติพันธุ์ได้กล่าวระหว่างพิธีเปิดงานว่า ตลอดช่วงเวลา 60 ปีที่ผ่านมา ชนชาติต่างๆ ในสหภาพพม่าได้เผชิญกับความทุกข์ระทมในการต่อสู้เพื่อสิทธิตนเองมาอย่างแสนสาหัส แต่กระนั้นทุกคนก็ยังมีใจบริสุทธิ์และเข้มแข็ง ซึ่งหากเปรียบเทียบแล้ว ก็ไม่ต่างกับเสื้อสูทที่สวมใส่อยู่ในวันนี้ที่แม้ข้างนอกจะเป็นสีดำ แต่ข้างในยังเป็นสีขาวอยู่ และหวังว่าทุกชนชาติและทุกคนจะยังคงมีใจบริสุทธิ์เข้มแข็งต่อสู้ต่อไป

 

ต่อจากนั้น ตัวแทนสภากลุ่มชาติพันธุ์ได้อ่านแถลงการณ์บอกเล่าถึงความเป็นมาของสนธิสัญญาปางโหลง ที่ถูกรัฐบาลทหารพม่าล่วงละเมิดมาครบ 60 ปี โดยแถลงการณ์ระบุว่า เมื่อครั้งนายพลอองซาน ยังมีชีวิตอยู่ เขาให้การยอมรับความคิดเห็นของชนทุกเชื้อชาติและยอมรับในวัตถุประสงค์การปกครองของกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะผู้ร่วมเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ นอกนั้นเขาได้ปฏิบัติและเคารพต่อทุกๆ ชนชาติ เหมือนเป็นพี่น้อง แต่มาวันนี้รัฐบาลทหารพม่าไม่ได้ปฏิบัติเช่นนั้น

 

ดังนั้นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ต้องทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดอนาคตของตนเองอีกครั้งหนึ่ง พวกเราสภาชาติพันธุ์ขอเรียกร้องให้ผู้รักในความยุติธรรม ประชาธิปไตย และเสรีภาพทั้งหลายมาร่วมกับเราสร้าง "สหภาพพม่า" ขึ้นมาใหม่

 

โดยแถลงการณ์ยังเรียกร้องให้สภาเพื่อการสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ หรือ SPDC (State Peace and Development Council) หรือรัฐบาลทหารพม่า ยุติการบังคับให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จำยอมต่อนโยบายเพื่อเอกภาพของพม่าแบบ "เลือดเดียว เสียงเดียว บัญชาการเดียว" (One blood, one voice, one command) ทั้งนี้สหภาพพม่าคือบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย เอกภาพไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการบีบบังคับ แต่เกิดขึ้นได้ด้วยการทำความเข้าใจต่อความหลากหลายนั้นและร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์ของสัญญาปางโหลงในปี 1947

 

แถลงการณ์ดังกล่าวเรียกร้องให้เกิดเอกภาพที่ต้องเคารพความหลากหลายภายในสหภาพพม่า อยู่ร่วมกันอย่างสันติไม่ใช่อยู่อย่างเจ้านาย-ลูกน้อง, อยู่กันอย่างเสมอภาคไม่ใช่คนพม่าเป็นผู้นำ, เสรีภาพไม่ใช่กดขี่ผู้อื่นอย่างเสรี, ความยุติธรรมไม่ใช่การมุ่งจองเวร, เอกภาพไม่ใช่ทำให้เหมือนกันหมด … ขอให้จิตวิญญาณสนธิสัญญาปางโหลงจงเจริญ" แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ

 

 

 

การแสดงของชาติพันธุ์ไทใหญ่ในชุดฟ้อนกินนร-กินนรี

 

งานรำลึกครบรอบ 60 ปีสนธิสัญญาปางโหลงที่จัดขึ้นนี้ นับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีกลุ่มชนชาติซึ่งไม่ได้ร่วมลงนามสนธิสัญญาปางโหลงเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ภายในงานมีการแสดงของแต่ละชนชาติ และมีการร้องเพลง "สัญญาปางโหลง" ภาคภาษาอังกฤษ และภาคดั้งเดิมที่เป็นภาษาไทใหญ่ ซึ่งมีเนื้อหาทวงถามพม่าที่ไม่ยอมทำตามสนธิสัญญาปางโหลงไม่ว่าเวลาจะผ่านไปแล้วกี่สิบปี ซึ่งได้ทำให้บรรดาผู้ร่วมงานซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ สะเทือนใจไปตามๆ กัน

 

คุณ Shirley Seng จาก Kachin Women Association กล่าวว่า สัญญาปางโหลงผ่านมากว่า 60 ปีแล้ว แต่พวกเราทุกเผ่าก็ยังต้องสู้อยู่ ตนจึงอยากขอพรจากพระเจ้าและสิ่งศักดิสิทธิ์ของทุกเผ่าให้พวกเรามีกำลังใจต่อสู้จนบรรลุเป้าหมายของเรา ทุกวันนี้สตรีคะฉิ่นลำบากมากต้องอพยพไปทำงานถึงชายแดนประเทศจีนและตกอยู่ในกระบวนการค้ามนุษย์ก็มี จึงอยากให้มีการปกป้องสิทธิสตรีในพม่า และอยากให้สังคมไทยและรัฐบาลไทยเข้าใจ และเห็นใจพวกเรา ที่พม่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนัก และไม่มีโอกาสได้ออกมาบอกเล่า รัฐบาลทหารพม่าปิดหูปิดตา ดังนั้นจึงมีผู้คนหนีมาอยู่เมืองไทยเป็นจำนวนมาก อยากให้สังคมไทยเห็นใจเราบ้าง ไม่ใช่เรามาก็ตั้งท่าจะจับ คุณ Shirley กล่าว

 

สำหรับความเป็นมาของสนธิสัญญาปางโหลงนั้น เป็นการลงนามร่วมกันระหว่างนายพลออง ซาน(บิดานางออง ซาน ซูจี) กับบรรดาเจ้าฟ้าไทใหญ่ และผู้นำชนชาติคะฉิ่น และชิน เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2490 หรือเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ที่เมืองปางโหลง ตอนใต้ของรัฐฉาน โดยระบุว่า หากพม่า ไทใหญ่ คะฉิ่น และชิน ร่วมกันเรียกร้องและได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้วจะปกครองร่วมกัน 10 ปี จากนั้นแต่ละรัฐสามารถแยกปกครองตนเอง พร้อมกับระบุว่า หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามถือว่าเป็นผู้ละเมิดรัฐธรรมนูญ

 

ทว่า ในวันที่ 19 กรกฎาคมปีเดียวกัน นายพลอองซาน ผู้ร่วมลงนามฝ่ายพม่าได้ถูกลอบสังหาร จากนั้นในปี 2507 นายพลเนวินได้ยึดอำนาจพร้อมประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้สนธิสัญญาปางโหลงที่พม่า ไทใหญ่ คะฉิ่น และชินได้ทำร่วมกันเป็นโมฆะ และนับแต่นั้นรัฐบาลทหารพม่าได้ส่งกำลังทหารเข้าสู่รัฐฉาน โดยอ้างจะกวาดล้างกองกำลังจีนก๊กมินตั๋งที่พ่ายแพ้พรรคคอมมิวนิสต์ถอยร่นเข้าสู่รัฐฉาน และเพิ่มกำลังทหารกระจายเข้าสู่ทั่วทุกพื้นที่ ทำให้ไทใหญ่รวมทั้งชนชาติต่างๆ ต้องลุกขึ้นต่อสู้เพื่อทวงสนธิสัญญามาจนถึงปัจจุบัน

 

นอกจากวันที่ 12 ก.พ. จะเป็นวันรำลึกถึงการลงนามสนธิสัญญาปางโหลงแล้ว วันนี้ยังถูกกำหนดให้เป็นวัน "สหภาพพม่า" อีกด้วย โดยในวันเดียวกันนี้พลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย ผู้นำสูงสุดของรัฐบาลพม่าคือ ได้ปรากฏตัวในในพิธีฉลอง และงานเลี้ยงวันสหภาพพม่าที่จัดขึ้นที่เมือง เนปีดอร์ เมืองหลวงด้านการบริหารแห่งใหม่ของพม่า ในเขตตอนกลางของประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้มีมีกระแสข่าวลือเกี่ยวกับสุขภาพของพลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย หลังจากที่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาผู้นำเผด็จการผู้นี้เดินทางไปรักษาอาการป่วยที่สิงคโปร์นานเกือบ 2 สัปดาห์

 

 

 

นายโอน ถั่น ขณะยืนประท้วงเดี่ยวหน้าที่ทำการพรรค NLD ณ กรุงย่างกุ้ง (AP Photo)

 

 

และในวันเดียวกันนี้ สำนักข่าว AP รายงานว่า ที่กรุงย่างกุ้ง ณ ที่ทำการพรรคสันนิบาติชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy - NLD) ของนางออง ซาน ซูจี ก็ได้มีการจัดพิธีรำลึกวันสหภาพพม่า เพื่อระลึกถึงการที่นายพลออง ซานผู้นำพม่าและผู้นำชนชาติต่างๆ ลงนามในสัญญาปางโหลงขอเป็นอิสระจากอังกฤษด้วย โดยในระหว่างพิธีรำลึกนายโอน ถั่น (Ohn Than) อดีตนักโทษการเมืองที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อปีก่อน ได้ยืนประท้วงเดี่ยว โดยชูป้ายที่มีข้อความเรียกร้องให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 1990 ต่อหน้าสันติบาลพม่าที่กำลังสังเกตการณ์ และบันทึกภาพกิจกรรมของพรรค NLD

 

 

 


ข้อมูลบางส่วนจากสำนักข่าวเชื่อม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท