Skip to main content
sharethis

'ประชาไท' เก็บตกเสวนา 'ผ่าทางตัน ปัญหาการเปลี่ยนสภาพสู่..มหาวิทยาลัยในกำกับ' ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยเนื้อหาสาระมีทั้งที่มาที่ไปของต้นกำเนิดแนวนโยบาย ปรัชญาและหลักการเบื้องหลัง ความเป็นไปของกระแสโลก รวมทั้ง เปิดบทเรียนต่างประเทศ


ชุมพล ศิลปอาชา นายกสภามหาวิทยาลัยศิลปากร :"ปัญหาอยู่ที่มหาวิทยาลัยมีมากเกินไป แถมมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งยังเพิ่มคณะ เพิ่มวิชา เพิ่มสาขา เพิ่มหลักสูตร เพิ่มภาควิชา ขยายกิ่งก้านสาขาไป มันเหมือนระบบราชการตามกระทรวง ทบวง กรม ไม่มีผิด แล้วอาจารย์ก็ไม่พอ สกอ.บอกให้ 1หลักสูตรต่อ 5 คน หลังๆก็ผ่อนปรน 1 คนใช้ 2 หลักสูตร คุณภาพหรือ Out Put ที่ออกมาตอนนี้ ดูภาพรวมแล้วออกมาน่าเป็นห่วงมาก"


รศ.ดร.วิวัฒชัย อรรถากร อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร : "กระแสการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ คลุมไปถึงกิจการการศึกษาด้วย กระแสที่เข้ามามีหลายระลอก ถ้าไม่เข้าใจเราจะมองเรียบง่ายเกินจริง"


ณรงค์ โชควัฒนา ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารกลุ่มแพนและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ : "ภาษีอากรควรเป็นภาษีที่เก็บโดยตรงไม่ใช่โดยอ้อม ภาษีที่เก็บโดยตรงคือเก็บจากคนรวย หรือตามความแข็งแรง คนที่มีความแข็งแรงก็ให้เสียภาษีเยอะแล้วนำภาษีนั้นมาจัดบริการสาธารณะให้คนได้เข้าถึงในต้นทุนที่ต่ำที่สุดโดยเฉพาะบริการสาธารณะเรื่องการศึกษา


กรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักสื่อสารมวลชนอิสระ : "อจบด้วยคำกล่าวของ ศ.โรเบิร์ต ไรช์ ที่พูดที่อังกฤษว่า...การใช้การตลาดและแรงกระตุ้นทางการตลาดเป็นสิ่งฉลาด แต่ให้ใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ขอให้เข้าใจว่าการอุดมศึกษามีภาระหน้าที่สำคัญที่ต้องทำเพื่อสังคม แม้ว่าตลาดจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถแยกแยะ ตั้งราคาพิจารณาผลกำไรที่จะพึงได้ แต่ทั้งหมดต้องทำเพื่อประโยชน์ของสังคม"


 


000


ชุมพล ศิลปอาชา


นายกสภามหาวิทยาลัยศิลปากร


"ปัญหาอยู่ที่มหาวิทยาลัยมีมากเกินไป แถมมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งยังเพิ่มคณะ เพิ่มวิชา เพิ่มสาขา เพิ่มหลักสูตร เพิ่มภาควิชา ขยายกิ่งก้านสาขาไป มันเหมือนระบบราชการตามกระทรวง ทบวง กรม ไม่มีผิด แล้วอาจารย์ก็ไม่พอ สกอ.บอกให้ 1หลักสูตรต่อ 5 คน หลังๆก็ผ่อนปรน 1 คนใช้ 2 หลักสูตร คุณภาพหรือ Out Put ที่ออกมาตอนนี้ ดูภาพรวมแล้วออกมาน่าเป็นห่วงมาก"


คำว่ามหาวิทยาลัยในกำกับมีมาตั้งแต่สมัย อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากร ไม่เคยใช้คำว่านอกระบบตอนหลังๆไม่รู้ทำไมจึงเปลี่ยนคำเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบก็ไม่ทราบ อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้เรื้อรังมานาน 30 ปี สมัยก่อนประเด็นนี้เป็นเรื่องของความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ เพราะความเป็นอิสระในทางวิชาการนั้นมีเต็มตัวอยู่แล้วมาจนถึงปัจจุบัน แต่ในความเป็นอิสระของความเป็นวิชาการมันมีการบริหารจัดการควบคู่กันไปด้วย เช่น อาจารย์จะไปวิจัยทีจะต้องเก็บใบเสร็จ 5 บาท 10 บาท บางทีต้องไปจ้างแรงงาน จ้างนักศึกษาในการวิจัย แล้วต้องทำใบเสร็จมันดูวุ่นวาย ระเบียบราชการต่างๆมันครอบงำทั้งด้านบริหารจัดการ ด้านการเงินการคลัง จึงไม่คล่องตัว


เรื่องนี้เป็นปัญหามาตั้งแต่สมัยทบวงมหาวิทยาลัยยังไม่ได้ตั้งเลยแก้ปัญหาด้วยข้อเสนอของอาจารย์ป๋วย บอกว่าให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ คำนี้จึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย แต่ไม่เป็นรูปแบบสักทีจนรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร บอกว่าให้ตั้งทบวงมหาวิทยาลัยขึ้นมาก่อนเพื่อมาดูแลเฉพาะมหาวิทยาลัยต่างๆของรัฐ ทบวงมหาวิทยาลัยจึงเกิดใน พ.. 2514 เพื่อเป็นตัวกลางในการจัดการมหาวิทยาลัยให้คล่องตัว แต่ทางวิชาการนั้นมันอิสระของมันเต็มที่อยู่แล้ว ทบวงมหาวิทยาลัยตั้งมาจน พ.. 2544-45 เปลี่ยนมาเป็นสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จากตอนนั้นมา คนที่เป็นรัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัย 7 ครั้ง คือ อาจารย์เกษม สุวรรณกุล คนที่เป็นมือขวาคือ อาจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน ตลอด 30 ปี ทบวงมหาวิทยาลัยเป็นเพียงบุรุษไปรษณีย์ งานของทบวงจึงไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ความคล่องตัวของมหาวิทยาลัยยังคงอยู่ แต่ละมหาวิทยาลัยจะมี พระราชบัญญัติ(...)ประจำของตัวเอง


ในระยะหลังๆตั้งแต่สมัยป๋าเปรม ที่มีระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา มี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (..)ในสภานิติบัญญัติ งบประมาณมหาวิทยาลัยเข้าไปทีไรก็ผ่านทุกทีและมีแต่จะเพิ่มให้ ยิ่งสมัยหลังๆยิ่งไปกันใหญ่โดยเฉพาะบรรดาราชภัฏต่างๆ ได้ของแถมโดยตลอด ผ่านงบประมาณไปอย่างง่ายดาย บางที 5-10 นาทีก็ผ่านงบประมาณแล้ว ดังนั้นในการให้ความสำคัญในความคล่องตัวทางการบริหารของมหาวิทยาลัยมีพอสมควรทีเดียวในระยะหลัง ประเด็นเลยตกอยู่ที่ว่าจำเป็นหรือยังที่ต้องออกไปนอกระบบ เนื่องจากความจำเป็นที่แท้จริงมันเลยไม่ค่อยเกิดขึ้น


พอรัฐบาลไปฟันธงโครมให้ออกนอกระบบหลังพ..2540 โดยแปรสภาพข้าราชการให้กลายเป็นพนักงานส่วนราชการก็เลยกระโดกกระเดกขึ้นมา เกิดสภาพเป็น 2 ระบบ รัฐบาลเอาจริงบ้างไม่จริงบ้าง ปล่อยให้เป็นตามอัธยาศัย ใครพร้อมออกก็ออก ใครไม่ออกก็อย่าออก เป็นอย่างนี้มันก็ไม่มีจบ


...ในกำกับส่งเข้าสู่สภาผ่านการพิจารณาของผมรอบแรกเกือบ 10 ฉบับ ฉบับที่วิกฤติหน่อยคือ พ...มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอะไรพอสมควร ตอนนี้ พ...บางฉบับผ่านสภาเข้าสู่รอบ 1 รอบ 2 แล้ว บางฉบับก็สู่รอบ 3 โดยกำลังคอนเฟิร์มกัน 2 สภา เรื่องนี้ถูกดันกันมาแบบเรื่อยๆมาเรียงๆ ยังไม่ได้เอาจริงแบบทุบโต๊ะเดดไลน์ว่าต้องออกวันนี้หรือพรุ่งนี้ หลังปฏิวัติเลยเกิดปัญหาขึ้นมา สภาพข้างในแบ่งเป็น 2 พวก


พวกหนึ่งไม่เข้าใจว่าออกไปแล้วสิทธิต่างๆของตัวเองจะได้รับมากน้อยขนาดไหน มีหลักประกันความมั่นคงในการทำงานอะไรบ้าง อันนี้ตอบคำถามลำบาก ทางฝ่ายซีกนักศึกษาก็บอกว่ามีหลักประกันอะไรเรื่องค่าหน่วยกิจ ประเด็นเรื่องค่าหน่วยกิจเลยกลายเป็นประเด็นการเมืองขึ้นมามากกว่าเรื่องอื่นๆ


ความจริงผมเห็นใจข้าราชการที่เป็นพนักงานราชการมากกว่าเพราะเวลานี้สิทธิอะไรต่างๆด้อยกว่าข้าราชการพอสมควร แต่ไม่ทราบรัฐบาลบริหารอย่างไร เรื่องค่าหน่วยกิจกลับกลายเป็นประเด็นใหญ่ ซึ่งไม่ใช่ เราขึ้นค่าหน่วยกิจตลอดทุกปีอยู่แล้ว มหาวิทยาลัยศิลปากรขึ้นค่าหน่วยกิจตั้ง 900 % มีใครรู้บ้าง ดีว่าได้เบรกไว้เสียก่อน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้นไปแล้วตั้ง 26% เป็นประเด็นที่สังคมไม่เข้าใจ พอชูประเด็นเรื่องค่าหน่วยกิจกระแสลูกคู่ก็เต็มบ้านเต็มเมืองไป ประเด็นหลักจริงๆในเวลานี้คือ สภาพของพนักงานข้าราชการมี 2 ระบบ ต้องแก้ตรงนี้


ทิศทางข้างหน้ามองว่าเรื่องการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบไปไม่รอดแล้วต้องปล่อยไปแบบเรื่อยๆมาเรียงๆ แต่รัฐบาลจะปล่อยไปแบบนี้ไม่ได้เพราะต้องแก้ปัญหาพนักงานราชการด้วย ถ้าไม่สามารถจะฟันธงเด็ดขาดไปได้ว่าจะต้องออกนอกระบบไปทั้งหมด 24 มหาวิทยาลัย ราชภัฏอีก 41 แห่ง ราชมงคล 19 แห่ง และอื่นๆรวมแล้วประมาณ 60-70 แห่ง ก็เลิกไปเลย แล้วยกพนักงานราชการให้เป็นราชการให้หมดจะได้จบปัญหาไปสู่ระบบเดียว การเป็น 2 ระบบ เอาเปรียบพนักงานราชการ ถ้ากำลังรัฐบาลไม่สามารถผลักดันออกนอกระบบได้ทั้งหมด ก็ต้องเอาที่ผลักดันออกไปแล้วคืนมา


ถ้ามหาวิทยาลัยศิลปากรจะทำจดหมายฉบับแรกเสนอไปที่อาจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน และกระทรวงศึกษาธิการว่าให้ยกพนักงานราชการทั้งหมดในเวลานี้ที่นโยบายของรัฐบาลไม่ชัดเจนให้ยกขึ้นไปเป็นข้าราชการทั้งหมดเสียก่อน ผมจะเซ็นชื่อให้เป็นคนแรก


ความจริงปัญหาอุดมศึกษาของประเทศไทยเรา มันไม่ได้อยู่ที่เรื่องนอกหรือในระบบหรือในกำกับหรือนอกกำกับ ปัญหามันอยู่ที่โครงสร้างการศึกษาของอุดมศึกษาของไทยมันแย่ ตั้งมหาวิทยาลัยมากเกินไปเป็นว่าเล่น เวลานี้ถ้ารวมเอกชนก็เป็น 150 แห่งเข้าไปแล้ว มันมากเกินไปแต่งบประมาณมีจำกัด


หลังพ..2540 เป็นต้นมา โดยเฉพาะรัฐบาลทักษิณพยายามจะผลักดันเร่งเรื่องนี้เพราะงบประมาณเท่านั้นเอง แต่เขาไม่ได้เข้าใจว่าออกนอกระบบหรือในระบบเป็นอย่างไร ตอนนี้สถานการณ์มันไม่จำเป็นแล้วแต่เขาไม่ได้มองในประเด็นนั้นแต่มองว่าเป็นภาระงบประมาณเลยส่งเข้าสภาไป


ปัญหาอยู่ที่มหาวิทยาลัยมีมากเกินไป แถมมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งยังเพิ่มคณะ เพิ่มวิชา เพิ่มสาขา เพิ่มหลักสูตร เพิ่มภาควิชา ขยายกิ่งก้านสาขาไป มันเหมือนระบบราชการตามกระทรวง ทบวง กรม ไม่มีผิด แล้วอาจารย์ก็ไม่พอ สกอ.บอกให้ 1หลักสูตรต่อ 5 คน หลังๆก็ผ่อนปรน 1 คนใช้ 2 หลักสูตร คุณภาพหรือ Out Put ที่ออกมาตอนนี้ ดูภาพรวมแล้วออกมาน่าเป็นห่วงมาก


มหาวิทยาลัยทั้งหมดที่มีในประเทศไทยเวลานี้ไม่ได้เอา Student Centre แต่ เอา Teacher Centre ทั้งหมดเลย ทุกคนมองแต่ผลประโยชน์ตัวเอง ขยายกิ่งก้านสาขาเพื่อประโยชน์ตัวเองทั้งหมด บางคนที่ฉลาดหน่อยก็หลอกฝรั่งไปวิจัยบ้าง นี่คือสภาพที่แท้จริงที่ต้องแก้ ไม่ใช่เรื่องในหรือนอกกำกับที่หมดสภาพไปแล้ว


จำนวนมหาวิทยาลัยควรจะลดลงไป การศึกษาของไทยมีผู้จัดการ 3 ซีก คือภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น กระทรวงศึกษาธิการควรจะแบ่งไลน์ให้ชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยไหนควรเป็นเอกชน มหาลัยใดควรเป็นของรัฐ ไม่ใช่ภาครัฐไปทำซ้ำซ้อนกับเอกชน ความซ้ำซ้อนมันเกิดขึ้นเพราะภาครัฐแย่งกันแล้วไปแข่งกับเอกชนไม่ปล่อยให้โตขึ้นมา ถ้ามองประเทศชาติเป็นส่วนรวม การบริหารจัดการด้านอุดมศึกษาของเราผิดพลาดและดิ่งลงเหวไปหมด ภาครัฐควรหยุดขยาย ผมอ่านหนังสือ Mapping ที่สภาการศึกษาทำควรจะนำมาใช้แต่ไม่มีใครนำไปใช้ทั้งที่ดีมาก เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ดูแลบริเวณนั้นไป ไม่ต้องตั้งมหาวิทยาลัยซ้ำซ้อนกัน แล้วตอนนี้มหาวิทยาลัยจากส่วนกลางไปแย่งงานอีก ไปเปิดห้องแถวสาขาต่างๆ ทำหลักสูตรปริญญาโทหรืออื่นๆขึ้นแย่งลูกค้าซ้ำซ้อนกันไปหมด


อุดมศึกษากลายเป็นธุรกิจการค้าจนน่าเป็นห่วงมากกว่านอกหรือในระบบ เวลานี้เปิดห้องแถวไปทุกจังหวัดแถมยังให้หาหัวคิวด้วย ใครหาคนมาเรียนได้เท่าไหร่ก็เอาไปเท่านี้ๆ หรือส่งคนไปล็อบบี้ล่วงหน้า เช่น แนะแนวโน่นนี่ บางทีกว้านมาทั้งโรงเรียน


นอกจากนี้ บรรดาหลักสูตรของมหาวิทยาลัยต่างๆเน้นไปที่ด้านสังคมศาสตร์ เพราะหาเงินได้ง่าย เช่น เปิดสอนนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เลยซ้อนกันใหญ่แทนที่จะปล่อยให้ภาคเอกชนเขาทำบ้าง เมืองไทยไม่ใช่รัฐบริหารจัดการอย่างเดียว ควรไปทำเฉพาะสาขาที่เอกชนไม่สามารถลงทุนได้ เช่น แพทย์ วิศวะ วิทยาศาสตร์ แต่เวลานี้บุคลากรของมหาวิทยาลัยต่างๆไม่ได้คำนึงอย่างนี้เลย ใครนึกอยากเสนอหลักสูตรอะไรก็เสนอ


อีกปัญหาหนึ่งคือความความขัดแย้งในองค์กรการศึกษาแต่ละองค์กรสูงมาก จะเลื่อนเงินเดือน 2 ขั้นทีต้องโหวตกันในที่ประชุม อาจารย์เด็กๆมีมากกว่าอาจารย์อาวุโส โหวตทีไรก็ได้ 2 ขั้น อาจารย์อาวุโสก็ไม่มีทางได้ แล้วแบ่งกลุ่มแบ่งพวก ยิ่งนำระบบเลือกตั้งเข้าไปสู่ระบบมหาวิทยาลัยด้วยยิ่งเละเทะ หลัง 14ตุลา เอาระบบเลือกตั้งเข้าไปใส่แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร Democrazy in Admitation ท่านที่เรียนบริหารจะรู้ว่ามันต่างจาก Democrazy in Politticอย่างแรกหมายความว่าจะทำอะไรต้องฟังความเห็นบุคลากรที่ได้รับผลกระทบด้วยให้หมด มีการรับฟังความเห็นตามจุดต่างๆ มี Start Meeting หารือกันบ่อยๆ แต่หลังจากได้ข้อมูลทั้งหมดแล้วการตัดสินใจอยู่ที่ฝ่ายบริหาร


ส่วน Democrazy in Polittic นั้นคือ 1 คน มี 1 เสียง เท่ากันหมด ใน UN ประเทศที่มีพลเมือง 5000 คนก็ 1เสียงซึ่งเอาระบบนี้มาใช้กับราชการไม่ได้ ไม่เช่นนั้นหัวหน้ากองก็มีเสียงเท่าอธิบดี ในระบบราชการต้องมีสายการบังคับบัญชาไม่งั้นทำงานไม่ได้ เป็นอีกส่วนที่ทำให้ระบบการบริหารจัดการอุดมศึกษาดูแล้วไม่สวยงาม


ตอนนี้ระบบธุรกิจการศึกษามากเหลือเกิน ถ้าจะได้ด็อกเตอร์จ่ายครบ 300,000 บาทเอาไปเลย ปริญญาโท 200,000 บาท จ่ายไม่ครบไม่มีทางได้ ต่อไปบทบาทของรัฐในด้านอุดมศึกษาต้องลดลง และขอให้เอา Student Centre ไม่ใช่ Teacher Centre แบ่งไลน์กันให้ชัด ส่วนมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้นดูแล้วไปไม่รอด ไม่มีใครกล้าฟันธง อาจารย์วิจิตรเองพยายามเริ่มต้นมาตลอด มีเจตนาดี เริ่มต้นคิดไปอีกทางแต่ไม่ใช่จะลดงบประมาณแบบที่รัฐบาลพ...ทักษิณ ชินวัตร จะทำ อนาคตยังไม่มีใครกล้าตัดสินใจเด็ดขาดระหว่างนี้อย่าเอาเปรียบพนักงานราชการ ต้องฝากผู้บริหารไปดูแลด้วย


000


รศ.ดร.วิวัฒชัย อรรถากร


อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร


"กระแสการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ คลุมไปถึงกิจการการศึกษาด้วย กระแสที่เข้ามามีหลายระลอก ถ้าไม่เข้าใจเราจะมองเรียบง่ายเกินจริง"


ในประเด็น 2 ระบบในมหาวิทยาลัย ที่นายกสภามหาวิทยาลัยเสนอให้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะอธิการบดีคงรับลูกในทันที เพราะทางเลือกนี้ไม่ใช่ทางเลือกที่จะเกิดไม่ได้และเกิดขึ้นแล้วในสมัยรัฐบาลก่อนที่กระทรวงสาธารณะสุข มีการคืนอัตราข้าราชการให้กับพนักงาน เรื่องนี้สอดคล้องกับความจริง


สิ่งที่จะนำเสนอต่อไปนี้ขอออกตัวว่าเสนอในฐานะนักวิชาการ ไม่ผูกพันกับตำแหน่งใดๆ การมองอนาคตในหัวข้อแลหน้าอุดมศึกษาไทย สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจและต้องเชื่อก่อนคือมหาวิทยาลัยเป็นองค์กรที่มีชีวิต ย่อมและควรมีการเปลี่ยนแปลง แต่ที่สำคัญคือจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร


การพูดเรื่องมหาลัยออกนอกระบบหรือมหาวิทยาลัยในกำกับมักจะพูดวนเวียนกันในเรื่องความคล่องตัวทางการบริหาร การไม่ติดยึดกฎระเบียบข้าราชการ การไม่ขึ้นค่าเล่าเรียน การแข่งขันกับโลก และเสริมว่าจะมีความเสรีภาพและความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่คนจำนวนไม่น้อยเกิดความกังขาว่าจะเปลี่ยนไปสู่ประเด็นดังกล่าวได้มากน้อยเพียงไร จะส่งผลอะไรที่ตามมา อุดมศึกษาไทยมีทางเลือกแค่นี้เท่านั้นหรือ อุดมศึกษาไทยมาถึงทางแพร่งแล้ว ทางแพร่งที่ 1เรื่องจะออกนอกระบบ อันที่ 2 คืออยู่อย่างเดิมไม่เปลี่ยนแปลงอะไร หรือทางเลือกที่ 3 คือทางเรื่องอื่นๆที่จะเลือกเดิน


ขออนุญาตตั้งเป้าหมายและกำหนดกรอบความคิดว่า ประเทศไทยควรพัฒนาอุดมศึกษาในกรอบเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างความยั่งยืนในทุกด้าน มหาวิทยาลัยไทยควรมีธงนำ คิดค้นยุทธวิธีเพื่อหาความยั่งยืนตามแนวนี้ เมื่อตั้งโจทย์แบบนี้ เรื่องออกหรือไม่ออกนอกระบบเป็นคำถามที่คับแคบเกินไปหรือไม่ การเดินไปข้างหน้าจำเป็นต้องฉายภาพทั้งปัจจัยภายในประเทศและภายนอกประเทศอย่างมีปฏิสัมพันธ์กัน วิเคราะห์จุดออ่อน จุดแข็ง และภัยคุกคาม เพื่อเดินไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นใจไม่ใช่ไปตายดาบหน้า


ถ้าคาดการณ์อนาคตได้ถูกต้องประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ และเผื่อไว้ 30 เปอร์เซ็นต์ที่อาจมีปัจจัยแทรกซ้อนขึ้นมา จะวางอุดมศึกษาไว้ในจุดที่หมาะสมได้ การคิดแบบนี้เป็นการมองอย่างมีพลวัตรที่จะมีทั้งปัจจัยที่คุมได้และคุมไม่ได้ในฐานะประเทศไทยที่เป็นสังคมเล็กๆในสังคมโลก เปรียบได้กับเรือลำเล็กๆในทะเลโลกาภิวัตรเวิ้งว้าง ต่อให้มีกัปตันที่เยี่ยมยุทธเยี่ยมยอดคัดท้ายเรือ แต่ไม่อาจจะคาดการณ์ได้ว่าจะมีพายุที่คาดไม่ถึงมาซัดเรือลำน้อยนี้ลงสู่ทะเลลึก ดังนั้นต้องมองอย่างรัดกุมมองอย่างเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา


มีผู้กล่าวว่าโลกปัจจุบันเป็นโลกระนาบเดียว หรือโลกไม่ได้กลมอีกแล้ว ความหมายคือเป็นโลกที่เทคโนโลยีข่าวสารมีเยอะแยะมากมายบนถนนข่าววสาร มันมีปฏิสัมพันธ์เยอะแยะบนความเคลื่อนตัวของข่าวสาร คำถามสำคัญคือจะทำอย่างไรให้สังคมไทยที่เล็กๆในโลกาภิวัตรนี้เข้มแข็ง มีศักดิ์ศรี ในการเดินเข้าสู่โลกาภิวัตร อุดมศึกษาเองก็จะไม่ยกเว้นจากกระแสที่เข้ามานี้และอาจถูกเขย่าไปมาได้หากอ่านทางไม่ขาด ประเด็นแรก ขอฉายภาพการเปลี่ยนแปลงของประชากรกับอุดมศึกษาซึ่งเป็นสภาวการณ์ของผู้ที่จะเข้ารับการศึกษาในระบบอุดมศึกษา ทั้งในและนอกประเทศ


ในประเทศไทยคนตายน้อยหรืออายุยืนขึ้น อัตราเกิดต่ำลง เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุดมศึกษา การเกิดน้อยจะส่งผลต่อตลาดงานและอุดมศึกษาในระยะยาวได้ คนที่เรียนในมหาวิทยาลัยจะไม่เพิ่มขึ้นสูงในยุคปริญญานิยมอย่างในปัจจุบัน ดังนั้นถ้าพูดอย่างเป็นจริง ปริญญานิยมคือมหาวิทยาลัยถูกทำให้วิ่งตามตลาด แต่ถ้าพูดภาษาเศรษฐศาสตร์รู้ได้อย่างไรว่าเป็นอุปสงค์แท้หรือเป็นอุปสงค์ที่แท้บวกที่เทียมด้วย ถ้าหยุดคิดจะมีจังหวะก้าวที่ดีแทนที่จะฉกฉวยหารายได้จากภาวะปริญญานิยม จากข้อมูลประชากรศาสตร์ชัดเจนว่าการเกิดน้อย พอถึงจุดภาวะหนึ่ง การเข้าสู่การศึกษาจะหยุดชะงักงันดังที่เกิดในสหรัฐมาแล้ว รัฐบาลสหรัฐขณะนั้นแก้เกมด้วยการให้ทุนคนจากประเทศโลกที่ 3 ไปเรียน


ประเด็นที่ 2 สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยเยอะมากๆ และอีกหลายที่กำลังปรับให้มีคำว่ามหาวิทยาลัยนำหน้าชื่อไปสอดคล้องกับลักษณะความต้องการของสังคมและเรื่องเกียรติประวัติ การสร้างสถาบันการศึกษาเพื่อตอบสนองตรงนี้ก็มีประโยชน์ แต่ในอีกด้านหนึ่งควรพิจาณายาวๆว่าจะให้น้ำหนักการพัฒนาอุดมศึกษาให้เกิดคุณภาพที่แท้จริงและไม่ให้เกิดความอลหม่านอย่างไร การเกิดมหาวิทยาลัย และปริญญาเฟ้อต้องคิดควบคู่กับการเปิดมหาวิทยาลัยเพื่อนำรายได้เข้ามาด้วย


ในเวลาเดียวกัน สถานศึกษาจากต่างประเทศเริ่มพาเหรดเข้ามาประเทศไทยมากๆ ไม่ว่าจะระดับมัธยม โรงเรียนนานาชาติ หลักสูตรปริญญาตรี ปริญาโท หรือเชื่อมต่อกับต่างประเทศ ภาพการแข่งขันแบบแย่งลูกค้าก็เกิดขึ้น การแข่งขันเพื่อเพิ่มคุณภาพเป็นสิ่งที่ดี แต่การแข่งขันแบบแพ้คัดออก ฉกฉวยโอกาสแล้วไปทำลายคุณภาพนั้นอันตรายและก็มีแล้วไม่น้อย ต่อไปเราอาจจะเห็นภาพลดแลกแจกแถม อาจจะเห็นภาพกรณีที่มีคนเริ่มพูดมากขึ้นว่าเงินจ่ายครบจบแน่แต่คุณภาพไว้ทีหลัง อาจจะเคยได้ยินกันว่าเรียนเพียง 1 ปี ก็จบปริญญาตรีได้ หรือเรียนหลักสูตรเดียวได้ 2 ปริญญาเพื่อสร้างแรงจูงใจ การแข่งขันในลักษณะนี้เป็นการแข่งขันที่ทำลายศักยภาพระบบอุดมศึกษาไทยทั้งระบบหรือไม่ เป็นห่วงว่าประเทศไทยเคยฟองสบู่แตกในเรื่องเศรษฐกิจการเงินมาแล้ว ตอนนี้สังคมไทยจะเกิดปริญญาเฟ้อ หรือฟองสบู่ในเรื่องของอุดมศึกษา


แว่วๆมาว่า ขณะนี้ต่างชาติกำลังเข้ามาซื้อกิจการการศึกษาไทยที่เจ๊งแล้วกว่า 10 แห่ง ขนาดยังไม่เปิดเสรีทางการศึกษา ถ้าเปิดเสรีเต็มที่ลองคิดดูจะเป็นอย่างไร ในรัฐบาลก่อนได้ลงนามในเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอกับประเทศออสเตรเลีย เป็นเวลานานมากที่เราไม่เคยเห็นสัญญานี้หรือมีการเปิดเผยเลยเพราะอำนาจรัฐ


ผมมีโอกาสได้เห็นโดยขอให้คนไทยในออสเตรเลียดูให้ เขาเปิดหมดเลยและมีเรื่องการเปิดเสรีทางการศึกษาด้วย รัฐที่มีความจริงใจต่อประชาชนต้องเปิดเผยสัญญาและเรื่องทุกๆเรื่องที่จะผูกพันต่ออนาคต ลูก หลาน เหลน โหลน ของสังคมไทย ควรแปลเป็นภาษาไทยให้อ่านให้เข้าใจด้วย


เขาบอกว่าสามารถเปิดสอนภาษาไทยในซิดนีย์ เมลเบิร์น แคนเบอร่า และเปิดให้นวดแผนไทยได้สะดวก ฟังดูก็น่ายินดี แต่อีกด้านหนึ่ง เขาขอมาเปิดการศึกษาเสรีในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มันจะเป็นการเอาเนื้อหนูไปแลกเนื้อช้างหรือไม่อย่างไรลองคิดดู ถ้าพูดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาแต่ไม่พูดถึงโลกาภิวัตร ไม่พูดถึงเสรีนิยมใหม่ คิดว่าเรามองอุดมศึกษาแค่ด้านเดียวแล้วปิดตาอีกข้างไว้ การเปิดสัมพันธภาพทางการศึกษากับต่างประเทศเป็นเรื่องที่ดี แต่คำถามคือเปิดแบบไหน ถ้าเปิดสัมพันธภาพที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน แลกเปลี่ยนสิ่งดีๆมีคุณค่าต่อกันและกันบนพื้นฐานคุณภาพและภราดรภาพ ร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้สังคมโลกคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ตามหลักปรัชญาตะวันออกว่า ในดีมีเสีย ในเสียมีดี ดังนั้นอะไรคือสิ่งที่ดีก็ต้องทำให้เกิดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้


ประเด็นที่ 3 เรื่องความผันผวนทางเศรษฐกิจกับโลกาภิวัตร เศรษฐกิจนั้นมีวัฏจักรขึ้นลง แต่สิ่งที่ทำให้วัฏจักรขึ้นลงนั้นยากจะอธิบาย เศรษฐกิจไทยต้องพูดว่ายังไม่มั่นคง เช่น ธนาคารพาณิชอยู่ในมือต่างชาติเยอะมาก ทุนสิงคโปร์ครอบไปแล้วหลายธนาคาร ประเทศเล็กกว่ามีประชากรไม่กี่ล้านคนครอบหมดรวมทั้งด้านอื่น เช่น การขนส่ง โรงพยาบาล โทรทัศน์ ถ้าเป็นแบบนี้ปัจจัยพื้นฐานด้านสังคมมันจะคลอนแคลนด้วยหรือไม่


ผมไม่ได้พูดแค่สิงคโปร์ หรือโดยมีอคติจากอดีตผู้นำ ทุนข้ามชาติอื่นๆก็มีบทบาทสำคัญ ผมเองในฐานะนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยม ไม่ปฏิเสธบทบาททุนข้ามชาติเลยในความหมายแบบชาตินิมที่ไร้เหตุและผล แต่ถ้าทุนข้ามชาติเข้ามาเอาเปรียบประเทศไทยเกินไป มาเบียดเบียนสร้างภัยคุกคามกับประเทศไทยมากเกินไป อย่างนี้ต้องต่อรองหรือคัดค้าน ต้องมีจุดพอดีแห่งความสัมพันธ์


คำถามในสถานการณ์อนาคตต้องวิเคราะห์ ตีปัญหาให้แตก ได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่บางท่านบอกว่าการออกนอกระบบไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับเสรีนิยมใหม่ในโลกปัจจุบัน เป็นการมองแบบแยกส่วนจากระบบใหญ่ของเศรษฐกิจและโลกาภิวัตรโลก อาจเป็นข้อกังวลเกินไปก็วิจารณ์ได้ แต่ถ้าออกไปอย่างไม่มั่นคงแล้ว วันดีคืนดีมหาวิทยาลัยบางแห่งมีสาขาเกี่ยวข้องกับการแพทย์ เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์สุขภาพ ถ้าสถานการณ์การบริหารเกิดถึงจุดวิกฤติบางระดับแล้วถูกดึงเข้าสู่ตลาดหุ้น ตลาดทุน มิใช่ว่าโอกาสนี้จะเกิดไม่ได้เลย เราต้องสมมติไปถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายสุดๆไว้ด้วย ความผันผันผวนทางเศรษฐกิจมันเคยเกิดขึ้นแล้วและไม่ใช่ครั้งเดียว พ..2524 ครั้งหนึ่ง พ..2540 อีกครั้ง แล้วไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดอีกในอนาคอันใกล้


การโยงเศรษฐกิจ โลกาภิวัตรและการศึกษา คำนี้ฟังดูบวก ผมมีโอกาสเข้าไปร่วมการสัมนาที่ออสเตรีเลียหัวข้อ International Education เป็นการรวมผู้บริหารสถาบันการศึกษาทั้งหมดทั่วทุกทวีปมารวมกัน เลยถึงบางอ้อหลายประเด็น


ประเทศออสเตรีเลียมีแนวคิดที่จะทำการศึกษาเป็นการส่งออกบริการการศึกษาทำรายได้ ออสเตรเลียจึงเป็นเจ้าภาพจัดงานขึ้น งานนี้ชัดเจนคือการมองการแข่งขันในแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยม แต่เรียนย่อๆว่ามีทัศนะเข้าใจต่างกันในที่ประชุม ทางผู้เสนอบอกว่าดี สังคมมนุษย์จะสื่อสารทางการศึกษากันไร้พรมแดน จะต้องใช้ไอที และเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นเครื่องมือใหม่ๆทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ สร้างคุณภาพแบบใหม่ๆ แต่มีอาจารย์ท่านหนึ่งเป็น ปลัดกระทรวงจากประเทศทางอาฟริกาบอกว่า เห็นด้วย แต่ว่าประเทศของข้าพเจ้าในชุมชนอันหลากหลายไม่มีไฟฟ้าใช้ แล้วจะเอาคอมพิวเตอร์อะไรไปใช้ ดังนั้น International Educationโลกหนึ่งกับอีกโลกหนึ่งมันไม่เหมือนกัน ที่เรียนตรงนี้อยากบอกว่าถ้าจะเปลี่ยนแปลงเราต้องหันมาดูตัวเราด้วย สรุปคือ กระแสการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ คลุมไปถึงกิจการการศึกษาด้วย กระแสที่เข้ามามีหลายระลอก ถ้าไม่เข้าใจเราจะมองเรียบง่ายเกินจริง องค์การการค้าโลกได้พูดถึงสิทธิบัตรในหลายรูปแบบเรื่องความรู้ และเรื่องการเปิดเสรีต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นข้อผูกพันแบบพหุภาคีมากกกว่าทวิภาคีหรือเอฟทีเอ แต่องค์การการค้าโลกก็มีจุดอ่อนที่ต้องเข้าใจ


ยกตัวอย่างเช่น ข้อเรื่องเสรีว่าต้องปฏิบัติกับชาติอื่นเหมือนกับชาติตัวเอง หมายความว่าถ้าเรายกเว้นภาษีหรือมีเงินอุดหนุนให้กับการศึกษาในประเทศไทยที่อาจต้องการการอุดหนุนจากรัฐโดยเอาภาษีของประชากรมามอบให้ ในความหมายขององค์การการค้าโลกคือถ้าอุดหนุนตัวเองต้องอุดหนุนต่างชาติด้วย ในทางกลับกันถ้ายกเลิกอุดหนุนเสีย ไม่หนุนทั้งเขาและเราฟังดูดี แต่คนตัวเล็กกับคนตัวใหญ่แข่งวิ่งกัน ใครขายาวกว่าก็เป็นประเด็น ดังนั้นระบบพวกนี้ต้องเข้าใจเจาะลึก การแข่งขันต้องเข้าใจว่าแข่งขันอะไรในระบบโลกาภิวัตร ต้องตีความเป็นเปลาะๆ แล้วจะเกิดประเด็นว่า การแข่งขันทางการศึกษาอาจจะไม่จำเป็นต้องเข้าไปในลู่วิ่งแบบเดียวกันเสมอไป


ประเด็นต่อไปเป็นเรื่องการเมือง บางมหาวิทยาลัยเข้าไปสู่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รู้สึกแปลกๆที่จะผ่านวาระหนึ่ง สอง และสาม ทีเดียวรวดในเรื่องของร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ อันเป็นเรื่องที่สำคัญต่อทั้งสังคมไทยอย่างรวดเร็วเช่นนี้ การกลั่นกรองมีความละเอียดละออรอบคอบขนาดไหน มันสอดคล้องกับหลักการมีส่วนร่วมซึ่งเป็นพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตยเพียงใด ในกระบวนการของการจัดตั้งคณะกรรมาธิการจะพบว่ากรรมาธิการของมหาวิทยาลัยที่เข้าไปสู่ สนช.อาจจะเกือบทั้งหมด 14 แห่งล้วนแล้วสมาทานความคิดแบบนี้แทบทั้งสิ้น


ตอนร่าง พ...ศิลปากรตอนเข้าไปสู่สภาครั้งที่แล้วได้รับการกรุณาจากรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรให้เข้าไปนั่งด้วยพร้อมกับนายกสภามหาวิทยาลัยศิลปากร มีผู้คนหลากหลายในกรรมาธิการเกิดการคัดคานในประเด็นต่างๆ การเมืองแบบนี้ก็ต้องดูให้ทั่ว การเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะสำคัญๆอย่าง พ...มหาวิทยาลัยออกนอกระบบน่าจะอยู่ในภาวะเงื่อนไขที่จะต้องมีการเลือกตั้งจากประชาชนเพราะมันผูกพันกับอนาคต รัฐบาลนี้ก็มาสั้นๆไม่นานนัก เรื่องที่สำคัญๆกว่าในเรื่องการศึกษา เช่น เรื่องความมั่นคง เรื่องการทำมาหากินของประชาชน หรืออย่างที่ชัดๆเรื่องปัญหาภาคใต้น่าจะสำคัญสูงกว่าเรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบหรือไม่ ค่อนข้างเชื่อภาษิตไทยที่ว่าเรื่องสำคัญๆควรจะต้องกลั่นกรองให้ดี เปิดเวทีให้กว้าง เรื่องมหาวิทยาลัยออกนนอกระบบไม่ใช่เรื่องของอธิการบดี เพราะอธิการบดีมาวันหนึ่งก็ต้องไป แต่สังคมยังอยู่ ประชาคมยังอยู่ ดังนั้นเรื่องเรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคมควรจะมีโอกาสได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในวิถีสันติ ภราดรภาพ


เรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบสำคัญคือ สร้างมาตรฐานในทุกด้านให้เป็นความแข็งแรงไม่ว่าจะเป็นด้านบุคลากร ด้านคุณภาพทางวิชาการ ด้านงบประมาณและอื่นๆ เชื่อว่าถ้ามีการระดมความคิดและพูดคุย การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นโดยรูปแบบไม่จำเป็นต้องเป็นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับอุดมศึกษาไทยโดยรวม ถ้าฐานที่มั่นทางการศึกษาไทยหรืออุดมศึกษาไทยมั่นคงเชื่อว่าประเทศไทยจะไปได้ดี ขณะนี้ที่มั่นทางเศรษฐกิจ การธนาคาร หรือด้านต่างได้สูญเสียอิสภาพและความเป็นไทยไปเยอะ ก็ได้แต่หวังว่าการศึกษาไทยจะเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายที่จะสร้างความยั่งยืน


000


ณรงค์ โชควัฒนา


ภาคเอกชนและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ


"ภาษีอากรควรเป็นภาษีที่เก็บโดยตรงไม่ใช่โดยอ้อม ภาษีที่เก็บโดยตรงคือเก็บจากคนรวย หรือตามความแข็งแรง คนที่มีความแข็งแรงก็ให้เสียภาษีเยอะแล้วนำภาษีนั้นมาจัดบริการสาธารณะให้คนได้เข้าถึงในต้นทุนที่ต่ำที่สุดโดยเฉพาะบริการสาธารณะเรื่องการศึกษา"


แม้จะอยู่ในภาคเอกชนก็ไม่เห็นด้วยกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และมองว่าภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยออกนอกระบบในปัจจุบันมันคล้ายกัน ปรัชญาคือให้ผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการของรัฐต้องลงทุนส่วนหนึ่ง คือมองแค่ว่าภาษีอากรมาจากคนทั้งประเทศแต่คนใช้เป็นคนส่วนเดียว มหาวิทยาลัยทำไมต้องอุดหนุนเพราะเก็บภาษีจากคนทั้งประเทศมาให้คนกลุ่มเดียว พอเรียนแล้วก็ได้ประโยชน์จึงพยายามผลักให้ผู้เรียนรับภาระโดยตรง อธิการบดีหลายคนในสนช.ก็อธิบายแบบนี้เวลาอภิปราย โดยอ้างจากการวิจัยว่า หลายคนที่มาเรียนในมหาวิทยาลัยเป็นคนรวย มีแค่คนจน 3 เปอร์เซ็นเท่านั้น ดังนั้นถึงเพิ่มค่าหน่วยกิจก็ไม่เป็นไร ให้จัดสัก 10 เปอร์เซ็นมาเป็นทุนการศึกษาเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม นี่คือปรัชญาเบื้องหลัง


แต่ผมมองว่าภาษีอากรควรเป็นภาษีที่เก็บโดยตรงไม่ใช่โดยอ้อม ภาษีที่เก็บโดยตรงคือเก็บจากคนรวย หรือตามความแข็งแรง คนที่มีความแข็งแรงก็ให้เสียภาษีเยอะแล้วนำภาษีนั้นมาจัดบริการสาธารณะให้คนได้เข้าถึงในต้นทุนที่ต่ำที่สุดโดยเฉพาะบริการสาธารณะเรื่องการศึกษา ดังนั้นปรัชญาตรงนี้จึงไม่ตรงกัน


ประเด็นคือไม่ได้พูดถึงเลยว่าคนจน 3 เปอร์เซ็นนั้นไม่ใช่สัดส่วนคนจนในสังคมไทย มันมีมากกว่านั้น ไม่ได้พูดเลยถึงการทำให้คนมากกว่า 3 เปอร์เซ็นเข้ามามีโอกาสเรียนในอุดมศึกษา ตอบแค่เอาทุนให้ก็พอ แนวโน้มถ้าหน่วยกิจเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆมันจะมากกว่า 3 เปอร์เซ็นแน่นอน ปรัชญาการศึกษาต้องเป็นบริการของรัฐที่ให้ทุกคนทุกกลุ่มเข้าถึงได้มากด้วยต้นทุนต่ำที่สุด ไม่ใช่เรื่องให้เขามาลงทุนแล้วถอนทุนทีหลัง ช่องว่างจะถ่างไปเรื่อยๆและความเสมอภาคทางการเมืองก็ไม่มี


คำว่า ทุนนิยมกับเสรีนิยม คือความหมายเดียวกัน แต่เสรีนิยมฟังดูเพราะกว่าทุนนิยม เพราะเราคิดถึงใครใคร่ช้างค้างค้า ใครใครค้าม้าค้า เสรีนิยมมันทำให้พูดถึงเสรีภาพทางการค้า เสรีภาพทางที่อยู่อาศัย เสรีภาพในการศึกษา แต่ถ้าเรามองต่อไปว่า ใครใคร่ค้ามนุษย์ก็ค้า ใครใคร่ค้ายาเสพติดค้า จะมองว่าเสรีภาพต้องมีข้อจำกัด มันจะกระทบกระเทือนคน แต่นักเสรีนิยมไม่มองตรงนั้น ไม่มองว่าเสรีภาพไม่มี 100 เปอร์เซ็น มันต้องมีขอบเขตที่สังคมไม่เดือดร้อน คนรอบข้างและประเทศชาติไม่เสียหาย


เสรีนิยมคือการแข่งขันกันอย่างเสรีโดยไม่มีแต้มต่อ แต่ทุกสังคมประกอบด้วยคนแข็งแรงและคนอ่อนแอ เอาคนแข็งแรงกับคนอ่อนแอมาแข่งขันกันโดยไม่มีแต้มต่อเป็นไม่ได้ คนอ่อนแอก็จะตายลูกเดียว คนแข็งแรงก็รวยเอาๆ จริงๆแล้วการแข่งขันเสรีในโลกก็ไม่มี ทุกชาติในโลกก็ดูแลคนอ่อนแอในชาติทั้งนั้น


ปรัชญาเสรีเข้ามาในไทยเต็มที่โดยเฉพาะช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ พ.. 2540 ไทยเข้าโปรแกรมไอเอ็มเอฟ ซึ่งก็บีบให้เราเปิดเสรีตามฉันทามติกรุงวอชิงตัน เรื่องเสรีทางการศึกษาเกิดเมื่อ พ..2542 รัฐบาลลงนามกู้เงินเอดีบี 2,400ล้านบาท ช่วงนั้นเป็นรัฐบาลประชาธิปัตย์ นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นช่วงนิยมกระแสเสรี กระแสแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้ต่างชาติ ราชการเป็นระบบล้าหลัง ถ้าเป็นเอกชนก็จะดีโดยเฉพาะเอกชนต่างชาติจะดีที่สุด และในสัญญากู้เงินก็ระบุไว้ชัดเจนว่า มหาวิทยาลัยที่อยู่ในข้อตกลงให้เอาออกนอกระบบมี 7 มหาวิทยาลัยได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และต้องทำให้เสร็จในเวลาด้วย


เวลานั้นผู้ลงนามคือ นายประจวบ ไชยสาส์น รัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัย นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางกาญจนา ศิลปอาชา นายไพโรจ โล่ห์สุนทร และนายพิชัย ตันศิริ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ


อันนี้เป็นเงื่อนไขผูกมัดว่าต้องเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แนวคิดเสรีทางการศึกษาก็ผูกมัดจากการกู้เงินและต่างชาติบังคับ ที่บังคับเนื่องจากเพราะตราบใดรัฐยังอุดหุนการศึกษาอยู่ 70-80 เปอร์เซ็น มหาวิทยาลัยต่างชาติจะมาขุดทองแข่งขันได้อย่างไร จึงต้องเอาออกนอกระบบ แล้วบอกว่าให้คนมาศึกษาต้องมาลงทุนเอง อันนี้คือเปลี่ยนแปลงปรัชญาการศึกษาให้กลายเป็นธุรกิจตัวหนึ่ง


เมื่อเริ่มทำก็มีแรงต่อต้าน จึงมีการกดดันว่าเป็นทาสที่ปล่อยไม่ไป เขาบอกให้เสรี ต่อไปนี้มีเสรีภาพที่จะร่างพ...เองได้ สภาตัดสินใจเองได้ก็ไม่ยอมไป บอกว่าเพราะอยากได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์บ้าง กลัวระบบไม่มีความมั่นคงบ้างและมีนโยบายผลักดันให้ผู้บริหารเปลี่ยนความคิด เช่น คนเก่าให้เป็นข้าราชการได้ ส่วนคนใหม่ให้เป็นพนักงานข้าราชการจะได้ไม่มีแรงต้าน รวมทั้งบีบด้านงบประมาณโดยอ้างว่าเศรษฐกิจไม่ดี เพิ่มงบไม่ได้ ผลักภาระไปที่มหาวิทยาลัยแล้วให้เปิดโอกาสให้ชิมรสของทุนนิยม เช่น ปล่อยเสรีพวกหลักสูตรพิเศษแล้วให้ขึ้นเงินได้ตามใจชอบก็รวยได้


ตอนเซ็นสัญญาเอดีบี ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ตอนนี้กลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มันต่อเนื่องกันมาด้วยแนวคิดเสรีนิยมรวมทั้งเรื่องแปรรูปรัฐวิสาหกิจในวันนี้ด้วย แนวคิดพวกนี้ยังไม่ตาย คำว่าเสรีนิยมมันดูดีกว่าทุนนิยมสามานย์เพราะฟังแล้วดูดี มีเสรีภาพ ใน พ... จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ...มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือพ...มหาวิทยาลัยบูรพา ก็พูดว่าเป็นการให้เสรีภาพทางวิชาการเพราะอ้างว่าในระบบราชการมันไม่มีเสรีภาพ มันต้องออกนอกระบบจึงจะมีเสรีภาพ ทางมหวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็บอกว่า สมัยตั้งมหาวิทยาลัยนั้นก็อยู่นอกระบบ ตอนหลังเอาเข้ามาราชการ ดังนั้นก็กลับคืนออกนอกระบบ มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องเกิดนอกระบบทุกอย่างต้องอยู่นอกระบบจึงจะมีเสรีภาพ


แต่ดูใน พ...แล้วไม่มีอะไรเลยในเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ มีแต่เสรีภาพในการจัดซื้อจัดจ้างตามสะดวกของแต่ละมหาวิทยาลัย มีเสรีภาพในการขึ้นเงินเดือน จ่ายโบนัส เต็มที่ถ้ามีกำไร เสรีภาพในการเอาทรัพย์สินอาจจะที่ได้จากบริจาคหรือรัฐเอาเงินภาษีอากรมาใส่ สามารถใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินได้ จะให้เซ้งให้เช่าก็ได้ นี่คือเสรีภาพใน พ...ที่ผ่านวาระแรกไป


อธิการบดีใน สนช.ส่วนใหญ่ก็มาอภิปรายเหตุผลว่าออกหรือไม่ออกค่าหน่วยกิจก็ขึ้น แต่ตรงนี้นมันขึ้นกับรัฐบาลว่าจะให้หรือไม่ให้งบประมาณ รัฐก็ตัดงบประมาณ บอกให้เลี้ยงตัวเองตลอดเวลาและขู่ว่า ต่อไปจะออกนอกระบบต่อไปต้องเลี้ยงตัวเอง จึงจัดหลักสูตรจ่ายครบจบแน่เต็มไปหมด ระยะหลังเอาปรัชญาการค้าเสรีนิยมสุดกู่มาใช้ ทั้งๆที่ไม่มีประเทศไหนใช้ เขาดูแลคนอ่อนแอในประเทศ มีแต่ของไทยบอกไม่ต้องดูแลให้เขาแข่งกัน ไม่เก่งก็ให้เปลี่ยนอาชีพเองตรงกันข้ามกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การเอาพ...นี้เข้ามาในรัฐบาลนี้ที่บอกว่าสนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่มีเหตุผลที่สุด ไม่ใช่เลยอันนี้เป็นทุนนิยม เสรีนิยมสุดขั้ว สร้างความอึดอัดให้ สนช. มาก เพราะ สนช. แต่งตั้งโดย คมช. มันเหมือนมัดมือชก ถ้ากฎหมายไม่ผ่านรัฐบาลก็ล้ม สนช.ทุกคนอยากจะช่วยรัฐบาลนี้ให้อยู่ได้จึงไม่อยากจะผ่านกฎหมายอะไรที่จะทำให้มีปัญหา การอภิปรายก็อภิปรายช่วยมากกว่าเช่นหากผ่านกฎหมายนี้ออกไปจะมีปัญหามากกว่า เป็นลักษณะไม่มีฝ่ายค้านไม่มีรัฐบาล แต่อันนี้เป็นการอภิปรายค้านซึ่งสู้เหตุผลของอธิการบดีไม่ได้ อธิการบดีของทั้งจุฬาฯ ทั้งธรรมศาสตร์ พูดเก่งมาก ทางสนช.ก็สรุปว่าให้เอาไปดองไว้ ให้แต่ละแห่งกลับไปตกลงกันให้ได้แล้วค่อยเอากลับเข้ามาใหม่ นี่คือสถานะในปัจจุบัน


000


กรรณิการ์ กิจติเวชกุล


นักสื่อสารมวลชนอิสระ


"ขอจบด้วยคำกล่าวของ ศ.โรเบิร์ต ไรช์ ที่พูดที่อังกฤษว่า...การใช้การตลาดและแรงกระตุ้นทางการตลาดเป็นสิ่งฉลาด แต่ให้ใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ขอให้เข้าใจว่าการอุดมศึกษามีภาระหน้าที่สำคัญที่ต้องทำเพื่อสังคม แม้ว่าตลาดจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถแยกแยะ ตั้งราคาพิจารณาผลกำไรที่จะพึงได้ แต่ทั้งหมดต้องทำเพื่อประโยชน์ของสังคม"


เคยเขียนรายงานปฏิรูปการศึกษาฉบับไม่เอื้ออาทร ตีิพิมพ์ใน อะเดวีคลี่ เมื่อประมาณปลายปี 2547 ที่พ...ทักษิณ ไปพูดเรื่องการศึกษายุคใหม่ ในโอกาสที่กระทรวงศึกษาธิการมีการปฏิรูปครบรอบ 1 ปี พ...ทักษิณ บอกว่า


"ผมต้องการให้สถาบันการศึกษาต่างๆปรับตัวอย่างรุนแรงและรวดเร็วโดยอาศัยกลไกธรรมชาติมาให้รางวัล หรือลงโทษสถาบันการศึกษาที่ไม่ยอมปรับตัว ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันในสถาบันการศึกษาทั้งรัฐและเอกชน ผมมีแนวคิดเปิดเสรีค่าจ้างครูสถานศึกษาได้เต็มที่ กำหนดค่าจ้างครูได้เองและให้นักเรียนเป็นผู้เลือกว่าจะเรียนที่ไหน หากสถานศึกษาใดจัดการเรียนการสอนไม่ได้คุณภาพ คุ้มค่า คุ้มราคา ก็จะไม่มีนักเรียนไปเรียน"


ฟังดูแล้วน่าสนใจ แต่ส่วนตัว ใน พ..2543 ได้เดินทางไปเรียนที่ออสเตรเลียทำให้เห็นความจริงหลายอย่างและได้เก็บข้อมูลไว้ เช่น ก่อนการเรียนในมหาวิทยาลัยที่ออสเตรเลียจะมีการทดสอบภาษาอังกฤษ โดยทางมหาวิทยาลัยจะมีโรงเรียนมาสอนภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนต่างชาติ พบว่านักเรียนไทยจำนวนมากมีปัญหาไม่ผ่านภาษาอังกฤษ เมื่อไม่ผ่านจะไม่เข้าเกณฑ์ในการเรียนแต่ละคณะ แต่โชคดีที่มีเอเย่นไปติดต่อกับมหาวิทยาลัยและคณะต่างๆเพื่อให้ได้เรียนแม้จะไม่ผ่านภาษาอังกฤษก็ตาม หรือผ่านภาษาได้แต่ไม่ดีพอจะเรียนในบางคณะที่เป็นที่นิยม เช่น เอ็มบีเอ มหาวิทยาลัยจะเปิดวิชาใหม่ๆเพื่อตอบสนองนักศึกษาต่างชาติอันเป็นรายได้หลักของออสเตรเลีย เช่น International Business มาแทน


ในตอนนี้ถ้าจบปริญญาโทจากออสเตรีเลีย ให้ถามด้วยว่าจบแบบไหนมาเพราะมีทั้งแบบจบคอร์สเวิร์ค 1 ปี กับแบบที่ทำ ธิซิส แบบหลังสามารถต่อปริญญาเอกได้ แต่คอร์สเวิร์คต่อไม่ได้ เป็นเพียงการได้ไปบอกคนอื่นว่าจบปริญญาโทมาจากเมืองนอก ตอนนั้นคณะที่ไปเรียนไม่ค่อยมีคนไทยเรียน เอเย่นก็เข้าไปหาหัวหน้าคณะวิชาว่าอยากจะให้คนไทยมาเรียนเยอะๆหรือไม่ ลองเสนอเปอร์เซ็นมาเขาจะหาเด็กมาให้ อาจารย์มาถามเหมือนกันว่าผ่านเอเย่นมาหรือไม่


เรื่องถึงขีดสุดเมื่อมหาวิทยาลัยวูลองกอง ในนิวเซาท์เวล เป็นข่าวหน้าหนึ่งในออสเตรเลียและต่อมาเป็นข่าวไปทั่วโลก มหาวิทยาลัยแห่งนี้ไล่ รศ.เท็ด สตีล อาจารย์ประจำภาควิชาชีวะิวิทยาออก ทั้งที่ผลงานทางวิชาการค่อนข้างดีเด่น แต่ไปเปิดเผยกับสื่อมวลชนแม้จะไม่เป็นการตั้งใจจากการเขียนลงอินทราเน็ตเพื่อระบายว่าให้คะแนนเด็กจีน 2 คน คนหนึ่งตก อีกคนแค่ผ่านธรรมดา แต่เมื่อผลคะแนนออกมาทั้งคู่ได้ผลคะแนนดีมาก คือเหมือนกับได้เกรด 0 กับเกรด 1 แต่ ปรับเป็นเกรด 4 เพียงเพราะ 2 คนนี้กำลังจะเป็นลูกค้าคนสำคัญของมหาวิทยาลัยในระดับปริญญาเอก แต่ถ้าตกวิชานี้คะแนนจะไม่ถึงที่จะเรียนต่อปริญญาเอก


เมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบจะไม่มีใครกล้าพูด เพราะเป็นระบบที่ผู้บริหารมีอำนาจในการต่อสัญญาอาจารย์แต่ละคน ถ้าอยากจะต่อสัญญาก็ควรเงียบเอาไว้ จนกระทั่งเมลล์นี้หลุดไปถึงนักข่าวท้องถิ่นและระดับชาติปรากฏว่าทาง มหาวิทยาลัยโกรธและไล่ ร.. เท็ด สตีล ออก ทางสหภาพของอาจารย์ออสเตรเลียเลยร่วมกันฟ้องร้องคดี ผลออกมาว่ามหาวิทยาลัยทำผิดต้องรับอาจารย์กลับเข้าไปพร้อมชดใช้ค่าเสียหาย


เรื่องการให้คะแนนแบบง่ายๆเป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์กันในออสเตรเลีย ตั้งแต่รัฐบาลให้มหาวิทยาลัยเลี้ยงดูตัวเอง ทั้งนี้นักศึกษาของออสเตรีเลียไม่ต้องจ่ายค่าเรียน แต่จ่ายเป็นลักษณะเงินกู้ ดอกเบี้ย 0 เปอร์เซ็น และหักเมื่อมีรายได้ แต่เด็กจากเมืองนอกต้องจ่ายเทอมละประมาณ 6,000 ดอลล่าออสเตรเลีย หรือประมาณ 360,000 บาทต่อปี รายได้ของมหาวิทยาลัยจึงมาจากนักศึกษาต่างชาติเป็นหลัก การให้คะแนนแบบง่ายๆเป็นเรื่องที่ทำกันเป็นปกติ


ล่าสุด มหาวิทยาลัยในเมล์เบิร์นทำวิจัยออกมาว่า ภาษาอังกฤษของนักเรียนโดยเฉพาะนักเรียนไทยกับเกาหลีใต้ 50 เปอร์เซ็นไม่ผ่านมาตรฐาน ทำให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการออสเตรเลียไม่พอใจ หาว่าออกมาใ้ห้้ภาพพจน์การศึกษามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสินค้าส่งออกเสื่อมเสีย


สิ่งที่เกิดกับ รศ.เท็ด สตีล ทำให้มีรายการของสถานีโทรทัศน์เอสบีเอส ที่ได้รับการยกย่องมากว่าเป็นสถานีเสรีจริงๆทำรายงานสกู้ปข่าวเรื่องวิกฤติการณ์การศึกษาในออสเตรเลียเนื่องจากรัฐบาลตัดงบการศึกษาและให้มหาวิทยาลัยดูแลตัวเอง พบว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้สนใจว่าจะให้อะไรกับลูกศิษย์ แต่กำลังคำนึงถึงความสามารถทางการเงินของลูกศิษย์ต่างหาก


เรื่องนี้วิจารณ์กันในรัฐสภาออสเตรีเลียด้วย โดยวุฒิสมาชิก คิม คาร์ จากสายพรรคกรีนพูดถึงการที่นักศึกษาปริญญาโทคนหนึ่งเสนอทุนสนับสนุน 2,000,000ดอลล่าออสเตรเลียให้กับมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย สำหรับสร้างศูนย์วิจัย ทำให้ได้รับคะแนนเพิ่ม 5 วิชา จากทั้งหมด 10 วิชา ในกรณีใกล้เคียงกัน นักการเงินอายุ 45ปี ไปเรียนต่อปริญญาโทและเอก ได้ให้เงินค่าจ้างอาจารย์ที่ปรึกษา 4 คน จำนวน 250,000 ดอลล่าออสเตรเลีย อาจารย์ 3 ใน 4 คน จึงเพิ่มคะแนนให้นักการเงินรายนี้ นอกจากปัญหามหาวิทยาลัยต้องเอาอกเอาใจคนที่มีปัญญาจ่ายและไม่ใส่คนที่ไม่มีปัญญาจ่ายนัก เรื่องคุณภาพการศึกษาก็มีปัญหาจนมีนักศึกษาออสเตรเลียมาโวยวายเช่นกัน เช่น การรับเด็กเกินโควต้าที่จะรับไหวในหนึ่งห้องทำให้ไม่สามารถถกเีถียงทางวิชาการในห้องได้ แต่เมื่อมหาวิทยาลัยต้องการเงินมากขึ้นก็เพิ่มหัวมากขึ้น


การหารายได้ของมหาวิทยาลัยรวมไปถึงการลดรายจ่ายด้วย จึงตามมาด้วยวิธีการคือลดรายจ่ายในบรรดาภาควิชาหรือคณะที่ทำเงินหรือหากินไม่ได้ เช่น มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ซึ่งเก่าแก่ที่สุดในออสเตรีเลียมีการขายหนังสือของคณะประวัติศาสตร์ สังคม และปรัชญา ออกเพื่อเอาพื้นที่ไปตั้งห้องแล็ปคอมพิวเตอร์ของคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ที่ทำรายได้ได้สูงกว่า หรือที่คณะประวัติศาสตร์และศิลปศาสตร์ ศ.เคน แม็กแน็บ เล่าว่า ตอนนี้มหาวิทยาลัยกำลังประกาศหาอาสาสมัครให้ลาออก 40-50 คน ในช่วงที่สถานีโทรทัศน์เอสบีเอสไปสัมภาษณ์มีคนสมัครใจลาออกเพียงครึ่งเดียวจึงต้องจับฉลากหรือถูกให้ออก ดังนั้นมหาวิทยาลัยจะไม่ใส่ใจเลยกับคณะที่ไม่ได้ทำเงิน แต่จะไปใส่ใจกับคณะทำเงินและหารายได้ด้วยวิธีแปลกๆ เช่นไปผูกมิตรกับธุรกิจที่จะเกี่ยวพันโดยตรงกับเสรีภาพทางวิชาการ ที่มหาวิทยาลัยซิดนี่ย์ ธุรกิจเหมืองจากภาคตะวันตกของออสเตรีเลียจะให้การสนับสนุนคณะธรณีวิทยาเยอะมาก พอคณะธรณี คิดจะเปิดวิชาเกี่ยกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมกลับกลายเป็นเรื่องที่ต้องถูกถอนวิชานี้


ในปีที่ไปศึกษา นักทำสารคดี 2 คน ได้ไปติดตามชีวิต หัวหน้าภาควิชาดนตรีของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ซึ่งอาจารย์เป็นศิลปินมากไม่เคยรู้เรื่องการแปรรูปหรือออกนอกระบบ อยู่ๆอธิการบดีก็เรียกให้ไปคุยว่าคณะต้องหาเงินด้วยตัวเอง ถ้ามีเด็กเท่านี้ๆ มหาวิทยาลัยจะสนับสนุนเท่านี้ๆ ถ้าไม่ถึงก็ต้องไปหาเงินสนับสนุนเอง แรกๆอาจารย์ก็ไปหาตามธนาคาร เช่น ออสเตรเลี่ี่ยนแบงค์ แต่ไม่ได้ ก็มาใช้วิธีตัดค่าใช้จ่าย บรรดาอาารย์ภาคเดียวกันบอกว่าจะให้การศึกษาที่ด้อยกับนักศึกษาไม่ได้เพราะเขาตั้งใจมาเรียนมาก จะให้เดิมสอน 5 ชม.เหลือ 3 ชม.ไม่ได้ ดังนั้นจะสอน 5 ชม.ด้วยเงินที่มีปัญญาจะจ่าย อาจารย์หลายคนก็พยายามทำกัน สุดท้ายหัวหน้าภาควิชาดนตรีคนนี้จากเป็นนักอนุรักษ์นิยมและโรแมนติกนิยมมากๆ ตอนท้ายสารคดีจะเห็นแกนำม็อบนักศึกษาและคณาจารย์ไปทุบประตูอธิการบดีเพื่อขอให้มาเจรจา มิฉะนั้นอาจารย์ก็จะโหลดงานหนัก เด็กก็ไม่ได้รับการเรียนการสอนมีคุณภาพ ทั้งนี้ อาจารย์ในภาคคนหนึ่งเป็นลมในคลาส คนหนึ่งเส้นเลือดในสมองแตก อีกคนเป็นความดันโลหิตสูง บางคนต้องหยุดสอนไปเป็นปีเพราะความกดดันจากมหาวิทยาลัยนอกระบบ


ออสเตรเลียไม่ใช่ประเทศแรกๆที่มีมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แต่มีที่สหรัฐอเมริกาด้วย ศ.โรเบิร์ต ไรช์ ด้านสังคมและเศรษฐกิจจากมหาวิทยาลัยแบรนดีส์ สหรัฐอเมริกา กล่าวในปาฐกถาประจำปี 2547 ที่สถาบันนโยบายการอุดมศึกษาประเทศอังกฤษ เนื่องจากเวลานั้นอังกฤษเองอยากจะแปรรูปการศึกษาบ้าง


.โรเบิร์ต ไรช์ กล่าวว่า แม้ว่าสหรัฐจะมีุคุณภาพการศึกษาที่ดี งานวิจัยที่ดีในหลายเรื่อง แต่สิ่งที่หายไปในมหาวิทยาลัยในสหรัฐคือพันธกิจที่มหาวิทยาลัยมีต่อสังคม เพราะเมื่อการศึกษามันถูกตีค่าเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจงานวิจัยต่างๆจะถูกผูกโยงทางธุรกิจ ไม่มีพื้นที่ให้คำถามสำคัญๆ งานวิจัยที่เป็นพื้นฐาน งานวิจัยที่ขายไม่ได้แต่จำเป็น พวกนี้จะไม่อยู่ในความสนใจของมหาวิทยาลัยเลย


แล้วเมื่อไม่มีพันธกิจสำหรับสังคม มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เป็นพื้นที่สำหรับคนจนด้วย ถ้าไปดูตัวเลขในสหรัฐ ประมาณ ค.. 1979 เด็กจากครอบครัวคนรวยส่วนบนสุด 25 เปอร์เซ็น จะมีอัตราการเรียนต่ออุดมศึกษามากกว่าเด็กครอบครัวยากจนล่างสุด 25 เปอร์เซ็น 4 เท่า ในปัจจุบันเมื่อออกนอกระบบ และไม่ใส่ใจพันธกิจที่ทำให้คนส่วนล่างของสังคมขยับเข้ามามีฐานะที่เท่าเทียมกัน ตัวเลขเด็กในครอบครัวบนสุดเข้าไปศึกษามากกว่าเด็กในครอบครัวล่างสุดถึง 10 เท่า มีผลโดยตรงต่อช่องว่างระหว่างรายได้ ตอนนี้คนรวยสุดของสังคมอเมริกัน 1 เปอร์เซ็นครองรายได้ 95 เปอร์เซ็นของสังคมอเมริกัน


การออกนอกระบบแง่หนึ่งเป็นแง่ดีสำหรับคณาจารย์ในคณะที่สามารถทำเงินและเป็นคณะท็อปฮิตได้ เพราะทำให้คณาจารย์สามารถเรียกค่าตัวได้ มีตัวอย่างที่ดังมาก คือ ศ.โรเบิร์ต บาร์โร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด ถูกมหาวิทยาลัยโคลัมเบียเสนอค่าตอบแทนให้ประมาณ 12 ล้านบาทต่อปี พร้อมห้องพักสุดหรูย่านแมนฮัตตันฝั่งตะวันตก แต่แทนที่ ศ.โรเบิร์ต จะรับข้อเสนอนี้ในทันทีกลับเอาไปให้คณบดีมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ดดูก่อนว่า มหาวิทยาลัยโคลัมเบียเสนอมาเท่านี้ ฮาเวิร์ดจะให้เท่่าไหร่ ถ้าให้มากกว่าก็จะอยู่


ในเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ บริษัทธุรกิจใหญ่ๆมักจะเป็นผู้ให้ทุนในการวิจัยและทุนการศึกษาแรกๆก็ว่าทุนนี้ไม่มีเงื่อนไขผูกมัด แต่มีข้อบ่งชี้ในทางตรงข้ามหลายตัวอย่างเช่น บริษัทยาบูทส์ ของอังกฤษให้ทุนวิจัย 250,000 เหรียญ แก่มหาวิทยาลัยแคลิฟอเนีย เพื่อวิจัยศึกษาเปรียบเทียบยาไทรอยด์ของบริษัทที่ชื่อซินทรอยด์กับยาบริษัทอื่นๆที่มีราคาต่ำกว่า ผลการวิจัยออกมาว่ายาซินทรอยด์แพงกว่าและคุณภาพไม่ได้ดีกว่ายาอื่นๆ บางครั้งยาราคาที่ถูกกว่ามีคุณภาพดีกว่า บริษัทบูทส์จึงสั่งห้ามตีพิมพ์ผลการวิจัยนี้ในวารสารการแพทย์และประกาศว่างานชิ้นนี้มีข้อบกพร่อง ในขณะที่ผู้วิจัยไม่สามารถโต้แย้งได้ เพราะมีเงื่อนไขในสัญญา


ที่แคนาดาก็เช่นกัน ปี 1997 มหาวิทยาลัยโตรอนโต มหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดได้ทำสัญญาลับๆกับมูลนิธิโจเซฟ รอตแมน รับเงินบริจาค 15 ล้านเหรียญแคนาดา สำหรับคณะวิทยาการจัดการ โดยในข้อตกลงระบุว่าคณาจารย์คณะวิทยาการจัดการจะต้องสนับสนุนเต็มที่และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตลอดจนค่านิยมของผู้ให้บริจาค ตัวอย่างอีกตัวอย่าง ดร.แนนซี โอลิเวียรี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านธารัสซีเมีย จากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ได้รับงานวิจัยของบริษัทอะโพเท็กซ์ ซึ่งเป็นบริษัทยาที่ใช้ฉีดผู้ป่วยธารัสซีเมีย แต่เมื่อใช้ไปพบว่ายานี้มีผลกระทบต่อตับโดยตรงอย่างร้ายแรง


ดร.โอลิเวียรี่ จึงขอหยุดการวิจัยและขอมาดูผลกระทบ แต่บริษัทให้ยกเลิกการวิจัยทันทีและห้ามเปิดเผยผลการวิจัยว่ายานี้มีผลกระทบโดยตรงต่อตับเพราะอีกไม่กี่วันยานี้จะได้ขึ้นทะเบียนยาที่แคนนาดา ดร.โอลิเวียรี่พยายามลุกขึ้นสู้กับบริษัทยา เพราะมันไม่ปลอดภัยกับผู้ป่วยทั้งแคนาดา แต่ทั้งมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยไม่ยอมออกมาช่วยเลยเพราะมหาวิทยาลัยกำลังคาดหวังเงินบริจาค 20 ล้านเหรียญจากบริษัทอะโรเท็กซ์เพื่อมาสร้างตึก


ขอจบด้วยคำกล่าวของ ศ.โรเบิร์ต ไรช์ ที่พูดที่อังกฤษว่า


"ผมยังยืนยันว่าระบบมหาวิทยาลัยในสหรัฐเป็นระบบที่ดี และผมก็เป็นส่วนหนึ่งในระบบนี้แต่การที่มหาวิทยาลัยเอาตัวเองออกห่างจากภารกิจส่วนรวมนั้นเป็นแนวโน้มที่อันตรายแม้ว่าจะไม่อยู่ในวิกฤติก็ตาม ดังนั้นจึงขอบอกไปยังรัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลอื่นๆที่กำลังเดินรอยตามการแปลงการศึกษาเป็นสินค้าในขณะนี้ว่า หากจะทำตามแนวทางนี้ก็ขอให้เลือกให้ทำตามสิ่งที่เห็นว่ามีคุณค่าจริง แต่อย่าทำอะไรเกินจากสิ่งที่สหรัฐได้ทำมาแล้ว เพราะผลมันเกิดขึ้นแล้ว การใช้การตลาดและแรงกระตุ้นทางการตลาดเป็นสิ่งฉลาด แต่ให้ใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ขอให้เข้าใจว่าการอุดมศึกษามีภาระหน้าที่สำคัญที่ต้องทำเพื่อสังคมแม้ว่าตลาดจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถแยกแยะตั้งราคาพิจารณาผลกำไรที่จะพึงได้ แต่ทั้งหมดต้องทำเพื่อประโยชน์ของสังคม"


0000


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


อภิสิทธิ์หนุนหยุด พ...นอกระบบในรัฐบาลนี้ เสนอผ่านกฎหมาย 2 ฉบับแทน


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=6859&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai



ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net