Skip to main content
sharethis

 






 


การปรับโครงสร้างกิจการพลังงาน เป็นนโยบายหลักอันหนึ่งที่รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 3 พ.ย.49 โดยขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังปรับปรุงกฎหมายเก่าจำนวน 5 ฉบับ และกำลังจัดทำกฎหมายสำคัญขึ้นใหม่ 1 ฉบับคือ ร่างพ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ... โดยกำหนดให้แยกงานกำหนดนโยบายและงานกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติออกจากกันเพื่อไม่ให้มีการผูกขาดธุรกิจพลังงาน และกำหนดให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระหรือคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการพลังงาน (กกพ.) 7 คนมากำกับดูแลกกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ


 


ปัจจุบันร่างกฎหมายดังกล่าวดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วและอยู่ระหว่างจัดรับฟังความคิดเห็น จำนวน 4 ครั้ง ใน 4 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี (9 ก.พ.50)  กรุงเทพมหานคร (12 ก.พ.50)  ขอนแก่น (14 ก.พ.50)  เชียงใหม่ (17 ก.พ.50) และต่อไปนี้คือความคิดเห็นต่างร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ซึ่งติดตามตรวจสอบเรื่องพลังงานมาอย่างใกล้ชิด


 


 


 


 


ความเห็นเรื่อง ต่อ ร่าง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ...


ในการรับฟังความเห็นที่ โรงแรม อมารี วอเตอร์เกต (12 กุมภาพันธ์ 2550)


 


 


นางสาวสายรุ้ง ทองปลอน


ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค


   


1.      ขอบเขต พ.ร.บ.


 


·         ร่าง พ.ร.บ. ครอบคลุมเฉพาะไฟฟ้า และก๊าซ เฉพาะส่วนการจัดหา ขนส่งและจำหน่าย


·         ต้องขยายขอบเขตให้ครอบคลุมถึง


(1)       การกำกับดูแลราคา และการแข่งขันในธุรกิจน้ำมัน (ทั้งธุรกิจการกลั่น และค้าปลีก) เพราะปัจจุบันมีช่องโหว่กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า ไม่สามารถนำมาใช้กับรัฐวิสาหกิจ (ปตท.และบริษัทในเครือที่ครองสัดส่วนตลาดการกลั่นน้ำมันในสัดส่วนร้อยละ 86 ถือเป็นรัฐวิสาหกิจทั้งๆ ที่มีวัตถุประสงค์แสวงหากำไรสูงสุด) และการกำกับราคาโดยรัฐที่ผ่านมาไม่ชัดเจน ไม่มีประสิทธิภาพ และมีผลประโยชน์ทับซ้อน การเมืองสามารถแทรกแซงและหาประโยชน์ได้


(2)       การกำกับดูแลราคาและการให้สัมปทานการผลิตและขุดเจาะก๊าซ (รวมถึงปิโตรเลียม และผลพลอยได้อื่นๆ ) เพราะต้นทุนส่วนราคาก๊าซปากหลุมถือเป็นต้นทุนส่วนที่สำคัญที่สุดของค่าไฟฟ้า (ประมาณร้อยละ 40 ของค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชน) แต่กลับไม่มีการกำกับดูแลที่แยกชัดเจนจากการกำหนดนโยบาย (อำนาจฝ่ายบริหาร) อีกทั้งไม่มีข้อกำหนดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่เพียงพอ ทำให้ที่ผ่านมาธุรกิจนี้ขาดความโปร่งใส ขาดการตรวจสอบ ผู้บริโภคและประเทศชาติเสียประโยชน์ ในขณะที่บริษัทในธุรกิจนี้มีกำไรมหาศาล อีกทั้งยังไม่ให้มีการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอ


 


2.      หลักการ เหตุผล และเนื้อหาทั่วไป ยังขาดการให้ความสำคัญในเรื่อง


·         การกระจายศูนย์ระบบพลังงาน และอำนาจการจัดการ


·         ระบบวางแผนที่พิจารณาปัจจัยและทางเลือกอย่างรอบด้าน เพื่อการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน


·         กลไกการตรวจสอบนโยบาย เพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ


·         โครงสร้างที่เหมาะสมของกิจการไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ


 


  ต้อง :


-     ขยายความในมาตรา 8 แนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น


-     ควรมีการจัดตั้งสถาบันอิสระ (องค์การมหาชน) เพื่อเสนอแนะ และสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับดูแล ให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ


-     แก้ไขหมวด  เรื่องการใช้อสังหาริมทรัพย์ โดยอ้างอิงเนื้อหาตามร่างของสภาที่ปรึกษา และร่าง พ.ร.บ. ปี 2543 ให้มากที่สุด เพราะร่างดังกล่าวยึดหลักการเจรจาตกลงก่อน หากไม่สามารถตกลงได้จึงค่อยใช้อำนาจรัฐบังคับ รวมทั้งยังมีการจำกัดการรบกวนสิทธิเท่าที่จำเป็นด้วย


 


3.      การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กพช. และคณะกรรมการกำกับดูแล


      - ร่าง พ.ร.บ. ปัจจุบันกำหนดเฉพาะอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี และคณะกรรมการกำกับดูแล เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับไฟฟ้า และก๊าซ


ต้อง  : มีการกำหนดแบ่งอำนาจหน้าที่ระหว่าง กพช. และรัฐมนตรีให้ชัดเจนด้วย และระบุให้ กพช. มีอำนาจต้องปฏิบัติตามแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐด้วย


 


4.      ที่มาของคณะกรรมกากำกับดูแลกิจการพลังงาน


                        ตามร่าง พ.ร.บ. ฉบับสภาที่ปรึกษาฯนั้น รายชื่อคณะกรรมการกำกับดูแลที่ได้รับการคัดเลือก จะผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ และแต่งตั้งโดยวุฒิสภา เมื่อเทียบกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับปัจจุบันของกระทรวงพลังงาน การคัดเลือกและแต่งตั้งคณะกรรมการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เสนอชื่อต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ ซึ่งอาจถูกแทรกแซงจากทางเมืองได้ จึงทำให้คณะกรรมการกำกับดูแลตามแนวทางตามร่าง พ.ร.บ. ฉบับสภาที่ปรึกษาฯ มีความอิสระมากกว่า


ต้อง :


(1)       กระบวนการสรรหา : คณะกรรมการสรรหาควรที่จะตัดผู้แทนกระทรวงการคลังออก และเพิ่มผู้แทนภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร จำนวน 2 คน โดยมี


-         ผู้แทนภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรที่มีวัตถุประสงค์และผลงานประจักษ์ในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค


-         ผู้แทนภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรที่มีวัตถุประสงค์และผลงานประจักษ์ในด้านสิ่งแวดล้อมหรือการพัฒนาชุมชน


(2)       การแต่งตั้ง : ให้คณะกรรมการสรรหา เสนอรายชื่อผู้ได้รับการสรรหาจำนวน 2 เท่าของ


จำนวนคณะกรรมการ เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะรัฐมนตรีคัดเลือกให้เหลือครึ่งหนึ่ง และเสนอให้วุฒิสภาตรวจสอบ และอนุมัติรายชื่อแบบยกชุด


 


5.      กระบวนการอุทธรณ์


            ในร่างปัจจุบัน การอุทธรณ์จะสามารถกระทำได้กับคณะกรรมการกำกับดูแลเท่านั้น และคำวินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุด จึงทำให้ไม่สามารถฟ้องศาลปกครองได้ในเนื้อหา ทำให้ระบบการรับผิดต่อสาธารณะ (Accountability) ยังไม่ดีนัก


ควรต้อง : นำรูปแบบการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยการอุทธรณ์ โดยต้องมีการให้เหตุผลประกอบเป็นรายบุคคล รวมทั้งต้องมีการลงคะแนนเสียงมากกว่า 3 ใน 4


 


6.      บทเฉพาะกาล


·         ร่างปัจจุบัน ได้กำหนดให้มีการใช้บังคับกฎหมายทันที หลังการประกาศกฎหมายในราชกิจจานุเบกษา โดยให้ กพช. ปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ผอ.สนพ. ปฏิบัติหน้าที่ของ ผอ. และสนพ. ปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน จนกว่ามีการแต่งตั้ง


ต้อง : มีสำนักงานเป็นของตัวเองตั้งแต่ต้น คือมีสำนักงานที่เป็นอิสระ  ไม่ใช่ใช่สำนักงานเดิมของหน่วยงานราชการ


      ไม่จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแล ซ้ำรอยประสบการณ์ขององค์กรอิสระที่ผ่านมา โดยมีการจัดตั้งสำนักงาน การคัดเลือกบุคลากร การกำหนดระบบระเบียบการทำงานของสำนักงาน ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเสร็จ ผลก็คือ สำนักงานถูกระบบข้าราชการครอบงำ ขาดความอิสระและความคล่องตัว หรือไม่ก็เป็นช่องทางในการถ่ายโอนข้าราชการบางส่วนในกระทรวงพลังงาน เพื่อแก้ปัญหาบุคลากรหรือการเมืองในระบบราชการปัจจุบัน ทำให้คณะกรรมการมีข้อจำกัดหรืออุปสรรคในการบริหารและปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย


 


โดยในเบื้องต้น :


            ให้กฎหมายมีผลใช้บังคับ ก็ต่อเมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการแล้วเสร็จ โดยในระหว่างนี้ (จำกัดระยะเวลา 120 วัน)           ให้ สนพ. ช่วยสนับสนุนงานธรุการแก่คณะกรรมการสรรหาเท่านั้น   แต่ไม่ใช่เข้ามาเป็นสำนักงานให้คณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้าตามพ.ร.บ.นี้       

                                                           

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net