รองแม่ทัพภาค 2 ชี้ คมช.ไม่สืบทอดอำนาจ

พล..ธีระศักดิ์ ฤทธิวงศ์ รองแม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวในที่ประชุมข้าราชการถึงประเด็นการสร้างความมั่นคงในชาติและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ห้องประชุม 1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 1 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 ว่า สังคมไทยในปัจจุบันยังเป็นสังคมในระบบอุปถัมภ์ที่ถูกปลูกฝังมาช้านานซึ่งขัดต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันความสมบูรณ์ของการปกครองแบบดังกล่าวก็ยังไม่เกิดขึ้นกับประชาชนอย่างแท้จริง การบริหารงานและการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐยังเป็นการเอื้อผลประโยชน์ต่อพวกพ้องมากกว่าความถูกต้องของผลประโยชน์โดยรวม ผู้ที่ต้องการเข้ามาแสวงหาอำนาจทางการเมืองมักใช้ประชาชนเป็นฐานโดยวิธีการประชานิยมเพื่อครองใจประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การนำเงินมาแจกจ่ายให้กับประชาชนซึ่งเป็นที่ได้มาจากภาษีของประชาชนและเป็นวิธีการประชานิยมที่ไม่เหมาะสม แต่กลุ่มนักการเมืองบางพรรคก็ใช้ประชานิยมในรูปแบบของนโยบายพรรคเพื่อก้าวเข้ามาสู่การบริหารประเทศชาติ และเป็นนโยบายที่ชนะใจประชาชน

ทั้งนี้ใน พ.. 2540 สังคมไทยเคยประสบกับปัญหาด้านค่าเงินบาท ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมถูกผลักดันให้ก้าวเข้าสู่ "สังคมบริโภคนิยม" ประชาชนมีการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง แต่ขาดหลักธรรมในเรื่องของความพอเพียง และประเทศไทยขณะนี้กำลังประสบกับปัญหาภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ที่หลายฝ่ายต้องยื่นมือเข้ามาแก้ไขปัญหาร่วมกัน ได้แก่ ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ, ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร, ปัญหาการแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ, ปัญหาการทำลายสภาพแวดล้อม ,ปัญหาจากภัยที่เกิดขึ้นจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี, ปัญหาความขัดแย้งของชาติและศาสนา, และปัญหาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ผู้นำประเทศกำลังนำพาปวงชนมาสู่จุดที่ที่มั่นคงและปลอดภัยโดยเฉพาะในเรื่องของการเมือง นอกจากนี้ในเรื่องของความมั่นคงของชาติก็ต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ในช่วงนี้ถือว่าอยู่ในช่วงของการเสนอร่างรัฐธรรมนูญประชาชนในฐานะคนไทยคนหนึ่งก็สามารถแสดงเจตนารมณ์เพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญตรงนี้ได้

"ประชาธิปไตยของคนไทยยังเป็นประชาธิปไตยแบบ 4 วินาที คือ ก้าวเข้าไปใช้สิทธิในคูหาเลือกตั้งเพื่อให้มีคณะรัฐมนตรีมาบริหารประเทศชาติ แต่หากการใช้สิทธิทางการเมืองของประชาชนผิดพลาดเลือกผู้นำที่ไม่ซื่อสัตย์มาพัฒนาประเทศชาติ สิทธิทางการเมืองและสิทธิทางประชาธิปไตยของชาวไทยซึ่งมี 4 วินาที ก็จะกลับมาอีกครั้งเมื่อรัฐบาลชุดเก่าครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ประกอบกับความแตกแยกของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในขณะนี้ก็เป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าเกิดความไม่มั่นคงขึ้นกับประชาชน ซึ่งภาครัฐต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาไทยได้ใช้งบประมาณเพื่อลงไปช่วยเหลือแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้ อยากฝากให้ประชาชนชาวไทยรักและสามัคคีกันให้มาก

เนื่องจากทุกวันนี้ยังมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีพยามเข้ามาสร้างความปั่นป่วนในบ้านเมืองเพื่อสร้างสถานการณ์ให้คนไทยขาดความรักและสามัคคีกัน ขอย้ำเตือนถึงข้าราชและประชาชนทั่วไปในเรื่องของการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ การตระหนักในเรื่องของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะเข้ามาบริหารประเทศชาติเพียงระยะเวลา 1 ปี ก็ขอให้ข้าราชการทุกระดับมั่นใจว่า หากรัฐบาลชุดปัจจุบันหมดวาระลงก็จะไม่มีคณะหรือกลุ่มผู้ไม่หวังดีเข้ามารื้อระบบข้าราชการใหม่รวมทั้งคณะคมช. ไม่มีการสืบทอดอำนาจต่อและกองทัพก็เป็นของประชาชน"

การจัดเสวนาในครั้งนี้เป็นการสร้างความเข้าใจในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยและการสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติบ้านเมืองโดยรองแม่ทัพภาคที่ 2 ซึ่งในการเสวนาได้แบ่งออกเป็น 2 ช่วงในช่วงแรกเป็นการบรรยายถึงหลักการบริหารบ้านเมืองแบบประชาธิปไตยโดยการใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ และในช่วงที่ 2 เป็นการชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้เข้ารับการบรรยายถึงการนำเสนอข้อมูลการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขให้แก่ประชาชนได้รับทราบอย่างถูกต้อง โดยรองแม่ทัพภาคที่ 2 พร้อมคณะได้แจกเอกสารซึ่งเป็นการแสดงจุดยืนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และจุดยืนของรัฐบาลชุดปัจจุบัน รวมทั้งกรอบระยะเวลาในการยกร่างรัฐธรรมนูญ การเสวนาในครั้งนี้มีนายเสนีย์ จิตตเกษม รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เข้าร่วมรับฟังนโยบายร่วมกับข้าราชการในสังกัดด้วย

อนึ่งการเสนอร่างรัฐธรรมนูญสู่การพิจารณาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ และรับฟังความคิดเห็นจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตลอดจนสถาบันและองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามข้อคิดเห็นรวมทั้งการประชาพิจารณ์กรอบระยะเวลาในเดือนสิงหาคม 2550 โดยจะทำการลงประชามติ (ภายใน 30 วัน) ในเดือนกันยายน 2550 และร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งโดยเสรีและเป็นธรรมภายในเวลาที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดในปลายปี 2550 ซึ่งเป็นการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในปลาย พ.. 2550



ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท