องค์กรสื่อเสนอ กมธ.ยกร่าง คงมาตรา39-41 เรียกร้องปฏิรูปสื่อทีวี

ประชาไท -16 .. 2550 วานนี้ (15 ..) เวลา 14.00. ที่อาคารรัฐสภา 3 มีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกรอบที่ 1 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชน และการกระจายอำนาจในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เป็นประธานคณะอนุฯ โดยกลุ่มตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย อาทิ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นางนาถยา เชษฐ์โชติรส รักษาการนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้นำข้อเสนอของเครือข่ายสื่อที่เห็นควรบัญญัตินำเสนอต่อคณะอนุฯ

นายสุวัฒน์ ทองธนากุล รักษาการประธานสภาการหนังสือพิมพ์ กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญในตอนนี้เป็นจังหวะที่ดี เพราะเป็นบรรยากาศแบบที่ไม่ใช่รัฐสภาที่มีนักการเมือง โอกาสนี้จึงมีอิสระมากขึ้น เสมือนมีงานวิจัยแบบเรียลริตี้โชว์มา 5ปี ที่รัฐบาลที่ผ่านมาได้ทำให้ประจักษ์ว่า เสรีภาพสื่อสำคัญอย่างไร สื่อต้องการอิสระในการได้ข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพในการนำเสนอ ซึ่งไม่ใช่อภิสิทธิ์ของสื่อ แต่เป็นสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนด้วย ถ้าได้รัฐบาลดี มีระบบตรวจสอบดีก็จะได้คณะผู้บริหารประเทศที่มีประสิทธิภาพและมีคุณธรรม ส่วนสื่อมวลชนก็ทำหน้าที่นำเสนอทำให้ประชาชนรู้ทัน

นายสุวัฒน์ กล่าวต่อว่า วานนี้ (14 ..) มีการประชุมเครือข่ายสื่อประเภทต่างๆ ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์และเคเบิลทีวี โดยมี 4ประเด็นที่ต้องพิจารณาในการยกร่างรัฐธรรมนูญ คือ การคุ้มครองสิทธิส่วนตัวและการไขข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะตามมาตรา 34 ให้สิทธิบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียงหรือความเป็นอยู่ส่วนตัว ได้รับความคุ้มครอง

การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสนอให้เพิ่มคำว่า "บริบูรณ์" ลงในมาตรา 39 เป็น "บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการแสดงความคิดเห็น การเขียน การพูด การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น"

และเสนอให้เขียนเรื่องการคุ้มครองสิทธิให้ชัดเจนว่า การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานหรือของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยสุจริต เป็นธรรมและเป็นไปตามกรอบของจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เพื่อประโยชน์สาธารณชนและความมั่นคงของชาติ หรือเพื่อการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ และจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ย่อมได้รับความคุ้มครอง รวมทั้งการปิดกิจการของสื่อจะทำไม่ได้

การปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์ และการรับรองเสรีภาพในการเสนอข่าว ตามมาตรา 40 และ 41 ให้ยึดตามรัฐธรรมนูญ 40 โดยอาจสร้างหลักประกันว่าจะเกิดผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติ ด้วยการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

นายเทพชัย หย่อง ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า เมื่อสื่อตรวจสอบคนที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ กลับถูกนักการเมืองฟ้องร้อง องค์กรเอกชนที่ออกมาเคลื่อนไหวตรวจสอบรัฐก็ตกเป็นจำเลยถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย ซึ่งเป็นความพยายามของฝ่ายการเมือง เพื่อไม่ให้สื่อและประชาชนทั่วไปตรวจสอบได้

การเมืองชุดที่แล้วเชื่อว่าหากครอบงำควบคุมสื่อได้ การตรวจสอบจะมีน้อย เพราะฉะนั้น ประชาชนที่ไม่ได้อ่าน นสพ.จึงไม่ค่อยรับรู้ว่ามีข้อกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและการทุจริต เพราะสื่อทีวีที่เข้าถึงประชาชนได้มากกว่า ไม่มีข่าวแบบนั้น ซึ่งต่อมา เมื่อเกิดการเผชิญหน้ากันทำให้เกิดความแตกแยก

ควรมีหลักประกันว่า จะไม่ให้มีการแทรกแซงให้สื่อตกเป็นของฝ่ายการเมืองอีก ขยายให้ชัดขึ้น โดยเฉพาะการมีกฎหมายลูก มีบทลงโทษ เช่น คดีกบฎไอทีวี ทุกคนรู้ว่ามีคำสั่งให้รายงานข่าว แต่พนักงานที่ต่อต้านกลับถูกไล่ออกโดยอ้างเหตุการจัดตั้งสหภาพแรงงาน

นายสุวัฒน์ กล่าวว่า สื่อไม่ได้มีอิสระอย่างเต็มที่ ถูกควบคุมด้วยกฎหมาย สังคม และการแข่งขันกันเอง เมื่อสื่อไปวิจารณ์เขา สื่อก็ถูกวิจารณ์กลับด้วย มีการถ่วงดุลกัน องค์กรสื่อก็มีการควบคุมกันเอง โดยมีการตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่สื่อถูกร้องเรียนจากประชาชนว่าละเมิดมากที่สุด คือ การละเมิดบุคคลทั่วไป เช่น การลงภาพผู้หญิง ศพ ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว แต่สิ่งที่เสนอเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือนักการเมืองไม่มีใครร้องเรียนมา

นอกจากนี้ สิ่งที่ไม่ได้ถูกพูดถึงคือ สื่อโทรทัศน์ ที่ยังไม่มีองค์กรควบคุมเพราะยังไม่มีพระราชบัญญัติการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์

ทั้งนี้ อยากให้แยกสื่อเป็นสองส่วน คือ ส่วนของผู้ปฏิบัติหน้าที่และเจ้าของ บางครั้งเห็นตรงกัน บางครั้งขัดแย้ง แม้จะมีระบุว่า พนักงานมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นโดยไม่อยู่ใต้อาณัติของเจ้าของ แต่ในความเป็นจริงจะเกิดสมดุลตรงนี้ได้อย่างไร เสนอว่า สื่อต้องประกาศข้อตกลงระหว่างกองบรรณาธิการกับเจ้าของว่ามีข้อตกลงเรื่องเส้นแบ่งอย่างไร เหมือนที่วอชิงตันโพสท์ทำ

นายวุฒิสาร ตันไชย รองประธานอนุ กมธ.ติดตามผลและประสานงานการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ตั้งคำถามว่า ระบบตรวจสอบกันเองของสื่อจะทำอย่างไรให้น่าเชื่อถือหากไม่มีกฎหมายกำหนด อาชีพอื่นใช้กฎหมายยังไม่ได้ผลเท่าที่ควรเลย คิดว่า ต้องมีกลไกสร้างความมั่นใจกับสังคม

อย่างไรก็ตาม นายธงทอง จันทรางศุ โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งข้อสังเกตว่า คำว่า บริบูรณ์ มีปรากฎในมาตราเดียวของรัฐธรรมนูญนั่นคือ มาตรา 38 ที่ระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา นั่นเพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในใจ ส่วนเสรีภาพที่มีการแสดงออกมานั้นมีข้อจำกัด

ด้านนายปรีชา พบสุข นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากยึดหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ก็จะสามารถทำได้

นายเทพชัย กล่าวว่า การตรวจสอบสื่อที่ดีสุดคือให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด โดยให้มีความหลากหลายตามมาตรา 40 ตอนนี้คนในจังหวัดอื่นเช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ต้องมารับรู้ปัญหาของคนกรุงเทพฯ เพราะมีการรายงานข่าวจากส่วนกลางตลอด เนื่องจากโครงสร้างสื่อที่บิดเบี้ยวที่รัฐเป็นเจ้าของทุกคลื่นความถี่ ต้องเปิดให้คนมีหลักการ มีความตั้งใจดีช่วยสังคมเข้ามามากขึ้น จะเกิดการตรวจสอบระหว่างสื่อ รวมทั้งมีความรับผิดชอบมากขึ้น ถ้ามาตรา40 เป็นจริงได้ จะมีการตรวจสอบกันเองของสื่อวิทยุทีวี แต่ทุกวันนี้คนคุมคือนายทุน และราชการที่เปลี่ยนไปตามการเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท