Skip to main content
sharethis


ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปล

แปลจาก Judy Fladmark, "Ecuadorean footballer rebuilds village," BBC News, http://news.bbc.co.uk/2/hi/americas/6302665.stm


 


อูลิเซส เดลาครูซ (Ulises de la Cruz) นักฟุตบอลที่เล่นอยู่กับทีมเรดดิ้ง เขาเกิดในหมู่บ้านปีกีอูโช ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวเอกวาดอร์เชื้อสายแอฟริกัน


 


จะไปให้ถึงหมู่บ้านนั้นต้องใช้เวลาขับรถสามชั่วโมงขึ้นไปทางทิศเหนือของกรุงกีโต เมืองหลวงของประเทศเอกวาดอร์ มันตั้งอยู่สูงขึ้นไปในเทือกเขาแอนดีส ใกล้พรมแดนที่ติดกับประเทศโคลอมเบีย


 


บ้านเรือนผุๆ พังๆ ซอมซ่อเกาะหมิ่นๆ อยู่ตามไหล่เขาตรงพื้นที่บนสุดของหุบเขาโชตาข้างถนนหลวงแพนอเมริกัน เดินเข้าไปในหมู่บ้านนี้ให้ความรู้สึกเหมือนก้าวย้อนอดีตเข้าไปในทวีปแอฟริกา สิ่งที่มาพร้อมกับวัฒนธรรมอันมีชีวิตชีวาคือความยากจน



 



ความยากจนที่พบเห็นได้ทั่วไปในหุบเขาโชตา


 


โฮบิลา ฮอร์กา อาศัยอยู่ในกระท่อมขนาดสองห้องกับครอบครัวที่มีสมาชิกถึง 12 คน เธอบอกว่าอูลิเซส "เป็นคนเดียวที่ห่วงใยพวกเรา"


 


"รัฐบาลไม่ช่วยอะไรเราเลย พวกเราถูกรัฐบาลทอดทิ้ง


 


"อูลิเซสวางระบบน้ำประปาให้เรา มันช่วยป้องกันโรคระบาด เมื่อก่อนเราเคยเป็นโรคเชื้อราบนผิวหนังเพราะใช้น้ำสกปรก"



 



เดลาครูซส่งเงินกลับบ้านทุกสัปดาห์


 


ความสำเร็จของฟุตบอลคือความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชุมชน


กองหลังวัย 32 ปีอธิบายว่า: "ในฟุตบอลโลก 2002 เมื่อเอกวาดอร์ได้เข้าไปเล่นเป็นครั้งแรก เงินรางวัลที่ได้มาทำให้สามารถวางระบบประปาและท่อน้ำยาว 18 กิโลเมตร


 


"ฟุตบอลโลก 2006 ในเยอรมนี การที่เราได้เข้าไปเล่นรอบสองมีความสำคัญมาก เพราะความสำเร็จหมายถึงผมมีเงินทุนสร้างศูนย์กีฬาและชุมชนแห่งใหม่ ซึ่งตอนนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่"


 


ความสำคัญอันดับแรกที่เขาให้แก่ชุมชน 200 ครอบครัวคือการศึกษา เขาเป็นผู้จัดหาหนังสือหลายร้อยเล่ม อาคารหลังใหม่และสนามเด็กเล่น


 


ทุกๆ วัน เด็กนักเรียนชั้นประถมจำนวน 100 คน มีอาหารเช้าและอาหารเที่ยงรับประทานที่โรงเรียน ด้วยความเอื้อเฟื้อจากมูลนิธิอูลิเซส เดลาครูซ



 



เดลาครูซต้องการสร้างโอกาสให้เด็กๆ


 


สุขภาพอนามัยก็เป็นปัญหาใหญ่เช่นกัน สภาพความเป็นอยู่ที่แออัดหมายถึงการเกิดโรคระบาดได้ง่าย เดลาครูซจึงสร้างศูนย์อนามัยและส่งเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างแพทย์, ทันตแพทย์และนางพยาบาลอย่างละคนประจำอยู่ในคลินิกแห่งนี้


 


คุณหมอคามีโญ บูร์บัวโนกล่าวว่า อูลิเซสกำลังทำ "ในสิ่งที่รัฐบาลควรกระทำ"


 


เดลาครูซกำลังวางแผนจะสร้างบ้านใหม่ 40 หลัง ฮูลิโอ เซซาร์ ลาร์โก ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิกล่าวว่า การก่อสร้างจะเริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์


 


แต่โครงการใหญ่ที่สุดที่อยู่ระหว่างดำเนินการคือศูนย์กีฬา อาคารแห่งนี้กำลังก่อสร้างเป็นรูปร่างตัดกับฉากหลังอันน่าตื่นตาของเทือกเขาแอนดีส



 



ชาวหมู่บ้านที่นี่บอกว่า เดลาครูซทุ่มเทให้ชุมชนยิ่งกว่ารัฐบาลเสียอีก


 


เอดิตา มารดาของเดลาครูซ เป็นคนคอยช่วยดูแลสอดส่องว่าเงินที่ลูกชายส่งมาถูกนำไปใช้จ่ายในเรื่องอะไรบ้าง


 


นักฟุตบอลกองหลังคนนี้คำนวณว่า เขาส่งเงินราว 10% ของเงินเดือนกลับไปเอกวาดอร์ทุกเดือน บางครั้งส่งไปหลายครั้งในสัปดาห์เดียว นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินทุนก้อนใหญ่ นั่นคือเงินก้อนราว 200,000 ดอลลาร์ สำหรับศูนย์กีฬาและชุมชน


 


รัฐบาลมองไม่เห็นคุณค่า


ทั้งๆ ที่เป็นถิ่นสร้างนักเตะทีมชาติมาแล้วถึง 11 คนในฟุตบอลโลกสองครั้งที่ผ่านมา ชุมชนที่นี่ก็ยังรู้สึกว่า รัฐบาลมองไม่เห็นคุณค่าหรือให้ความช่วยเหลือเท่าที่ควร


 


เพื่อนสนิทของเดลาครูซคือ อกุสติน เดลกาโด ศูนย์หน้าทีมชาติเอกวาดอร์ที่เคยเล่นให้ทีมเซาแธมป์ตัน ทั้งสองโตมาด้วยกัน หกปีก่อน เดลกาโดตั้งโรงเรียนฟุตบอลขึ้นในเมืองฮุนกัลที่อยู่ติดกับหมู่บ้านปีกีอูโช นักเรียน 17 คนที่จบจากที่นี่ ตอนนี้เล่นอยู่กับสองทีมฟุตบอลใหญ่ของประเทศ


 


สนามฟุตบอลที่ใช้ฝึกสอนคือพื้นที่ทุ่งกว้าง มีแต่ฝุ่นกับก้อนหิน ตั้งอยู่ใต้สะพานรีโอโชตาที่เหมือนถนนยกระดับขนาดใหญ่ มีเสียงรถวิ่งคึ่กๆ อยู่เหนือศีรษะ เด็กผู้ชาย 250 คน อายุตั้งแต่ 8 ขวบ ถึง 20 ปี เล่นฟุตบอลท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นใจ


 


โฮเซ การ์กาเลน ผู้อำนวยการด้านเทคนิคการเล่น กล่าวว่า "นักเตะเหล่านี้มีความพิเศษ เพราะพวกเขาเผชิญกับความยากลำบาก แต่ก็ขยันยิ่งกว่าเดิมเพื่อหนีจากความยากจน มันไม่ใช่แค่ฟุตบอล นักเตะทุกคนต้องเรียนหนังสือในตอนเช้าก่อนฝึกฝนในตอนบ่าย มันเป็นการพัฒนาตัวบุคคลเพื่อเพิ่มโอกาสในการแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าเดิมให้แก่พวกเขา"


 


บทบาทของรัฐบาล


รัฐบาลเริ่มตระหนักว่า นักฟุตบอลจากหุบเขาโชตาคือทรัพยากรที่แท้จริงของประเทศ ไม่ต่างจากน้ำมัน ทีมชาติเอกวาดอร์ช่วยจุดประกายให้เกิดความภาคภูมิใจ ในประเทศที่ประชากรราว 70% มีชีวิตอยู่ท่ามกลางความยากจน และ 80% อยู่ในพื้นที่ชนบท


 


มาเรีย อิซาเบล ซัลวาดอร์ รัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยวในรัฐบาลใหม่ กล่าวว่า อูลิเซสและนักเตะทีมชาติคนอื่นๆ "สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่เพื่อศักดิ์ศรีของประเทศ"


 


"ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เอกวาดอร์ตกอยู่ในวังวนวิกฤตการณ์ทางศีลธรรมและการเมืองมาตลอด ชาวเอกวาดอร์เชื้อสายแอฟริกัน นับตั้งแต่ถูกนำตัวเข้ามาเป็นทาส พวกเขาก็ถูกรัฐบาลทอดทิ้งและถูกกีดกันจากสังคม รัฐบาลไม่ได้ดูแลพวกเขาเลย"


 


เดลาครูซตั้งความหวังว่า ความใจกว้างของเขาจะกระตุ้นให้รัฐบาลหันมาลงทุนในปีกีอูโชบ้าง ในเมื่อตอนนี้เอกวาดอร์มีประธานาธิบดีใหม่ นั่นคือราฟาเอล คอร์รีอา ซึ่งใช้เรื่องสิทธิมนุษยชนและการปฏิรูปสวัสดิการสังคมเป็นประเด็นใหญ่ในการหาเสียง ระหว่างที่ชาวเอกวาดอร์ทั้งประเทศ รวมทั้งชุมชนในหุบเขาโชตา กำลังรอดูว่า ประธานาธิบดีจะทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้หรือไม่ งานพัฒนาชุมชนก็ดำเนินไปเรื่อยๆ ในปีกีอูโช


 


อีกแค่ไม่กี่เดือน ศูนย์กีฬาจะเปิดใช้ ที่นี่จะเป็นสถานที่สำหรับชาวหมู่บ้าน 700 คน ได้รักษาความรู้สึกแน่นแฟ้นในชุมชนไว้ด้วย เด็กๆ จะได้เรียน "ลา บอมบา" การเต้นระบำที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวเอกวาดอร์เชื้อสายแอฟริกันในหุบเขาโชตา


 


นี่คือบทพิสูจน์อันมีชีวิตว่า ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันแร้นแค้น แต่ด้วยความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ จากลูกชายคนดัง จิตวิญญาณและวัฒนธรรมอันมีชีวิตชีวาของปีกีอูโชจะได้รับการรักษาไว้


แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด เดลาครูซกล่าวว่า "ผมอยากสร้างโอกาสให้เด็กๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่า เด็กๆ สามารถมีอนาคตที่สดใสกว่านี้"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net