Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 19 ก.พ.2550 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 เวลาประมาณ 13.00 น. นายกมล ปิ่นทอง ผอ.สำนักกำกับและบริหารสัญญาสัมปทาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ได้ติดต่อขอเข้าพบแกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหนองแสง เพื่อชี้แจงข้อมูลโครงการ    ห้องประชุมชุม โรงเรียนหนองแสงพิทยศึกษา    โดยมีตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบลทับกรุง ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหนองแสง นักเรียน คณะครู และสื่อมวลชนเข้าฟังและซักถามประมาณ 20 คน ด้วยกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหนองแสงได้ทำหนังสือเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลโครงการไปถึง รมต.กระทรวงพลังงาน ไปเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา


 


นายกมล ปิ่นทอง กล่าวว่า ตนให้ความสำคัญกับการชี้แจงกับประชาชนในพื้นที่มากจึงได้มาขอเข้าให้ข้อมูลในวันนี้  และโครงการนี้มีการพัฒนามายาวนานนับตั้งแต่บริษัทเอสโซ่เข้ามาสำรวจเมื่อปี 2527 แต่ไม่พบก๊าช  จึงได้มอบสัมปทานต่อให้กับบริษัทอมราดาเฮสส์ ประเทศไทย จำกัด ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัทเฮสส์ ประเทศไทย จำกัด


 


"ขณะนี้บริษัทได้ขุดเจาะก๊าช ในพื้นที่ อ.หนองแสง ไปแล้ว 5 บ่อและได้ส่งก๊าซเข้าสู่โรงแยกก๊าซ ส่งป้อนโรงไฟฟ้าน้ำพองมาแล้วตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และกำลังดำเนินการขุดเจาะบ่อที่ 6-8 ยังไม่สมบูรณ์ และมีเป้าหมายที่คาดว่าจะขุดเจาะทั้งสิ้นประมาณ 15 - 20 หลุมตลอดอายุสัญญาสัมปทาน ซึ่งผลิตก๊าซส่งเข้าระบบได้แล้วประมาณ 130-135 ลบ.ฟุต ต่อวัน เป็นก๊าชที่ค่อนข้างสะอาด ง่ายต่อการแยกกว่าก๊าซที่ได้จากอ่าวไทย  โดยได้วางท่อผ่านหมู่บ้านต่าง ๆ หลายชุมชนไม่อาจนับ จากอำเภอหนองแสง จ.อุดรธานี  ผ่านอำเภออุบลรัตน์  เข้าสู่โรงแยกก๊าซ และโรงไฟฟ้า ที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และคาดว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีกเพื่อส่งเข้าสู่โรงงานผลิตก๊าซ เอ็นจีวี ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการขนส่งได้อีก" นายกมล กล่าว


 


นอกจากนี้นายกมล ได้ตอบข้อซักถามของที่ประชุมเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการขุดเจาะ และวางท่อก๊าซว่า  "เท่าที่มีประสบการณ์ ท่อขุดเจาะขนาดเล็กเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 6 -8 นิ้ว และการนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาจากช่องว่างของชั้นหินจะไม่ก่อผลกระทบใด ๆ ในทางธรณีวิทยา และการวางท่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 16 นิ้วฝังลงไปในดินลึก 1.5 - 2 เมตรผ่านชุมชนต่างๆ นี้เป็นวิธีที่ปลอดภัย และที่ผ่านมาในประเทศไทยก็ไม่เคยมีปัญหาเรื่องท่อก๊าซรั่ว แตก ระเบิดแต่อย่างใด และที่สำคัญค่าภาคหลวงที่ได้จากการผลิตก๊าซธรรมชาตินี้ อปท.จะได้รับกลับมาพัฒนาท้องถิ่น ขณะนี้ได้รับแล้วกว่า 51 ล้านบาทซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการจัดสรรสู่ อปท.ต่าง ๆ อยู่"


 


อย่างไรก็ตาม นายพันธุ์ศักดิ์ ลิ้มโพธิเงิน ปลัด  อบต.ทับกรุง กล่าวว่าที่ผ่านมาชาวหนองแสงและชาวอุดรธานีรับรู้ข้อมูลของโครงการน้อยมาก แต่โครงการขุดเจาะขายก๊าซไปแล้ว ตนเห็นว่าชาวบ้านมีสิทธิจะได้รู้ข้อมูลทุกด้านว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเขา  และไม่ใช่แต่เรื่องค่าภาคหลวงปริมาณก๊าซที่ผลิตได้  เพราะยิ่งผลิตได้มากเท่าไรคนที่ได้จริงๆ ก็ไม่ใช่ชาวบ้าน คนท้องถิ่นก็มีแต่สูญเสียทรัพยากรที่มีอยู่มากขึ้นทุกวันๆ  เพราะจริงๆ แล้วทุกวันนี้ได้เปิดป่าไม้ในพื้นที่ต้นน้ำชั้นหนึ่งเอเพื่อขุดเจาะไปแล้วประมาณ 130 ไร่ ได้เปิดป่าเพื่อวางท่อ และมีรายงานของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 9  และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ระบุว่าห้วยกองสีที่มีต้นน้ำที่ภูฮ่อมนั้นมีโลหะหนักปนเปื้อนเกินมาตรฐานจนไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ ใช้ได้แต่สำหรับอุตสาหกรรมเท่านั้น


 


"วันนี้ตัวแทนกระทรวงพลังงานกล่าวว่า ไม่ทราบข้อมูลเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพราะเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตนและกลุ่มจึงขอเรียกร้องให้มีการจัดเวทีสาธารณเพื่อเปิดเผยข้อมูลโครงการทุกด้าน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกส่วน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อประชาชนในพื้นที่ไม่ใช่ให้ข้อมูลแต่ด้านดีๆ" นายพันธุ์ศักดิ์ กล่าว


 


ด้านนายธนากร นครแก้ว ผอ.โรงเรียนหนองแสงวิทยศึกษา ได้กล่าวสรุปก่อนจะปิดประชุมชนว่า ตนเห็นด้วยกับการจัดเวทีให้ข้อมูลประชาชนอย่างรอบด้านและเป็นกลาง โดยที่ประชุมวันนี้มีข้อยุติเบื้องต้นว่าองค์การบริหารส่วนตำบลทับกรุงจะได้ทำโครงการเสนอต่อกระทรวงพลังงาน  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  บริษัท  กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธ์พืช และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ  ให้จัดเวทีให้ข้อมูลต่อประชาชนในพื้นที่ต่อไป 


 


ข้อมูลเพิ่มเติม


สำนักข่าวเสียงคนอีสาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net