Skip to main content
sharethis

ประชาไท—21 ก.พ. 2550 กรรมการไตรภาคีท่องก๊าซไทย - มาเลย์ ตั้งบริษัท ยูเออี ตรวจสอบสิ่งแวดล้อม TTM รับซื้อที่ดินชาวบ้าน แก้ปัญหาโรงแยกก๊าซกระทบฟาร์มไก่ ไม่สนกลุ่มค้านท่อก๊าซจะนะ จี้ถอนกฤษฎีกาที่สาธารณะ ตอกกลับคนนอกจุ้นทวงที่ดินวะกัฟ


 


เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 สิงหาคม 2549 ที่โรงแรมรัชมังคลาพาวีเลี่ยน อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา นายสนธิ เตชานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 40 คน


 


ตัวแทนบริษัท ทรานส์ ไทย - มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TTM แจ้งต่อที่ประชุมว่า ได้ว่าจ้างบริษัท ยูเออี จำกัด เป็นหน่วยงานกลาง เพื่อทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อม โรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย - มาเลเซีย ในคณะกรรมการไตรภาคีฯ ตามคำแนะนำของคณะทำงานคัดเลือกหน่วยงานกลาง หลังจาก TTM ได้ว่าจ้างบริษัท แอร์เซฟ จำกัด เป็นหน่วยงานกลาง โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการไตรภาคีฯ จนต้องยกเลิกการว่าจ้างดังกล่าว


 


ส่วนกรณีที่เกษตรกรกลุ่มเลี้ยงไก่ 19 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย ทำให้ไก่ที่เลี้ยงไว้ไม่ได้ขนาด จนบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ ไม่ยอมรับรับซื้อนั้น TTM ยินดีรับซื้อที่ดินตามที่เกษตรกร 14 ราย ร้องขอ เพื่อนำเงินไปลงทุนในอาชีพอื่น โดย TTM จะนำเรื่องนี้ไปพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทอีกครั้ง ส่วนรายที่เหลือTTM จะเข้าไปปรับปรุงโรงเลี้ยงไก่ให้ตามที่ร้องขอเช่นกัน


 


ที่ประชุม ยังได้พิจารณาข้อร้องเรียนเรื่องการใช้เงินนกองทุนพัฒนาสังคมที่มอบให้กับหมู่บ้านต่างๆ รอบโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย และตามแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย ปีละ 10 ล้านบาท เนื่องจากมีหลายหมู่บ้านที่นำเงินไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ โดยที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ประกอบด้วย ตัวแทนชุมชน ข้าราชการและนักวิชาการ รวม 25 คน ทำหน้าที่กำกับดูแลการใช้เงินดังกล่าว


 


นายอุทัย มหิทธิมหาวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม บริษัท ทรานส์ ไทย - มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยภายหลังการกระชุมว่า ที่ประชุมไม่ได้พิจารณากรณีที่ชาวบ้านเครือข่ายคัดค้านโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันในท้องที่ตำบลตลิ่งชันและตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา พ.ศ. 2549 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2549 โดยระบุว่าเป็นที่ดินวะกัฟตามหลักศาสนาอิสลาม เนื่องจากไม่เกี่ยวกับ TTM และไม่ใช่เรื่องความเดือนร้อนที่ชาวบ้านร้องเรียนมา


 


นายอุทัย เปิดเผยว่า เรื่องที่ดินสาธารณะดังกล่าวทาง TTM จบไปแล้วตั้งแต่ที่มีการออกพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว คณะกรรมการไตรภาคีฯ จึงไม่ได้นำมาพิจารณา แต่ถ้ากลุ่มชาวบ้านจะไปฟ้องศาลปกครองว่า เป็นการออกพระราชกฤษฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็แล้วแต่ชาวบ้าน เพราะการออกกฎหมายไม่เกี่ยวกับ TTM อยู่แล้ว


 


นายอุทัย เปิดเผยอีกว่า ก่อนที่รัฐบาลจะออกพระราชกฤษีกาดังกล่าว มีคณะกรรมาธิการทั้งของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มาดูพื้นที่หลายชุดแล้ว ทาง TTM ก็ไปชี้แจงหลายครั้ง หากผิดกฎหมายจริง รัฐบาลก็คงไม่ออกพระราชากฤษฎีกา


 


 "เราคงไม่ไปยกของเก่าๆ มาพูดกันอีก เพราะถ้ายกเรื่องนี้ขึ้นมาพูด หรือมารื้อกันใหม่ ก็คงต้องรื้อไปถึงสัญญาแหล่งก๊าซเจดีเอ ซึ่งไม่มีประโยชน์ เรามองไปข้างหน้า ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างไร ก็มาหาทางช่วยเหลือกันดีกว่า คนที่บอกว่ามีปัญหาก็ไม่ได้มาร้องเรียนกับเรา" นายอุทัย กล่าว


 


นายอุทัย กล่าวว่า คนที่เรียกร้องเรื่องทีดินวะกัฟ เป็นคนนอกทั้งนั้น เป็นพวกองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ ส่วนชาวบ้านในพื้นที่เข้าใจดีว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าใครมีปัญหาหรือเสียประโยชน์ เช่น ไม่มีที่จะเลี้ยงวัว ก็มาร้องเรียนได้จะได้หาทางแก้ปัญหาให้


 


นายอุทัย กล่าวถึงกลิ่นเหม็นที่ออกมาจากโรงแยกก๊าซในบางช่วงว่า เกิดจากการเผาไหม้ก๊าซไข่เน่าผสมกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่อยู่ในก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซ ซึ่งเป็นส่วนผสมที่น้อยมากและไม่เป็นอันตราย ถ้าไม่เผาก็ไม่มีกลิ่น แต่เนื่องจากในรายงานผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมระบุให้เผาด้วย ทางTTM ก็ต้องทำตาม โรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย เป็นแห่งแรกที่ใช้วิธีการนี้


 


นายอุทัย เปิดเผยอีกว่า ขณะนี้ TTM ได้หยุดการแยกก๊าซชั่วคราว ระหว่างวันที่ 16 - 27 กุมภาพันธ์ 2550 เพื่อซ่อมบำรุงระบบการดูดน้ำออกจากก๊าซ เนื่องจากมีปัญหาการอุดตันจากก้อนดินที่มีก๊าซผสมอยู่แตกเป็นผงแล้วจับตัวเป็นก้อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net