Skip to main content
sharethis

แม้จะมีข้อเสนอต่อเนื้อหาในรัฐธรรมนูญมากมายในช่วงเดือนที่ผ่านมา แต่ปฏิเสธไมได้ว่า ข้อเสนอหนึ่งที่คมคายและกระชับที่สุด หนีไม่พ้นข้อเสนอของนักประวัติศาสตร์ ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของการรัฐประหารในประเทศไทย - รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ


 


รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานวิจัยเรื่อง "การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2491-2500)" เคยเขียนงานเรื่อง "อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง" ร่วมกับ รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ซึ่งจัดพิมพ์โดยของคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเมื่อไม่นานมานี้ รศ.ดร.สุธาชัย ได้เขียนบทความลงในหนังสือ "รัฐประหาร 19 กันยา : รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ในงานเขียนเรื่อง "ฐานะทางประวัติศาสตร์ของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549"


 


ล่าสุด รศ.ดร.สุธาชัย เขียนบทความส่งตรงมายังประชาไท เรื่อง ประเด็นหลักในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  ที่มีเนื้อหาว่าด้วยข้อเสนอในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่ นักประวัติศาสตร์ท่านนี้ ชวนให้ตั้งคำถามและย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย เช่นเรื่องพัฒนาการประชาธิปไตยไทยเป็นมาอย่างไร อะไรสำคัญกว่ากันระหว่างความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวของรัฐไทยกับความหลากหลาย ใครคือเจ้าของและเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ทำอย่างไรไม่ให้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง


 


นักประวัติศาสตร์รัฐประหาร ยังตั้งคำถามถึงความจำเป็นของการกำหนดสถาบันองคมนตรีไว้ในรัฐธรรมนูญ และย้ำถึงความสำคัญของสถาบันรัฐสภาในฐานะตัวแทนของประชาชนว่า จำเป็นต้องมีบทบาทตัดสินในเรื่องสำคัญของประเทศ และด้วยสถานะที่เป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศนั้น สภาผู้แทนฯ หรือรัฐสภาน่าจะเป็นองค์กรอย่างเป็นทางการที่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาต่อพระมหากษัตริย์ รวมถึงเรื่องการสืบสันตติวงศ์ ก็ต้องประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภาด้วย


 


ประชาไท ถือโอกาสนี้พูดคุยกับ รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อีกครั้ง ณ ศูนย์รวมของชนชั้นกลางในเมือง อีกแหล่งหนึ่งที่ผลิตชนชั้นนำของไทย ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


 



 


 


0 0 0


 


 


ผมไม่เชื่อว่าจะมีประเทศใดในโลกนี้ที่มีรัฐธรรมนูญมากเท่าประเทศเรา และผมอยากตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า รัฐธรรมนูญไทย 18 ฉบับ มีถึง 15 ฉบับที่ประกาศใช้ในรัชกาลที่ 9 เพียงรัชกาลเดียว นี่ก็พอบอกอะไรได้บางอย่าง


 


มันเป็นเพราะสังคมไทยเราไม่ได้ถูกทำให้เรียนรู้ในการเคารพกติกา เห็นกติกาเป็นเรื่องที่สามารถล้มล้างและเขียนใหม่ได้เสมอ ถ้ามองในเชิงโครงสร้างและอำนาจแล้ว หมายถึงว่า "อำนาจที่มีอยู่จริง สำคัญกว่ากติกา" เพราะฉะนั้น ใครมีอำนาจแล้วเปลี่ยนกติกา ทุกคนก็ต้องยอมรับในกติกานั้น


 


ซึ่งผมคิดว่าลักษณะเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นกับประเทศอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา หรือแม้กระทั่งญี่ปุ่น อินเดีย เคยคิดไหมว่า ทหารอังกฤษยกรถถังมา แล้วมาบอกว่า ตั้งแต่นี้ไป กฎหมายที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ ต้องเป็นกฎหมายที่เรา...คือกองทัพอังกฤษตราขึ้นเท่านั้น...มันไม่ได้


 


 


กระบวนการร่างทุกวันนี้ ทุกคนพยายามแก้ไขโดยมีเป้าหมายบางอย่าง เช่นการมุ่งประเด็นไปที่จำนวน ส.ส.


ประเด็นเหล่านั้นเป็นเรื่องที่เหลวไหลมาก มันไม่ใช่ประเด็นหลัก ที่ผ่านมาเราก็มี ส.ส. 100 คน 200 คน 300 คน 400 คน เราก็เห็นว่ามันไม่ได้ต่างกันมาก มันไมได้ต่างที่จำนวน ส.ส. ถ้าจะแตกต่าง เหตุผลที่ควรจะเถียงกันมากที่สุดคือ มันเงินเดือนแสนหนึ่ง (หัวเราะ)


 


เวลาเรามองตัวแบบของประเทศต่างๆ ที่เราจะพัฒนาไปเป็นตัวแบบทางการเมือง เรามีสองทางเลือก เราจะเอาแบบอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือจะเอาแบบ ฟิจิ ปากีสถาน ขณะนี้เราเลือกฟิจิ ปากีสถาน พม่าบอกเราล้าหลัง ล้าหลังกว่าพม่า พม่าก้าวหน้ากว่า พม่ายังมีรัฐประหารก่อน (หัวเราะ)


 


เพราะฉะนั้น ในอาเซียน ตอนนี้เราล้าหลังมากที่สุด


 


 


เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ อาจารย์คิดว่าเป็นปัจจัยสำคัญและมีอิทธิพลต่อการเมืองไทยแค่ไหน


ผมคิดว่าตรงนี้เป็นปัญหาเชิงประชาธิปไตย เพราะตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา ปัญหาเรื่องการจัดวางบทบาทของสถาบันกษัตริย์ เป็นปัญหาหลักของระบบการเมืองไทยเสมอมา


 


เพราะโดยหลักการประชาธิปไตย ต่อให้เราคงรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ เราก็ไม่สามารถพระราชทานอำนาจทางการเมืองได้ เพราะว่า ถ้าหลักการของอำนาจอยู่ที่ประชาชน เราต้องยอมรับสิทธิของประชาชน


 


โดยหลักการที่ถูกต้องแล้ว พระมหากษัตริย์ในประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์นั้น พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นสัญลักษณ์ของรัฐ กษัตริย์ที่เป็นประมุขต้องไม่มีบทบาทใดๆ


 


เพราะการมีบทบาทนั้นจะมีปัญหาอย่างหนึ่งคือ สถาบันกษัตริย์ เป็นสถาบันแบบ Traditional สืบทอดมาโดยประเพณี แต่เรื่องทางการเมืองสมัยใหม่ เรื่องการบริหารบ้านเมือง เป็นเรื่องสิทธิของประชาชน ประชาชนเป็นผู้กำหนด เพราะฉะนั้น นี่คือความขัดกัน ระบบการเมืองที่ยังคงให้อำนาจทางการเมืองอยู่ที่สถาบันกษัตริย์ คือระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มันคืออุดมการณ์ของสมบูรณาญาสิทธิ์ ที่ให้กษัตริย์นั้นดำรงและตัดสินใจทางการเมือง


 


แต่ของเรา มันต้องยอมรับว่า หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว มันก็มีกลุ่มทางการเมืองที่เรียกกันว่า พวกนิยมเจ้า หรือ Royalist ผมคิดว่า พวกนี้มีหลักการอยู่สองสามเรื่องที่เป็นที่ยึดถือ เช่น


 


หนึ่ง พวกนี้ไม่ยอมรับเสียงประชาชน คิดว่าประชาชนเป็น demagogue หมายถึงเป็น unorganized people หมายถึงเป็นคนที่ไม่มีความรู้ ไม่มีคุณภาพ ไม่มีอะไร เป็นพวกที่ต้องถูกปกครอง และการปกครองไม่ใช่เรื่องของประชาชน ประชาชนไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจ ไม่มีทักษะ ไม่มีความเชี่ยวชาญ ดังนั้น มันก็คือคนกลุ่มน้อยจำนวนหนึ่งที่เป็นอภิชน ที่เป็นชนชั้นสูง ที่เป็นคนที่มี่ความรู้ อาจเป็นคนที่จบปริญญาเอก ปริญญาโท จากต่างประเทศ หรือเป็นคนที่มีชาติกำเนิดอันสูงส่ง เพราะฉะนั้น คนกลุ่มนี้จึงไม่เชื่อในประชาธิปไตย ไม่เชื่อในการหย่อนบัตรเลือกตั้ง


 


หรือสอง มันขยายมาในระยะหลังๆ นี้ คือ เห็นว่าประชาชนซื้อได้ คือถ้าหากว่าคุณมีเงินสักก้อนหนึ่ง คุณก็ไปโยนๆ ในหมู่ประชาชนชั้นล่าง คุณก็จะได้เสียงนั้นมา อันนี้เป็นข้อกล่าวหาที่พวกนี้โจมตีทักษิณ ว่าทักษิณมาโดยการซื้ออย่างเดียว ซึ่งความเห็นผมนั้น ผมคิดว่าไม่ใช่ ชาวบ้านที่เลือกทักษิณไม่ได้เลือกเพราะซื้อเสียง แต่เพราะนโยบาย อันนี้ผมมองว่า ปรากฎการณ์ทักษิณในสังคมไทย จริงๆ เป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่ก้าวหน้า คือการที่ประชาชนตัดสินใจเลือก


 


คือเรื่องซื้อเสียงนั้น ทุกคนก็ซื้อ พรรคอื่นไม่ซื้อเหรอ? คือการซื้อเสียงมันเป็นไปทั้งระบบ แต่ชาวบ้านเขาตัดสินใจเลือกไทยรักไทย เพราะเขาเลือกนโยบาย สิ่งที่ถูกต้องคือ ผมคิดว่าพรรคอื่นๆ ต้องพัฒนาไปในแบบเดียวกัน คือสร้างนโยบายที่มีประชาชนเป็นเป้าหมาย แต่ของเรามันผิดฝาผิดตัว ที่ผมพูดนี่ไมได้แปลว่าผมชอบทักษิณ แต่อะไรที่ก้าวหน้า มันควรจะไปในทิศทางนี้ ถ้าคนอื่นที่จะแข่งกับทักษิณ ก็ควรที่จะผลิตนโยบายมาสู้กันทางนโยบาย ให้ประชาชนตัดสินกันทางนโยบาย การเมืองเราจะได้พัฒนา แต่เมื่อไม่พอใจแล้วก็เข็นรถถังออกมา มันก็ไม่พัฒนา


 


และอย่างที่ผมบอก ในประเทศที่ก้าวหน้าแล้ว เขาไม่ทำกัน เอธิโอเปีย ลาตินอเมริกา อุรุกวัย เขาเลิกกันหมดแล้ว คือมันเป็นเรื่องของยุค 50 ปีก่อน ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์


 


ทักษิณเป็นรัฐบาลที่ชั่วร้ายหรือเปล่านั่นอันหนึ่ง แต่การแก้รัฐบาลที่ชั่วร้าย เหมือนคนเป็นมะเร็งแล้วเอาคีโมอัดเข้าไป เลยไม่รู้ว่าคนไข้ตายเพราะมะเร็งหรือเพราะคีโม พูดง่ายๆ คือ ใช้วิธีการที่ชั่ว ไปแก้ระบบที่ชั่ว


 


 


การจัดวางกษัตริย์ในธรรมนูญฉบับแรก ทำอย่างไร


ในธรรมนูญฉบับแรก พระราชบัญญัติธรรมนูญแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 ระบุเอาไว้ชัดว่า หนึ่ง อำนาจเป็นของประชาชน สอง ประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจทั้งสามทาง จริงๆ สี่ทางด้วยซ้ำไป คือ ประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจโดยผ่านทาง นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และกษัตริย์ "กษัตริย์" เป็นหนึ่งในสี่อำนาจที่ประชาชนใช้ ซึ่งมันแสดงนัยยะว่า ประชาชนมีอำนาจสูง


 


ทีนี้ ปัญหาการจัดวาง มันมีปัญหามาตั้งแต่ต้น ฉะนั้น ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา ถึงได้กลับมาว่า "อำนาจมาจากประชาชน กษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจ" มันมาจากกระบวนการประนีประนอม ผมเข้าใจว่า คณะผู้ก่อการ 2475 เองก็ไม่ได้ถึงขนาดจะล้มล้างเปลี่ยนแปลงพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน


 


แต่ผมเข้าใจว่า บนหลักการของการประนีประนอมนั้น อย่างไรเสียอำนาจสูงสุดอยู่ที่สภาผู้แทนฯ เสมอ เพราะถือว่า สภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และก็ไม่มีองคมนตรีเลย


 


 


เริ่มมีองคมนตรีได้อย่างไร เมื่อไร


ตอนรัฐประหาร 2490 ตอนนั้นยังไม่ฟื้นองคมนตรี มีการฟื้นฟูองค์กรหนึ่งขึ้นมา เรียกว่า "อภิรัฐมนตรี"


 


อภิรัฐมนตรี เคยเป็นองค์กรที่มีมาในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือตอนสมัยรัชกาลที่ 7 ตั้งเจ้านาย เชื้อพระวงศ์ขึ้นมาช่วยบริหารบ้านเมือง สภาของรัชกาลที่ 7 เรียกว่า อภิรัฐมนตรี อภิรัฐมนตรีในสมัยรัชกาลที่ 7 กลายเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดในการบริหาร เพราะฉะนั้น เวลาดำเนินนโยบายใดๆ ก็ตาม ต้องผ่านอภิรัฐมนตรี


 


แต่ก็เข้าใจว่า นั่นไม่ใช่ประชาธิปไตย เพราะว่ารัชกาลที่ 7 ตั้งเชื้อเจ้านาย เชื้อพระวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ขึ้นมาเป็นอภิรัฐมนตรี ถ้าพูดภาษาธรรมดาก็คือ ตั้งพี่ ตั้งลุง ตั้งญาติมาเป็นสภา โดยรัชกาลที่ 7 เห็นว่าเจ้านายเหล่านี้มีประสบการณ์


 


เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดการปฏิวัติ 2475 ก็เลิกอภิรัฐมนตรี อภิรัฐมนตรีที่มีบทบาทมากที่สุดคือกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ก็ต้องลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ชวา แล้วไม่ได้กลับมาอีกเลย


 


แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2490 มีการฟื้นอภิรัฐมนตรีขึ้นมาใหม่ แต่ก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากนัก จริงๆ แล้วการฟื้นอภิรัฐมนตรีกลับมาใหม่ ก็เป็นการประนีประนอมกับฝ่ายเจ้า คือคณะปฏิวัติ 2490 ประนีประนอมกับฝ่ายเจ้า และอีกส่วนหนึ่งก็ใช้วิธีเตะโด่ง ตอนทำรัฐประหารนั้น หลวงอดุล (พลเอกอดุล อดุลเดชจรัส) เป็นผบ.ทบ. พอรัฐประหารแล้ว ตั้งจอมพล ป. มาเป็น ผบ.ทบ. แล้วจะจัดการยังไงกับหลวงอดุล ก็คือตั้งไปเป็นอภิรัฐมนตรี ตอนนั้นอาจจะมี 4-5 คน หลวงอดุลก็จะถูกตั้งเข้าเป็นหนึ่งในนั้น ปนกับพวกเจ้านาย ก็จะมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร, พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าธานีนิวัติ, พลโทพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลงกฎ และพระยามานนวราชเสวี


 


พูดง่ายๆ คือ ส่วนหนึ่ง คณะรัฐประหารก็ใช้องค์กรที่ตั้งขึ้นมาใหม่ประนีประนอมกับเจ้า สองก็คือเตะโด่งหลวงอดุลเพื่อให้จอมพล ป.มาเสียบ


 


พอปี 2492 อภิรัฐมนตรีก็แปรรูปมาเป็นองคมนตรี รัฐธรรมนูญปี 2492 ได้ชื่อว่าเป็นธรรมนูญ Conservative (อนุรักษ์นิยม) ที่พวกเจ้านาย ขุนนางเก่าเข้ามามีบทบาทในการร่าง เลยมีการฟื้นองคมนตรี และนับแต่นั้นเป็นต้นมา รัฐธรรมนูญฉบับถัดๆ มาก็มีองคมนตรีอยู่เสมอ


 


เพราะฉะนั้น องคมนตรีจึงเริ่มมีครั้งแรกในปี 2492 แต่ในครั้งแรกๆ องคมนตรีไม่ค่อยมีบทบาทอะไรมากนัก เพราะว่า องคมนตรีที่กำหนดไว้ มีหน้าที่ให้คำปรึกษากับพระเจ้าอยู่หัว


 


 


ซึ่งไม่จำเป็นต้องกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ


ถูกแล้ว ที่ผมเสนอ ไมได้ขัดแย้งกับการที่พระองค์จะมีที่ปรึกษาส่วนพระองค์ พระมหากษัติริย์อยากตั้งใครก็ตั้งไป แต่มันไม่ควรมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ชัดเจนแบบนี้


 


ในส่วนตัวของผม ในระยะตั้งแต่ปี 2492 จนถึงปัจจุบัน ผมไม่เห็นบทบาทว่า องคมนตรีมีบทบาทอะไรที่ชัดเจน ที่ก้าวหน้า นอกเหนือไปจากการถวายคำปรึกษา ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ผมคิดว่า ให้พระองค์ตั้งเป็นเรื่องส่วนพระองค์ดีกว่า เหมือนนายกฯ มีที่ปรึกษาเทกระโถน ก็เป็นเรื่องของนายกฯ


 


ความจำเป็นในการมี "องคมนตรี" ในฐานะที่เป็น "สถาบัน" มันไม่จำเป็น และหน้าที่ถวายคำปรึกษาอย่างเป็นทางการในทางการเมืองนั้น ให้สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาได้ และควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะปัญหาอย่างหนึ่งขององคมนตรีคือ ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง ไม่ได้มาจากประชาชน เป็นหนึ่งองค์กรซึ่งไม่ได้มีความจำเป็นอะไร


 


แต่ผมเดาว่า เรื่องนี้เสนอไป ถ้าเอาจริง คนค้านตรึม


 


 


อีกเรื่องคือ ที่อาจารย์เสนอให้การฟ้องร้องเป็นเรื่องของสำนักพระราชวัง


ที่ผ่านมา ใครต่อใครก็อ้าง ลองนึกถึงตอนปรากฏการณ์ทักษิณ-สนธิ (ลิ้มทองกุล) สนธิก็ฟ้องทักษิณ ว่าทักษิณหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งมันเป็นเรื่องงี่เง่าไร้สาระ แล้วในที่สุด ข้อหาเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็กลายเป็นข้ออ้างที่ทหารใช้ในการยึดอำนาจ ทั้งๆ ที่ นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ย้อนไป 2490 ก็อ้างกรณีสวรรคต 6 ตุลา 2519 นั่นอ้างในความภักดีต่อพระมหากษัตริย์มาฆ่าคนการเมือง นี่เห็นได้ชัดถึงการยกเอากรณีนี้มาปลุกคนให้ลุกขึ้นมาฆ่ากัน


 


รัฐประหารปี 2534 ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พวกรุ่น 5 คือพวกสุจินดา ปลุกเรื่องกรณีปลงพระชนม์ฯ ขึ้นมา แล้วก็ใช้เป็นข้ออ้างในการรัฐประหาร ซึ่งมันทำกันมาแบบนี้หลายหน รวมทั้งการใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพใส่ร้ายป้ายสีคนดี จับไปขัง อะไรต่ออะไร ซึ่งมันเกิดขึ้นหลายครั้งในระยะ 20-30 ปีที่ผ่านมา และมันน่าจะพอกันทีกับการวินิจฉัยมั่วๆ


 


ผมมองในแง่บุคคล สมมติว่ามีใครมาหมิ่นประมาทผม ผมก็ต้องเป็นคนไปฟ้องศาลใช่ไหม เราทนไม่ได้ เราฟ้อง มันต้องเป็นเรื่องของเราฟ้อง


 


ทีนี้ เรามองกษัตริย์ในเชิงสถาบัน จึงไม่ใช่ "ใครก็ได้" ที่มาฟ้อง ถ้าสำนักพระราชวังคือตัวแทน ก็ให้สำนักพระราชวังฟ้อง เป็นคนวินิจฉัยว่าเรื่องนี้หมิ่นหรือไม่หมิ่น แล้วจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง คนอื่นไม่มีหน้าที่ กองทัพก็ไม่มีหน้าที่ สนธิ ลิ้มทองกุล, ทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่มีหน้าที่มาวินิจฉัย ว่าใครหมิ่นหรือไม่หมิ่น


 


แต่เห็นได้ชัดว่า มันยังเป็นปัญหาเดิมเรื่องการจัดวาง พอประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจแล้ว จะต้องโดนถามว่าแล้วจะเอาในหลวงไปไว้ที่ไหน ถ้าถามผม ผมก็จะบอกว่า เอาวางไว้ตรงนั้น ที่เดิมทุกประการ


 


 


ความเป็นไปได้ที่จะผลักดันข้อเสนอผ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้


ประเด็นหลักๆ ของผม ผมไม่ได้คิดว่าเรื่องทั้งหมดนี้จะบรรลุหรือไม่บรรลุ แต่ควรให้สังคมไทยมาเถียงกันในเรื่องแบบนี้ ไม่ใช่มาเถียงกันเรื่อง 300 คน 400 คน วุฒิฯจะเอายังไง จะเลือกตั้งยังไง จะมีปาร์ตี้ลิสต์ อันนั้นช่างมันเถอะ


 


ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ต่างหากที่สังคมไทยควรหยิบขึ้นมาถกเถียงพิจารณา แล้วท้ายที่สุด คุณจะเอาแบบเดิมก็ได้ แต่ว่ามันควรจะผ่านการถกเถียง เพราะไม่งั้นแล้ว เราก็เฉยเหมือนที่ผ่านมา อะไรเป็นอยู่แล้วเราก็ทำๆ ไป แล้วไปเถียงกันเรื่องปลีกย่อยแทน ไม่ได้เถียงกันในเรื่องหลักการ


 


หรืออย่างที่ผมหยิบยก เราควเถียงกันจะตายไป ว่ารัฐไทยควรจะเป็นรัฐเดี่ยวหรือเปล่า เป็น Unitary State หรือเปล่า รัฐธรรมนูญทุกฉบับบอกว่า รัฐไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแบ่งแยกมิได้ ถูกหรือเปล่า ทำไมไม่บอกอย่างที่ผมเสนอว่า "รัฐไทยประกอบด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติทางวัฒนธรรมแล้วมารวมกัน" ซึ่งถูกต้องกว่า จะช่วยเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้ง่ายกว่า เช่น ปัญหาภาคใต้ และมันก็จะสอดคล้องกับหลักการที่รัฐธรรมนูญจะอ้างต่อไป เรื่องการกระจายอำนาจ ไม่ใช่รวมศูนย์อำนาจ


 


การที่เราบอกว่า รัฐไทยเป็นรัฐเดี่ยวแบ่งแยกไม่ได้ เราให้อำนาจกับส่วนกลางมากเกินไปในการกำหนดความเป็นไปของประเทศนี้ กรุงเทพฯ เมืองเดียว กำหนดความเป็นไปของทั้งประเทศ เราไม่เคยยอมรับสิทธิ์ของดินแดนต่างๆ ที่เป็นหัวเมืองประเทศราช พระยามหานครทั้งหลาย


 


เราไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย เราจะให้รัฐไทยเป็นรัฐพุทธ แต่เราไม่เคยนึกว่าเราก็มีคริสต์ อิสลาม และความเชื่ออื่นๆ ซึ่งเขาก็ควรต้องมีเสรีภาพของเขาเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ในการเคารพถึงความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม มันจะทำให้สังคมไทยเราใจกว้างขึ้นในการปฏิบัติกับกลุ่มคน กับความคิดที่แตกต่างจากเรา


 


เพราะฉะนั้น เราจะเห็นว่าความคับแคบ ความเข้าใจผิด มีอยู่มากมาย อย่างเช่น กรณีสามจังหวัดภาคใต้ ไอ้คำถามชนิดที่ว่า "ผู้ก่อการร้ายพวกนี้เป็นไทยหรือเปล่า?" อันนี้เห็นได้ชัดว่า มันเป็นคำถามที่ผิดฝาผิดตัว มันเป็นมายาคติ หรือที่บอกว่า "ไม่อยากอยู่เมืองไทย เอ็งก็ย้ายไปอยู่มาเลเซียสิ" อะไรเหล่านี้ ซึ่งเราจะเห็นว่ามีคนใช้ตรรกะเหล่านี้เถียงเสมอ


 


โอเค ท้ายที่สุดคุณจะเป็นรัฐเดี่ยวหรืออะไรก็ตาม แต่ทำไมเราไม่มาเถียงกันเรื่องแบบนี้ แล้วการเถียงกันในประเด็นแบบนี้ ส่วนหนึ่งทำให้ประชาชนฉลาดขึ้น คุณไปเถียงกันเรื่อง ส.ส.จะมี 300 หรือ 500 คน ประชาชนจะได้อะไร พวงเล็ก พวงเดี่ยว พวงโต ผมไม่ค่อยเห็นประชาชนได้อะไรจากการเถียงแบบนี้


 


มันห่างไกล แม้กระทั่งหลักการในเรื่องประชาธิปไตย ถ้าเราบอกว่า ระบบประชาธิปไตยเป็นระบบที่ดีที่สุดในโลก และเราจะต้องใช้ประชาธิปไตยเป็นหลักสากล เราจะต้องเถียงกันในเรื่องแบบนี้


 


 


จะทำอย่างไร เมื่อเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม เรื่องอำนาจทางการเมืองก็ตาม มันฟังดูเป็นเรื่องของคนเฉพาะกลุ่ม ไกลตัวประชาชน


คงลำบาก ที่ผ่านมาชนชั้นนำก็ทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มอยู่แล้ว ประชาชนทั่วไปก็ไม่ค่อยเกี่ยว แต่จริงๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่กระทบกับประชาชน แต่ก็อีกนั่นล่ะ พูดกันอีกด้านหนึ่ง ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับไหนที่ก้าวหน้าเกินไป มันก็จะถูกฉีกไปในระยะอันสั้น รัฐธรรมนูญที่อยู่ยาวคือรัฐธรรมนูญ Conservative (อนุรักษ์นิยม)


 


รัฐธรรมนูญปี 2489 และ 2517 เป็นตัวอย่างที่ดีของรัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกไปอย่างรวดเร็วมาก อายุสั้นมาก จะถูกฉีกเพราะความก้าวหน้าหรือเปล่าไม่ทราบ แต่จะเห็นว่า รัฐธรรมนูญที่มีเรื่องดีๆ มีมาตราดีๆ ถูกฉีกเร็วมาก


 


รัฐธรรมนูญที่เฮงซวยซังกะบ๊วย อย่างรัฐธรรมนูญที่เราใช้กันมานานที่สุด น่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ 2521 ฉบับ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ใช้มาจนถึงปี 2534 นานถึง 13 ปี รองลงไป คือฉบับเฮงซวยที่สุดของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีอยู่ 20 มาตรา ใช้มาตั้ง 9 ปี 10 ปี


 


รัฐธรรมนูญเรา ยิ่งก้าวหน้ายิ่งใช้น้อย เพราะมันขึ้นกับอำนาจที่หนุนหลัง ระบบสฤษดิ์ มีอำนาจที่หนุนหลัง ใช้รัฐธรรมนูญ 20 มาตรา จริงๆ ไม่ต้องใช้ก็ได้ ใช้แค่มาตราเดียว (หัวเราะ)


 


 


ขณะที่พัฒนาการของรัฐธรรมนูญลุ่มๆดอนๆ แล้วพัฒนาการในกระบวนการร่างเป็นอย่างไร


กระบวนการร่างที่ผ่านมา ต้องถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เป็นฉบับที่มีกระบวนการร่างที่ดีที่สุด ที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ฉบับ 2540 สภาร่างฯ เป็นตัวแทนจากส่วนต่างๆ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนบ้างหรือมากพอสมควร


 


แต่ฉบับนี้พูดได้เลยว่าไม่ใช่ ไม่มีเลย ไม่มีตัวแทนจากต่างจังหวัด ไม่ได้มาจากการผลักดันของเอ็นจีโอหรือประชาชน หรือภาคประชาสังคม เป็น คมช. เซ็ตเอง ตั้งเอง เลี้ยงลูกเอง ส่งลูกเอง ยิงประตูเอง คือทำเองหมด โดยอ้างว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเหมาะที่สุดแล้วสำหรับประชาชน ซึ่งต้องถามว่า ใครบอก?


 


 


แล้วอาจารย์มองเรื่องความเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมตอนนี้อย่างไร


ส่วนหนึ่ง เรามีปัญหา คือเราแตกกันมากตั้งแต่ตอนเคลื่อนไหวเรื่องทักษิณ เพราะความเห็นที่แตกต่างกันในกระบวน และความแตกต่างนี้ก็ยังคงอยู่ มันทำให้พลังอ่อนลงไป ส่วนหนึ่งต้องบอกว่า คนที่ต่อต้านคัดค้านทักษิณเป็นหลักนั้น ก็คือภาคประชาสังคมนั่นล่ะ คือชนชั้นกลางในเมือง


 


ทีนี้ มันก่อให้เกิดการแตกกัน ถ้าให้ผมประเมิน พลังตอนนี้อ่อนลง อ่อนลงกว่าตอนที่ค้านทักษิณเสียด้วยซ้ำ เพราะความเห็นที่ไม่ตรงกัน แตกกันหลายเรื่อง เพราะภาคประชาสังคมในส่วนที่เป็นหลัก ไปหนุนในการต่อต้านทักษิณ เพราะฉะนั้น เลยไม่คัดค้าน คมช. ไม่คัดค้านการรัฐประหาร ขณะที่อีกปีกหนึ่ง คือเอ็นจีโออีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่เอารัฐประหาร มันก็เลยขัดแย้งกันเอง แล้วเราจะเห็นได้ชัดว่า พลังในการต่อต้านรัฐประหารมันน้อย


 


อีกอย่างหนึ่ง คือการเลือกตัวบุคคลขึ้นมาเป็นนายกฯ ขึ้นมาบริหารประเทศ เป็นส่วนหนึ่งด้วยที่ทำให้การต่อต้านมันน้อย หมายถึงการเลือกคุณสุรยุทธ์ (พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์) คนอาจจะไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับการบริหารหรือการดำเนินงานของคุณสุรยุทธ์ แต่ด้วยความที่คุณสุรยุทธ์เขาเป็นคนประนีประนอม เขาเป็นคนที่ท่าทีดี เขาเป็นคนที่ทำอะไรก็รับฟังคน คนอาจจะไม่ชอบ แต่ไม่ต้าน คุณสุรยุทธ์เขาไม่ใช่คนแบบทักษิณ ไม่ใช่คนแบบ เอ็งว่ามา ข้าสวนกลับ คนแบบทักษิณนี่คนรักก็รักไปเลย คนเกลียดก็ไม่ได้เกลียดเฉยๆ พร้อมจะออกมาเดินขบวนต่อต้าน


 


แต่ถามว่า คนชอบสุรยุทธ์ไหม อาจจะไม่ชอบ แต่ถามว่าจะถึงขนาดมาเดินขบวนต่อต้านสุรยุทธ์ไหม คนจำนวนมากคงจะไม่เอาด้วย อาจจะไม่เห็นด้วยกับการบริหารของคุณสุรยุทธ์ แต่จะให้ออกมาต่อต้านนั้นไม่เอา คนอาจจะไม่รู้สึกถึงขนาดนั้น


 


 


อำนาจชนชั้นนำก็เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ภาคประชาสังคมก็อ่อนแอลง


มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ทางออกเฉพาะหน้าคงไม่มี คงต้องทำแบบที่ผ่านมาในอดีต คือต้องให้การศึกษากับประชาชน มันต้องทำทีละน้อย เพราะว่าไปแล้ว พลัง Conservative (อนุรักษ์นิยม) ของไทยมันมีเสาหลัก ขณะที่ฝ่ายก้าวหน้าไม่มีเสาหลัก


 


 


แสดงว่าเราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับอนุรักษ์นิยม


มันก็ต้องเป็นแบบนี้ล่ะ ทำอะไรไม่ได้มากนักหรอก ทำได้มากที่สุดก็คือ ต้องพยายามให้การศึกษากับประชาชน ในส่วนพวกเราเองก็ต้องรู้ทันและเตรียมตัว ในส่วนที่เรียกว่าภาคประชาชน ต้องทำให้กลุ่มนี้ให้เข้มแข็ง


 


คือที่ผ่านมา ต้องอธิบายว่า ชนชั้นนำ หรือชนชั้นปกครอง ที่มันสลายก็มาจากความขัดแย้งภายในของมันเอง อย่างทักษิณที่พัง ไม่ได้พังเพราะประชาชนไปไล่ ประชาชนไล่นั้นเป็นเพียงเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้เขาชอบธรรมในการซัดกันเอง


 


แม้กระทั่งจอมพลถนอม กิตติขจร ถูกโค่นแล้วต้องออกหนีจากประเทศในตอน 14 ตุลา 2516 ตอนนั้นนักศึกษาเป็นประเด็นสำคัญ นักศึกษาเดินขบวนขับไล่ ประท้วงคัดค้าน แต่ปัจจัยชี้ขาดที่ทำให้จอมพลถนอมต้องออกจากประเทศก็ไม่ใช่นักศึกษา ธีรยุทธไม่ได้เอาปืนไปจี้ให้ออกไป แต่การเคลื่อนไหวภาคประชาชน จะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ความขัดแย้งของพวกเขาที่มีอยู่แล้วมันแตกหัก


 


มันก็เหมือนกับว่า สมมติไม่มีใครมาต้านทักษิณเลย หรือการชุมนุมที่สนามหลวงมันเปาะๆ แปะๆ มีคนมาแค่ร้อยสองร้อยคน สนธิก็ไม่มีเหตุผลในการรัฐประหาร


 


จริงๆ กรณีคุณทักษิณนี่น่าสนใจ เพราะว่าคุณทักษิณถูกรัฐประหาร โดยที่ก็ทราบกันว่า เสียงของประชาชนส่วนมากในประเทศนี้ยังเอาทักษิณ ไม่ใช่ไม่เอา ทักษิณมีคนหย่อนบัตรเลือกตั้งให้ถึง 19 ล้านคน คนจำนวนมากในประเทศนี้ไม่ได้เกลียดทักษิณ แต่ในที่สุดก็เกิดการแตกหักกันเองในหมู่ชนชั้นนำ แต่ก็บังเอิญเป็นอย่างที่บอก บุคลิกของคุณทักษิณทำให้คนเกลียด และคนเกลียดก็ไม่ได้เกลียดเฉยๆ อย่างสมัยชวน หลีกภัย คนก็ไม่ชอบชวนตั้งเยอะแยะ แต่เขาไม่รู้สึกว่ามันถึงจุดที่ต้องเดินขบวนออกมาไล่ชวน เหมือนกับว่า ท้ายที่สุด ให้เราไปหย่อนบัตรเลือกชวน เราก็ไม่เลือก แต่ถ้าจะไปเดินขบวนไล่ชวนไหม ก็ไม่


 


 


ที่ว่าคุณทักษิณทำให้เกิดพัฒนาการหลายอย่าง อีกเรื่องที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจ คือบทบาทและการวางตัวของทักษิณเองหรือเปล่า เช่น ที่ไปการประกาศว่าตัวเองได้มาจากการหย่อนบัตร 19 ล้านเสียง ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่การเลือกตั้งทางตรง


นี่ทำให้ต้องยกเลิกปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งปาร์ตี้ลิสต์นี่ ถ้าพูดในเชิงระบบนี่ ถูกและดีนะ คือนายกฯ ที่บริหารประเทศนี่วัดได้ด้วยคะแนนนิยม อันนี้มันก็เหมือนกับบุช หรือคนอื่นๆ ที่ทำแบบนี้


 


ทักษิณน่ะชั่ว คือการบริหารมีปัญหา แต่ไม่ได้แปลว่าระบบมีปัญหา มันคนละเรื่องกัน เพราะฉะนั้น ข้อเรียกร้องหลักๆ ประการหนึ่งของพวกเราตอนนั้นคือ ให้ทักษิณลาออก เราไม่ได้บอกให้ทักฺษิณเลิกระบบประชาธิปไตย ตัวทักษิณคือตัวปัญหา ผมจำไม่ได้ว่าใครเปรียบเทียบ ซึ่งเปรียบเทียบได้ดีมากว่า เหมือนทอมกับเจอร์รี่ คือคุณจะจับหนูตัวเดียว แต่ทุบบ้านทั้งบ้าน (หัวเราะ) ผมคิดว่าเราทำอย่างนั้นกัน


 


 


แสดงว่านายกฯ คนต่อไปของเรานั้น จำเป็นต้องเป็นนายกฯ ที่ประนีประนอมหรือ?


ต้องมากกว่านั้นอีก ต้องเป็นนายกฯ ที่หน่อมแน้ม ต้องเป็นนายกฯ ที่ชนชั้นนำคุมได้


 


 


เราไม่อาจหวังในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เลยว่าจะลดอำนาจชนชั้นนำ


ไม่มีเลย เพราะสิ่งที่เห็นได้ชัดในรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ หนึ่ง ต้องเพิ่มอำนาจชนชั้นนำ สอง คือสิ่งที่ผมอยากให้มีการเถียงและผมแหย่ในประเด็นนี้คือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเพิ่มอำนาจองคมนตรี และลดอำนาจคณะรัฐมนตรี


 


ถ้าเอาอย่างที่ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ (เลขา กมธ.ยกร่าง รธน.) คิด คือจะมีมาตราพิเศษแบบมาตรา 7 คือมาตรา 7 มันคลุมเครือ ตอนนี้จะเอาให้ชัด และไม่ต้องตีความ นั่นก็คือ ในภาวะที่บ้านเมืองมีปัญหาวิกฤต หรือมีปัญหาที่รัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ได้นั้น องคมนตรีน่าจะมีสิทธิในการขอพระราชทานนายกฯ ที่ไมได้มาจากพรรคการเมือง เพื่อมาเป็นนายกฯ รักษาการ


 


หรือถ้าจะเอาให้ตรงๆ กว่านี้ ที่เขาคิดๆ กัน ถ้าจะแก้ปัญหารัฐประหารในอนาคต ก็มอบอำนาจเหล่านี้ให้กับผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ ด้วย ก็จะได้ไม่ต้องรัฐประหาร สมมติ ผบ. สามเหล่าทัพเห็นว่า นายกฯ คนนี้บริหารไมได้เรื่อง ควรจะต้องล้ม ก็ไม่ต้องเข็นรถถัง ผบ.สามเหล่าทัพก็ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ ขอพระราชทานนายกฯ รักษาการมาเลย (หัวเราะ) ก็จะได้ไม่ต้องรัฐประหาร (หัวเราะเสียงดังขึ้น) นี่จะเป็นการแก้ปัญหารัฐประหารได้โดยพื้นฐาน สนธิกับพรรคพวกไม่ต้องเข็นรถถัง ก็ไปเข้าเฝ้าว่า บัดนี้บ้านเมืองได้วิกฤตแล้ว ขอพระองค์ได้โปรดกรุณาปลดทักษิณ แล้วก็ตั้งสุรยุทธ์เป็นนายกฯ


 


แต่ผมว่าเขาไม่ทำหรอก ถ้าทำอย่างมากก็แค่องคมนตรี แต่ก็ไม่แปลกอะไร ให้ผมเดาการเมืองทั้งกระดานนะ สนธิ เกษียณปั๊บก็จะได้แต่งตั้งเป็นองคมนตรี แล้วนี่จะเรียกว่าเป็นการสืบทอดอำนาจไหม สนธิบอกว่าไม่สืบ แต่ผมเรียกว่าสืบ


 


 


แล้วรัฐธรรมนูญก็รองรับอำนาจองคมนตรีเต็มที่


ถูกแล้ว ถ้าคุณเปรม (พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี) เป็นอะไรไป คุณสุรยุทธ์ก็เป็นประธานองคมนตรีแทน แล้วนี่เรียกว่าสืบอำนาจไหม (หัวเราะ) และนี่คือเหตุผลที่แท้จริงๆ ของการรัฐประหาร องคมนตรีต้องการสืบทอดอำนาจเพื่ออะไรบางอย่าง? เพราะฉะนั้นใครจะมาเป็นรัฐบาล ถ้าเป็นคนที่คุมไม่ได้ก็ต้องสกัดอย่างเต็มที่ บอกได้เลยว่า จะต้องมีกระบวนการสกัดจาตุรนต์ ฉายแสง  รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยอย่างสุดขีด แล้วเผลอๆ ถ้าจะให้เดากันจริงๆ เผลอๆ อ๋อยแพ้การเลือกตั้งในเขตฉะเชิงเทราครั้งหน้า ให้ผมเดาเกม มันต้องอัดเงินให้คู่แข่งอัดลงไป  เพราะว่าปล่อยไม่ได้ คนที่คุมไม่ได้ เอาขึ้นมาไม่ได้


 


เอาละ เราอย่าไปหวังอะไร เรามองมันเป็นเกมสนุก เราก็มองเขาเล่นกัน เราก็เป็นส่วนก่อกวนไง อ๋อ จะเพิ่มอำนาจองคมนตรีใช่ไหม เราเสนอยุบเลย ให้ยกเลิกเสีย คือหมายถึงว่า ถ้าพระองค์ทรงปรารถนาจะมีที่ปรึกษาส่วนพระองค์ก็ให้เป็นเรื่องที่พระองค์จะมีพระบรมราชวินิจฉํยตั้งเป็นส่วนพระองค์ ไม่ต้องมีองคมนตรีในเชิงสถาบัน การถวายคำปรึกษา มันเป็นอย่างที่ผมว่า สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาได้ ในเรื่องการบริหารประเทศ ในเรื่องการบริหารบ้านเมือง ซึ่งควรจะเป็นอย่างนั้น 


 


จริงๆ ควรจะฟื้นฟูอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจริงๆ แล้วตกต่ำในสมัยทักษิณ ผมคิดว่านี่เป็นปัญหาหลัก เพราะทักษิณสามารถลงนามในเอฟทีเอ ทำข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยไม่ต้องผ่านสภา ซึ่งไม่มีประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าประเทศไหนเขาทำกัน ประธานาธิบดีอเมริกันทำไม่ได้ ของเขาจะลงนามอะไรต้องผ่านสภา ต้องสภารับรอง เขาถึงจะให้สัตยาบันได้ ฝรั่งเศส อังกฤษ ก็เหมือนกัน ทั้งหมดเป็นแบบนี้ทั้งนั้น ไม่มีประเทศไหนหรอกที่นายกฯแถลงเอฟทีเอ ไม่แถลงในที่ประชุม ครม. แต่แถลงในที่ประชุมพรรค มีประเทศนี้ประเทศเดียว


 


ต้องทำให้รัฐสภามีความเข้มแข็งขึ้น คุณจะอ้างว่าสภาฝักถั่ว แต่มันคือเรื่องเหตุผลในเชิงระบบ ต่อให้เป็นแบบนั้นก็ตาม มันก็ต้องผ่าน แม้เราจะรู้ว่า ถึงผ่านสภาก็ต้องยกมือกันให้ทั้งหมดอยู่แล้ว แต่มันต้องผ่าน


 


การดำเนินนโยบายใดๆ ก็ตาม ถ้าเรามองว่าสภาผู้แทนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน การดำเนินนโยบายที่สำคัญ สนธิสัญญา การประกาศสงคราม หรือการดำเนินนโยบายที่ผูกพันกับประเทศนี้ทั้งประเทศ ต้องผ่านสภา หมายถึง ต้องโปร่งใส ให้ประชาชนรู้ได้ ไม่ใช่ทักษิณไปเจรจากับจีน อินเดีย อเมริกา ประชาชนยังไม่รู้ ผ่านไปเรียบร้อยแล้ว การผ่านสภามันคือตรงนี้ มันคือเรื่องความโปร่งใส เพราะมันผูกพัน คุณแอบเอาสัญญาโทรคมนาคม ไปแลกกับเนื้อแกะหรือนมจากออสเตรเลียหรือเปล่า


 


เพราะฉะนั้น ส่วนหนึ่งที่ผมเสนอ ผมไม่ได้หวังผลสัมฤทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าขืนสัมฤทธิ์?ตามที่ผมเสนอ มันจะเป็นรัฐธรรมนูญอายุสั้น แต่ความสำคัญของมันคือ การทำให้สังคม ประชาชน หรือแม้กระทั่งภาคประชาสังคม มาถกเถียงกันเรื่องพวกนี้ แทนที่จะถกเถียงกันเรื่องที่เถียงๆ กันอยู่ที่เต็มหน้าหนังสือพิมพ์อยู่ในปัจจุบันนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net