เมียงมองกระบวนยุติธรรมไทยช่วงปฏิรูป เกียร์ว่าง ไม่ได้มีแค่ตำรวจ


ประชาไท - 27 ก.พ. 50 เมื่อวันที่ 26 ก.พ.คณะทำงานสัมมนาและเผยแพร่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ ทีมวิจัย 'การสร้างองค์ความรู้ เพื่อการปฏิรูปการเมือง' สนับสนุนโดย สกว. และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ 5 'กระบวนการยุติธรรม 2550' ว่าด้วยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย โดยมี ดร.คณิต ณ นคร รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ รศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อ.ปกป้อง จันวิทย์ ณ ห้องประชุม ชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวว่า ในทางทฤษฎี

ตำรวจควรเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม แต่ถูกการเมืองดึงไปเป็นเป็นส่วนหนึ่งของงานด้านความมั่นคงของประเทศ ตั้งแต่การไปเรียนร่วมกับกองทัพจนเป็นกองทัพที่ 4 และไม่ถูกปล่อยจากการเมืองเรื่อยมา ในรอบ 100 ปีไทยเกิดความเป็นรัฐตำรวจ 3 ครั้ง ครั้งแรกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ครั้งที่ 2 ในยุคพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ล่าสุดคือยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

การที่ตำรวจมีที่ทางในสังคมผิดเพราะถูกการเมืองแทรกแซงส่งผลให้สถาบันนี้ไม่สามารถให้ความยุติธรรมแก่สังคมได้ ปัจจุบันตำรวจโตขึ้นจนมีกำลังพล 120,000-130,000 คน โดยรับอุดมการณ์กองทัพมาใช้ แม้แต่การจัดหมวดหมู่ ยศ ชั้นก็ใช้แบบแบบกองทัพ ซึ่งทหารนั้นควบคุมกำลังพลตามยศชั้นจริงๆ ในขณะที่ตำรวจไม่มีกำลังพลตามนั้นและรูปแบบการทำงานไม่เหมือนกัน รวมทั้งการใส่เครื่องแบบก็เหมือนเป็นทหารและมีการสวนสนามวันตำรวจแบบเดียวกับกองทัพ

อย่างไรก็ตาม ตำรวจถือว่าเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม แต่เมื่อรับอุดมการของกองทัพมาใช้ทำให้การปฏิรูปทำได้ยาก ขณะเดียวกันเมื่อไม่อยู่ในที่ทางที่ควรอยู่ก็ทำให้อาศัยอำนาจตามกฎหมายไปดูแลธุรกิจผิดกฎหมายหรือทำธุรกิจผิดกฎหมายเองซึ่งกระทบประชาชนมาก ดังนั้นหากพูดถึงการปฏิรูป สิ่งแรกต้องทำคือ เอากลับมาอยู่ในที่ที่ควรอยู่ แต่เรื่องนี้ไม่ง่ายเพราะถูกส่งไปฝึกในโรงเรียนทหารตั้งแต่อายุน้อยก่อนมาเรียนตำรวจสามพราน

รศ.ดร.สังศิต กล่าวต่อว่า แม้จะมีการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ แต่คงต้องรอความเชื่อที่เปลี่ยนจากคนรุุ่นใหม่ที่มาเป็นส่วนหนึ่งกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้การปฏิรูปตำรวจต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างตำรวจด้วย และต้องทำให้องค์กรตำรวจปลอดจากการเมืองหรือต้องป้องกันให้แทรกแซงยาก เช่น มีการสอบสวน ลงโทษหรือให้เป็นอาชญากรได้ มิฉะนั้นการปฏิรูปครั้งนี้ถือว่าล้มเหลว

รศ.ดร.สังศิตยังมองอีกว่า การมีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคุมตำรวจทั้งหมดเป็นเรื่องอันตราย ต้องกระจายอำนาจองค์กรตำรวจให้เป็นนิติบุคคลที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสั่งการไม่ได้ ที่คุยกันในคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจมี 10-11 นิติบุคคล ส่วนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทำหน้ที่เพียงคุมบัญชาการตำรวจส่วนกลาง มีอำนาจการประสานงาน และดูแลเรื่องงบประมาณ เรื่องนี้ผ่านเป็นมติคณะกรรมการแล้ว การเป็นนิติบุคคลแยกกันทำเพื่อความคล่องตัวและถ่วงดุลกันมากขึ้นจะทำให้กลายเป็นสถาบันและวิชาชีพมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่กำลังพิจารณากันในคณะกรรมการคือเรื่องโรงเรียนตำรวจจะมีหรือไม่หรือมีอย่างไร คุยกันว่าคิดว่าควรจะรับคนจบปริญญาตรีไปเรียนที่สามพรานในสายวิชาสืบสวนสอบสวน ระดับประทวนน่าจะรับผู้จบการศึกษาระดับอนุปริญญา แต่ส่วนตัวเห็นว่าควรเป็นผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีไปเลยเพราะต้นทุนในการพัฒนาถูกกว่า อย่างไรก็ตามแต่ประเด็นนี้ยังไม่ยุติ

รศ.ดร.สังศิต ระบุว่า เดิมทีหน่วยงานตำรวจต้องการเข้าไปสู่ตำแหน่งบริหารกันมากในขณะที่หน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุดคือโรงพัก แนวคิดของตำรวจแบบนี้ทำให้ที่ผ่านมาไม่ได้รับใช้ประชาชน จึงเสนอให้เป็นตำรวจจังหวัด แต่มีการถกเถียงกันสุดท้ายประนีประนอมกันว่าควรจัดให้เป็นตำรวจภาคก่อน คือมีจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง จำนวนตำรวจจะถูกนำมาวางที่โรกพักมากเป็นพิเศษ และให้งานสืบสวนแยกจากสอบสวน มีการปรับรายได้ตำรวจ อาจยกเลิกบางตำแหน่งเช่น จ่า หรือ นายดาบ เพื่อลดเวลาจากการไต่สู่ระดับสัญญาบัตรให้เหลือ 5 ปี แต่หากรับตำแหน่งชั้นประทวนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีอาจใช้เวลาน้อยกว่านั้น รวมทั้งอาจมีการเปิดบางตำแหน่งเพิ่ม เช่น สารวัตรฝ่ายทำงานกับประชาชน

รศ.ดร.สังศิต อธิบายรูปแบบที่มาของตำรวจภาคว่า แต่ละภาคอาจรับกันเอง แต่จะมาเรียนรวมกันที่ส่วนกลาง หลักสูตรบางอย่างก็ต้องเปลี่ยนเช่นเพิ่มวิชาเกี่ยวกับ พฤติกรรมศาสตร์ จิตวิทยา

ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคมจะนำเสนอรายงานเป็นกฎหมายหลัก 4 ฉบับ ตอนนี้กำลังร่างไปพร้อมๆกับการฟังความเห็นของประชาชน ถ้าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบก็ส่งต่อกฤษฎีกา เดือนมิถุนายนน่าจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.

กฎหมายฉบับแรกคือเรื่องการปรับโครงสร้างตำรวจ ฉบับที่ 2 คือคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ให้เป็นองค์กรอิสระที่ไม่เป็นตำรวจและไม่เคยเป็นตำรวจ ฉบับที่ 3 ตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบตำรวจ และฉบับที่ 4 คือ กฎหมายเกี่ยวกับตำรวจชั้นประทวน

รศ.ดร.สังศิตอธิบายโครงสร้างในการปฏิรูปตำรวจเพิ่มเติมว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ ที่ฝ่ายบริหารแยกกับฝ่ายปฏิบัติชัดเจน ต้องมีตัวแทนภาคประชาชนนั่งอยู่ร่วมในองค์กรตำรวจทุกระดับ ส่วนหนึ่งมาจากคนผ่านงานด้านนิติธรรม มีส่วนนักการเมืองเพราะเป็นตัวแทนที่ประชาชนเลือกมา ส่วนหลักการที่ไม่สามารถประนีประนอมคือเรื่องกรรมการอิสระรับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนที่ต้องมีอำนาจวินิจฉัย เพื่อส่งให้คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติรับไปปฏิบัติด้วย ทั้งนี้ในส่วนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอาจมาจากตำรวจหรือไม่ก็ได้

รศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขิตวัฒนกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 มีหลักการเรื่องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนค่อนข้างเยอะตำรวจก็ปรับไปใช้ แต่ทัศนคติของคนในกระบวนการยุติธรรมยังไม่ค่อยปรับทั้งองค์กรอัยการ ศาล ราชทัณฑ์

ทั้งนี้ เนื่องจากตำรวจทำงานขาดลอยกับอัยการ แม้แต่การทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ที่สามารถให้อัยการไปร่วมประชุมแต่ไม่กลับไม่ผูกพันความเห็น ทำให้ในบางกรณีอัยการสูงสุดไปชี้ขาดกรณีความเห็นแย้งไม่เห็นด้วยกับดีเอสไอ ดังนั้นควรต้องปรับวิธีพิจารณาความอาญานอกเหนือการปรับโครงสร้างการลดอำนาจตำรวจด้วย

เรื่องที่ 2 เกี่ยวกับการค้นหาความจริง แม้ในรัฐธรรมนุญ พ.ศ. 2540 ระบุให้ การออกหมายจับ หมายค้นต้องมีกลไกศาลแต่กลไกที่อยู่ในอำนาจกับไม่ตระหนักกับกฎหมายนี้ เพราะศาลเองแทบจะออกหมายโดยอัตโนมัติง่ายๆ เช่น ออกให้ทางโทรศัพท์ ออกหมายไปก่อนเดี๋ยวจะตามไปเซ็น

หรือในการเข้าสู่วิชาชีพไม่ว่าอัยการหรือศาล ควรแยกนิติกับเนติชัดเจนเป็นภาระกิจให้ชัดเจน อีกทั้งปัจจุบันไม่พูดถึงหลักการทางวิชาการเท่าไร คนจำนวนมากที่เข้าไปได้เพราะคิดว่าเป็นเพราะท่องได้ หรือเรื่องกระบวนการต่างๆในระบบศาล เช่น เรื่ององค์คณะ แต่ศาลเวลาทำคดีกลับทำคนเดียว ใครทำก็ไปเล่าให้อีกคนฟังทีหลัง ทัศนะของศาลมองว่าสามารถทำเองคนเดียวได้ การสร้างบัลลังค์เพิ่มเสียงบประมาณ

เรื่องที่ 3 การสร้างอาณาจักรของใครของมัน ไม่ควรเป็นรูปแบบที่ตำรวจเริ่มคดีเกี่ยวกับผู้มีอำนาจแล้วถูกย้ายทันที เช่นพวกคดีของนักการเมือง ดังนั้นจะเห็นว่าไม่มีตำรวจคนไหนกล้าทำคดีนักการเเมือง เรื่องอำนาจสอบสวนควรจะดูระบบสากลว่าอัยการเข้าไปร่วมอย่างไรบ้าง เพราะอัยการมีอิสระสูง

นอกจากนี้ รศ.ดร.สุรศักดิ์ มองว่า ความเป็นจริงตอนนี้มีการท่องจำแต่ขาดผู้เชี่ยวชาญในอาชีพ กระบวนการเรียนการสอนเป็นปัญหาระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันการเทรนนิ่งโปรแกรมน่าจะมีปัญหาด้วย เพราะไม่มีระบบประเมินในการเรียน ทุกคนจบหมด บางคนมาอบรมโดยตำแหน่งเท่านั้น ดังนั้นแม้มหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่ง แต่เทรนนิ่งโปรแกรมก็มีความสำคัญ

ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด กล่าวว่า เรื่องการปลอดการเมืองของกระบวนการยุติธรรม มี 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ศาลปลอดการเมืองโดยหลักการและมีอิสระในการพิจาณา ส่วนที่ 2 คือส่วนการดำเนินคดีของเจ้าพนักงาน ทั้งนี้ ถ้ามองตามสภาพกฎหมายปัจจุบันจากกระบวนการฟ้องร้องจะเห็นว่าก็มีอิสระทางการเมืองสูงอยู่แล้วโดยให้อิสะของพนักงานอัยการมาก แต่ในทางปฏิบัติกลายเป็นเรื่องตัวบุคคล ประเด็นนี้หากอัยการเข้าใจจะสามารถเป็นกันชนอำนาจไม่ให้สิ่งไม่ถูกต้องไม่ให้เข้ามาในคดีได้

นอกจากนี้ ในการพิพากษาคดีจะเห็นว่าคำพิพากษามี 2 ส่วน ส่วนแรกคือตัวชี้ขาด ส่วนหลังคือคำให้เหตุผล ส่วนหลังต้องให้เหตุผลด้วยว่าโทษเป็นเท่าไหร่เพราะอะไร ซึ่งตอนนี้ไม่ให้เลยจะทำได้ต้องรู้ข้อมูลบุคคลมากพอควรเพื่อให้โทษเหมาะกับแต่ละคน บางทีเรื่องนี้นิติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อาจจะต้องเป็นตัวนำ

ดร.คณิต ยังอธิบายภาพรวมของกระบวนยุติธรรมทางอาญาด้วยว่ามีความสำคัญต่อประเทศมาก เนื่องจากเป็นส่วนที่เข้ามาดูแลความปลอดภัยชีวิตทรัพย์สินประชาชนและเสริมสร้างการพัฒนาประเทศในทุกด้าน ทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ทั้งนี้ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ดี ต้องมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายและต้องเป็นกระบวนการที่สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล ตัวอย่างที่ดีได้แก่ คดีนายทานากะ อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่น ที่มีตำแหน่งระดับนั้นแต่กระบวนการยุติธรรมสามารถลงโทษให้ไปอยู่ในคุกได้ ส่วนกระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหาทั้ง 2 ด้านทำได้เฉพาะปลาซิวไม่มีโอกาสจับตัวใหญ่

นอกจากนี้ยังมีปัญหาในการบริหารจัดการที่ดี มีค่าใช้จ่ายสูงในกระบวนการทั้งระบบ เพราะมีแต่การดำเนินคดีแต่ไม่มีการบริหารงานยุติธรรมซึ่งเป็นเรื่องของการดำเนินคดีชั้นเจ้าพนักงาน คือ ตำรวจ อัยการ และดีเอสไอ ส่วนนี้ต้องบริหารให้ทำงานมีเอกภาพกันให้ได้ ทั้งนี้ กระบวนการชั้นต้นผู้รับผิดชอบควรเป็นอัยการ แต่ความเป็นจริงสำนักงานอัยการสูงสุดกลับยังขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม เป็นเพียงไส้ติ่งไม่มีกำลัง

การบริหารงานคดีต้องมองย้อนกลับ ปัจจุบันเป็นระบบสายพาน คือ จาก ตำรวจไปอัยการไปศาลไปราชทัณฑ์ เกิดปัญหาคนล้นคุกที่เรือนจำ แนวความคิดต้องลดผู้ต้องขังหรือลดปริมาณคดีเข้าสู่ระบบสายพานโดยอัยการ เช่น การใช้ดุลยพินิจในการสั่งไม่ฟ้อง การชะลอการฟ้อง หรือการใช้กระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ในชั้นอัยการ

ดร.คณิต ยังพูดถึงการปฏิรูปศาลด้วยว่า ต้องเน้นที่ศาลพิจารณาที่ทำหน้าที่หาความจริงเพื่อชี้ขาดข้อกฎหมายซึ่งก็คือศาลชั้นต้น ต้องทำให้เป็นองค์คณะที่ดี การตรวจสอบของศาลขั้นแรกคือการตรวจสอบความจริงก่อนการประทับฟ้องแต่ศาลมักประทับฟ้องหมด ซึ่งหากตรวจก่อนจะเป็นการลดปริมาณคดี การพิจารณาที่มีประสิทธิภาพย่อมทำให้สถิติการลดฟ้องต่ำ ส่วนศาลฎีกาต้องเป็นศาลทบทวนข้อกฎหมายหรือเรียกร้องบรรทัดฐานทางกฎหมาย การอุทธรณ์ฎีกา ต้องเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมโดยรวมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการวินิฉัยข้อกฎหมาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท