Skip to main content
sharethis

ชื่อบทความเดิม : การร่างรัฐธรรมนูญคู่ขนานของภาคประชาชน = ยอมจำนนกับเผด็จการทหาร??? :ตอบข้อสงสัยของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


 


 


เก่งกิจ กิติเรียงลาภ


นิสิตปริญญาเอก รัฐศาสตร์ จุฬาฯ


สมาชิกพรรคแนวร่วมภาคประชาชน


 


           


อันโตนิโอ กรัมชี่ (Antonio Gramsci) นักมาร์กซิสต์ชาวอิตาลีคนสำคัญเคยกล่าวถึงความจำเป็นขององค์กรนำของชนชั้นผู้ถูกกดขี่ไว้ในทำนองที่ว่า ชนชั้นผู้ถูกกดขี่ต้องใช้โอกาสและพื้นที่ทางการเมือง(ในประชาสังคม)ที่มี เพื่อช่วงชิงการนำทางความคิดและแข่งแนวกับแนวคิดของชนชั้นปกครองตลอดเวลา และถ้าชนชั้นที่ถูกกดขี่ไม่ยอมแข่งแนวหรือเสนอแนวทางที่เป็นประโยชน์กับพวกเราเอง เราจะไม่มีวันเอาชนะหรือครองความคิดจิตใจ( hegemony) ชนชั้นผู้ถูกกดขี่ทั้งหมดเพื่อท้าทายกับความคิดของชนชั้นปกครองได้เลย ยิ่งไปกว่านั้นกรัมชี่เสนอว่า ชนชั้นผู้ถูกกดขี่มิได้มีความคิดหรือวิธีการมองโลกที่สอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสมอไป บางคนบางกลุ่มอาจสนับสนุนการปกครองแบบกษัตริย์นิยม พร้อมๆกับเรียกร้องรัฐสวัสดิการ บางคนสนับสนุนการทำรัฐประหารหรือมองว่า ไม่มีหนทางอื่นที่จะล้มรัฐบาลไทยรักไทยซึ่งเป็นศัตรูกับสิทธิเสรีภาพของพวกเขา จึงมีท่าทีเห็นใจกับการทำรัฐประหาร 19 กันยา พร้อมๆกับที่พวกเขากำลังเรียกร้องให้รัฐต้องถอนทหารออกจาก 3 จังหวัดภาคใต้หรือยอมรับความหลากหลายในเรื่องเพศ ศาสนา หรือ ชุมชน เป็นต้น


           


เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่าทีของเราภาคประชาชนที่อ้างว่า ตนเองมีความก้าวหน้าทางความคิดในภาคประชาชนควรเป็นเช่นไร เราจะปฏิเสธการทำงานร่วมกับองค์กรที่ยังไม่ฟันธง หรือ เห็นด้วยกับการปฏิรูปการเมืองโดยภาคประชาชนเอง แต่ก็แอบชื่นชมรัฐประหารเช่นนี้อย่างไร ท่าทีแรก คือ ไม่สังฆกรรมกับภาคประชาชนกลุ่มอื่นที่ไม่มีท่าทีชัดเจนเกี่ยวกับการรัฐประหารโดยรักษาความบริสุทธิ์ขององค์กรตนเองโดยไม่นำเสนออะไรเลย นอกจากประชดประชันต่อว่าภาคประชาชนกลุ่มอื่นตลอดเวลา หรือ ท่าทีที่สอง เราจะถือโอกาสเข้าไปถกเถียงและนำเสนอความคิดเกี่ยวกับรูปแบบสังคมที่ดีกับภาคประชาชนส่วนที่ยังลังเลเช่นนี้แล้วเสนอเวทีอิสระสำหรับร่างข้อเสนอ (หรืออาจเรียกว่ารัฐธรรมนูญ) ร่วมกัน ซึ่งเราจะมีโอกาสเข้าไปสร้างจุดแตกหักทางความคิดร่วมกับองค์กรภาคประชาชนอื่นๆพร้อมๆกับผลักให้ข้อเสนอของพวกเราทุกกลุ่มเป็นยุทธศาสตร์ของภาคประชาชนทั้งหมดให้มีความก้าวหน้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้กันแน่


           


ต่อไปนี้จะอธิบายว่า ทำไมภาคประชาชนจำนวนหนึ่ง และพรรคแนวร่วมภาคประชาชนจึงเลือกท่าทีที่สองคือ สร้างเวทีคู่ขนานเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นมาแข่งแนวกับรัฐธรรมนูญและแนวทางการปฏิรูปการเมืองของเผด็จการทหาร หรือที่เราเรียกว่า "เวทีประชาธิปไตยประชาชน" www.thaipood.com โดยเรามองว่า มันเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่ถูกต้องที่สุดในขณะนี้ด้วยเหตุผลดังนี้


 


1.            เวทีร่างรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนนั้นได้มีการพูดคุยกันมาก่อนเกิดรัฐประหาร 19 กันยาเป็นระยะเวลานานหลายเดือนแล้วตั้งแต่ต้นปี 2549 โดยเฉพาะเรามองว่า การจัดงาน สมัชชาสังคมไทย (Thai Social Forum) ในเดือนตุลาคม 2549 จะเป็นโอกาสที่เราจะมีข้อเสนอการปฏิรูปสังคมร่วมกัน พร้อมๆกับที่วิพากษ์รัฐบาลไทยรักไทย ดังนั้นนี่เป็นภารกิจของภาคประชาชนส่วนใหญ่ต่อเนื่องไม่ว่าจะเกิดการรัฐประหารหรือไม่ (อาจจะยกเว้นภาคประชาชนในส่วนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ไม่มีข้อเสนออะไรมาก่อน นอกจากมาตรา 7)


 


2.            ข้อเสนอในร่างรัฐธรรมนูญคู่ขนาน หรือที่พวกเราเรียกว่า "การปฏิรูปสังคม" นั้นมีข้อเสนอหลักๆคือ การสร้างรัฐสวัสดิการ การลดอำนาจทหารตำรวจ หรืออำนาจรัฐทั้งหมดอย่างเป็นรูปธรรม การคัดค้านแนวคิดเสรีนิยมกลไกตลาด คือ เราไม่เอา การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เอฟทีเอ และการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แต่รัฐต้องปฏิรูประบบภาษี เพื่อมาสร้างสวัสดิการสังคมครบวงจรตั้งแต่เกิดจนตาย หรือที่พวกเราเรียกว่า "รัฐสวัสดิการ" รวมไปถึงเราเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมของขบวนการผู้หญิง เกย์ เลสเบี้ยน และเพื่อนชาติพันธุ์ทั้งหมด รวมไปถึงข้อเรียกร้องให้รัฐต้องปกป้องสิทธิของเพื่อนแรงงานข้ามพรมแดน ฯลฯ ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดนี้ไม่มีวันที่รัฐบาลของชนชั้นปกครองใดๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไทยรักไทยหรือรัฐบาลเผด็จการทหารจะยอมรับได้ นั่นหมายความว่า เราจะไม่มีวันยอมรับรัฐธรรมนูญของรัฐบาลทหาร เพราะมันจะไม่มีวันยอมตามแนวทางปฏิรูปสังคมที่พวกเราเสนอขึ้นมา (ถ้าสนใจ "เนื้อหา" ของข้อเสนอ กรุณาดูเวป www.thaipood.com)


 


3.            มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่การขยับขยายทางการเมืองครั้งนี้ของพวกเราจะถูกนำไปสร้างความชอบธรรมหรือการประนีประนอมใดๆกับระบอบเผด็จการทหาร และเราเข้าใจร่วมกันว่า เราร่างข้อเสนอของพวกเราเพื่อเป็น เป้าหมายร่วมระยะยาว หรือที่กรัมชี่เรียกว่า เจตจำนงร่วม (collective will) ของภาคประชาชนที่มีร่วมกันเพื่อใช้ในการแข่งแนวและขับเคลื่อนทางการเมืองทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของพวกเราต่อไป และถ้าพิจารณาจากข้อเสนอในประเด็นต่างๆเหล่านี้ ข้อเสนอในการปฏิรูปสังคมดังกล่าวนับได้ว่าเป็นข้อเสนอที่ก้าวหน้าที่สุดนับตั้งแต่ความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย


 


ดังนั้นการกล่าวว่า ภาคประชาชนที่ร่างรัฐธรรมนูญคู่ขนานประนีประนอมหรือยอมจำนนต่อ


เผด็จการทหารจึงเป็นสิ่งที่ไม่จริง ยิ่งไปกว่านั้นการกล่าวหาว่าการเคลื่อนไหวของเราเป็นการ "โหนดาบปลายปืนทหาร" (ดูการกล่าวทำนองนี้ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ใน http://somsakcouppostings.blogspot.com) ก็เป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดด้วย


 


คำขวัญของเวที thaipood หรือ เวทีประชาธิปไตยประชาชนที่ว่า "เราทุกคนเป็นผู้เชี่ยวชาญ" และสามารถร่างรัฐธรรมนูญได้ นั้นเป็นคำขวัญที่สืบเนื่องมาจากเวทีสมัชชาสังคมไทย "โลกใบใหม่ที่เท่าเทียมประชาชนสร้างได้" ซึ่งเวทีนี้นอกจากจะช่วยตอกย้ำและเพิ่มความมั่นใจให้กับคนธรรมดาๆ ยังเป็นการตอกย้ำว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่ใช่การโอนอำนาจของประชาชนไปให้ผู้เชี่ยวชาญคิดแทนเรา แต่ประชาธิปไตยของประชาชนต้องเป็น "ประชาธิปไตยที่กินได้และเห็นหัวคนจน" ด้วย


 

...รัฐธรรมนูญที่ใครๆ ก็ร่างได้...และ...เราจำเป็นต้องร่างเดี๋ยวนี้!!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net