สัมภาษณ์พิเศษ : ทำไม 2 นักศึกษาจึงออกมาอดข้าวประท้วง ม.นอกระบบ


ช่วงนี้หากใครผ่านไปแถวๆหน้ารัฐสภาแล้วมองไปยังฝั่งตรงข้ามๆไม่ไกลจากป้ายรถเมล์ จะสะดุดสายตาเพราะเต็นท์ลายพรางใบไม้สีเขียวหลังหนึ่ง รอบๆมีแผ่นป้ายต่างๆเต็มไปหมดที่ล้วนเขียนข้อความไม่เห็นด้วยกับการนำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐหรือมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)

ลองมองเข้าไปให้ใกล้อีกนิด...นิสิตนักศึกษาสวมเสื้อขาว

2 คน กำลังนั่งอยู่ข้างเตนท์ตรงนั้นเอง

คนหนึ่งคือ อธิวัฒน์ บุญชาติ โฆษกสหพันธ์นักศึกษาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ส่วนอีกคนหนึ่งคือ ภาคิไนย์ ชมทรัพย์สินมั่น นิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา

ทั้งสองดูร่าเริงอารมณ์ดีเหมือนพร้อมจะพูดคุยกับทุกคนที่ผ่านเข้าไปทักทายด้วยรอยยิ้มแห่งไมตรี ทว่าแววตาทั้งคู่จะเริ่มแดง ส่วนใบหน้าดูอิดโรยและดำกร้านแดด ซึ่งเป็นสภาพที่ผ่านการอดอาหารมาตั้งแต่ 19 ก.พ. 50 รวมเวลาแล้ว 4 วัน โดยดื่มเพียงน้ำเปล่ากับน้ำหวานเพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่า พวกเขา 'ไม่เอา มหาวิทยาลัยนอกระบบ'


เหตุใดและอะไรทำให้พวกเขาทั้งคู่ทนไม่ไหวจึงต้องเดินออกมาจากรั้วรอบแห่งการศึกษาอันอบอุ่นมาสู่สภาพนักประท้วงข้างถนนเช่นนี้


'

ประชาไท' มีคำตอบ

000


อภิวัฒน์ บุญชาติ โฆษกสหพันธ์นักศึกษาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยรามคำแหง


ทำไมจึงต้องออกมาอดอาหารที่หน้ารัฐสภา


อธิวัฒน์

: เราต้องการให้ยกเลิกพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนอกระบบไปเลย เพราะแม้ไม่ออกนอกระบบแล้วมหาวิทยาลัยก็อยู่ได้ใช่หรือไม่ ลองไปถามคนที่จบปริญญาไปก่อนหน้านี้ ตอนนั้นมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ออกนอกระบบทำไมยังอยู่ได้ คำว่ามหาวิทยาลัยนอกระบบหมายถึงเงินนอกระบบด้วยใช่หรือไม่ การเป็นองค์กรมหาชนคือสิ่งที่ทำให้อยากออกนอกระบบ ทุกวันนี้เรื่องความคล่องตัวเกี่ยวกับการเงินนั้น เรากล้ายืนยันเลยว่าแต่ละมหาวิทยาลัยของรัฐตอนนี้มีเงินเหลือ

ปัญหาความคล่องตัวทุกวันนี้เป็นเพราะการเอื้อพวกพ้องในระบบราชการ มีเรื่องเส้นสาย แทนที่จะเอาคนที่มีความรู้ความสามารถมาเป็นคนสอนกลับเอาคนข้างตัวมานั่งตำแหน่งต่างๆ แล้วบริหารจัดการไม่ได้เลยกลายมาเป็นข้ออ้างในการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ


แต่ฝ่ายที่สนับสนุนการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบระบุว่ามันจะทำให้เรื่องเส้นสายเหล่านี้หายไป เพราะมีเรื่องระบบประเมินคุณภาพ


อธิวัฒน์

: ไม่ต้องออกนอกระบบก็ประเมินได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนบุคคลมากกว่า แต่สมมติออกนอกระบบไปแล้ว นาย ก.เกิดมีญาติพี่น้อง 3 คน จบปริญญามาก็เอามาเป็นสภาคณาจารย์ นาย ข. ก็ทำแบบเดียวกันแต่เอาไปเป็นอาจารย์ หรือนาย ง.มี 10 คนก็เอาไปเป็นอาจารย์หรือรองอธิการฝ่ายต่างๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ใครจะประเมินใคร การออกนอกระบบมันก็ไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรตรงนี้ แต่ถ้ามีการออกมายืนยันว่ามหาวิทยาลัยหลังจากออกนอกระบบไปแล้วใช้ระบบสอบคัดเลือกในการเอาอาจารย์มาสอนแต่ละคณะวิชาก็ยอมออกนอกระบบได้ แต่เอาแบบนี้หรือไม่

การตัดสินใจออกมาอดข้าวเพื่อประท้วงลำบากหรือไม่ วินาทีนั้นเป็นอย่างไร


อธิวัฒน์

: ไม่ลำบาก เพราะเรามุ่งมั่นอยู่แล้วว่าจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้สำเร็จ เรายังมีรุ่นน้องข้างหลัง ที่ผ่านมาเราทำวิธีการต่างๆ มาหมดแล้ว เช่น ตั้งเวทีปราศรัยที่สนามหลวง 9 - 10 วัน เผาหุ่น ยื่นหนังสือไปที่ต่างๆ จัดปราศรัยในมหาวิทยาลัย ทำกันมาตั้งนานร่วมกับองค์กรต่างๆ หรือเคลื่อนไหวในภาควิชาการ

วิธีเหล่านั้นพอทำแล้วมีข้อจำกัดหลายเรื่อง เช่น ทุน บุคลากร วัสดุ ไม่สามารถมีได้ต่อเนื่อง พอจัดเวทีใหญ่โตมีคนมามากมายก็โดนมองว่าเป็นการรับจ้าง หากจัดหลายวันก็ใช้เงินมากมาย นักศึกษาจะเอาเงินมาจากไหนมากมาย การตัดสินใจตรงนี้ไม่ต้องใช้อะไรมากมาย ผมมาแค่เสื้อผ้าชุดเดียว โทรคุยกันกับภาคิไนย์ก่อน ตอนแรกภาคิไนย์จะอดอาหารคนเดียว แต่คิดว่าปล่อยคนเดียวคงไม่ได้ เดี๋ยวเหงา เราเคลื่อนไหวมาด้วยกันเลยตัดสินใจว่าอดด้วย น้องมาถึงก็เริ่มอดตอน 9.00 น. ผมตามมาถึงเริ่มตอนเที่ยง


ภาคิไนย์

: ผมนั่งรถตู้บางแสนมา พี่เอาเปรียบนี่แอบกินมื้อเช้าก่อนมาใช่ป่าว (หัวเราะ)

อธิวัฒน์

: กินแค่ปาท่องโก๋กับนม ไม่ได้กินข้าว (ยิ้ม)

ที่บ้านว่าอย่างไร


อภิวัฒน์

: ที่บ้านไม่ได้ว่าอะไร เพราะเคลื่อนเรื่องนี้มานานแล้ว ถึงไม่อดก็เคลื่อนมานานแล้ว

แล้วทำไมต้องเป็นช่วงนี้


อธิวัฒน์

: ไม่ใช่ช่วงนี้หรอก มันเป็นลำดับมาแล้ว เราเปิดปราศรัยตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2549 ปราศรัยกันไป 9 วัน ปราศรัยตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยบูรพา มีการประชุมกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กว่า 20 สถาบัน จากนั้นก็นัดกันมายื่นหนังสือที่หน้ารัฐสภา เขาก็ไม่สนใจ พอเราเผาหุ่นเขาจึงชะลอ เพราะมีกระแสไม่เอาเกิดขึ้น

ภาคิไนย์

:แต่ยังมีแอบงุบงิบทำ ค้างอยู่ใน สนช.อีก 5 ฉบับ

อธิวัฒน์

:ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงพอตั้งโต๊ะเรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ คนมาทันที ลงชื่อไม่เอาเลย อยากตรวจสอบก็มีรายชื่อ

ภาคิไนย์

: ที่มหาวิทยาลัยบูรพาก็เหมือนกัน เดินไปแถวกำแพงหลังมหาวิทยาลัยเคยมีคนไปพ่นกราฟิตี้ว่า กูไม่เอา ม.นอกระบบ ผมเห็นก็สาธุๆ โครตแนว เท่ดี แต่เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยก็เอาสีไปทาทับ

ช่วงนี้เป็นช่วงเรียนและสอบ ออกมาอย่างนี้จัดการเรื่องนี้อย่างไร


อธิวัฒน์

: ผมสอบ 3 มีนาคม 50 เลยเอาการบ้านมาทำด้วย เราก็อ่านหนังสือของเราไป

ภาคิไนย์

:มหาวิทยาลัยบูรพาเป็นมหาวิทยาลัยปิด อาจต่างหน่อยเพราะเหตุนี้เลยตัดสินใจมาคนเดียว ไปชักชวนคนอื่นก็เกรงใจและกิจกรรมนี้ทำคนเดียวได้ ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยบูรพาก็สู้เรื่องนี้มาตลอด เพื่อนไม่เห็นด้วยกับการออกนอกระบบเยอะ วันนี้ทางที่มหาวิทยาลัยก็มีเวทีสาธารณะเรื่องนี้ ส่วนเราแยกมาอดอาหารหน้าสภาเพราะเรียนเทอมสุดท้ายแล้วจึงหนักไปทางทำงานวิจัยอย่างเดียว รุ่นน้องเลยเอาคอมพิวเตอร์โน้ตบุคมาให้ ทำงานไปด้วยจะได้ไม่เสียงาน มีแบตเตอรีสำรองอีกตัวก็ไปชาร์ตเอา

ความเป็นอยู่แต่ละวันเป็นอย่างไร


ภาคิไนย์

: น่าจะทำเรียลริตี้ประท้วงนะ

อธิวัฒน์

: นั่ง แล้วก็มีคนมาให้กำลังใจ พูดคุยให้ความรู้กันไป ถามไถ่เช่นว่าถ้าผู้หลักผู้ใหญ่ไม่ยอมเราจะทำอย่างไร การเรียนการสอบจะทำอย่างไร แต่ที่สำคัญคือถ้าออกนอกระบบไป คนต่อไปจะมีโอกาสเข้ามาสอบน้อยลง

ห้องน้ำล่ะ


อธิวัฒน์

:อาบน้ำก็ไปอาบในสภา

ภาคิไนย์

:ยามก็ไม่ว่าอะไร ใจดี บอกว่าสภาเป็นของประชาชนอยู่แล้วเข้าไปเลย

อุปสรรคใน 4 วันมานี้


ภาคิไนย์

: หิว รถส้มตำ ลูกชิ้น ผ่านมา กลิ่นสุดยอด

อธิวัฒน์

: เมื่อเช้าคณะที่มาเรื่องห้ามโฆษณาเหล้านิมนต์พระมาทำพิธี กับข้าวนี่หอมมากเลย กลิ่นกระเพรา เนื้อย่าง ตับย่าง ทรมานจิตใจมาก หวิวบ้างเป็นบางครั้ง


ภาคิไนย์ ชมทรัพย์สินมั่น นิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา


แล้วต่อสู้กับจิตใจตัวเองอย่างไร


ภาคิไนย์

: กำลังใจ มีคนมาให้กำลังใจเยอะผิดคาด ตอนแรกคิดว่าจะมีคนมาด่าเสียอีก

อธิวัฒน์

: คนมากันเต็มเลย เมื่อวานมหาวิทยาลัยบูรพากับรามกำแหงมากันเต็ม แชร์ค่ารถมากันเอง รุ่นพี่บางคนเรียนเนติเสร็จ สองสามทุ่มก็นั่งแท็กซี่มา บางคนมีงานต้องขึ้นศาลตอนเช้าก็มาช่วยนอนเฝ้าตอนกลางคืน

ภาคิไนย์

: รุ่นน้องหาค่ารถกันมาเอง ครูบาอาจารย์ก็มากันเยอะ ประชาชนก็เยอะ

เรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างไร


อธิวัฒน์

: เราเคยให้ข่าวไปว่าโดนขู่ทำร้าย พี่ที่รู้จักที่เป็นตำรวจพอรู้จากหนังสือพิมพ์ก็แจ้งไปข่าวกรองบ้าง ท้องที่บ้างให้เข้ามาดูแล ตำรวจก็มาถามไถ่

ครูบาอาจารย์ที่ไม่เห็นด้วยก็มา คือมาขอร้องไม่ให้อดข้าว อาจารย์บอกว่าเห็นด้วยกับการประท้วงแต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการอดข้าวคืออยากให้ดูแลสุขภาพเผื่อว่าวันข้างหน้าอาจจะเป็นรัฐมนตรีก็ได้ ถ้าวันนี้ตายไปซะก่อนอาจจะไม่ได้เป็น


แล้วทางฝ่ายรัฐล่ะ ออกมาว่าอะไรบ้าง


อธิวัฒน์

: รัฐมนตรีก็ออกมาให้ข่าวผ่านหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ (ชี้ให้ดู) บอกว่าพ้นช่วงของรัฐมนตรีมาแล้ว อยู่ในวาระของ สนช. ถ้าสนช.ลงมติไม่เห็นด้วยกับพระราชบัญญัติในสมัยนี้ก็ตกไป เหมือนการโยน ในวาระความจริงก็ถอนได้ ทางมหาวิทยาลัยจะถอนเองก็ทำได้ ถ้ารัฐมนตรีจะถอนเองก็ได้

ช่วงนี้เป็นช่วงกระแสสังคมคุณธรรมจริยธรรม พอโดนไม่ใส่ใจอย่างนี้คือตั้งคำถามกับสังคมหรือไม่


อธิวัฒน์

: บอกว่าพอเพียง แค่นี้ก็พอแล้ว

ภาคิไนย์

: รัฐมีงบประมาณพออยู่แล้ว ใช้เหลือกันทุกปี อดีตอาจารย์จุฬาที่เป็นกรรมาธิการท่านหนึ่งมาบอกว่างบประมาณเหลือทุกปี

อธิวัฒน์

: รามคำแหงมีนักศึกษาเยอะ กิจกรรมก็ทำเยอะ งบของกิจการนักศึกษาได้ 8,000,000 ต่อปี ใช้พอกันเหลือเฟือ ความจริงงบประมาณจากรัฐให้มหาวิทยาลัย 300,000,000 บาทต่อปี นักศึกษาได้แค่นั้นที่เหลือไปไหน ส่วนค่าบำรุงการศึกษาเก็บจากนักศึกษาอยู่แล้ว ค่าเทอมเทอมละ 300 บาทต่อการลงทะเบียน 1 ครั้ง นักศึกษา 100,000 คน ปีหนึ่งรามลงทะเบียนกัน 5-6 ครั้ง หรือเอาง่ายๆแค่ 3 ครั้ง เทอมแรก เทอมสองและซัมเมอร์ ก็ตีว่าได้จากนักศึกษาคนละ 900 บาทต่อปี รวมแล้วก็ 90,000,000 บาทต่อปี บำรุงการศึกษาได้อยู่แล้ว

แล้วไหนจะได้งบจากร้านขายของ ร้านอาหาร ร้ายขายหนังสือเตรียมสอบหน้าราม ค่าเซ้งร้านต่อปี รวมแล้วตีว่าประมาณ 300,000,000 บาทต่อปี


ภาคิไนย์

:ที่บูรพางบประมาณเหลือทุกปี ทุกวันนี้คำอ้างที่ว่ามหาวิยาลัยออกนอกระบบจะบริหารได้ดี ความจริงแล้วทุกวันนี้อยู่ในระบบอำนาจอยู่ที่สภามหาวิทยาลัยไม่ว่าจะตั้งคณะ เพิ่มหลักสูตรก็ทำจบในมหาวิทยาลัยแค่ส่งเรื่องให้กระทรวงศึกษาธิการรับทราบ เขาให้อำนาจให้สภามหาวิทยาลัยอยู่แล้วแต่มาใช้ข้ออ้างว่าจะให้คล่องตัว

เรียกว่าใช้ข้ออ้างเพราะถ้าออกนอกระบบจะได้คล่องคอ ถ้าออกนอกระบบราชการมันจะเกิดอะไรขึ้น พอออกนอกระบบ ราชการจะไม่มารัดตัว มีอำนาจเต็มที่ ถ้าเป็นอธิการบดีก็เหมือนเป็นเจ้าของกลายๆมีอำนาจเต็มที่ 4 ปี ได้ผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินมันสูงมาก

เรื่องคล่องตัวของผู้บริหารมันไม่ได้คล่องตัวในเรื่องการบริหารงาน แต่มันคล่องตัวในการบริหารเงิน เรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญ ผลประโยชน์ตรงนี้มีเยอะ ที่ผมมาคัดค้านเขามันไม่ใช่อะไร เพราะเขากลัวเสียผลประโยชน์หากมานั่งดีเบทกันตรงไปตรงมา เขาไม่ชอบบอกว่าเราไม่เข้าใจหลักการ ผมเข้าใจทะลุปุโปร่งอธิบายให้ฟังได้ เอางบประมาณการเงินมานั่งแฉท่านได้ ผมไม่เห็นด้วยเพราะว่าท่านกำลังจะแปลงทรัพย์สินของพวกเราให้เป็นของมหาวิทยาลัย ตามกฎหมายก็เหมือนมีอำนาจสูงสุดในสถาบันตนเองจะเชื่อมโยงขนาดไหนกับเรื่องผลประโยชน์



มองว่าไม่มีความตรงไปตรงมา


อธิวัฒน์

: ไม่ตรงครับ อย่างการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา ถ้าโปร่งใสบริสุทธิ์ใจจริงผมจะโดนขู่ไหม อาจารย์คณะวิศวะกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะโดนดักยิงไหม ยิงกะตายนะ

หตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นไหม รุ่นน้องผมทำงานโดนขู่คาดโทษวินัยกันหมด ถ้าเขาโปร่งใสก็ควรให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็น สถาบันพระจอมเกล้าพระนครเหนือมีการปลดเลขานุการองค์การนักศึกษา ถ้าโปร่งใสจริงสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคล้ายๆกับว่าไปขวางทางผลประโยชน์ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งที่เหลืออยู่ทุกวันนี้ก็คือผลประโยชน์


เคยเชิญฝ่ายที่เห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมาร่วมเวทีไหม


ภาคิไนย์

: เชิญประจำเวลามหาวิทยาลัยบูรพาเปิดเวทีสาธารณะ แต่อธิการบดีไม่มาร่วม เพราะผลประโยชน์ ตำแหน่งหน้าที่ อำนาจ มาหมดเลยถ้าออกนอกระบบ


คิดว่าทำไม สนช.จึงต้องเร่งเรื่องนี้ให้เสร็จ


อธิวัฒน์

:ตอบได้เลย ตอนนี้ใน สนช. มีอธิการบดีกี่คน ลอบบี้กันเท่าไหร่ ลองไปสืบดู คนที่เป็น สนช.บางส่วนยังมีความรู้ทางด้านการศึกษายังไม่ค่อยชัดเจนครบถ้วน พอมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยเยอะๆ มาอธิบายข้อดี ก็เออดีๆๆๆ ไม่ใช่อธิการบดีอย่างเดียวนะ ทางคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)และ รัฐบาลท่านไม่ผิดแต่ถูกหลอกเพราะว่าท่านฟังอธิการบดีซึ่งอธิการบดีมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับนโยบาย ท่านเชื่อไปหมดเพราะถือว่าเป็นครูบาอาจารย์ แต่หากนำรายชื่อสภาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยแต่ละมหาวิทยาลัยออกมาดูจะเห็นกันว่าเป็นญาติพี่น้องใครบ้าง


การที่ผู้มีอำนาจหรือคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไม่สนใจในการแสดงออกที่เราทำ หรือการที่ไม่สนใจการที่คนๆหนึ่งออกมายืนยันในหลักการที่บุคคลนั้นเชื่อว่าดีต่อส่วนรวมด้วยการอดอาหาร มันสะท้อนอะไรต่อสังคม


ภาคิไนย์

: ผมว่าสังคมสนใจ ประชาชนทั่วไปสนใจ อ่านข่าวเจอต้องสนใจแน่นอน คนที่มีอำนาจเขาก็สนใจ แต่เขาดื้ออยากจะทำให้มันสำเร็จขึ้นมา เราโต้กลับว่าเราเข้าใจหมดทุกอย่างแต่ว่าเราไม่เห็นด้วย

ประเด็นอยู่ที่ถ้าเห็นไม่ตรงกันก็น่าจะมาดีเบทกัน เขามองว่าเราจะมองเรื่องค่าหน่วยกิจสูงขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่เรามองถึงระบบ เช่น ถ้าออกนอกระบบจะมีการเกษียณหรือไม่ รับรองว่าไม่มีการเกษียณจนตายคาเก้าอี้ คนที่เป็นสภาคณาจารย์ก็เป็นคนของเขา ยกมือกี่รอบคนเดิมก็ได้เป็นอธิการบดี หรือว่าคนเดิมเบื่อแล้วก็เอาคนของตนเองขึ้นมาเป็นอธิการบดีแทน


รู้สึกอย่างไรที่ช่วงเดียวกันประเด็นแบบการแต่งกายของเอมี่ นักศึกษาที่เป็นนักแสดงแต่งตัววาบหวิวกลายเป็นสิ่งที่ทั้งสังคมต้องพูดถึงและคาดหวังกับนักศึกษาไปต่างๆนานา แต่พอเราออกมาพูดถึงประเด็นทางสังคมกลับมีคนสนใจน้อย


ภาคิไนย์

: ถ้าผมเปลี่ยนจากอดข้าวประท้วงมาเป็นแก้ผ้าประท้วง สังคมจะสนใจผม สังคมสนใจว่าจะแสดงออกด้วยวิธีไหน เอมี่เขามีสิทธิแต่งตัวแบบนั้นเพราะไม่ได้ใส่ชุดแล้วไปขี่คอใคร แต่ว่าสังคมมาประณามแสดงว่าสังคมรับไม่ได้กับเรื่องแบบนั้น แต่การอดข้าวประท้วงถูกมองว่าก็เป็นเรื่องของมัน มันไม่ค่อยกระตุกสังคม

ถ้าผมจะแก้ผ้าประท้วงไม่เอาม.นอกระบบ แก้ผ้าวิ่งรอบสนามหลวง ถามว่าประชาชนสนใจไหม สนใจ แต่จะสนใจแค่นั้น สังคมเราวิธีคิดไม่ค่อยลึกซึ้ง ปรากฏการณ์เอมี่กับผมอดข้าวประท้วง สังคมสนใจเอมี่มากกว่าการอดข้าวประท้วง อยู่ที่ปรากฏการณ์ เรามีความสุขในการที่จะทำเพราะเรามีความตั้งใจทำเพื่อสังคม


หวังผลแค่ไหน เขาจะฟังไหม จะทำต่อไปแค่ไหน


อธิวัฒน์

: เขาต้องฟัง ต้องเอาไปปฏิบัติ จิ้งจกทักยังหันไปมอง นี่นักศึกษาทักนะ

สมมุติไม่ฟัง นักศึกษาทักแล้วไม่ฟัง


อธิวัฒน์

: ต้องฟัง ถ้าไม่ฟังก็ฟุบอยู่ตรงนี้

สมมุติว่าผู้ใหญ่บ้านเมืองนี้ไม่สน จะฝากอะไรก่อนฟุบหรือไม่


ภาคิไนย์

: อยากให้เพื่อนนักศึกษา สังคมและประชาชนทั่วไป ออกมาให้กำลังใจ

ความจริงแล้วในหน้าการศึกษาก็มีการนำเสนอเรื่องเราเยอะกว่าเรื่องอื่น ถือว่าเป็นคลื่นใต้น้ำแทรก ยังมีคนพูดถึงบ้าง


อธิวัฒน์

: ตั้งแต่เป็นรัฐมนตรีมา ตั้งแต่มี สนช.มา บอกว่าจะมีการปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปการเมือง แต่กลับยังไม่มีการปฏิรูปอะไรเลย ประเด็นการเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบมันมีมานานและคนไม่เห็นด้วยนานแล้ว ถ้าดีจริงคนเห็นด้วยไปตั้งนานแล้ว แต่การคิดให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบไปก่อนจะมีปัญหาตามมาทีหลัง เรื่องมันไม่จบจะวนอยู่เหมือนประเด็นปัญหาสุวรรณภูมิที่ใช้วิธีทำไปก่อน

สังคมไทยเป็นแบบนี้ไม่รู้จะทำอย่างไรก็คงต้องทำใจ เคยให้สัมภาษณ์ออกรายการโทรทัศน์ว่าการศึกษาเมื่อก่อนเขาเรียกการศึกษาศาลาวัด คนที่เรียนจบศาลาวัดมีความรู้มีคุณธรรมเยอะแยะ กลับกันถ้าผมจ่ายตังค์แสนแปดแล้วผมจบ แต่เรียนบ้างไม่เรียนบ้างมีคุณภาพอะไร คือเรียนต้องให้มันมีคุณภาพ

มหาวิทยาลัยเป็นตลาดวิชาอยู่แล้ว งบประมาณสภาคณาจารย์เงินเดือน 20,000 บาท อธิการบดีเงินเดือน 20,000 บาท มาเป็น สนช.ดีกว่า ขณะนี้ผู้บริหารบางท่านทำงานแย่กว่าคนที่ทำงานเงินเดือน 7

,000-8,000 บาท แต่ความรับผิดชอบน้อยมาก เอาตารางมาดูก็ได้ว่าวันๆหนึ่งไปไหน ไปดูงานเมืองนอกสิ้นเปลืองงบประมาณเปล่าๆเพราะยังไม่รู้จักตัวเองเลย


ภาคิไนย์

:ผมทำอหิงสา มาอดข้าวไม่ได้เบียดเบียนระรานใคร ทุกวันนี้ สนช.เขาด่ากันไปกันมา เขาทำกันเองทั้งนั้น เขาทำตัวของเขาเอง พอถึงเวลาก็โยนขี้ให้กัน สังเกตดีๆตอนนี้เริ่มโยนว่าเป็นความรับผิดชอบของ สนช.แล้ว หรือไม่โยนกลับไปเป็นความรับผิดชอบของของสภามหาวิทยาลัย ส่วนดร.วิจิตร ไม่รับแล้ว ถ้าทำให้ถูกต้องก็ไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ประชาชนก็ไม่ต่อต้าน ทุกวันนี้ไปถามประชาชนว่าคุณเห็นด้วยกับมหาวิทยาลัยนอกระบบหรือไม่ ทุกคนส่ายหัว

เขารับสื่อมาระดับหนึ่งแล้วบางคนมานั่งดีเบทกับผม อธิบายไปจนเขาเข้าใจ เหตุผลเหล่านี้ไม่ใช่พวกผู้บริหารเขาไม่รู้ เขารู้แต่เขาแกล้งโง่ ตรรกะเดียวกันถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่านเสียเท่าไหร่ก็ยอม เพราะกินกันระยะยาว ตรรกะไม่ต่างอะไรกับการปฏิรูปการไฟฟ้าเลย

เขาจะพูดว่าพวกผมไม่เข้าใจหลักการ อธิบายง่ายๆ สมมุติเรามีบ้านหลังหนึ่งเราเป็นเจ้าบ้าน เขาก็เปิดประตู หน้าต่างให้มาปล้นเอาไปหมดเลย ไม่ต่างอะไรกับการแปรรูปการไฟฟ้า หรือ ปตท. ทำกำไรกันมากมาย

ประเทศเราไปให้ความหวังกับพวกที่จบจากต่างประเทศมากเกิน เวลาเราบริหารประเทศถ้าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องสร้างรากฐานมาจากประชาชนของตนเอง การศึกษาของเราสมัยโบราณวัดก็คือโรงเรียน ประเทศเราทุกอย่างเริ่มต้นที่วัดและจบลงที่วัดก็ต้องมองฐานจากตรงนี้ เราไปเอาบ้านกึ่งสำเร็จรูปจากตะวันตกมาแล้วมาตั้งที่ลุ่มภาคกลาง น้ำก็ท่วม เหมือนกับการศึกษามันพัฒนาผิดหมดเลยใช้วิธีการแบบตะวันตกไม่ได้รับใช้สังคม บริษัทเอไอเอสจะไปทำคอนเสริต ไปขายซิมมือถือในมหาวิทยาลัยง่ายมาก แต่นักศึกษาจะทำกิจกรรมขอโต้วาทีขออะไรกลับยากมาก

เด็กที่อยู่ในมหาวิทยาลัยนอกระบบเคยพูดว่าอาจารย์มาถามว่าลูกศิษย์จ้างเดือนเป็นหมื่นๆ คือจะเปลี่ยนจากลูกศิษย์มาเป็นลูกค้า ลูกค้าของบริษัทบูรพาจำกัด มหาชน เรื่องหลักสูตรวิชาการสัดส่วนมันต้องมองว่าทำอย่างไรจึงจะผลิตคนไปทำซีพี มหาวิทยาลัยนอกระบบจะส่งเสริมแบบนี้ ล่าอาณานิคมทางอาณาเขตยังพอเอาเรื่องชาตินิยมมาสู้ได้บ้าง แต่นี่โดนเขาล่าอาณานิคมทางความคิดไปแล้ว


หมายเหตุ


สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 50

ปัจจุบันทั้งสองยังคงอดอาหารที่หน้ารัฐสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท