Skip to main content
sharethis

นางสาวธิติมา หมีปาน


ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา รายงาน


 


ตามที่เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2549 ที่ผ่านมาได้มีน้องต้น (นามสมมติ) และน้องหนึ่ง (นามสมมติ) เด็กหนุ่มอายุ 15 ปี จาก จ.บุรีรัมย์ ได้หายตัวไปจากบ้าน โดยเด็กทั้ง 2 คน ตั้งใจจะเดินทางมาทำงานก่อสร้างที่กรุงเทพฯ กับญาติ แต่หลังตรวจสอบว่าลงจากรถทัวร์แล้ว เด็กทั้งสองก็ขาดการติดต่อไปเลยนั้น


 


หลังจากการหายตัวไปของเด็กทั้งสอง ทางครอบครัวได้ประสานงานมายังศูนย์ข้อมูลคนหายฯ เพื่อหาเบาะแสเชื่อมโยงไปกับการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยในครั้งนี้ เบื้องต้นสันนิษฐานว่าถูกหลอกไปทำงานที่อื่น จนปรากฏความจริงภายหลังว่าทั้งสองถูกโปะยาขายให้เรือประมง


 


จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2550 น้องต้นและน้องหนึ่งได้เดินทางกลับมาบ้านที่จังหวัดบุรีรัมย์ ทางครอบครัวจึงได้สอบถามเด็กทั้ง 2 คน ว่าในระหว่างที่หายตัวไปนั้นได้ไปทำอะไร และอยู่ที่ไหนจึงไม่ได้ติดต่อกลับมาหาครอบครัวเลย ทำให้ทราบว่า น้องต้นและน้องหนึ่ง ได้เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อจะมาทำงานก่อสร้างกับลุง โดยในวันที่เดินทางมาถึงสถานีขนส่งหมอชิตนั้น เด็กทั้ง 2 คน ได้เดินมาเข้าห้องน้ำ ในสถานีขนส่งหมอชิต จากนั้นมีคนเดินมาชน(ลักษณะคล้ายการป้ายยา) ทั้งน้องต้นและน้องหนึ่ง จากนั้นทั้งสองก็มีอาการสะลึมสะลือ ไม่มีสติ แต่ยังสามารถเดินได้ โดยมีคนจูงไปนั่งรถตู้คันหนึ่ง หลังจากนั้นก็หมดสติไป ฟื้นขึ้นมาอีกที น้องต้นและน้องหนึ่งก็อยู่บนเรือประมงที่แล่นออกจากฝั่งแล้ว


 


โดยเด็กทั้ง 2 คน ให้ข้อมูลว่ามีคนที่ถูกลักพาตัวมาด้วยอีก 2 ราย คนแรกเป็นวัยรุ่น ส่วนอีกคนเป็นชายชราอายุ 61 ปี มาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และไต๋ก๋งเรือบอกกับเด็กทั้ง 2 คนว่า มีนายหน้าจากมหาชัย เอาเด็กมาขายให้ตนในราคาคนละ หนึ่งหมื่นบาท ซึ่งทั้งสี่คนที่ถูกจับตัวไปนั้น ต้องทำงานลากอวนอยู่บนเรือเป็นเวลา 7 เดือนเต็ม ในน่านน้ำประเทศมาเลเชีย และในระหว่างที่อยู่บนเรือได้กินเพียงข้าววันละ 2 มื้อ และต้องอาบน้ำเค็มตลอด


 


เมื่อครบกำหนด 7 เดือน เรือลำดังกล่าวก็แล่นกลับฝั่งที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยไต๋ก๋ง ถามเด็กทั้ง 2 คนว่า ต้องการทำงานต่อหรือไม่ ถ้าไม่ทำงานต่อก็กลับบ้านได้ และให้เงินค่ารถมาคนละ 3000 บาท แต่จะไม่มีค่าแรงให้ เพราะได้ให้เงินค่าตัวให้แก่นายหน้าขายคนหายให้ตนไปแล้ว ซึ่งในขณะนี้ น้องต้นและน้องหนึ่ง มีสุขภาพแข็งแรง และสบายดี แต่ใครจะรู้ว่า เด็กคนอื่นๆ ที่ถูกจับตัวไป เพื่อขายให้กับไต๋กงเรือนั้น จะโชคดีเหมือนน้องต้นและน้องหนึ่ง


 


จากสถิติของศูนย์ข้อมูลคนหาย พบว่า มีคนหายเนื่องจากการถูกล่อลวงเพื่อแรงงาน เป็นจำนวนถึง 39 รายด้วยกัน ซึ่งคนหายส่วนใหญ่ถูกล่อลวงให้เป็นแรงงานบนเรือประมง และในการติดตามคนหายที่ถูกล่อลวงไปใช้แรงงานบนเรือประมงนั้นถือว่าเป็นเรื่องยาก เพราะคงไม่มีใครบอกได้ว่า คนหายจะทำงานอยู่บนเรือลำใด เรือลำดังกล่าวจะไปจับปลาที่น่านน้ำใด และเรือที่คนหายได้ไปทำงานจะกลับเข้าฝั่งเมื่อไหร่ หากคนหายรายใดโชคดีมีไต๋ก๋งที่ดี ก็จะได้กลับบ้านอย่างปลอดภัย แต่หากไปเจอไต๋ก๋งที่โหดร้าย คนหายอาจจะถูกทำร้ายร่างกาย รวมถึงอาจไม่ได้กลับบ้าน เพราะเมื่อเรือกลับเข้าฝั่ง คนหายอาจถูกไต๋ก๋งของตนขายให้กับไต๋ก๋งของเรือลำอื่น ซึ่งคนหายอาจต้องเจอวงจรชีวิตเช่นนี้อีกหลายปี


 


ทั้งนี้ สถานีขนส่งหมอชิตซึ่งเป็นแหล่งที่มีประชาชนมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้กลายเป็นแหล่งรวมตัวของเหล่ามิจฉาชีพทั้งหลาย ที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์จากประชาชนที่เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ เพราะนอกจากเรื่องถูกมอมยาไปขาย เพื่อเป็นแรงงานบนเรื่องประมงแล้ว ก็ยังมีกรณีที่หญิงสาวถูกหลอกไปข่มขืน หรือกรณีการถูกหลอกในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์อีก ซึ่งต้องถือเป็นสถานที่เฝ้าระวังเป็นอย่างยิ่ง


 

ถึงแม้จะมีการก่ออาชญากรรมขึ้นเป็นจำนวนมากในสถานีขนส่งหมอชิต ก็ยังขาดมาตรการที่จะใช้จัดการกับเหล่ามิจฉาชีพ แต่อาจไม่เท่ากับการปล่อยปะละเลยไม่สนใจจะดำเนินการกับเหล่ามิจฉาชีพอย่างจริงจังของเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว ซึ่งมองว่าเรื่องที่มีคนหายตัวไปจากสถานีขนส่งหมอชิตเป็นเรื่องธรรมดา หากเป็นเช่นนี้ต่อไป คงไม่มีใครรับประกันได้ว่าเหตุการณ์ที่น้องต้นและน้องหนึ่งประสบมานั้น จะไม่เกิดขึ้นอีก ต้องตะโกนดังๆ ให้ภาครัฐ ได้ยินเลยว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ในรูปแบบนี้ยังคงมีอยู่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net