คปส.ออกแถลงการณ์กรณีอนาคตไอทีวี ย้ำต้องทำให้เป็นทีวีเสรีไม่ใช่สื่อภายใต้กำกับรัฐ


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส) ออกแถลงการณ์กรณีอนาคตไอทีวีหลัง ครม. มีมติให้ สปน.บอกเลิกสัญญาหากไอทีวีไม่จ่ายค่าสัมปทานค้างจ่ายและค่าปรับ 1 แสนล้านบาทภายใน 6 มี.ค. นี้ หวั่นรัฐแทรกแซงสื่อ-เสนอให้ประชาชนลงได้ลงมติตัดสินเรื่องนี้เอง

 

 

แถลงการณ์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส)

อนาคตไอทีวี  ต้องเป็นทีวีเสรี ไม่ใช่สื่อภายใต้การกำกับของรัฐ

 

จากมติคณะรัฐมนตรี เรื่องการที่จะดำเนินการยึดสัมปทานคืนจากบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) และให้รัฐเข้าไปควบคุมการบริหารจัดการ  ดังที่คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่าครม.ได้พิจารณาข้อพิพาทตามสัญญาเข้าร่วมการงานและการดำเนินงานสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) และบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) โดยที่ประชุมครม.มีมติว่าหากวันที่ 6 มีนาคมนี้ ทางไอทีวีไม่จ่ายค่าสัมปทานค้างจ่ายและค่าปรับเป็นเงินประมาณ 1 แสนล้านบาทที่ประชุมครม.มีมติให้สปน.บอกเลิกสัญญากับไอทีวีและให้ยึดคลื่นกลับคืนมาเป็นของรัฐทันที ทั้งนี้ตนได้รับมอบหมายให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหารคลื่นที่ยึดคืนและให้การดำเนินรายการของไอทีวีเป็นไปตามปกติ ตามข่าวที่เกิดขึ้นนั้น

 

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส) เกรงว่า สภาพการณ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การแปรสภาพสถานีโทรทัศน์ไอทีวีซึ่งเป็นสื่อเอกชน (Private media) ให้กลายไปเป็นของสื่อของรัฐ (State media) ที่ขาดอิสรภาพทางการเมืองแต่ให้เอกชนดำเนินการทางธุรกิจบนฐานการเลือกปฏิบัติโดยปราศจากกติกาการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมเฉกเช่นสื่อโทรทัศน์ของรัฐช่องอื่นๆในปัจจุบัน

 

สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ตามเจตนารมณ์หลังเหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 คือการเป็นสถานีโทรทัศน์เอกชน ที่มีความเป็นอิสระจากอำนาจรัฐ  ทว่าตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมาได้มีการปรับเปลี่ยนเจตนารมณ์เดิมของไอทีวีไปอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาไอทีวีควรต้องเป็นการปฏิรูปไอทีวีให้กลับไปเป็นสถานีโทรทัศน์เสรีซึ่งมีโครงสร้างที่เป็นอิสระจากอำนาจรัฐอย่างแท้จริง ไม่ใช่กลับไปสู่การเป็นสื่อภายใต้อาณัติของรัฐอีก

 

คปส. ไม่เห็นด้วยที่รัฐจะทำการยึด ไอทีวี แล้วให้ สปน. เข้าไปควบคุมการบริหารจัดการ ซึ่งจะส่งผลต่อการควบคุม กองบรรณาธิการและทิศทางของไอทีวี ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงสื่อทางตรง  อีกทั้งรัฐไมได้ประกาศสัญญาประชาคมเรื่องการจะคืนไอทีวีให้กลับเป็นทีวีเสรีอย่างชัดเจนต่อสังคม

 

ดังนั้น คปส. เห็นว่า มติคณะรัฐมนตรี ดังกล่าวมีวาระซ่อนเร้นและสะท้อนถึงการที่รัฐไม่มีเจตจำนงในการปฏิรูปสื่อแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงการใช้โอกาสและอำนาจทางการเมือง เพื่อเข้าไปควบคุมการบริหารจัดการในไอทีวี ด้วยการเปลี่ยนโครงสร้างผู้บริหารใหม่จากบริษัทเอกชน ไปเป็นหน่วยงานรัฐ คือ สปน. ซึ่งจะนำไปสู่ความสับสน ลักลั่น ของกติกาสื่อในสังคมไทยอย่างยิ่ง

 

ทั้งนี้ การที่ รัฐ ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลสื่อ (Regulator) จะก้าวเข้าไปเป็นผู้บริหารสื่อเอกชน (Operator) ถือว่าขัดแย้งทั้งหลักวิชาการ เจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อและส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ของ ไอทีวี   รัฐต้องให้สัญญาประชาคมในการปฏิรูปไอทีวีตามสองแนวทาง คือ

 

1) ต้องยืนยันให้ไอทีวีเป็นสื่อเอกชน บนพื้นฐานกติกาการแข่งขันที่เสรีเป็นธรรมในการจัดสรรสัมปทานใหม่ หรือ 2) ปฏิรูปไอทีวีให้มีโครงสร้างเป็นสื่อสาธารณะ ที่เป็นอิสระจากอำนาจรัฐ และบริหารจัดการโดยภาคประชาสังคม หรือ สาธารณชน โดยตรง

 

ข้อเสนอสำหรับเหตุการณ์เฉพาะหน้านี้    คปส. เห็นว่ารัฐต้องให้เวลาสำหรับการเปลี่ยนผ่านของไอทีวี ประมาณ 4-6 เดือน โดยให้มีการออกอากาศต่อไปในโครงสร้างเดิม โดยรัฐไม่แทรกแซงกองบรรณาธิการ รัฐต้องเปิดเวที ให้ทุกฝ่ายได้เสนอทางออกของไอทีวี และเปิดพื้นที่สื่อของรัฐให้ประชาชนลงประชามติ เสนอแนะอนาคตของไอทีวีในช่วงเวลา 4-6 เดือนนี้ รวบรวมข้อเสนอในการปฏิรูปไอทีวี เพื่อผลักดันให้เป็นนโยบายของพรรคการเมือง และ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินการ ปฏิรูปไอทีวี ให้เป็นทีวีเสรีต่อไป พร้อมไปกับการผลักดันจากภาคธุรกิจสื่อและภาคประชาชน

 

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)

27 กุมภาพันธ์ 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท