Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 







นำเสนอข้อเขียนของ แกนนำเยาวชน โครงการเยาวชนรู้เรียน Right to know (RTK) ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบการสื่อสารเรื่องเอดส์และเรื่องเพศแก่เยาวชน ดำเนินการโดย มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ (เอดส์เน็ท) สำนักงานภาคเหนือ สนับสนุนงบประมาณโดยองค์การยูนิเซฟประเทศไทย


 


 


พังพอน



กริ๊ง ๆ ๆ ไม่ใช่เสียงโทรศัพท์ แต่เป็นเสียงนาฬิกาของฉันเอง ที่ส่งเสียงปลุกในยามเช้าของวันเสาร์ วันหยุดของหลาย ๆ คน รวมถึงตัวฉันด้วย เช้านี้อากาศหนาวมาก หนาวเย็นขนาดนี้คงเข้าสู่ฤดูหนาวจริง ๆ แล้ว


 


ฉันลุกขึ้นไปเปิดหน้าต่าง เพื่อรับลมหนาวและอากาศที่สดชื่น นิ่งดูบรรยากาศยามเช้าในฤดูหนาว มองออกไปนอกหน้าต่างเห็นสายหมอกกำลังโปรยปรายลงมาหนาตา มองไปทางไหนก็เป็นสีขาวขุ่น เป็นบรรยากาศที่สวยงามแต่แฝงความเหงาเอาไว้ หนาว ๆ อย่างนี้ถ้าได้น้ำเต้าหู้ร้อน ๆ กับปาท่องโก๋สักตัวเพื่อนสักคนมานั่งคุยด้วยคงช่วยคลายหนาวได้


 


ยามนี้ฉันคิดถึงบ้าน ยายคงก่อไฟอยู่หน้าบ้าน ถ้าฉันอยู่ด้วยยายจะหาของกินพวกหัวมัน หัวเผือกมาปิ้งมาหมกในเตาไฟ คิดแล้วอยากกลับบ้านไปหายาย แต่ต้องเตือนตัวเองว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ ต้องอ่านหนังสือเตรียมสอบกลางภาคก่อน เมื่อคิดถึงสิ่งที่ควรทำฉันจึงกลับมานั่งที่โต๊ะหนังสือ


 


ฉันกลับไม่อยากอ่านหนังสือ จึงหยิบปากกากับกระดาษขึ้นมานั่งเขียนตามอารมณ์เหงา ๆ เขียนไปถึงวันแห่งความทรงจำในฤดูหนาวเมื่อ 5 ปีก่อน


 


ตอนนั้นฉันเป็นสาวแรกรุ่นอายุ 16 กำลังเรียนอยู่มัธยมศึกษาตอนปลายและเป็นอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิเด็ก ศูนย์เพื่อนน้องหญิง และร่วมกิจกรรมรณรงค์เรื่องสิทธิเด็ก และต่อต้านการค้ามนุษย์ เข้าร่วมกิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยน อบรม แสดงละครเล็ก ๆ เรียกว่าเดินสายทุกเสาร์อาทิตย์กันเลยทีเดียว


 


วันหนึ่งประธานของศูนย์เพื่อน้องหญิง บอกกับฉันว่าให้เตรียมตัวเดินทางไปร่วมอบรมเป็นแกนนำโครงการเยาวชนรู้เรียน Right to know (RTK) ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ (เอดส์เน็ท) พร้อมกับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครอีก 5 คน ของศูนย์เพื่อน้องหญิง


วันต่อมา ฉันเดินออกเดินทางด้วยรถตู้ที่ทางศูนย์ฯจัดให้ ระหว่างทางขณะที่รถกำลังแล่นไปนั้น ฉันไม่รู้ว่าปลายทางอยู่ที่ไหน ผ่านไปสองชั่วโมงก็ยังไม่ถึง คนอื่น ๆ ในรถต่างพากันหลับใหล ผ่านไปอีกนานเท่าไหร่ไม่รู้ ในที่สุดรถหยุดสนิทคนขับบอกว่าถึงแล้ว ทุกคนรีบลงจากรถ ฉันเดินลงจากรถด้วยความขุ่นมัวเพราะเมารถ แต่ทันทีที่ลงไปยืนบนพื้นดินความเบื่อก็หายไปกลายเป็นความตื่นเต้นและสดชื่นกับบรรยากาศของทะเลสาบเชียงแสน


 


ยามเย็นฉันออกไปนั่งริมทะเลสาบ รอดูตะวันตกน้ำ เพื่อเก็บบรรยากาศสวย ๆ ของที่นี่เอาไว้เป็นความทรงจำดี ๆ


 


ที่นี่ฉันได้เรียนรู้วิธีการไปหาข้อมูลเรื่องสถานการณ์และพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์จากกลุ่มเพื่อนๆในโรงเรียน เพื่อนำมาวางแผนการทำงานของศูนย์


 


หลังจากจบการอบรมในครั้งนั้น ฉันจำได้ว่า พวกเราทีมงานที่ได้เข้าร่วมอบรมด้วยกัน กลับมาวางแผนทำงานรณรงค์ โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนในโรงเรียนมัธยมประจำตำบล


 


พวกเราเริ่มเข้าไปวางแผนจัดเวลาทำกิจกรรม กลุ่มนักเรียนที่ทราบข่าวต่างก็ตื่นเต้นไปตาม ๆ กัน แต่ก็อย่างว่าแหละนะ การที่เราจะจับเข่านั่งคุยกันถึงเรื่องเอดส์และเพศศึกษาก็ต้องเจออุปสรรค เพราะเป็นเรื่องที่สังคมไทยยังไม่เปิดรับที่จะพูดคุยกันแบบเปิดเผย แน่นอนต้องมีคนไม่เห็นด้วย ก็ครูใหญ่ในโรงเรียนนั่นแหละท่านไม่เห็นด้วยเอาเสียเลย แถมยังก่อกำแพงสูงชันกั้นไว้ แต่เราต่างพยายามอธิบายเหตุผลต่าง ๆ นานา แบบชักแม่น้ำทั้งห้ามาพูดกันเลยทีเดียว เพราะเรามีจุดประสงค์ดีอยาก ให้ความรู้ในเรื่องของการป้องกันที่ถูกวิธีในการมีเพศสัมพันธ์ หรือป้องกันโรคติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร นอกจากการทำกิจกรรมในครั้งนี้เป้าหมายแรกคือเราอยากรู้ว่าวัยรุ่นในตำบลนี้ เขาไปทำอะไรที่ไหน เมื่อไหร่ แล้วพวกเขาได้เรียนรู้เรื่องแบบนี้จากใคร เวลามีปัญหาใครช่วยแก้ไข คำตอบเหล่านี้แหละที่จะตอบคำถามว่า โรคเอดส์ติดต่ออย่างแพร่หลายได้อย่างไร


 


เมื่อกำแพงครูใหญ่ลดลงเราก็เริ่มทำงานตามแผนกิจกรรมที่วางไว้ ด้วยกลยุทธวิธีต่าง ๆ ทั้งวาดเขียน ทั้งพูดปากเปล่า ตอนแรกฉันก็กลัว ๆ กล้า ๆ ที่จะพูดแต่ก็พยายามพูดพยายามอธิบายกับน้อง ๆ เพื่อน ๆ กลุ่มเยาวชน แน่นอนมันไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย ก็อย่างที่ฉันเคยบอกไว้ตอนต้นนั่นแหละ เรื่องแบบนี้สังคมไทยเรายังไม่กล้าที่จะยอมพูดคุยกัน ต้องใช้เวลา ในที่สุดที่ไม่ค่อยกล้าพูดก็เริ่มพูด และกล้าถาม พวกเขาเริ่มเข้ามาซักถามมากขึ้น


 


สิ่งหนึ่งที่ฉันได้รู้ก็คือ เรื่องเอดส์และเพศสัมพันธ์สำหรับเยาวชน มันอยู่แค่ปลายจมูกเท่านั้นเอง ทั้งจากการรับรู้ และสิ่งแวดล้อมข้างตัว จากการฟังปากต่อปากของเพื่อน จากสื่อต่าง ๆ ได้นำไปสู่การลองทำผิด ๆ ถูก ๆ ทำให้พลาดได้เสมอ เช่น ติดเชื้อ ตั้งท้อง ทำให้อนาคตต้องดับวูบลง


 


ความเหนื่อยจากการทำงานเป็นความภาคภูมิใจ ฉันรู้สึกมีความสุขที่ยากจะอธิบาย เพราะเราได้ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงน้อยลงที่สุดในการติดเอดส์ และลดความเสี่ยงการท้องในวัยเรียน


 


นี่คือ…จุดเริ่มต้นของสายน้ำเล็ก ๆ สายหนึ่ง ที่กำลังรินไหลไปข้างหน้า



__________________________________


 


สมพร อินทโมรา "พังพอน"  เป็นเยาวชนจากศูนย์เพื่อน้องหญิง อ.พาน จ.เชียงราย เป็นหนึ่งในแกนนำ RTK  

เธอ เป็นตัวอย่างชีวิตการต่อสู้ของเยาวชนที่มีคุณค่าอย่างยิ่งของสังคม ปัจจุบันที่กำลังเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ  ปัจจุบัน กำลังศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net