40 นักวิชาการ-บุคคลสาธารณะ "ไม่รับ ไม่เอา ไม่ปลื้ม รัฐธรรมนูญรัฐประหาร"

นักวิชาการและบุคคลสาธารณะ 40 คน รวมตัวไม่รับ ไม่เอา ไม่ปลื้ม รัฐธรรมนูญรัฐประหาร เรียกร้องให้นำ รธน.40 มาใช้ และจัดการเลือกตั้ง

 

ประชาไท - 1 มี.ค. 2550 วันนี้ นักวิชาการและบุคคลสาธารณะ 40 คน ซึ่งรวมตัวกันในชื่อ "ผู้ต่อต้าน รัฐประหารและไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหาร (รรร.)" เตรียมแถลงที่หน้ารัฐสภา เรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันลงมติไม่รับรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะรัฐประหาร และให้นำรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งเป็นฉบับประชาชนกลับมาใช้ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร แล้วให้สภาที่มาจากการเลือกตั้งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญโดยตรง จากนั้นจึงให้มีการเลือกตั้งกันใหม่และรัฐบาลหลังจากนั้นมาบริหารประเทศเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยให้ก้าวหน้าต่อไป

 

คำประกาศ "40 นักวิชาการและบุคคลสาธารณะ"

"ผู้ต่อต้าน รัฐประหารและไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหาร (ฉบับ รรร.)"





ที่มาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับ รัฐประหาร พ.ศ. 2550 นั้น ทำลาย หรือ สร้างสรรค์ ?

หลังจาก "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)" ได้ใช้กำลังอาวุธยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ล้มรัฐสภาและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นการปล้นประชาธิปไตยไปจากประชาชน แล้วดำเนินการปกครองโดยไม่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน แต่ทำโดยประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2549 ที่คณะรัฐประหารร่างกันเองรวมทั้งประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศและประกาศ, คำสั่งจำนวนมากที่ทำลายสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน

           

ภายใต้ระบอบการปกครองของคณะรัฐประหาร (คมช.) ที่ใช้อำนาจที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรม พยายามทำสิ่งที่เรียกว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่(รธน. 50) เพื่อมาแทนที่รัฐธรรมนูญฉบับ2540 ที่คณะรัฐประหารได้ฉีกทิ้งไป ดังนั้นที่มาของการร่าง รัฐธรรมนูญ ปี 2550 นี้ จึงมีที่มาจากการล้มล้างรัฐธรรมนูญ 40 ที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

ความไม่ชอบธรรมของคณะร่างรัฐธรรมนูญ ปี2550 ดูประหนึ่ง คมช. เสมือนทำตัวเป็นเจ้าของอธิปไตยแต่ผู้เดียวหรือเปล่า ?

ตั้งแต่เริ่มกระบวนการร่างก็แสดงให้เห็นการครอบงำของคณะรัฐประหาร กล่าวคือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) จำนวน 100 คน จาก 200 รายชื่อ ก็มาจากการคัดเลือกของคณะรัฐประหาร (คมช.) และยังเป็นผู้เสนอรายชื่อ สสร. 10 คน สุดท้าย แทรกแซงเข้าไปกับ สสร. 25 คน ที่คัดเลือกกันเองรวมเป็น 35 คน คำถามคือ สถานะของ คมช. เทียบเท่ากับอธิปไตยของประชาชนอย่างนั้นหรือ จึงสถาปนาตนเองเป็นผู้คัดเลือกตัวแทน สสร. โดยกระบวนการเหล่านี้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

ร่าง รัฐธรรมนูญ ปี 2550 นำไปสู่ ฉบับ อำมาตยาธิปไตยหลงยุค รับเหมาทำแทนประชาชนเบ็ดเสร็จ!

           

สสร.รวมทั้งกรรมาธิการยกร่างส่วนใหญ่เป็นพวกที่มาจากระบบราชการ ที่มีแนวคิดฝังแน่นอยู่กับ "อำมาตยาธิปไตย" ดูถูกประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศว่าโง่เขลาถูกชักจูงหรือซื้อหาด้วยเงินและผลประโยชน์ได้โดยง่าย คนเหล่านี้ย่อมเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อทำให้อำนาจทางการเมืองที่แท้จริงของประชาชนเสื่อมหายไปแต่ให้อำนาจของระบบข้าราชการเข้มเข็งมากยิ่งขึ้น ซึ่งแสดงออกอย่างชัดเจนในการแสดงความเห็นของ สสร. สนช. กรรมาธิการยกร่างหลายท่านที่กล่าวโดยไม่ปิดบังว่า การปกครองประเทศหลังจากนี้ต้องควบคุมโดยทหารไปอีกอย่างน้อยห้าปี นักการเมืองและพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะไม่มีบทบาทที่เข้มแข็งเพียงพอ

 

ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ย่อมต้องเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ "อำมาตยาธิปไตยที่มีแก่นแท้ให้ทหารและชนชั้นสูงเป็นใหญ่"อย่างแน่นอน ไม่มีทางที่จะเป็น "ประชาธิปไตย"

 

เฉกเช่น "ยักษ์มารไม่อาจจะให้กำเนิดทายาทเป็นมนุษย์ได้ฉันใด ระบอบเผด็จการรัฐประหารก็ย่อมไม่สามารถให้กำเนิดรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยได้ฉันนั้น"

 

ผนึกกำลัง ทวงคืน รัฐธรรมนูญ ประชาชน 2540 ร่วมกันปฏิเสธ รัฐธรรมนูญฉบับ รัฐประหาร2550

ดังนั้น 40 นักวิชาการและบุคคลสาธารณะ ผู้ต่อต้าน รัฐประหารและไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหาร (รรร.) จึงขอเรียกร้องให้ประชาชนไทยทั้งประเทศได้ช่วยกันลงมติ "ไม่รับ" รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะรัฐประหาร และให้นำรัฐธรรมนูญฉบับ2540 ฉบับประชาชนกลับมาใช้ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร แล้วให้สภาที่มาจากการเลือกตั้งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญโดยตรง จากนั้นจึงให้มีการเลือกตั้งกันใหม่และรัฐบาลหลังจากนั้นมาบริหารประเทศเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยให้ก้าวหน้าต่อไป

รัฐธรรมนูญที่ประชาชนช่วยกันร่างในบรรยากาศประชาธิปไตยย่อมต้องดีกว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างโดยพวกของคณะรัฐประหารภายใต้ปากกระบอกปืนอย่างแน่นอน

 

 

ด้วยความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย และพลังประชาชน

ประกาศ ณ หน้ารัฐสภา ถ.อู่ทองใน กทม.
1 มีนาคม 2550
www.thaisayno.com

 

ทัศนะแห่งการต่อต้าน ร่าง รธน รัฐประหาร

 

ประทีป อึ้งทรงธรรม (อดีต สว.กทม.): ยอมรับ รัฐธรรมนูญรัฐประหาร ก็คือ ยอมรับการก่อรัฐประหารอีกครั้ง

"มันมาจากกติกาที่ไม่ถูกต้อง จุดกำเนิดทางความคิดที่ตรงข้ามกับประชาธิปไตย ซ้ำเป็นการดูถูกเหยียดหยามประชาชน ถ้าเรายอมรับ รธน ฉบับนี้ ความหมายคือ เราต้องยอมรับการยึดอำนาจ โค่นล้มประชาธิปไตยไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้จบ เพื่อให้ประเทศชาติได้ก้าวไปข้างหน้า ประชาธิปไตยต้องเข็มแข็ง เราจึงต้องร่วมใจกันปฏิเสธ เพื่อป้องกันวัฐจักรที่ชั่วร้ายกลับคืนมา"

 

จรัญ โฆษณานันท์ (อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง): รธน. 50 ฉบับ ทายาทอสูร

"ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้เรียกได้ว่าเป็น ฉบับทายาทมาร เขียนขึ้นใต้กรอบรัฐธรรมนูญ 2549 ดำเนินโครงสร้างมาร ในมาตรา 32 อำนาจเป็นไปตาม คมช ถูกตัดสินโดยฝ่าย คมช. เป็นเพียงพิธีกรรม มายาการที่ถูกคณะรัฐประหารสร้างมา เป็นบทเรียนประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ ถูกทำให้อ่อนแอ กฎหมายจึงเป็นเพียงเครื่องมือของชนชั้นปกครองมากกว่าประชาชน การถ่ายทอดเจตนารมณ์เพื่อประชาชนมิสามารถทำได้ กระบวนการยกร่างถูกครอบงำทางความคิด ไม่เกิดบรรยากาศการมีส่วนร่วมของประชาชน"

 

นพ.เหวง โตจิราการ (ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตย): รธน. ฉบับ อภิชนาธิปไตย 50

" รัฐธรรมนูญฉบับนี้จัดทำโดย ระบบคิดที่ต้องการฟื้นอำนาจของ อภิชน อย่างชัดเจน สิ่งที่อันตรายที่สุดในโลกสมัยปัจจุบันซึ่งการเมืองการปกครองได้ก้าวมาไกลมากแล้ว ก็คือระบบคิดที่ยังตกค้าง เป็นซากเดนความคิดของระบบอภิชนาธิปไตย คณะรัฐประหาร หรือ กลุ่มบุคคลที่คณะรัฐประหารจัดรูปขึ้น มาร่าง รธน. เป็นพวกที่มีระบบคิดที่ดูถูกประชาชนชน เพราะคิดว่า ประชาชนเป็นพวกโง่เง่า สามารถซื้อได้ด้วยเงินทอง และผลประโยชน์ เมื่อเป็นเช่นนี้ รธน ที่เขาร่างกัน จึงเป็นเครื่องมือในการคงอำนาจการปกครองของชนชั้นสูงและผู้ได้เปรียบที่กระทำต่อประชาชนสืบต่อไป"

 

 

ประวิตร โรจนพฤกษ์ (สื่อมวลชน): คมช. ไม่ได้มีความเชื่อเรื่องกฏหมายสูงสุดจริง

"ทหารได้เข้ายึดอำนายโดยการฉีก รธน แล้วมาอ้าง มาคาดหวังให้ประชาชนยอมรับ รธน ซึ่งกำลังถูกร่างโดยกลุ่มคนที่ถูกแต่งตั้งจากทั้งทางตรงและทางอ้อมจากทหาร ย่อมเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ อีกทั้ง คมช เป็นคนฉีกรัฐธรรมนูญ (รธน 2540)ด้วยการรัฐประหาร ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมรับในหลักการมีกฏหมายสูงสุด

ตั้งแต่เริ่มแรก"

 

สมบัติ บุญงามอนงค์ (นักกิจกรรมทางสังคม) : เราต้องปิดประตูพวกรัฐประหารรุ่นต่อไป

"การลงประชามติครั้งนี้ มีนัยยะถึงการปฏิเสธการรัฐประหาร และ นี่คือวิธีการที่สันติวิธีดีที่สุดในการต่อสู้ของประชาชนที่จะแสดงให้คณะรัฐประหารชุดนี้เห็นว่า ประชาชนไม่ยอมรับวิธีการของเขา และหากผลของการลงประชามติคือไม่รับร่าง รธน นี่คือการปิดประตูให้กับนักรัฐประหารในยุคหน้า"



นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ (คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ) : รธน ที่จะลดอำนาจประชาชน

"รัฐธรรมนูญ คือ หลักคิดของการส่งเสริมประชาธิปไตย แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่สามารถนำไปสู่ประชาธิปไตยได้ เพราะกระบวนการขาดการมีส่วนร่วม และ มาจากการทำรัฐประหาร ซึ่งแนวโน้มของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือการถอยหลังลงคลอง และมันไม่ได้ลดอำนาจการเมือง เพิ่มอำนาจประชาชนหรอก แต่ตรงกันข้าม มันจะลดอำนาจประชาชน และ เพิ่มอำนาจฝ่ายการเมือง"

 

 

 

รายชื่อ 40 นักวิชาการและบุคคลสาธารณะ "ผู้ต่อต้าน รัฐประหารและไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหาร (ฉบับ รรร.)" ฉบับที่ 18 (ฉบับร่างทรงคมช.. อำมาตยาธิปไตย)

 

1.รศ.ดร.กฤษณา ไวสำรวจ             (อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง)

2.นายกุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ          (จิ้น กรรมาชน, นักดนตรี กวี ศิลปินเพื่อประชาธิปไตย)

3.นายกิตติชัย งามชัยพิสิฐ              (สถาบันต้นกล้า)

4.นายกำพล ภู่มณี                        (อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปราจีนบุรี)

5.นายเก่งกิจ กิติเรียงลาภ               (นักกิจกรรมทางสังคมพรรคแนวร่วมภาคประชาชน)

6.นางสาวจรรยา ยิ้มประเสริฐ           (คณะกรรมการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย)

7.อ.จรัญ ดิษฐาอภิชัย                    (กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ 2540)

8.รศ.จรัญ โฆษณานันท์                 (อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง)

9.รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์                       (อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

10.นางสาวจิตรา คชเดช                 (ประธานสหภาพแรงงานไทอั้ม,เลขาธิการสหพันธ์สิ่งทอ)

11.นายชาญวิทย์ จริยานุกูล            (กลุ่มกรรมกรปฏิรูป)

12..ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกุล              (ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน)

13.นางนิตยา พร้อมพอชื่นบุญ         (ผู้นำชุมชนแห่งชาติ)

14.นายบารมี ชัยรัตน์                     (ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน)

15.นางประทีป อึ้งทรงธรรม (ฮาตะ)  (อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดกรุงเทพ)

16.ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง         (อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

17.นายประวิตร โรจนพฤกษ์            (สื่อสารมวลชน)

18.นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์         (เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย สนนท.ปี2545)

19.อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์                   (อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

20.นายมานิตย์ จิตต์จันทร์ (อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฏีฏา,อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา)

21.นายวัฒน์ วรรลยางกูร                (นักคิดนักเขียน กวี ศิลปินเพื่อประชาธิปไตย)

22.ผศ.วิทยา ชินบุตร                     (อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง)

23.นายวิภู รุโจปการ                      (ภาควิชาดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยอริโซนา)

24.นายศราวุฒิ ประทุมราช              (นักปกป้องสิทธิมนุษยชน)

25.นายศิโรฒน์ คล้ามไพบูลย์          (คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐฮาวาย)

26.นายศิริชัย สิงห์ทิศ                    (ที่ปรึกษาสหพันธ์สิ่งทอ)

27.นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข        (ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน)

28.นายสมบัติ บุญงามอนงค์            (นักกิจกรรรมทางสังคมกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์)

29.รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม                 (อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

30.ศ.เกียรติคุณ น.พ.สันต์ หัตถีรัตน์ (ประธานมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย)

31.นายไสว พราหมณี                    (อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดนครราชสีมา)

32.ผศ.สุชาย ตรีรัตน์                     (อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

33.นายสุดชาย บุญไชย                 (กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ)

34.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ              (อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

35.นายสุพจน์ ด่านตระกูล               (ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์สังคม)

36.นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์       (คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ)

37.นพ.เหวง โตจิราการ                  (ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตย)

38.นายอรรณพ นิพิทเมธาวี             (Webmaster ThaiNGO.org ,นก รัตติกาล,)

39.รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์      (อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

40.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์              (อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท