ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: 1 ศตวรรษทหารกับการเมืองไทย

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

charnvitkasetsiri@yahoo.com

http://www.textbooksproject.com/

 

1.

เมื่อมีการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 ในนามของ คปค. (คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบระชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีชื่อภาษาอังกฤษในตอนแรกว่า The Council for Democratic Reform under Constitution Monarchy หรือ CDRM ต่อมาได้ตัดคำว่า Monarchy ออก) ไม่เพียงแต่นักการเมืองนักการทหาร นักสังเกตการณ์ไทยและเทศ จะ "งงงวย-ประหลาดใจ" เท่านั้น ในหมู่นักวิชาการอาจารย์ผู้สอนหนังสือด้านรัฐศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ทั่วไป ทั้งไทยและเทศ ก็ตกอยู่ในภาวะ "ตีบตัน" ทางวิชาการไม่น้อย

 

เพราะในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเหตุการณ์ "พฤษภาเลือด" (ไม่ใช่ทมิฬ) 2535 การได้ นรม. ที่มาจากการเลือกตั้ง การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ก็ทำให้เราทั้งหลายทั้งปวง คาดคิดกันว่าประเทศไทยได้ก้าวข้ามพ้นการเมืองใน "ระบอบทหาร" ไปแล้ว ไทยมี "ประชาธิปไตย" ที่ก้าวหน้าที่สุดในอุษาคเนย์ เลยหน้าฟิลิปปินส์ด้วยซ้ำไป ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นจะต้องพูดถึงพม่าที่ทหารครองเมืองมายาวนานและ "ล้าหลัง" สุดๆ ของภูมิภาคและอาเซียน

 

2.

นักวิชาการด้านไทย/อุษาคเนย์ศึกษาท่านหนึ่ง ถึงกับกล่าวว่าตำรับตำราฝรั่งว่าด้วยทหารกับการเมือง ไทยแทบไม่มีเลย และอุทานเป็นการส่วนตัวผ่านอีเมล์มาว่า I did check a few books on Thai politics in the past some years. NONE of them talk about the military!  WOW..things have changed so quickly, and suddenly changes back. นักวิชาการเทศส่วนใหญ่ได้หันไป "เล่" กับพลังหรือประเด็นใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น "โลกาภิวัตน์" "เศรษฐีใหม่" "กลุ่มทุน" "บรรษัทข้ามชาติ" หรือไม่ก็นิเวศวิทยาและการก่อการร้ายอย่าง "แม่น้ำโขง" และ/หรือ "3-4 จังหวัดภาคใต้"

 

ส่วนในแง่ตำรับตำราในภาษาไทยเอง ดูเหมือนเล่มหนักแน่นล่าสุด ก็คือ "ทหารกับการเมือง: วิเคราะห์เปรียบเทียบ" โดยมีกนลา สุขพานิช และวุฒิชัย มูลศิลป์ เป็นบรรณาธิการ 2523 ซึ่งก็เก่าแก่ถึง 1 ชั่วอายุคนไปแล้ว (คือเขียนโดยผู้ที่อาจกลายเป็น "ปู่ย่าตายาย" ของนิสิตนักศึกษาในปัจจุบัน)

 

3.

ว่าไปโดยสถิติตัวเลข การ "แทรกแซง" ของทหารในการเมืองไทย ดูเกือบจะเป็นเรื่อง "ปกติ" เสียยิ่งกว่าการมีกิจกรรมทางการเมืองอื่นๆ ด้วยซ้ำไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ "การเลือกตั้ง" "การเปลี่ยนรัฐบาล" (โดยไม่ต้องใช้กำลังอาวุธบังคับ) หากจะคำนวณจากปี 2475 ถึงปัจจุบัน (2550) ปรากการณ์ที่เรียกว่า "กบ ปฏิวัติ รัฐประหาร ปฏิรูป"  (ทั้ง "ซ้ำ" และ "ซ้อน" ซึ่งหมายความโดยรวมว่าเป็นความเปลี่ยนแปลง "ระบอบการปกครอง" หรือเปลี่ยนแปลง "รัฐบาล"  โดยใช้กองทัพและอาวุธในการยึดอำนาจ) นั้น มีถึง 23 ครั้ง คิดโดยเฉลี่ยแล้ว ก็คือ ประมาณ 3 ปีกว่าต่อ 1 ครั้ง อันเป็นผลทำให้มีรัฐธรรมนูญ (และ/หรือธรรมนูญ) ถึง17 ฉบับ ซึ่งก็เท่ากับว่าใช้ 4 ปีกว่าต่อ 1 ฉบับ นับได้ว่าอาจเป็นสถิติระดับสูงสุดของโลกก็ว่าได้

 

4.

โดยทั่วไปผู้คนมักคิดว่าทหารกับการเมืองเป็นเรื่อง "ปกติและเก่าแก่" มีมานมนานคู่กับสังคมไทย (ตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยา เพราะพระมหากษัตริย์ก็เป็นทหาร ขุนนาง ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน (ชาย) ก็เป็นทหาร) แต่ในแง่ของวิชาการทางรัฐศาสตร์/ประวัติศาสตร์แล้ว ทหารกับการเมืองอย่างที่เราพบเห็นในปัจจุบันเป็น "ปรากฏการณ์ใหม่" ที่มาหลังการปรากฏตัวของ "รัฐชาติ" (nation-state) ด้วยซ้ำไป

 

คำว่า "ระบอบทหาร" หรือ militarism ก็เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อทศวรรษ 1860s หรือ 150 ปีมานี้เอง ผู้ที่คิดคำนี้ขึ้นมาสำหรับปรากฏการณ์ใหม่นี้ ก็คือ Proudhon (1809-1865) เขาเป็นนักทฤษฏีทางสังคมฝรั่งเศส คนเขียนตำรา What is Property? เจ้าของวลีทองที่ว่า "ทรัพย์สินคือโจรกรรม" และเป็นศัตรูของ Karl Marx ดังนั้น คำว่า militarism ก็เกิดทีหลังคำว่า liberalism, socialism, หรือ communism

 

นี่เป็นปรากฏการณ์ของโลกสมัยใหม่ (modern time) ที่จะต้องมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม มีเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ มีการคิดสิ่งประดิษฐ์ที่ทันสมัย เรือกลไฟ (อเมริกาเป็นต้นคิด ค.ศ. 1807) รถไฟ (อังกฤษต้นคิด ค.ศ. 1829) โทรเลข (อเมริกา 1837) ปืน (ไรเฟิล ฝรั่งเศส 1850, ปืนโคลท์รีวอลเวอร์ อเมริกา 1851,  ปืนกล อเมริกา 1861) เหล็กกล้า (เยอรมนี 1857) ลวดหนาม (อเมริกา 1874) โทรศัพท์ (อเมริกา 1876) รถใช้น้ำมันเบนซิล (เยอรมนี 1887) เรือดำน้ำ (อเมริกา 1891) (เครื่องยนต์ดีเซล 1895) เครื่องบิน (อเมริกา 1903) รถถัง (อังกฤษ 1914) และอาวุธยุทโธปกรณ์อีกมากมาย เช่น กับระเบิด ไปจนกระทั่งสารเคมี สารพิษ และระเบิดปรมาณู

 

และที่สำคัญ คือ มีบรรษัทค้าอาวุธและผลิตอาวุธเกิดขึ้นในโลกอุตสาหกรรม กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า military industry เป็นทุนนิยมขนาดใหญ่ มีผลประโยชน์เหลือคณานับ และมีอิทธิพลสูงมากในเศรษฐกิจและการเมืองของโลกตะวันตก แต่ก็จะไม่มีในโลกเกษตรกรรม หรือโลกที่สาม เพราะความรู้เทคโนโลยี เงินทุนมีไม่ถึง ทำให้ "ระบอบทหาร" ของโลกเกษตรกรรมและโลกที่สาม (อย่างไทย) ต้องพึ่งพาจากภายนอกสูง ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อหรือรับบริจาคก็ตาม)  

 

ควบคู่ไปกับวิวัฒนาการดังกล่าว ระบอบทหารสมัยใหม่เกิดขึ้นได้ และจะต่างกับ "ทหาร" ในสมัยโบราณ (รวมทั้งของสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี/ต้นรัตนโกสินทร์) ก็คือต้องมี "กองทัพประจำ" มีการเกณฑ์ทหาร  มี "อาชีพทหาร" มี สถาบันหรือ "โรงเรียนทหาร" โดยเฉพาะที่จะทำหน้าที่เล่าเรียน ฝึกฝน ควบคุม "ระบอบ" ใหม่และถืออาวุธสมัยใหม่นี้โดยตรง

 

5.

ระบอบทหาร หรือ militarism จึงเริ่มต้นขึ้นใน "โลกเก่า" ของยุโรปตะวันตก แล้วแพร่ไปทั่วยัง "โลกใหม่" ในลาตินอเมริกา ขึ้นถึงจุดสุดยอดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังจะเห็นได้จาก "ระบอบทหาร" ในรูปลักษณ์ของ "นาซี-ฟาสซีสม์" ของเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น (ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ได้ส่งผลมายังไทยในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่จะสืบทอดต่อโดยจอมพลอีกหลายคน เช่น ผิน-สฤษดิ์-ถนอม ฯลฯ)

 

ระบอบทหาร หรือ militarism นี้ จะแพร่ต่อไปอีกทั่วประเทศต่างๆในเอเชียและอัฟริกา ซึ่งได้เอกราชในสมัยหลังสงคราม  และหลังการสิ้นสุดของลัทธิอาณานิคม และก็ขึ้นถึงจุดสุดยอดในช่วงระหว่างทศวรรษ 1950s-1970s หรือ 40ปี ที่ผ่านมา ที่ในด้านหนึ่งเป็นสมัยของการแข่งขันของ 2 ค่ายมหาอำนาจสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต อีกด้านหนึ่งเป็น "ยุคทอง" ของ military industry บรรษัทที่ผลิตและค้าอาวุธยุทโธปกรณ์

 

6.

ทีนี้หันมาดูประเทศไทยของเรา ว่าอยู่ในบริบทสากลนี้อย่างไร ในฐานะของประเทศเอกราช (หรือกึ่งเอกราช) ทางการเมือง สยาม/ไทย ก็เข้าสู่ "ระบอบทหาร" ก่อนหน้าหลายๆประเทศในเอเชียและอัฟริกา สยาม/ไทยสามารสร้าง "การทหารสมัยใหม่" ที่รวมทั้งการมีกองทัพประจำ มีอาวุธยุทธปกรณ์ (ที่ซื้อมาหรือได้รับบริจาคมา) มีโรงเรียนทหาร มีอาชีพทหาร และ "สถาบัน" ทหารมาได้กว่า 100 ปีแล้ว

 

พ.ศ. 2430/1887

รัชกาลที่ 5 สถาปนา "คาเด็ตสกูล" ซึ่งต่อมาจะวิวัฒนาการและเปลี่ยนชื่อเรื่อยมาเป็น "โรงเรียนทหารสราญรมย์" เป็น "โรงเรียนนายร้อยทหารบก" และเป็น "โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า" ในที่สุด และก็มีกองทัพประจำ ที่จะกลายมาเป็นกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

 

พ.ศ. 2448/1905

มี พ.ร.บ. เกณฑ์ทหารเป็นครั้งแรก มี "กองทัพประจำ" (standing army) อย่างประเทศของโลกสมัยใหม่

 

7.

ทหารสัญญาบัตร (ทั้งหมดเป็นชาย) คือ ทหารอาชีพที่ถูกฝึกฝเล่าเรียนให้เป็น "อาชีพ" โดยเฉพาะเหล่านี้ ได้พัฒนากลายเป็น "ระบอบใหม่" หรือ "สถาบันใหม่" อย่างรวดเร็ว และภายในระยะเวลาเพียง 24 ปี หรือ 1 ชั่วอายุคน ก็เข้ามาเกี่ยวพัน "แทรกแซง" ทางการเมือง กลายเป็น "คู่แข่ง" กับ "ระบอบเก่า" หรือ "สถาบันกษัตริย์/สมบูรณาญาสิทธิราช" ดังจะเป็นได้จากกรณีที่เราเรียกกันว่า "กบฏ ร.ศ. 130" ซึ่งเป็นความพยายามของนายทหารหนุ่มรุ่นใหม่ ที่วางแผนยึดอำนาจจากราชสำนักของรัชกาลที่ 6

 

"กบฏ ร.ศ. 130" (บางแห่งจะเรียกว่า "กบฎหมอเหล็ง") เกิดขึ้นเมื่อปี 2454 หรือ 96 ปีมาแล้ว และนี่อาจจะเป็นกลุ่มทหารที่มีอายุน้อยที่สุดและยศต่ำสุดในประวัติศาสตร์ของไทย ก็ว่าได้ เพราะหัวหน้า คือ ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) มีอายุเพียง 28 ปี มียศเป็นร้อยเอก มีบรรดาศักดิ์เป็นขุน ส่วนนายทหารอื่นๆที่ถูกจับได้เกือบ 100 คนนั้น และทั้งหมดเป็นชาย ก็มีอายุทั้งต่ำกว่า 20 ปี และสูงกว่านั้นเพียงเล็กน้อย

 

ทหารเหล่านี้ "ยึดอำนาจทำไม" คำตอบก็คือต้องการเปลี่ยนระบอบการปกครอง จาก "สมบูรณาญาสิทธิราช" หรือ absolute monarchy ให้เป็น limited monarchy หรือ "สถาบันกษัตริย์ที่มีพระราชอำนาจโดยจำกัด" ความบันดาลใจรูปแบบหรือ "โมเด็ล" ของกลุ่มนี้น่าจะเป็น "ญี่ปุ่น" ที่ประสบความสำเร็จจากการปฏิรูปเมจิ

 

8.

ความพยายามของ "กบฎ ร.ศ. 130" มาประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจ 24 มิถุนายน 2475  หรืออีก 21 ปีต่อมาโดย "คณะราษฎร" (ทั้งหมดก็เป็นชาย) ที่ก็นำโดยนายทหารบกอีกเช่นกัน มีหัวหน้า คือ พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ที่ถือว่าอาวุโสสุด มีนายทหารระดับรองทั้งอายุและยศ เช่น นายพันตรีหลวงพิบูลสงคราม (ต่อมาเป็นจอมพล ป. พิบูลสงคราม) ดยเฉลี่ยแล้วนายทหารกลุ่มนี้มีอายุประมาณกว่า 30 และนอกเหนือจากระดับนำ ที่มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเพียง 3 คนแล้วส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพียง "หลวง"

 

กล่าวได้ว่าอายุ ยศ และบรรดาศักดิ์ ขยับสูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง จาก 20 เป็น 30 และจาก "ขุน" เป็น "หลวง" ซึ่งน่าจะสะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยยุคนั้น การแข่งขันช่วงชิงกันระหว่าง "ระบอบเก่า" กับ "ระบอบใหม่" ที่คละเคล้ากันอยู่กับ "ระบอบกษัตริย์" "ระบอบทหาร" และ "ระบอบรัฐธรรมนูญ/ประชาธิปไตย"

 

อายุและยศของนายทหารที่ทำการ "ยึดอำนาจ" นี้ น่าจะเปรียบเทียบกันแต่ละรุ่นได้ อย่างเช่นในรุ่นต่อมาของ "คณะรัฐประหาร 2490" ที่นำโดยพลโทผิน ชุณหะวัณ และมีนายทหารระดับรองลงไปเป็นผู้ร่วมมือ เช่นพันเอกเผ่า ศรียานนท์ พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มีอายุโดยเฉลี่ยประมาณเกือบ 40 ปี และเป็นระดับ "พันเอก"

 

ครั้นมาถึงรุ่น "คณะปฏิวัติ" 2501 ก็เขยิบอายุและยศสูงขึ้น เป็นเกือบ 50 ปี และเป็นระดับ "นายพล"

(โดยมีหัวหน้าคณะเป็น "จอมพล" ไปแล้ว) นับได้ว่าชุดนี้มียศสูงสุดก็ว่าได้ และหากจะเทียบกับรุ่นล่าสุด คือ 2549 นี้ จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่มีอายุเกือบ 60 ปีแล้ว และมียศในระดับ "พลเอกและพลโท" หากจะใช้อายุเป็นเกณฑ์ชุด คปค. ก็น่าจะมี "อายุสูงสุด" ในประวัติศาสตร์ไทย เส้นทางเดินของนายทหารที่เข้ามายึดอำนาจหรือพยายามยึดอำนาจทางการเมืองในรอบเกือบ 100 ปี ดูจะมาจากอายุและยศต่ำสุดในรุ่นของ ร.ศ. 130 หรือ พ.ศ. 2454 จนถึงรุ่นที่อายุและยศโดยเฉลี่ยสูงสุดในปี 2549 ของ คปค.

 

9.

ทีนี้หันกลับไปดู "คณะราษฏร" ซึ่งประสบ "ความสำเร็จ" ในการยึดอำนาจ "จำกัด" บทบาทของสถาบันกษัตริย์ และนี่ก็เป็นความแตกต่างจากการยึดอำนาจโดยทั่วๆไปของทหาร คือเป็นการยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลง "การปกครอง" มากกว่าเป็นการยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลง "รัฐบาล" ดังนั้นจึงมีการใช้ศัพท์เรียกการยึดอำนาจครั้งนี้ ว่า "ปฏิวัติ" (แม้จะมีนักวิชาการจำนวนไม่น้อย เชื่อว่าไทยยังไม่เคยมี "ปฏิวัติ" ในความหมายของ revolution แต่อย่างใด ไทยมีแต่ coup แต่จะเรียกต่างๆนานาในภาษาไทยว่า "ปฏิวัติ รัฐประหาร และปฏิรูป")

 

แต่ิ่งที่ "คณะราษฏร" ทำ "ไม่สำเร็จ" คือการสถาปนา "ระบอบรัฐธรรมนูญ" และ "ประชาธิปไตย" ดังนั้นเมื่อเกิดการแตกขั้วระหว่างปีกซ้ายและขวาของ "คณะราษฏร" (ระหว่างกลุ่มพลเรือนของนายปรีดี พนมยงค์ กับกลุ่มทหารของจอมพล ป. พิบูลสงคราม) และถูกกระแทกอย่างรุนแรงจากสถานการณ์ของสงครามโลกครั้งที่ 2 และการเข้ามาใช้ดินแดนประเทศไทยของญี่ปุ่น ก็ทำให้มีการปรับขั้วของการเมืองไทยใหม่ ที่ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมและกษัตริย์นิยม สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ (ผ่านพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายควง อภัยวงศ์ และ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นผู้นำ)

 

10.

และในการ "รัฐประหาร 2490" หรืออีก 15 ปีต่อมา ก็นำมาซึ่ง "ระบอบทหาร" 2490-2500 อย่างแท้จริงและยาวนานจนฝังรากในแผ่นดินไทย  สิ้นสุดยุคของ "คณะราษฏร" และจะส่งต่อไปยังยุคอันยาวนานของ "ระบอบทหาร" ของ "คณะปฏิวัติ" (จอมพลสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส) 2501-2516

 

ภาพลักษณ์ของการเมืองไทย กลายเป็นสิ่งที่นักวิชาการเรียกว่า "วัฏจักรของความชั่วร้าย" (vicious cycle) ที่มี "ปฏวัติ รัฐประหาร ปฏิรูป" ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญ ยกเลิกการเลือกตั้ง/พรรคการเมือง "แช่แข็ง" สิทธิเสรีภาพและพัฒนาการทางการเมือง ต้องร่างรัฐธรรมนูญขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า และใช้ทั้งเวลาและงบประมาณแผ่นดินมหาศาลสุดคณานับ

 

11.

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าตั้งเป็นข้อสังเกต ก็คือ "ระบอบทหาร" ดูจะต้องยอมรับในความเป็น "ชั่วคราว" ของตนโดยลักษณะและธรรมชาติของตัวเอง ไม่มีการยึดอำนาจครั้งไหนของทหาร ที่จะบอกว่าจะอยู่ "ตลอดไป" หรือต้องการที่จะสถาปนาตนให้เป็น "ระบบหรือระบอบ" ทางการเมืองอย่าง "ถาวร" ไม่เหมือนกับ "ระบอบกษัตริย์" "ระบอบรัฐธรรมนูญ" "ระบอบประชาธิปไตย" หรือ "ระบอบสังคมนิยม" ที่มีข้ออ้างและ "วาทกรรม" ของความเป็น "ถาวร"

 

แต่ความเป็น "ชั่วคราว" ของ "ระบอบทหาร" นี้ ก็ดูเหมือนว่าจะเกือบ "ถาวร"  หรือสามารถ "ผลิตซ้ำ" ได้อย่างน่าพิศวง และนี่ก็คือการที่ทหารหรือผู้ร่วมมือต้องสร้าง "วาทกรรม" หรือ "คำอธิบาย" (ที่อาจถือได้ว่าเป็นข้ออ้าง แรงจูงใจ สิทธิธรรม หรือประชาสัมพันธ์) ที่ด้านหนึ่งเสนอว่า

 

ก.

อธิบายว่า "ทหารนำมาซึ่งความทันสมัย" หมายความ military เท่ากับ modernization ข้ออ้างนี้โดยมากจะเป็นการเสนอของนักวิชาการ "ชายเป็นส่วนใหญ่" ที่เป็นผู้ร่วมมือทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว) หรือข้ออ้างที่ว่า ทหารเป็นเครื่องประกัน "เสถียรภาพ" และ "ความมั่นคง" ประเภท security and stability หรือ law and order ดังที่เราเห็นในพม่าหรือในกรณีของ รสช. ข้ออ้างหลังนี้โดยมากจะเป็นการเสนอของฝ่ายทหาร (ชาย) เอง เช่นการอ้างภัยจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นลัทธิ "แปลกปลอม" หรือต่างชาติที่เป็นศัตรูทั้งที่เป็นจริง หรือที่เป็นอยู่ในจินตนาการ เราจะเห็นคำอธิบายทั้งสองแบบนี้ ในงานเขียนของนักวิชาการทั้งไทยและเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษ 1960s 1970s ซึ่งบุคคลเหล่านี้บางคน ก็ยังมีบทบาทอยู่ในปัจจุบัน และได้ผลิตผู้ร่วมงานรุ่นใหม่ๆ (ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นชายอยู่ แม้จะเริ่มมีหญิง) มาช่วยทุ่นแรงอีกด้วย

 

ข.

หรือ อธิบายว่า "ระบอบทหาร" เหมาะกับสังคมไทย เพราะมี "คู่" มาเป็นเวลายาวนาน ตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยา (เพราะพระมหากษัตริย์ก็เป็นทหาร ขุนนาง ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน (ชาย) ก็เป็นทหารกันทุกคน ดังที่กล่าวมาแล้ว) และยังเข้ากับระบบ "อุปถัมภ์" ของไทย เป็นอย่างดี ในอีกด้านหนึ่งก็สร้างวาทกรรมที่ว่า "ระบอบประชาธิปไตย" หรือ "ระบอบรัฐธรรมนูญ" เป็น "เทศ" ที่ผ่านมา "ใจร้อน" หรือ "ชิงสุกก่อนห่าม" (เช่นในกรณีของ "คณะราษฎร" หรือแม้แต่กรณีหลังสุดของ "รัฐประหาร/ปฏิรูป 2549" ก็มีการกล่าวโทษรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เป็นประชาธิปไตย "มากเกินไป" ทำให้เรา "หลงระเริง") ดังถ้าจะต้องเป็น "ประชาธิปไตย" เอามาก็ต้องทำให้เป็น "ไทย" เสียก่อน เป็น"ประชาธิปไตยไทย" ซึ่งก็แปลว่าต้องใช้ระยะเวลาตามที่ "ผู้ใหญ่ ผู้รู้ ผู้มีบารมี" จะเห็นสมควร จะเป็น 1 ปี หรือ 12 ปี หรือไม่มีกำหนดเวลาแน่นอนก็ตาม) และนี่ก็เป็นภารกิจหนึ่งของทหาร

 

12.

อย่างไรก็ตาม "ทหารสมัยใหม่" ที่เรารู้จักกันนั้น ในแง่การศึกษาเล่าเรียนของทหาร ประสบการณ์ชีวิตของทหาร ก็เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ การรบ การสงคราม ตลอดจนเรื่องของอาวุธยุทโธปกรณ์ ดังนั้นในการ "แทรกแซง" ทางการเมือง ทหารจึงทำเองโดยลำพังตนไม่ได้ ถ้าเราพิจารณาประวัติศาสตร์ในรอบเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา ก็จะเห็นว่าทหารจะต้องมี "ผู้ร่วมมือ/ร่วมคิด" ซึ่งน่าสนใจมากว่าส่วนใหญ่มักจะเป็น "นักกฎหมาย" หรือ "นักนิติศาสตร์" (ชายอีกนั่นแหละ)

 

ตัวอย่างเช่น ในกรณีของทหาร "กบฎ ร.ศ. 130" พ.ศ. 2454 ก็มีผู้ร่วมมือที่เป็น "ทนายความ" แม้แต่การประชุมวางแผนยึดอำนาจ ก็ทำกันที่สำนักงานทนายความ "อนุกูลคดีกิจสถาน" ข้างวังบูรพาฯ ในกรณีของ "คณะราษฏร" ก็มีนักกหมายอย่างนายปรีดี พนมยงค์เป็น "มันสมอง" ที่มีอุดมการร่วมกัน

 

และหากเราจะศึกษาของการยึดอำนาจทุกครั้ง การร่างรัฐธรรมนูญทุกครั้ง ก็จะมี "ผู้ร่วมมือ" เหล่านี้เป็นสำคัญ บางครั้งบุคคลเหล่านี้ ก็มีสถานะเท่าเทียมกับทหาร เป็นการประสานงานของนักกฎหมาย/นักรัฐศาสตร์ (บรรดาอำมาตยาธิปไตยทั้งหลายทั้งปวง) นั่นเอง

 

แต่ในบางครั้ง "นัก" ที่ไม่ใช่ "ทหาร" เหล่านี้ ก็เป็นแต่เพียง "ลูกมือ" ดังนั้นในระยะหลังๆ สถานะของ "มันสมอง" ก็จะกลายเป็นเพียง "เนติบริกร/รัฐศาสตร์บริการ" อย่างที่เห็นดาษดื่นในปัจจุบัน อันเป็นยุคหลังๆของปลาย "1 ศตวรรษทหารกับการเมืองไทย" (ชายอีกเช่นกัน)

 

13.

ข้อสังเกตประเด็นสุดท้าย ก็คือ "ระบอบทหาร" เท่ากับ "ระบอบเผด็จการ" เสมอไปหรือไม? คำตอบก็คือ "ไม่ใช่ " แต่ทว่า โดยปกติ "ระบอบทหาร" ก็มักจะถูกนำไปใช้สำหรับเสริมสร้าง "ระบอบเผด็จการ" หรือไม่ก็การรักษา "สถานภาพเดิม" (status quo) ดังที่เราจะเห็นได้ในกรณีที่สุดโต่งของเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง (รวมทั้งพม่าในปัจจุบัน) หรือในประเทศหลายประเทศในลาตินอเมริกา (ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ ชิลี และอาร์เจนตินา) รวมทั้งสเปน

 

แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในขณะเดียวกันระบอบทหาร ก็สามารถเดินไปในแนวทางที่เป็นประชาธิปไตยได้เช่นกัน เช่น ในกรณีของทหารโปรตุเกส หรือกรณีของทหารไทยในสมัยของ "กบ ร.ศ. 130" กับทหารผู้ก่อการ "2475"

หรือไม่ยิ่งไปกว่านั้น "ทหาร" ก็อาจนำความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงมาสู่สังคมในรูปของการ "ปฏิวัติ" หรือ revolution แบบถอนรากถอนโคน เช่นกองทัพ (และทหารจรยุทธ) ของจีนคอมมิวนิสต์ หรือ กองทัพของเวียดนาม

 

14.

ในปัจจุบัน ทหารไทยอาจจะมิได้อ้างหรือมีความบันดาลใจอย่างในรุ่น ร.ศ. 130 หรือปฏิวัติ 2475 อีกต่อไป และปรากฏการณ์ใหม่ของ "การสถาปนาพระราชอำนาจนำ" ขึ้นในรัชกาลปัจจุบันในช่วงทศวรรษ 1960s หรือ 40 ปีที่ผ่านมา และที่สำคัญที่สุดหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 รวมทั้งวาทกรรมในปี 2549 ของการ "ถวายคืนพระราชอำนาจ" และการเสนอใช้มาตรา 7 ของรํฐธรรมนูญ 2540 อันเป็นผลพวงของ "ปรากฏการณ์สนธิ/สนธิ"  ก็ทำให้ "ระบอบและสถาบันทหาร" ต้อง "อ้าง" และ "อิง" กับสถาบันกษัตริย์เป็นสำคัญ

 

ดังนั้น อาจสรุปได้จากการยึดอำนาจครั้งแล้วครั้งเล่าเรื่อยมา นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2490 ตลอดจนการยึดอำนาจที่ประสบความสำเร็จในการรัฐประหาร 2500 (ของจอมพลสฤษดิ์), การปฏิวัติ 2501 (ซ้ำของจอมพลสฤษดิ์), การปฏิวัติ 2514 (ซ้ำของจอมพลถนอม), การปฏิรูป 2519 (ของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ และพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์), การปฏิวัติ 2534 (ของ รสช.) และ ท้ายที่สุด การปฏิรูป 2549 (ของ คปค.) ต่างก็ต้อง "อ้าง" และ "อิง" สถาบันกษัตริย์

 

และในทางกลับกันทหารที่ไม่สามารถ "อ้าง" และ "อิง" สถาบันกษัตริย์ได้ ไม่สามารถจะสร้าง "วาทกรรม" ว่าตนเองเป็นทหาร "ของชาติและของพระมหากษัตริย์" ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจ ดังในกรณีของความพยายามใน การกบฏ 2520, การกบฏ 1 เมษา 2524 (ของทหารกลุ่มยังเติร์ก และพลเอกสันต์ จิตรปฏิมา), และการกบฏ 2528 และนี่ก็คือมิติใหม่ของการเมืองไทยที่แบ่งได้เป็น 3 เส้าของพลังใหญ่ๆ ดังนี้ คือ (1) พลังของสถาบันกษัตริย์และเครือข่าย (2) พลังของอมาตยาธิปไตยอันมีทหารเป็นผู้นำ และ (3) พลังใหม่ๆนอกระบบราชการ ที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมนับแต่ทศวรรษ 1960s ที่สลับซับซ้อน มีแขนงและสาขาต่างๆคณานับ ที่จะอยู่กับเรา ต่อสู้ขับเคี่ยวกันและกันในรูปแบบต่างๆนานา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท