Skip to main content
sharethis

 






 


ข้อมูลพื้นฐาน :


 


-          สหภาพพม่าปกครองในระบอบเผด็จการทหาร มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มากเพราะเป็นประเทศปิด


 


-          ราชอาณาจักรไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย (แบบไทยๆ) ทรัพยากรเหลือน้อย นายทุนยื้อแย่งกับชุมชนท้องถิ่นเป็นประจำ แต่เดี๋ยวนี้ชุมชนบางแห่งแข็งข้อทำให้โครงการขนาดใหญ่ดำเนินการลำบากมากขึ้น


 


-          สหภาพพม่า มีปัญหาสู้รบกันระหว่างรัฐบาลและชนกลุ่มน้อยแทบทุกพื้นที่ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงยิ่ง การมีชีวิตรอดปลอดภัยยังเป็นเรื่องยากลำบาก ฉะนั้นอย่าหวังมีปากเสียงเรื่องเขื่อน


 


-          ราชอาณาจักรไทย เน้นการพุ่งทะยานของจีดีพีแต่กลบเกลื่อนด้วยวาทกรรมเศรษฐกิจพอเพียง ใช้ไฟฟ้าสิ้นเปลือง ขณะที่หน่วยงานด้านพลังงานคำนวณว่าในอีกไม่กี่ปีไฟฟ้าจะไม่พอใช้ (มาโดยตลอด) มุ่งเป็นฮับทุกๆ ด้านรวมทั้งด้านพลังงาน ไม่สนใจพลังงานทางเลือกที่สะอาด สนใจแต่ถ่านหินและก๊าซ


 


-          ภายในปี 2573 รัฐบาลพม่าจะให้ไฟฟ้าของประเทศได้จากเขื่อนทั้งหมด 100% โดยปีหน้าพม่าวางแผนก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าอีก 24 แห่ง เน้นการส่งไฟขายให้เพื่อนบ้าน และมีเขื่อนหลายแห่งที่จะสร้างขวางแม่น้ำสาละวิน


 


-          แม่น้ำสาละวิน มีความยาวกว่า 2,800 กม. เป็นแม่น้ำที่มีทางน้ำไหลยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยยังไม่มีการสร้างเขื่อนใดๆ กั้นมาก่อน มีกลุ่มชาติพันธุ์มากมายอาศัยอยู่ริมฝั่งน้ำ  


 


-          ชาวไทใหญ่ริมฝั่งน้ำมีตำนานเล่าต่อกันมาว่า แม่น้ำสาละวินไม่ถูกกับแม่น้ำโขง หากเอาน้ำจากสองแห่งนี้มารวมกันน้ำจะกลายเป็นสีเลือด (อย่าทะลึ่งไปทำ!)


 


-          ใครงงๆ นึกภาพ "สาละวิน" ไม่ออก คลิ๊ก www.searin.org หรือ www.salweenwatch.org


 


 


ภาพโดย   พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ


 


 


 



 


 


1.กระบวนการดำเนินการขาดความโปร่งใส


 


กระบวนการตัดสินใจที่ผ่านมาทั้งหมดดำเนินไปอย่างเร่งรีบและรวบรัด ตั้งแต่การลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU) ระหว่างกระทรวงพลังงานของไทย และกระทรวงการไฟฟ้าแห่งสภาพพม่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2548


 


ความร่วมมือนี้มุ่งพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ 5 โครงการในลุ่มน้ำสาละวินและตะนาวศรีในพม่า ได้แก่


 


โครงการเขื่อนท่าซาง (7,000 MW)


โครงการเขื่อนฮัจจี (600 MW)


โครงการเขื่อนสาละวินชายแดนตอนบน (5,600 MW)


โครงการเขื่อนสาละวินชายแดนตอนล่าง (900 MW)


โครงการเขื่อนตะนาวศรี (600 MW)


 


ต่อมาในเดือนธันวาคม 2549 ก็ได้มีการลงนามบันทึกความตกลง (Memorandum of Agreement : MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการลงทุนพัฒนาและดำเนินงานโครงการเขื่อนฮัจจี (800-2,000 MW) ระหว่างบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) กับ กรมไฟฟ้าพลังน้ำของพม่า กระทรวงการไฟฟ้าแห่งสหภาพพม่า โดยระบุว่า การก่อสร้างเขื่อนนี้จะเริ่มขึ้นในปลายปี 2550


 


ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 มิถุนายม 2549 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับบริษัท Sinohydro Corporation อันเป็นรัฐวิสาหกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจการศึกษาและพัฒนาโครงการเขื่อนฮัจจี


 


กระบวนการตัดสินใจทั้งหมดนี้ไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ แม้แต่ประชาชนชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงอย่างน้อย 50 ชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่าสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นประชาชนกลุ่มแรกที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการก่อสร้างเขื่อน ยังไม่ได้รับข้อมูลแต่อย่างใด


 


 



 


2.ธรรมาภิบาลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


 


โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนฮัจจี เกิดขึ้นท่ามกลางการใช้ประโยชน์จากความเหลื่อมล้ำและช่องว่างอขงการบังคับใช้กฎหมายหลายประการ ดังนี้


 


1. สถานะของกฟผ.ขณะที่ลงนามบันทึกความตกลงร่วมกับกรมไฟฟ้าพลังน้ำของพม่าในการสร้างเขื่อนฮัจจี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2548 มีสถานะเป็นบริษัทมหาชน แต่ต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับเพื่อยุบเลิกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสถานะเป็นบริษัทมหาชนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นเหตุให้ กฟผ.คืนสู่สถานภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจดั้งเดิม


 


ดังนั้น บันทึกความตกลงร่วมฉบับนี้จะยังคงมีผลในทางกฎหมายหรือไม่ ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดในปัจจุบัน


 


 


 



 


3.การวางแผนด้านพลังงานของไทยมักคลาดเคลื่อนเกินจริง


 


ที่ผ่านมาการพยากรณ์ด้านความต้องการไฟฟ้าของไทยมีความคลาดเคลื่อนและสูงเกินจริงมาโดยตลอด เนื่องจากอิงกับการพยากรณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่มักสูงเกินจริงและไม่แน่นอนเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณากรอบการวางแผนระยะเวลา 10-15 ปี โดยการพยากรณ์ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็เกิดความผิดพลาดสูงถึง 900 เมกกะวัตต์ ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่การวางแผนระบบไฟฟ้าจะต้องมีการตรวจสอบ และต้องการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดพลาด ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่โดยไม่จำเป็น รวมถึงเขื่อนในลุ่มน้ำสาละวิน อันจะทำให้เกิดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และกลายเป็นภาระที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกรับ


 


 



 


 


4.เงินทุนสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าให้กดขี่ชนกลุ่มน้อย


 


รัฐบาลทหารพม่า เป็นรัฐบาลที่ชื่อได้ว่าสร้างปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยการกวาดล้างกลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เผาทำลายหมู่บ้าน บังคับอพยพ และสังหาร จนกลายเป็นสงครามในประเทศที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้ชนชาติพันธุ์หลายล้านคนต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ กลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศแล้วอย่างน้อย 540,000 คน และอีกจำนวนมากที่หลบหนีเข้ามาฝั่งไทยในฐานะผู้หนีภายความตาย พักอาศัยตามแหล่งพักพิงชั่วคราวตามแนวชายแดนไทยพม่า ซึ่งมีมากกว่า 140,000 คน ผู้ลี้ภัยจำนวนมากมาจากพื้นที่ที่มีการวางแผนสร้างเขื่อน ซึ่งรวมถึงเขื่อนฮัจจีด้วยเช่นกัน


 


ความร่วมมือกับรัฐบาลทหารพม่าในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนฮัจจี ด้วยมูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท จะส่งผลให้รัฐบาลทหารพม่ามีรายได้จากการขายไฟฟ้าให้แก่ประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เพิ่มขีดความสามารถทางการทหารมากขึ้นในการเข้ารุกรานพื้นที่ของชนชาติพันธุ์ต่างๆ และการปราบปรามที่รุนแรงเพิ่มขึ้น รวมทั้งจะทำให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้นตามมา


 


ประเทศไทยจะถูกกล่าวหาจากนานาชาติว่า ให้การสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่า กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้นประเทศไทยจะต้องรองรับคลื่นผู้อพยพเนื่องจากความขัดแย้งในประเทศพม่าที่นับวันจะเพิ่มจำนวนขึ้น และทำให้ผู้คนไม่สามารถกลับประเทศได้ เนื่องจากการปราบปรามที่รุนแรง และผืนดินถิ่นเกิดของชนชาติพันธุ์เหล่านี้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำจากโครงการดังกล่าว


 


รัฐบาลไทยควรหยุดการแสวงหาพลังงานไฟฟ้าในลักษณะนี้ พลังงานไฟฟ้าที่ได้มานั้นจะมีคุณค่าเสมือนหนึ่งเป็นความร่วมมือกับรัฐบาลทหารพม่า แย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติบนความทุกขเวทนาของชนชาติพันธุ์ในประเทศพม่า


 


 


5.ความเสี่ยงของการลงทุนในประเทศพม่า


 


พื้นที่สร้างเขื่อนทุกเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน ยังคงเป็นพื้นที่สู้รบระหว่างรัฐบาลทหารพม่าและกลุ่มชนชาติพันธุ์แม้แต่ที่ตั้งโครงการเขื่อนฮัจจี ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าเลือกให้เป็นเขื่อนแรกที่จะดำเนินการก่อสร้างยังคงเต็มไปด้วยระเบิดและ กฟผ. ต้องสูญเสียพนักงาน 1 คน เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2549 จากการเหยียบกับระเบิดในระหว่างการเข้าไปสำรวจพื้นที่ ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันถึงสถานการณ์ที่ไม่สงบและยังเต็มไปด้วยอันตรายในการทำงานในพื้นที่ รัฐบาลไทยไม่ควรเอาชีวิตของพนักงาน กฟผ.ไปเสี่ยงโดยไม่จำเป็นเช่นนี้


 


 



 


 


6.ความสูญเสียต่อระบบนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม


 


พื้นที่สร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่เกิดขึ้น จะสร้างความสูญเสียต่อระบบนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ได้แก่ การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ พืช สัตว์ป่า สัตว์น้ำ นก ซึ่งหายากและสำคัญต้องระบบนิเวศ การสูญเสียระบบนิเวศของแม่น้ำทั้งระบบ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงด้านธรณีวิทยา ความสูญเสียต่อระบบนิเวศวิทยาและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิตของชุมชน ทั้งที่อาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำสาละวินหรือลุ่มน้ำสาขาแล้วเท่านั้น หากยังชักนำให้เกิดการบุกรุกป่า การทำไม้ การล่าสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ป่ารอบอ่างเก็บน้ำอีกด้วย ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับทุกโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศไทย


 


ยกตัวอย่างเช่น อ่างเก็บน้ำของเขื่อนท่าซาง จะกินพื้นที่ประมาณ 800 ตารางกิโลเมตร และอ่างเก็บน้ำของเขื่อนสาละวินชายแดนตอนบน จะครอบคลุมพื้นที่ประมาณ  960 ตารางกิโลเมตร จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศป่าไม้ สัตว์ป่า ซึ่งมีสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์หลายชนิดอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ เช่น กระทิง กวางผา ชะนีคิ้วขาว ปลาเวียน หรือปลาคม อันเป็นปลาเศรษฐกิจของชุมชนในท้องถิ่น และเป็นสัญลักษณ์ของตำบลแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน นอกจากนี้ยังจะส่งผลกระทบต่อประชาชนอันเนื่องมาจากอ่างเก็บน้ำของเขื่อนทั้งสองแห่งนี้อีกอย่างน้อย 73,000 คน ทั้งในเขตประเทศไทยและพม่า


 


ในขณะที่การสร้างเขื่อนฮัจจีในประเทศพม่า ห่างจากชายแดนไทยด้าน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ลงไปประมาณ 30 กม. อ่างเก็บน้ำของเขื่อนฮัจจี จะท่วมตามแม่น้ำสาละวินขึ้นมาจนถึงพรมแดนไทย-พม่าที่บ้านสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน นอกจากนี้เขื่อนฮัจจีจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาและการทำการประมง ที่ปากแม่น้ำสาละวินในประเทศพม่าอย่างรุนแรงอีกด้วย โดยเฉพาะในเขตเมืองเมาะละแหม่ง (Moulmien) เมืองเมาะตะมะ และเมืองพะอัน (Pa-An)


 


 


 


รัฐบาลสองประเทศยังคงเดินหน้าโครงการ บริษัทที่ลงทุนยิ่งอยากให้เดินหน้าโครงการ ชาวบ้านสองฝั่งอกสั่นขวัญผวากับโครงการ ทั่วโลกร่วมกันต่อต้านโครงการ แล้วผู้บริโภคคิดยังไงกับโครงการ..!  


 


 


 


 






หมายเหตุ  -  เรียบเรียงจากจดหมายของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.พอช.เหนือ) ที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านนายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ เรื่องขอให้พิจารณาระงับความร่วมมือกับรัฐบาลพม่าเพื่อการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำสาละวิน ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net