Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในความรับรู้ของคนทั่วไป ประเทศที่ตกอยู่ในไฟสงครามมาเนิ่นนานอย่าง "เลบานอน" น่าจะเต็มไปด้วยผู้คนที่โศกเศร้า และถูกครอบงำด้วยเงาแห่งการสูญเสีย


 


แต่เมื่อภาพถ่ายของ สเปนเซอร์ แพลทท์ (Spencer Platt) ช่างภาพข่าวชาวอเมริกัน ถูกตีพิมพ์บนหน้าปกนิตยสาร TIME ในเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา และได้รับรางวัล World Press Photo Award ประจำปี 2007 ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ภาพของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางเศษซากแห่งสงครามในสายตาใครหลายคนก็เปลี่ยนแปลงไป...


 



ภาพถ่ายที่ได้รับรางวัล World Press Photo Award ประจำปี 2007


ของ "สเปนเซอร์ แพลทท์"


 


รถสปอร์ตเปิดประทุนสีแดงเป็นมันปลาบ และหนุ่มสาวที่อยู่ในวัยราวยี่สิบต้นๆ แต่งตัวทันสมัย ไม่ต่างจากหนุ่มสาวในโลกตะวันตกทั่วไปที่กล้าเปิดเผยทรวดทรง ไม่มีการสวมผ้าคลุมผมหรือนุ่งห่มเสื้อผ้ามิดชิด


 


สาวผมดำในเสื้อสายเดี่ยวยกโทรศัพท์มือถือรุ่นล่าขึ้นมาถ่ายรูปทิวทัศน์รอบตัว ในขณะที่สาวผมทองสวมแว่นตากันแดดมองออกมานอกรถ อีกหนึ่งสาวยกผ้าเช็ดหน้าขึ้นมาปิดจมูกและปากด้วยอาการของคนที่ได้กลิ่นไม่พึงประสงค์ หญิงสาวคนที่เหลือถูกบดบังจนเหลือเพียงเสี้ยวหนึ่ง ส่วนชายหนุ่มที่เป็นคนขับก็สวมแว่นดำอย่างเท่เก๋ไก๋เหมาะเจาะกับพาหนะที่ขับมา


 


ถ้าหนุ่มสาวกลุ่มนี้กำลังโฉบเฉี่ยวอยู่ในนิวยอร์คหรือลอนดอน (หรือมหานครอื่นๆ ของโลก) ภาพถ่ายของแพลทท์คงจะดูธรรมดาสามัญมาก แต่เนื่องเพราะฉากหลังของภาพนี้คือซากปรักหักพังของบ้านเรือนที่ถูกระเบิดจากอิสราเอลทำลายไปเมื่อกลางปี 2006 ความขัดแย้งระหว่างรถยนตร์คันหรูและหนุ่มสาวที่ดูฟู่ฟ่าทันสมัยกับเศษซากแห่งสงคราม จึงกลายเป็นแรงดึงดูดชั้นดีที่ทำให้ใครต่อใครต้องเพ่งมองรูปนี้ซ้ำอีกครั้งด้วยความประหลาดใจ


 


มุมหนึ่งของภาพ หญิงสวมผ้าคลุมฮิญาบกำลังก้มลงดูความเสียหายที่เกิดขึ้น ในขณะที่ชายหนุ่มในเสื้อยืดสีขาวมอมแมมหันหน้ามามองหนุ่มสาวกลุ่มนั้นด้วยใบหน้าที่ไม่แสดงอารมณ์ใดๆ


 


คงไม่มีใครเดาได้ว่าความรู้สึกของคนที่อยู่ในภาพนั้นเป็นอย่างไรบ้าง แต่ภาพถ่ายของแพลทท์ก็ทำให้ผู้คนกว่าค่อนโลกได้รับรู้ว่า ณ ดินแดนเก่าแก่ที่ไฟสงครามยังคุกรุ่น ยังมีอีกหลายแง่มุมที่เราไม่เคยเห็น...


 


เรื่องเกี่ยวกับ "เลบานอน" ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้


แม้ภาพลักษณ์ของเลบานอนจะดูเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยปัญหาและกำลังดิ้นรนพัฒนาตัวเองให้ทัดเทียมประเทศอาหรับอื่นๆ แต่หลายๆ เรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของชาวเลบานอน อาจจะดีกว่าบ้านเมืองที่อยู่ในซีกโลกอื่นด้วยซ้ำ


 


ในฐานะที่ "เลบานอน" เป็นดินแดนที่ถูกกล่าวถึงในพันธสัญญาฉบับเก่าของชาวคริสต์ถึง 75 ครั้ง คงพอจะอนุมานได้ว่าเลบานอนมีรากเหง้าที่เก่าแก่พอสมควร เริ่มจากยุคคริสตกาลที่แผ่นดินอิสราเอล ปาเลสไตน์ อียิปต์ ซีเรีย และเลบานอน ยังเชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกัน และก้าวผ่านกาลเวลาต่อจากนั้นด้วยการตกอยู่ในการปกครองของประเทศและอาณาจักรต่างๆ ถึง 16 แห่งด้วยกัน


 


อาณาจักรแรกสุดที่เข้ามายึดครองดินแดนเลบานอนคือ "อียิปต์" ตามมาด้วยอาณาจักรเก่าแก่ที่สูญสลายไปแล้วเช่น ฮิตไทต์, แอสซีเรียน, บาบิโลน, เปอร์เซีย, กองทัพของอเล็กซานเดอร์มหาราช, อาณาจักรโรมันในยุคไบแซนไทน์, อาณาจักรอาราเบีย, จักรวรรดิออตโตมัน และในโลกยุคใหม่ เลบานอนเคยถูกอังกฤษ, ฝรั่งเศส และซีเรีย ปกครองอยู่หลายปี


 


"เบรุต" ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเลบานอน เคยถูกทำลายด้วยสงครามมาแล้วถึง 7 ครั้ง แต่ก็ได้รับการบูรณะกลับมาทุกครั้ง จนนักประวัติศาสตร์หลายคนกล่าวว่าเบรุตเปรียบเสมือนนกฟีนิกซ์ในตำนาน ที่จะเกิดใหม่อีกครั้งจากเถ้าถ่านของตัวเอง


 


ศาสนาที่มีคนนับถือมากที่สุดในเลบานอนคือศาสนาอิสลาม แต่ก็ยังมีคนที่นับถือศาสนาอื่นๆ อีก ถึง 16 ศาสนา และผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายต่างๆ ก็สูงถึงร้อยละ 40 ของจำนวนประชากรทั่งหมด ถือว่าเป็นประเทศในโลกมุสลิมที่มีคริสตศาสนิกชนอยู่ร่วมด้วยมากเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งพวกเขาสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีข้อขัดแย้งอะไรรุนแรง (อาจเพราะชาวเลบานอนเกือบทุกกลุ่มมีศัตรูร่วมกันคือประเทศ "ข้างบ้าน" อย่างอิสราเอลก็เป็นได้)


 


หากข้อเท็จจริงที่น่าประหลาดใจมากกว่านั้นก็คือว่า รัฐบาลเลบานอนมาจากการเลือกตั้งทุกยุคทุกสมัย! ไม่เคยมี "รัฐบาลเผด็จการ" ใดๆ เข้าครอบครองพื้นที่ทางการเมืองมาก่อน และจำนวนประชากรเพียง 3.5 ล้านคนก็ทำให้การจัดการด้านคุณภาพชีวิตของพลเมืองทำได้ค่อนข้างจะทั่วถึง


 


ในส่วนของประชาชนชาวเลบานอนยุคใหม่ มีอัตราผู้รู้หนังสือร้อยละ 70 มีมหาวิทยาลัยกว่า 40 แห่งทั่วประเทศ และมีแพทย์ 1 คนคอยดูแลรักษาต่อคนไข้ 10 ราย ในขณะที่เมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตาอย่างสหรัฐอเมริกามีแพทย์คอยให้การรักษาในอัตรา 1 คน ต่อคนไข้ 100 ราย


 


เมื่อครั้งที่เกิดสงครามระหว่างอิสราเอลและเลบานอนในปี 2006 นอกเหนือจากสนามบินในเบรุตซึ่งเป็นเมืองหลวง ดูเหมือนว่าเมืองอื่นๆ ที่อยู่ทางตอนเหนือของเลบานอนจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากสงครามเมื่อปีกลายมากนัก แต่ที่โดนหนักสุดเห็นจะเป็นเมืองต่างๆ ที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศ เพราะดินแดนแถบนั้นคือพื้นที่ชุมนุมของกองกำลังติดอาวุธ "ฮิซบอลลาห์" (Hizballah - กองทัพแห่งพระเจ้า) ที่รวมตัวกันลุกขึ้นสู้เพื่อต่อต้านการยึดครองของทหารอิสราเอลอย่างยืดเยื้อยาวนานมากว่า 20 ปี


 


เมื่อกองกำลังฮิซบอลลาห์ครอบครองพื้นที่และจิตใจของชาวเลบานอนที่อยู่ทางตอนใต้ ดินแดนแถบนั้นก็กลายเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งที่อิสราเอลต้องการกวาดล้างให้สิ้นซาก ในขณะที่พื้นที่ทางตอนเหนือมีทั้งภูเขาสูงและพื้นที่ที่อยู่ติดทะเล ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทำเงินรายได้เข้าประเทศมากมาย


 


คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรนัก ถ้าความต่างทางเศรษฐกิจจะพลอยทำให้ผู้คนในประเทศเดียวกันมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน


 


ในขณะที่ชาวเมืองภาคเหนือและภาคกลางของเลบานอน ซึ่งเป็นเมืองตากอากาศ อาจได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงไปเนื่องจากเกิดสงคราม แต่ต้นทุนที่พวกเขามีอยู่ คงจะมากกว่าชาวเลบานอนทางใต้อีกหลายครอบครัวที่ไม่เหลือแม้แต่บ้านให้ซุกหัวนอน...


 



ผลงานอีกชิ้นหนึ่งของแพลทท์ - ช่างตัดผมกำลังให้บริการแก่ลูกค้า


ท่ามกลางความว่างเปล่าของโรงเรียนในเบรุตที่ถูกถล่มจนราบ


ในสงครามระหว่างอิสราเอล-เลบานอน เมื่อเดือนสิงหาคม 2006 (ภาพจาก Getty Images)


 


Photojournalist กับภาพที่ใช้แทนคำพูดนับพัน


ชื่อเสียงของ "สเปนเซอร์ แพลทท์" อาจจะไม่โด่งดังเทียบเท่ากับช่างภาพข่าว หรือ Photojournalist ระดับตำนานคนอื่น อาทิ โรเบิร์ต คาปา (Robert Capa), อองรี การ์ติเยร์ เบรสซง (Henry Cartier Bresson) หรือแม้แต่ช่างภาพข่าวรุ่นหลังๆ อย่าง สตีฟ แมคเคอรี (Steve McCurry) ผู้มีผลงานโด่งดังเป็นภาพถ่าย หญิงสาวผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถาน บนปกนิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟิก แต่งานของสเปนเซอร์ แพลทท์ ก็มีให้เห็นอย่างต่อเนื่องมาตลอด นับตั้งแต่ที่เขาเริ่มทำงานเป็นช่างภาพข่าวในยุค 90"s และผลงานของเขาคือส่วนผสมของเหตุการณ์ระดับปรากฏการณ์ และชีวิตประจำวันของผู้คนในแต่ละแห่ง


 


ภาพหนุ่มสาวชาวเลบานอนสมัยใหม่ที่ประกาศความหรูหราฟู่ฟ่าด้วยการแต่งกายและการใช้ชีวิตในภาพของแพลทท์ อาจจะมาจากครอบครัวชาวคริสต์ที่ไม่เคร่งครัดเรื่องการแต่งกายเท่ากับชาวมุสลิม พวกเขาจึงสามารถแต่งกายเปิดเผยได้มากกว่าหญิงสาวในชุดคลุมฮิญาบ และความยืดหยุ่นเหล่านี้ก็เลยไปถึงการตัดสินใจประกอบอาชีพด้วย


 


ในขณะที่ชาวเลบานอนที่เป็นมุสลิมไม่สามารถประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงธุรกิจอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวพันกับทางโลก และอาจจะขัดกับหลักศาสนา ชาวคริสต์หรือชาวเลบานอนที่นับถือศาสนาอื่นๆ ซึ่งไม่มีปัญหาอะไรกับการประกอบธุรกิจดังกล่าว สามารถหารายได้ให้กับครอบครัวอย่างเป็นกอบเป็นกำจากการต้อนรับและบริการนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาในเลบานอนในแต่ละปี


 


"ไม กุซซุป" จิตรกรสาวชาวเลบานอนที่เสียชีวิตหลังจากวิจารณ์ภาพถ่ายของแพลทท์ได้ไม่นานกล่าวไว้ในผลงานชิ้นสุดท้ายของเธอ ว่าหญิงสาวชาวเลบานอนซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานของเธอ และมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับหนุ่มสาวในภาพ ลงความเห็นว่าผลงานของแพลทท์ชิ้นนี้คือภาพถ่ายของชาวเลบานอนที่ตรงกับความเป็นจริงในทุกวันนี้มากที่สุด


 


ท่ามกลางภาพของชาวเลบานอนจำนวนมากที่ดูโศกเศร้า ฟูมฟาย และเป็นเหยื่อสงครามที่น่าสงสาร ในอีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ห่างกันเท่าไหร่ ชาวเลบานอนอีกเป็นจำนวนมากยังคงใช้ชีวิตต่อไปในฐานะชนชั้นกลางผู้มีอันจะกิน


 


ความแตกต่างอย่างสุดขั้วของคนสองกลุ่มในภาพถ่ายของแพลทท์ ก่อความประหลาดใจแก่ผู้ที่เห็นภาพเป็นอันดับแรก เพราะคนทั่วไปมักจะคาดไม่ถึงว่า ดินแดนเลบานอนอันบอบช้ำจะมีความทันสมัยในรูปแบบ (พิมพ์นิยม) ของโลกาภิวัฒน์รวมอยู่ด้วย


 


จากนั้น ภาพของแพลทท์จะดึงดูดให้ผู้คนรู้สึกฉงนสนเท่ห์ว่าเพราะเหตุใดหนุ่มสาวสมัยใหม่เหล่านั้นจึงพาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ซ้ำยังทำให้คนที่ดูภาพนี้อีกเป็นจำนวนมากต้องเพ่งมองดวงหน้าของคนอื่นๆ ในภาพ เพื่อพิจารณาว่าการจัดวางตัวตนของกลุ่มหนุ่มสาวในรถสปอร์ต สร้างอารมณ์หรือความรู้สึกแบบใดให้กับคนในพื้นที่ที่ดูจะมีชะตากรรมขัดแย้งกับพวกเขาอย่างยิ่ง


 


ถ้าหากภาพผู้สูญเสียจากสงครามทำให้คนที่ได้เห็นภาพรู้สึกหดหู่ ภาพของชาวเลบานอนรุ่นใหม่ที่มีปฏิกริยาแปลกแยกต่อผลลัพธ์อันโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมดินแดน (ดังเช่นสาวในกลุ่มรถสปอร์ตสีแดงคนหนึ่งยกกล้องมือถือขึ้นมาถ่ายรูปอย่างเห็นเป็นของแปลก) ก็น่าจะสร้างความสะเทือนใจให้คนดูได้ไม่แพ้กัน...


 


เพราะมันสะท้อนให้เห็นว่า ไม่รู้กี่ครั้งกี่หนที่คนเรามองผ่านความทุกข์ยากของผู้อื่น เพียงเพราะเราไม่อาจเชื่อมโยงเข้ากับพวกเขา ด้วยเหตุผลเดิมๆ ที่ว่าด้วยความต่างทางพื้นที่ ความต่างทางศาสนา และความต่างในการดำรงชีวิต เป็นข้อจำกัด


 


แม้ว่าภาพเพียงหนึ่งภาพจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติของใครได้ภายในพริบตา แต่อย่างน้อยที่สุดมันอาจทำให้เราเห็นภาพสะท้อนได้บ้างว่า - บางทีเราควรจะหันมาตั้งคำถามกับความเฉยชาของตัวเองให้มากกว่าที่เป็นอยู่...


 


หรือถ้าใครจะมองภาพถ่ายใบนี้ด้วยแว่นตาของคนมองโลกในแง่ดี หนุ่มสาวกลุ่มนี้อาจจะเป็นตัวแทนของคนอีกกลุ่มที่เข้ามาในพื้นที่ปรักหักพัง เพื่อให้ความช่วยเหลือตามกำลังที่ตัวเองมี


 


ในกรณีที่ใครหลายคนมองว่า ความขัดแย้งของคนสองกลุ่มในภาพนั้นเป็นเรื่องธรรมดาของโลกที่เต็มไปด้วยความแตกต่างและไม่เท่าเทียม-ก็คงจะไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใดอีกเช่นกัน


 


เพราะใครบางคนเคยบอกไว้ว่า "ภาพเพียงหนึ่งภาพ เปรียบได้กับคำพูดนับพัน"


 


ผลงานของแพลทท์ชิ้นนี้ก็คงเป็นหนึ่งในคำกล่าวนั้นด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net