Skip to main content
sharethis

ประชาไทภาคเหนือ แปลและเรียบเรียง


 



คณะยาตราธรรมเพื่อสันติภาพระหว่างเส้นทางจากกรุงเทพไปแม่สอด ภาพนี้ถ่ายเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2549 (ที่มาของภาพ : SHWE)


 


หลายคนที่ติดตามประชาไท คงจะเคยได้ยินข่าวพระอะชิน โสภกา (Ashin Sopaka) และคณะเดินเท้าจากกรุงเทพเมื่อวันที่ 30 มกราคมไปยังอำเภอแม่สอดเป็นระยะทางกว่า 600 กิโลเมตร เพื่อการรณรงค์ "ยาตราธรรมเพื่อสันติภาพ" เพื่อภาวนาให้เกิดสันติภาพขึ้นในโลกและพม่า (อ่านข่าวย้อนหลัง)


รวบคณะสงฆ์พม่าเพื่อสันติภาพแล้ว


อย่างไรก็ตามความหวังของพระสงฆ์คณะดังกล่าว ก็มีอันจบลง เพราะล่าสุดสำนักข่าว NMG สำนักข่าวอิสระของพม่ารายงานว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา ทหารและอาสาสมัคร (อส.) ประจำจุดตรวจบ้านห้วยหินฝน ถนนแม่สอด-อ.เมืองตาก ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งห่างจากตัวอำเภอแม่สอดประมาณ 10 กิโลเมตร ได้ควบคุมตัว พระสงฆ์ชาวพม่า 3 รูป นำโดยพระอะชิน โสภกาและผู้ประสานงานชาวไทยคือ น.ส.เขมิสรา เอกคณาสิงห์ แล้ว


 


"เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมาพบเราในเวลา 9.00 น. พวกเขาเข้าไปห้ามพระอะชิน ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อผู้อื่น ดิฉันเองก็ไม่ได้รับอนุญาตให้พูดะไร พระสงฆ์ได้นั่งลงบนถนนและทำสมาธิภาวนา จากนั้นพระสงฆ์ถูกจับขึ้นรถบรรทุกของทหารไปที่ไหนสักแห่ง ซึ่งดิฉันก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน" น.ส.เขมิสรากล่าว


 


 


"เหตุผลด้านความมั่นคง" สาเหตุจนท.ระงับการเดินสันติภาพ


เจ้าหน้าที่ดังกล่าวร้องขอให้คณะพระสงฆ์ชาวพม่าและผู้ประสานงานชาวไทยยุติกิจกรรมดังกล่าวด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงและคำสั่งจาก "เบื้องบน" ซึ่งเจ้าหน้าที่สงสัยว่าคณะที่นำโดยพระสงฆ์กลุ่มนี้จะเข้าไปสมทบกับนักศึกษาพม่าเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าในพื้นที่ อ.แม่สอด


 


การแทรกแซงการรณรงค์ "ยาตราธรรมเพื่อสันติภาพ" ครั้งนี้ แหล่งข่าวได้ให้ความเห็นกับสำนักข่าว NMG ว่า "อันที่จริงรัฐบาลไทยควรเคารพในประเด็นของสิทธิมนุษยชน เขาควรสนับสนุนสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกับที่เขาสนับสนุนสันติภาพ เขาควรพิจารณาว่าการรณรงค์ครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นผลดีต่อภาพพจน์ของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลประโยชน์ของประเทศเพื่อนบ้านด้วย"


 


พระสงฆ์ที่ร่วม "ยาตราธรรมเพื่อสันติภาพ" ได้แก่ พระอะชิน เขมะนันทา, พระชิน ติโลกา, พระเกง คะยี ถูกควบคุมตัวไปยังพื้นที่พักพิงบ้านนุโพ และบ้านอุมเปียง ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก ส่วนผู้ประสานงานคนไทยได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากมีบัตรประจำตัวประชาชนไทย โดย น.ส.เขมิสรา กล่าวว่า การเดินทางของคณะ เนื่องจากเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ ไม่ต้องการให้คนในโลกนี้ฆ่าฟันกัน และขอให้มีเมตตาต่อกัน


 


ทั้งนี้คณะสงฆ์ดังกล่าวแผนที่จะไปสวดมนต์ภาวนาที่สะพานมิตรภาพไทย-พม่า ที่เชื่อมระหว่าง อ.แม่สอด กับเมืองเมียวดีของพม่า ในวันที่ 2 มีนาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบ 45 ปีของระบอบเผด็จการทหารในพม่า ส่วนที่เริ่มเดินภาวนาในวันที่ 30 มกราคมนั้น พระอะชิน โสภกาให้เหตุผลว่าเพื่อยกย่องมหาตมะ คานธี ผู้เป็นประกาศกของแนวทางการต่อสู้แบบสันติวิธีและเพื่อรำลึกถึงการเสียของท่าน ทั้งนี้มหาตมะ คานธีถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 30 มกราคม ปี 2491


 


โดยพระอะชิน โสภกาเคยเดินเท้าจากเมืองโคโลญจ์ ในวันที่ 8 สิงหาคม ไปถึงเบอร์ลินในเยอรมนีโดยใช้เวลา 31 วัน เพื่อภาวนาให้สันติภาพบังเกิดแก่โลกและประเทศพม่ามาแล้ว


 


 


อดอาหารสนับสนุน "ยาตราธรรมเพื่อสันติ"


ก่อนหน้าที่คณะของพระอะชินจะถูกควบคุมตัวนั้น เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นายถั่นซิน (Thant Zin) สมาชิกองค์กรประชาสังคมที่ทำงานด้านสุขภาพและการศึกษาของแรงงานข้ามชาติชาวพม่า เริ่มต้นอดอาหารภาวนาในวัดหลวง ซึ่งเป็นวัดนิกายพม่าใน อ.แม่สอด เพื่อสนับสนุนการณรงค์ที่เรียกว่าการ "ยาตราธรรมเพื่อสันติภาพ" ของพระสงฆ์ชาวพม่ากลุ่มนี้ด้วย


 


โดยในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ก็ได้มีพระสงฆ์พม่า 2 รูป และชาวพม่า 7 คนร่วมอดอาหารกับนายถั่นซินด้วย


 


นายถั่นซินกล่าวว่า "ผมเชื่อว่าพระสงฆ์ชาวพม่าที่เดินเพื่อสันติภาพมีความประสงค์เช่นเดียวกับที่ชาวพม่าต้องการ ผมจึงมาที่นี่เพื่ออดอาหารแสดงความสนับสนุนท่าน" ทั้งนี้เขาอดอาหารเพื่อประท้วงรัฐบาลทหารพม่าและเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมดรวมทั้งนางออง ซาน ซูจี อดีตหัวหน้าพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตยแห่งพม่าหรือเอ็นแอลดี


 


นายถั่นซินกล่าวอีกว่าเขาอดอาหารครั้งนี้เพื่อให้ชาวแม่สอดสนับสนุนการรณรงค์ "ยาตราธรรมเพื่อสันติภาพ" และเพื่อที่ตนเองจะได้อุทิศตัวเองเพื่อการยุติเผด็จการทหารในพม่า โดยนายถั่นซินตั้งใจจะอดอาหารประท้วงให้ถึงวันที่ 2 มีนาคม ซึ่งตามกำหนดเป็นวันที่คณะสงฆ์ดังกล่าวจะไปถึงสะพานมิตรภาพไทย-พม่า เพื่อสวดมนต์ภาวนา


 


"ผมจะตั้งจิตสงบจนกว่ารัฐบาลทหารพม่าจะรับทราบในวัตถุประสงค์ของพระสงฆ์เหล่านั้น" เขากล่าว


 


ปลัดแม่สอดบุกจับ 10 ราย ชาวพม่าโวยจนท.ขวางสันติวิธี


อย่างไรก็ตามคณะชาวพม่าที่อดอาหารในวัดหลวง ก็ไม่สามารถอดอาหารได้จนถึงวันที่ 2 มีนาคมตามที่ได้ตั้งใจไว้ โดยพวกเขาถูกเจ้าหน้าที่ของไทยจับเมื่อเวลา 11.00 น. ของวันที่ 27 ก.พ. หลังจากที่เจ้าหน้าที่ในวัด 3 คนไปแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ  ซึ่งนายนิชาญ ชัยเศรษฐสัมพันธ์ ปลัดฝ่ายความมั่นคงอำเภอแม่สอด ได้นำอาสาสมัครจังหวัดตากประมาณ 30 คนพร้อมอาวุธครบมือเข้าจับกุมชาวพม่าทั้ง 10 คน โดยเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลการจับกุมว่าเพราะพวกเขาออกมาเคลื่อนไหวประท้วงนอกศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบ


 


นางเทเทวิน อายุ 48 ปี หนึ่งในผู้อดข้าวประท้วงให้สัมภาษณ์กับว่า "ตำรวจเข้ามาจับกุมพวกเราและพาไปสถานีตำรวจ พวกเขาขัดขวางการประท้วงโดยสันติวิธี"


 


จากนั้นพวกเขาถูกนำตัวไปสอบปากคำที่ สภ.อ.แม่สอด ทราบว่าถือหนังสือรับรองสถานภาพผู้ลี้ภัยทางการเมืองของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) 8 คน อีก 2 คนไม่มีเอกสาร โดยทั้ง 10 คน ออกมาจากพื้นที่พักพิงบ้านอุ้มเปี้ยม ต.คีรีราษฎร์ อ.พบพระ จ.ตาก



 


แจงอดอาหารประท้วงเผด็จการพม่า ไม่ใช่รัฐบาลไทย


นางเทเทวิน ยังกล่าวว่า การอดอาหารดังกล่าวไม่ได้ประท้วงรัฐบาลไทยและประเทศไทย และเป็นการรณรงค์โดยสันติเพื่อต้องการให้ พล.อ.อาวุโสตานฉ่วยทราบว่าชาวพม่าไม่พอใจการปกครองแบบเผด็จการและขอให้ปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมด


 


โดยชาวพม่า 8 คนได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากมีเอกสารประจำตัวผู้ลี้ภัย ส่วนอีก 2 คนที่ไม่มีเอกสารประจำตัวผู้ลี้ภัยได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา เนื่องจาก 8 คนแรกขู่ว่าจะประท้วงหน้าสถานที่ควบคุมตัวคนทั้งสองนั้น และพวกเขายังกล่าวว่าจะยุติการณรงค์จนกว่าคนที่เหลือจะได้รับการปล่อยตัว นายอูมวยโกว สมาชิกคณะกรรมการรณรงค์เพื่อกิจการพม่า (JACBA) กล่าว


 


"พวกเขาถูกจับเพราะความเข้าใจผิด พวกเขาถือป้ายเป็นภาษาอังกฤษ ไทย และพม่าอย่างสงบ เพื่อสนับสนุนการณรงค์ "ยาตราธรรมเพื่อสันติภาพ" หลังจากถูกควบคุมตัวได้ 30 นาที พวกเขาก็ถูกปล่อยตัว" นายอูมวยโกวกล่าว


 


พระอะชิน เขมะนันทา หนึ่งในคณะสงฆ์ที่เดินเท้าเพื่อสันติภาพ ให้สัมภาษณ์ว่า "อาตมาต้องการถามรัฐบาลไทยว่าในเมื่อรัฐบาลเองก็ต้องการให้เกิดสันติภาพ ทำไมจึงห้ามการอดอาหารของนักกิจกรรมเหล่านั้นซึ่งพวกเขาทำไปเพื่อสนับสนุนการรณรงค์ "ยาตราธรรมเพื่อสันติภาพ" ของพวกอาตมา จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยพิจารณาให้ดี เพราะการรณรงค์ของพวกเรากระทำโดยสันติวิธี"


 


 


ชาวพม่าปูดถูก จนท.ซ้อม แกนนำอดอาหารประท้วงต่อในค่าย


โดยนักกิจกรรมกล่าวกับสำนักข่าว NMG ว่าได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจซ้อม "ซิตูอ่อง หนึ่งในกลุ่มของพวกเราถูกซ้อม และลูกของเขาถูกตีและขังไว้ในรถ เมื่อพวกเราไปถึงค่าย ตรงที่ประตูค่ายซิดยันหน่อง และซอมวยถูกเจ้าหน้าที่ดูแลค่ายชก" แหล่งข่าวกล่าว


 


 "พวกเรารณรงค์อย่างสันติวิธี แต่ตอนนี้ถูกส่งกลับค่ายผู้ลี้ภัย สิทธิของพวกเราถูกละเมิดแถมลูกๆ ของพวกเราถูกทำร้ายที่ค่าย" นางเทเทวินกล่าว


 


นายถั่นซิน แกนนำการอดอาหาร ได้เริ่มต้นการอดอาหารและน้ำดื่มหลังถูกส่งกลับค่ายผู้ลี้ภัย ด้านนักกิจกรรมคนอื่นๆ ได้คืนบัตรประจำตัวผู้ลี้ภัยของ UNHCR (สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ) และเริ่มต้นการประท้วงเช่นกัน


 


 


ผู้ว่าฯสั่งจัดการเฉียบกลุ่มต้าน รบ.พม่า แต่ไม่วายมีคนใจกล้าชูป้ายหน้าด่าน


ทั้งนี้ นายชุมพร พลรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก มีคำสั่งให้ดำเนินการกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลพม่า เพราะเคยถูกจับกุมมาแล้ว แต่เมื่อปล่อยตัวมาแล้วกลับมาเคลื่อนไหวอีก โดยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นายชุมพร พลรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ประชุมร่วมกับฝ่ายทหาร ที่ห้องประชุมหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 17 อ.แม่สอด เพื่อวางมาตรการป้องกันไม่ให้ผู้ลี้ภัยทางการเมืองพม่าออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลพม่าใน อ.แม่สอด


 


อย่างไรก็ตามในวันเดียวกันนั้นเอง ก็ยังมีชาวต่างชาติ 8 คนถือโปสเตอร์และป้ายประท้วงรัฐบาลพม่า ณ ด่านพรมแดนไทย - พม่า เชิงสะพานมิตรภาพไทย - พม่า บ้านริมเมย ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จ.ตาก ได้แจกจ่ายโปสเตอร์ที่มีข้อความต้านการสร้างเขื่อนสาละวิน โดยมีทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 17 อำเภอแม่สอด และตำรวจ สภ.อ.แม่สอด ยืนดูสถานการณ์ห่างๆ และต่อมาทหารได้ขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมสลายตัว (อ่านข่าวย้อนหลัง)


 


 


ล่าสุดบุกรวบนักศึกษา-นักกิจกรรมพม่า 18 คน วานนี้!


และล่าสุดเมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ (2 มีนาคม) นายสุชาติ สุวรรณกาด นายอำเภอแม่สอด จ.ตาก พร้อมด้วยกำลัง อส.อำเภอแม่สอด ร่วมกับกำลังทหารจากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 17 อำเภอแม่สอด ควบคุมตัวนักกิจกรรมทางสังคมและนักศึกษาพม่า จำนวน 18 คนแยกเป็นชาย 16 คน หญิง 2 คน บริเวณบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านถุงทอง เขตเทศบาลเมืองแม่สอด


 


โดยเจ้าหน้าที่ได้ยึดเอกสาร และสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมทั้งธงตรารูปนกยุงของพรรคเอ็นแอลดี และธงติดดาว ทั้งหมด 6 ผืน นอกจากนี้กลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมืองพม่ายังมีบัตรสมาชิกกลุ่มพรรคเอ็นแอลดี เกือบทุกคน


 


โดยระหว่างการจับกุม นายสุชาติ ได้อธิบายเป็นภาษาอังกฤษชี้แจงแก่ผู้ลี้ภัยทางการเมืองว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก กลุ่มผู้ลี้ภัยพม่าจะเคลื่อนไหวใดๆไม่ได้เด็ดขาด


 


รายงานข่าวแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลพม่าทั้งหมดไปสอบปากคำที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 17 และขณะเดียวกับฝ่ายทหารยังได้ตั้งจุดตรวจเพื่อสกัดกั้นไม่ให้กลุ่มนักการเมืองพม่าไปเคลื่อนไหวบริเวณสะพานมิตรภาพไทย - พม่า


 


ด้านพระอะชิน โสภกาที่ถูกควบคุมตัวที่แม่สอดนั้นนั้น มีรายงานแจ้งว่าหากพระอะชินได้รับการปล่อยตัวกลับสู่กรุงเทพมหานคร ท่านจะเริ่มกิจกรรมรณรงค์ด้วยการทำสมาธิที่หน้าสถานทูตพม่า


 


ข้อมูลประกอบ


Thai police interrogate eight on hunger strike, NMG (February 27, 2007)


Hunger strike in Mae Sot to support peace walk, NMG (February 21, 2007)


Demonstrators on hunger strike sent back to camp, NMG (February 28, 2007)


Walk for peace" campaign stopped by Thai authorities, NMG (March 01, 2007)


 


ข่าวประชาไทย้อนหลัง


ค้านเขื่อนสาละวิน 19 เมืองทั่วโลก ต่างชาติแจมประท้วงที่แม่สอด, ประชาไท, 3/3/50

4 ภิกษุพม่าจาริก กรุงเทพ - แม่สอดเพื่อสันติภาพ, ประชาไท, 30/1/2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net