ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องเก็บภาษีมรดกอัตราก้าวหน้าแล้ว

เมธา มาสขาว

 

 

ได้ยินว่าอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอให้เก็บภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า..เห็นด้วย 100% ครับ เพราะอะไร?..

 

ประเทศไทยขึ้นชื่อว่ามีรถเบนซ์มากที่สุดในโลกนะครับ ขณะเดียวกันเป็นประเทศที่ถูกจัดอันดับว่ามีการกระจายรายได้แย่ที่สุดเป็นอันดับ 1 ใน 5 ของโลกเช่นกัน ท่านเชื่อหรือไม่?

 

รองๆ จากเม็กซิโก อาเจนติน่า และโคลัมเบีย เท่านั้นเอง..

 

TDRI ทำวิจัยเมื่อปี 2543-2544 บอกว่ามีคนจน(จนถาวร) รายได้ต่ำกว่า 1,000 บาท ต่อเดือน ราว 10 ล้านคน (1 ใน 6) อันนี้ก็รันทดแล้ว

 

แต่เขาบอกว่าคนไทยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 3,407 บาทต่อเดือน และคนประมาณ 70% มีรายได้อยู่ใต้เส้นเฉลี่ย (ก็ประมาณอย่างน้อย 42 ล้านคน) ขณะที่คน 20% ข้างบนมีรายได้ทรัพย์สินเกินครึ่งหนึ่งของทรัพย์สินรวมของประเทศ..

 

เกิดอะไรขึ้น จนเกิดความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำทางสังคมถึงเพียงนี้...

 

ก็นับแต่ประเทศไทยเดินตามนโยบายอเมริกาและธนาคารโลก เมื่อปี 2504 เป็นต้นมานั่นแหละครับ เดินตามนโยบายทุนนิยมเสรี ระบบทุนนิยมคืออะไร.. มันก็คือการหาคำตอบ ทางรอดและกำไรของคนบนเรือ เรื่องนี้พูดกันมานานแล้ว เรือทุนนิยมมันพูดถึงการดำรงอยู่และการอยู่รอดของคนบนเรือเท่านั้น ซึ่งเป็นชนชั้นกลางและชนชั้นนำทางสังคม แต่มันไม่ได้พูดถึงคนในใต้ท้องเรือ ซึ่งเป็นกรรมกร ผู้ใช้แรงงานผู้ซึ่งคอยเติมเชื้อฟืนให้เรือทุนนิยมลอยล่องท่องต่อไปได้..

 

นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมรัฐไม่เคยยอมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ..ตามข้อเสนอของเครือข่ายแรงงาน..เพราะเดี๋ยวนายทุนมันจะอยู่ไม่ได้... กำไรของระบบมันจะน้อยลง

 

หลัง 14 ตุลาคม 2516 มีการเรียกร้องประชาธิปไตยทางการเมืองมากขึ้น สิทธิเสรีภาพของประชาชนงอกงามขึ้น แต่จนวันนี้ 30 กว่าปี สิ่งที่เหลื่อมล้ำต่ำสูง และยังไม่ได้รับความเป็นธรรม คือการสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ

 

คำตอบหนึ่งของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้คือ การเก็บภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า!!

 

ประเทศไทยเคยเก็บภาษีนี้เมื่อสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม..แต่ยกเลิกไปเมื่อใช้ไม่ถึง 10 ปี.. เพราะแรงต้านทานจากเจ้าที่ดินต่างๆ

 

ภาษีมรดกแม้จะเก็บได้น้อยแต่มันไม่ได้เน้นรายได้ มันเน้นความเป็นธรรมในสังคม.. เพราะอะไรครับ..

 

ทุกวันนี้ประเทศไทยเก็บภาษีทางตรงแค่ 30% แต่ภาษีทางอ้อมถึง 70% ซึ่งกระจายในสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

 

ขณะที่ประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ คนรวยจ่ายค่าเล่าเรียนมากกว่าคนจนเพื่อส่งลูกเรียนในโรงเรียนเดียวกัน

เพียงเพื่อต้องการให้ลูก มีสังคม!!

 

เพื่อนำรายได้ที่โรงเรียนได้ไปพัฒนาโรงเรียน เพื่อนำภาษีที่คนรวยจ่ายมากกว่าไปพัฒนาสังคม

 

เพราะความร่ำรวยไม่ได้รวยมาจากสุญญากาศนี่ครับ การลงทุนเป็นนิติบุคคลกระทั่งการรับสัมปทานก็ล้วนมาจากการเป็นหุ้นส่วนและการรับรองฐานะจากรัฐ

 

ให้ธุรกิจนั้นสามารถสร้างกำไร ดำรงอยู่และปลอดภัย...

 

แต่ทุกวันนี้ ธุรกิจเหล่านั้นจ่ายคืนกำไรสู่สังคมน้อยเต็มที ถ้ายังไม่ได้พูดถึงค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่เขายังไม่เคยตีราคาค่าที่ต้องจ่ายแล้ว

อย่าพูดถึงค่าเสียหายทางสังคมที่กลุ่มทุน ธุรกิจไม่เคยคิดที่จะต้องจ่ายเลยครับ

 

และการเก็บภาษีมรดกก็คือการเก็บค่าส่วนเกินที่ปลายทางนั่นเอง...

 

เมื่อคนที่สร้างมูลค่าต้องล้มตายหายหน้าไป การที่ลูกหลานได้รับมรดกจากธุรกิจแล้วไม่ได้จ่ายภาษีคืนให้รัฐนั้นดูไม่เป็นธรรมเอาเสียเลย และในแง่ทุนนิยมเองมันทำให้ลูกหลานไม่ยอมขวนขวายสร้างการผลิต

สร้างมูลค่าจากการทำงานเท่าใดนัก เพราะรอคอยแต่มรดกแต่เพียงอย่างเดียว..

 

ท่านรู้หรือไม่  ปัจจุบันมีประเทศต่างๆ จัดเก็บภาษีมรดกในรูปแบบต่างๆ กันจำนวนมากกว่า 53 ประเทศ ทั่วโลก จำแนกเป็น

 

-          ทวีปเอเชีย 7 ประเทศ ประกอบด้วย อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และ นิวซีแลนด์

 

-          ทวีปแอฟริกา 7 ประเทศ ประกอบด้วย แคเมอรูน คองโก โมร็อกโก โมซัมบิก เซเนกัล แอฟริกาใต้ และ แทนซาเนีย

 

-          ทวีปยุโรป 28 ประเทศ ประกอบด้วยกลุ่ม EU ทั้งหมด ยุโรปตะวันออกซี่งอยู่ในสนธิสัญญาวอร์ซอเดิม โดยสรุปแล้วเกือบทุกประเทศในทวีปยุโรปมีการจักเก็บภาษีมรดก

 

-          ทวีปอเมริกา 11 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา บราซิล ชิลี โคลัมเบีย โดมินิกัน เอกวาดอร์ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส เม็กซิโก โปโตริโก และเวเนซุเอลา

 

สำหรับรูปแบบการจัดเก็บภาษีมรดกของประเทศข้างต้น จำแนกเป็น

 

(1)    การจัดเก็บในรูปภาษีกองมรดก (Estate Tax) และภาษีการให้ที่เก็บจากผู้ให้ (Donor's Tax)จำนวน 13 ประเทศ

 

(2)    การจัดเก็บในรูปภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) และภาษีการให้ที่เก็บจากผู้รับ (Doneer's Tax) จำนวน 36 ประเทศ

 

(3)    การจัดเก็บภาษีมรดกในรูปแบบเดียว เช่น

 

-          ภาษีการให้ (Gift Tax) 2 ประเทศ

 

-          ภาษีกองมรดก (Estate Tax) 2 ประเทศ

 

ท่านรู้หรือไม่ว่าประเทศทุนนิยมใหญ่ๆ ทั่วโลกมีการเก็บภาษีมรดกกันเกือบหมด นั่นรวมถึงอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป(EU)เกือบทั้งหมด

 

ตัวอย่างการจัดเก็บภาษีมรดกในต่างประเทศ มีดังนี้

 

1. สหรัฐอเมริกา

ระบบการเก็บภาษีมรดกในประเทศสหรัฐอเมริกา อาจจำแนกออกเป็น 3 ระดับ คือ

 

(1)    ระดับรัฐบาลกลาง จัดเก็บภาษีกองมรดก โดยเก็บจากทรัพย์สินและผลประโยชน์ที่เป็นของกองมรดก

 

(2)    ระดับรัฐบาลมลรัฐ จัดเก็บภาษีกองมรดก เก็บคล้ายคลึงกันทุกรัฐ ส่วนมากเก็บจากทรัพย์สินของผู้ตาย

 

(3)    ระดับท้องถิ่น จัดเก็บภาษีการรับมรดก เก็บแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละรัฐ

 

ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบฯ และชำระภาษี คือ ผู้รับมรดกหรือผู้ได้รับทรัพย์จากพินัยกรรม โดยปฏิบัติเช่นเดียวกับการยื่นแบบฯเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้มีการหักค่าลดหย่อนได้ เช่น คนโสด ส่วนอัตราภาษีคิดตามราคาทรัพย์สินอย่างต่ำร้อยละ 3 ถึงสูงสุดร้อยละ 77

 

2. อังกฤษ

 

จัดเก็บภาษีกองมรดก จากทรัพย์ที่ตกทอดมาเนื่องจากเจ้าของทรัพย์ถึงแก่ความตาย วิธีการเก็บเรียกเก็บแบบอัตราภาษีก้าวหน้าตามมูลค่าของทรัพย์สินนั้น มีตั้งแต่ร้อยละ 1 - 80 มรดกที่ต้องเสียภาษี คือ

 

(1)    ทรัพย์สินทั้งหมดภายในประเทศอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ และไม่คำนึงว่าผู้ใดจะเป็นผู้รับ

 

(2)    ทรัพย์สินที่อยู่นอกประเทศอังกฤษ และทรัพย์สินนั้นตกทอดมายังผู้รังซึ่งอยู่ในประเทศอังกฤษ

 

การตีราคามูลค่าของทรัพย์สินเพื่อเสียภาษีให้ถือเอาวันขายในวันที่เจ้าของเดิมถึงแก่ความตายเป็นเกณฑ์

ในทางปฏิบัติ ให้ถือราคาของทรัพย์สินที่ขายในครั้งหลังสุด เป็นราคาที่ถูกต้อง

 

การหักค่าใช้จ่าย

 

(1)    ค่าใช้จ่ายในการฌาปนกิจศพ

 

(2)    หนี้สิน

 

(3)    ถ้าทรัพย์สินอยู่ในต่างประเทศก็ให้หักค่าจัดการร้อยละ 5

 

(4)    เครดิตภาษีต่างประเทศ

 

การยกเว้นและการลดหย่อน

 

(1)    ทรัพย์สินที่เป็นมรดกมีมูลค่าไม่ถึงตามจำนวนที่กำหนดไว้

 

(2)    ที่ดินและโรงเรือนซึ่งใช้ในทางอุตสาหกรรม พืช เครื่องจักร เครื่องมือ และทรัพย์สินในทางเกษตรกรรม ให้หักลดหย่อนได้ร้อยละ 45

 

(3)    ทรัพย์สินเพื่อประกอบธุรกิจการค้าและที่ดินซึ่งเสียภาษีมรดกติดๆ กัน 2 ครั้งเพราะเจ้าของมรดกถึงแก่กรรมถึง 2 ราย ติดๆกันในระยะเวลา 5 ปี ได้รับการลดหย่อนพิเศษ

 

(4)    มรดกที่มีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และทางศิลปะของชาติได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ถ้าเก็บไว้ในประเทศอังกฤษและอยู่ในการควบคุมดูแลของกระทรวงการคลัง

 

(5)    หลักทรัพย์ของประเทศอังกฤษบางประเภท ซึ่งผู้ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในอังกฤษเป็นเจ้าของ ก็ได้รับการยกเว้น

 

3. ญี่ปุ่น

 

เริ่มจัดเก็บภาษีมรดกปี 2485 โดยเป็นการจัดเก็บภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) โดยมีโครงสร้างการจัดเก็บดังนี้

 

(1)  ผู้เสียภาษี ได้แก่ ผู้ที่ได้รับมรดกซึ่งอาศัยในญี่ปุ่นหรืออยู่ในต่างประเทศ แต่ได้รับมรดกซึ่งอยู่ในญี่ปุ่น

 

(2)  ฐานภาษี ได้แก่ ราคาตลาดของทรัพย์สินมรดก รวมทั้งทรัพย์สินที่ได้รับภายใน 3 ปี ก่อนเจ้ามรดกตาย โดยนำมาหักค่าใช้จ่าย ได้แก่ หนี้สิน ค้าใช้จ่ายในการจัดงานศพ และค่าลดหย่อนตามกำหนด

 

(3)  ทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นภาษีมรดก มีดังนี้

 

-          ทรัพย์สินเกี่ยวข้องกับศาสนา การกุศล วิทยาศาสตร์ หรือกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ

 

-          เงินที่จ่ายเพื่อช่วยเหลือคนพิการ

 

-          เงินที่ได้รับจากการประกันชีวิต

 

-          เงินบำเหน็จบำนาญ

 

(4) อัตราภาษี เป็นอัตราก้าวหน้าตามมูลค่ามรดกที่ได้รับอัตราตั้งแต่ 10% ถึง 70%

 

(5) การยื่นแบบฯ และการชำระภาษี

 

ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมรดกยื่นแบบแสดงรายการภายใน 6 เดือน นับแต่วันได้รับมรดก ส่วนการชำระภาษีให้ชำระในวันที่ยื่นแบบ

 

4. ฝรั่งเศส

 

จัดเก็บภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax)

 

(1) ผู้เสียภาษี ได้แก่ ผู้รับมรดกซึ่งได้รับมรดกจากผู้ตาย ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในฝรั่งเศสหรือไม่มีถิ่นที่อยู่ในฝรั่งเศสแต่มีมรดกในฝรั่งเศส

 

(2) ฐานภาษี ได้แก่ มรดกสุทธิโดยนำทรัพย์สินมรดกหักด้วยหนี้สิน หรือค่าใช้จ่ายรวมทั้งลดหย่อนสำหรับคู่สมรส บุตร บุพการี ผู้อื่น

 

(3)  ทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นภาษี ได้แก่

 

-          เงินค่าสินไหมทดแทนจากสัญญาประกันชีวิต

 

-          ทรัพย์สินท้องถิ่นที่ให้เช่าระยะยาวและส่วนแบ่งที่ดินเพื่อการเกษตร

 

-          ศิลปะวัตถุ ที่มอบให้กับรัฐบาล

 

-          เงินบำนาญ

 

-          เงินบริจาคให้ราชการ องค์การปกครองท้องถิ่น สถาบันการศึกษา

 

(4) อัตราภาษี ขึ้นอยู่กับความใกล้ชิดกับผู้ตาย ดังนี้

 

-          ถ้าเป็นคู่สมรส บุพการี บุตร จะเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า 5 - 40%

 

-          ถ้าเป็นพี่น้อง เสียภาษีในอัตรา 35% และอัตรา 45% ตามขั้นของมูลค่าทรัพย์มรดก

 

-          ผู้รับเป็นญาติสนิท จะเสียภาษีในอัตรา 55%

 

-          ผู้รับเป็นผู้อื่น เสียภาษีในอัตรา 60%

 

5. ประเทศสิงคโปร์

 

            จัดเก็บภาษีการรับมรดก(Inheritance Tax)

 

(1) ผู้เสียภาษี ได้แก่ ผู้รับมรดกที่อาศัยในสิงคโปร์ หรืออาศัยอยู่ในต่างประเทศ แต่รับมรดกที่อยู่สิงคโปร์

 

(2) ฐานภาษี ได้แก่ ราคาตลาดของทรัพย์สินไม่ว่าจะอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศกรณีผู้ตายอาศัยอยู่ในสิงคโปร์ ถ้าอยู่ต่างประเทศจะเป็นเฉพาะทรัพย์สินที่อยู่ในสิงคโปร์

 

(3) อัตราภาษี อัตราร้อยละ 5 สำหรับทรัพย์สินที่เป็นฐานภาษีที่ไม่เกิน 10 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ถ้าเกินกว่านี้จะเป็นอัตราร้อยละ 10

 

(4) ทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้นภาษี มีดังนี้

 

-          มูลค่าของที่อยู่อาศัยส่วนที่มีเกินกำหนด(3 ล้านเหรียญสิงคโปร์)

 

-          มูลค่าของทรัพย์สินไม่เกินกำหนด(5 แสนเหรียญสิงคโปร์)

 

-          เงินบำนาญ

 

 

อัตราก้าวหน้าคืออะไร?

 

ผมยกตัวอย่างว่า เช่น มีมรดก ต่ำกว่า 10 ล้าน ไม่ต้องเสียภาษี

 

10 ล้าน - 100 ล้าน เสียภาษี 5%

 

100 ล้าน - 500 ล้าน เสียภาษี 10%

 

500 ล้าน - 1,000 ล้าน เสียภาษี 20%

 

1,000 ล้าน - 5,000 ล้าน เสียภาษี 30%

 

5,000 ล้าน - 10,000 ล้าน เสียภาษี 40%

 

10,000 ล้าน - 20,000 ล้าน เสียภาษี 50%

 

20,000 ล้านขึ้นไป เสียภาษี 60% ขึ้นไปเป็นต้น

 

 

การเก็บภาษีทางตรงอัตราก้าวหน้าแบบนี้ แน่นอน คนจนไม่เดือดร้อนเพราะไม่มีวันโดนเก็บ ความจริงคนรวยก็ไม่เดือดร้อนเพราะแค่ได้รับมรดกน้อยลงเท่านั้นเอง...และยังเป็นแรงจูงใจให้ขวนขวายทำงานมากยิ่งขึ้นโดยไม่หวังมรดกจากครอบครัวแต่เพียงย่างเดียว

 

ท่านรู้หรือไม่.. เมื่อไม่กี่ปีก่อน รัฐสภาอเมริกาซึ่งเป็นประเทศจักรวรรดิทุนนิยมเสรีเต็มที่พยายามจะยกเลิกการเก็บภาษีมรดก..แต่คนที่มาคัดค้านหัวชนฝาคือ บรรดานายทุนยักษ์ใหญ่ของประเทศเอง เช่น นายจอร์จ โซรอส เป็นต้น

 

เขากลัวว่าถ้าไม่มีกฎหมายการเก็บภาษีมรดก ความเหลื่อมล้ำทางสังคมจะเกิดขึ้นมหาศาล มันเป็นต้นเหตุของความไม่เป็นธรรมและความขัดแย้งทางสังคมอย่างรุนแรง จนถึงวันหนึ่งมันอาจปะทุเป็นความรุนแรงเกินยากควบคุมจากการต่อต้านของประชาชนที่ยากจนได้

 

เมื่อเส้นแบ่งความยากจนและความร่ำรวยนี้.. มันถูก revolution หรือถูกการตระหนักรู้ถึงความไม่เป็นธรรม เพราะการเก็บภาษีมรดก ในระบบทุนนิยมมันก็คือการชะลอความเหลื่อมล้ำ หรือชะลอความรู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบเพื่อต่ออายุให้นายทุนหน้าเลือดสูบฉีดกำไรจากสังคมและชนชั้นล่างต่อไปได้อีกระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นเอง..

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท