คนแม่จันค้านเอกชนทำเหมืองหินแกรนิต หวั่นทำลายสวล.-ชุมชน


ที่มา สำนักข่าวประชาธรรม 

 

สืบเนื่องจากพื้นที่ ต. ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย ได้มีบริษัทเอกชนขอสัมปทานพื้นที่ป่าสงวนเพื่อทำเหมืองแร่ดีบุกและเหมืองหินแกรนิต ตั้งแต่ปี 2523 และหมดอายุประทานบัตรลงเมื่อปี 2547 ซึ่งปัจจุบันบริษัทเอกชนรายเดิมนี้ กำลังอยู่ระหว่างการขอต่อบัตรประทานใหม่ในพื้นที่ที่เคยทำเหมืองเดิม ซึ่งประชาชนในพื้นที่และ อบต.เห็นพ้องว่า การทำเหมืองดังกล่าวที่ผ่านมานั้นส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมรวมทั้งต่อชุมชน ขณะที่ปัจจุบันสภา อบต.ป่าตึงได้มีมติไม่เห็นชอบให้ต่อบัตรประทานแล้วนั้น

นายนายสุพจน์ หลี่จา นายก อบต.ป่าตึง กล่าวว่า พื้นที่ทำเหมืองแร่ดังกล่าวอยู่บริเวณบ้านป่าบงงามบน หมู่ 15 ต.ป่าตึง อ.แม่จัน โดยบริษัทแห่งนี้ได้ขออนุญาตไว้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2523 เลขที่ 15686/2523 เพื่อทำเหมืองแร่ดีบุก ต่อมาเมื่อปี 2534 ได้ยื่นขอเพิ่มเติมจากแร่ดีบุกเป็นเหมืองหินแกรนิตด้วย อย่างไรก็ตามบัตรสัมปทานมีอายุ 23 ปี และได้หมดอายุลงเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2547 ทางบริษัทจึงดำเนินการขอต่อบัตรสัมปทานเหมืองแร่หินแกรนิตใหม่ ในพื้นที่ทั้งหมด 265 ไร่ 2 งาน 22 ตารางวา และได้ยื่นหนังสือดำเนินการให้กับทางอุตสาหกรรม จ.เชียงราย จัดเวทีประชาคมในหมู่บ้าน พร้อมทั้งยื่นหนังสือเลขที่ 31122 พร้อมเอกสารต่างๆ ถึง อบต.ป่าตึง อีกครั้งเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2547 ที่ผ่านมานี้

นายสุพจน์ กล่าวอีกว่า จากการพิจารณาเอกสารรายละเอียดต่างๆ ของทางบริษัท พบว่าไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างครบถ้วน ไม่มีนักวิชาการ ไม่มีประชาชน ขณะเดียวกันในพื้นที่นั้นก็ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ ผลการศึกษาก็ไม่มี ดังนั้น สภา อบต.ป่าตึง จึงมีมติในที่ประชุมเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2549 ว่า ไม่เห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ต่อการขอต่ออายุบัตรสัมปทานเหมืองหินแกรนิต

นายก อบต.ป่าตึง กล่าวต่อว่า เมื่อเดือน ม.ค. 2550 ที่ผ่านมา ได้มีการรื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้ง โดยเจ้าของบริษัทดังกล่าวคือนายพจน์ โพธิกุล ได้ดำเนินการผ่านทางอำเภอ แล้วส่งมาหนังสือดังกล่าวมายัง อบต.ป่าตึง เรื่องขอรายงานผลการพิจารณาเหมืองแร่ ซึ่งเราก็ได้ตอบไปว่าได้มีมติไม่เห็นชอบต่อเรื่องดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม ทาง อ.แม่จัน ก็ส่งหนังสือมาอีกเมื่อ 31 ม.ค. 2550 ระบุว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่ถึงที่สิ้นสุด โดยให้เหตุผลว่า อบต.ไม่มีอำนาจที่จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ และระยะเวลาในการพิจารณาการต่ออายุสัมปทานของ อบต.ป่าตึง ใช้เวลาถึง 2 ปี ซึ่งไม่มีความเป็นธรรมต่อบริษัท นอกจากนี้ เอกสารอาจมีความคลาดเคลื่อนได้

ดังนั้น ทาง อบต.ป่าตึง ได้ทำหนังสือไปยัง อ. แม่จัน ลงวันที่ 8 ก.พ. 2550 มีเนื้อความว่า ตามหนังสือที่อ้างถึง อ.แม่จัน ได้แจ้งถึง อบต.ป่าตึง ให้พิจารณาและรายงานผลให้ทาง อ.แม่จันทราบ กรณีนายพจน์ โพธิกุล ได้ยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่ในเขต ต.ป่าตึง โดยสำนักงานอุตสาหกรรม จ.เชียงราย ได้ส่งเรื่องให้ อบต.ป่าตึงพิจารณาเมื่อปี 2547 และต่อมาที่ประชุมสภา อบต.ป่าตึง สมัยวิสามัญครั้งที่ 1/2549 วันที่ 26 มิ.ย. 2549 มีมติไม่เห็นชอบด้วยนั้น ทาง อบต. ขอชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวที่ต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาโดยมีเหตุผลดังนี้

1.การขอประทานบัตรเหมืองแร่ในเขตพื้นที่ต้องได้ผ่านความเห็นชอบของประชาคมหมู่บ้าน ตำบล แต่ผลกการประชุมหมู่บ้าน และประชาคมตำบล เป็นไปด้วยความล่าช้า 2.การพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนในพื้นที่ขาดการศึกษา วิเคราะห์วิจัย และข้อสรุปทางวิชาการส่าจะเกิดผลกระทบเช่นไรในอนาคต  3.อบต.ป่าตึง ได้ทำการประชุมเรื่องดังกล่าวหลายครั้ง แต่ข้อมูลมีไม่เพียงพอที่จะหาข้อสรุปได้ และ 4.เรื่องดังกล่าวได้นำเข้าหารือในที่ประชุมสภา อบต.ป่าตึง สมัยวิสามัญครั้งที่ 1/2549 วันที่ 26 มิ.ย. 2549 โดยมีประชาชนในพื้นที่มาให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็น และสภามีมติไม่เห็นชอบ 5.หากต้องพิจารณาเรื่องดังกล่าวใหม่ อบต.ป่าตึง ขอให้นายพจน์ โพธิกุล ได้ดำเนินการยื่นเรื่องใหม่อีกครั้ง ซึ่งเป็นสิทธิที่เจ้าของบริษัทสามารถทำได้หากไม่พอใจ โดยผลการพิจารณานั้นสภา อบต.ป่าตึงจะทำการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

นายก อบต.ป่าตึง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมาเป็นการขอพื้นที่สัมปทานเอาไว้ก่อน แต่ยังไม่มีการทำเหมืองอย่างเต็มรูปแบบ มีการใช้พื้นที่ดำเนินการทำเหมืองจริงประมาณ 3 ไร่ โดยมีการขุดดิน ขนถ่ายหินที่ขุดได้ผ่านเส้นทางหมู่บ้าน ซึ่งพื้นที่สัมปทานเหมืองหินมีดังกล่าวอยู่ติดกับแนวเขตหมู่บ้าน และอยู่ใกล้ต้นน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งอาหาร แหล่งสมุนไพร ของหมู่บ้าน จึงส่งผลกระทบต่อหมู่บ้านโดยตรง นอกจากนี้ พื้นที่สัมปทานเหมืองยังเป็นแนวเขตที่กั้นระหว่างชุมชนกับพื้นที่ทำกินของหมู่บ้าน จึงปิดทางเข้าออกของชาวบ้านที่ต้องเข้าไปใช้พื้นที่ทำมาหากินของตนเอง ในขณะที่การขอสัมปทานใหม่ จะเป็นการทำเหมืองเต็มรูปแบบ คิดว่าย่อมส่งผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อมแน่นอน

"พื้นที่ทำเหมืองติดกับแนวเขตหมู่บ้านและใกล้กับต้นน้ำ นอกจากนี้ยังเป็นเขตป่าสงวน ซึ่งไม่แน่ใจว่าตามกฎหมายนั้น สามารถขอสัมปทานได้หรือไม่ ซึ่งมี 2 หมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบเรื่องน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตรโดยตรง นอกจากนี้อีก 3-4 หมู่บ้าน ที่อยู่ในเส้นทางลำห้วยไหลผ่านจะได้รับผลกระทบด้วย จะเป็นการฆ่าชาวบ้านทางอ้อม" นายสุพจน์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการต่างๆ ที่จะเข้ามาจะมีการพิจารณาโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตเป็นสำคัญ แต่อาจจะยังไม่ถึงขั้นที่จะสามารถออกข้อกำหนด หรือพ.ร.บ.ไม่ให้มีการทำเหมืองในพื้นที่นี้ได้ อย่างไรก็ตาม ในขั้นต้นของการขอเช่าพื้นที่เพื่อกระทำโครงการการบางอย่าง ต้องผ่านสภา อบต. เพื่อขอความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบอยู่แล้ว

"ขณะนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่เริ่มหวาดระแวง แต่ก็พบว่ามีเสียงแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายที่จะได้รับผลกระทบ และฝ่ายที่จะได้รับผลประโยชน์ ผมเกรงว่าเรื่องนี้จะทำให้ชุมชนเกิดความขัดแย้ง และในที่สุดก็จะเป็นปัญหาเรื้อรัง โดยมีคนที่มีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลังชาวบ้านกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพื่อผลักดันให้เกิดได้รับการต่ออายุประทานบัตรเหมืองหินแกรนิต" นายสุพจน์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน น.ส.อาหมี่ เบียะผะ อาสาสมัครมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจเบื้องต้นในบริเวณที่ทางบริษัทจะขอสัมปทานทำเมืองหินแกรนิตพบว่า ชาวบ้านไม่ต้องการให้ทำสัมปทานต่อเพราะมีพื้นที่ที่จะขอสัมปทานเป็นบริเวณประมาณ 200 กว่าไร่ ซึ่งจะผลกระทบต่อชุมชน โดยที่ชุมชนไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรเลย เพราะการทำเหมืองที่ผ่านมา ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ สิ่งแวดล้อมเสียหาย เช่น ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง มีความแห้งแล้ง นอกจากนี้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปในบริเวณที่ให้สัมปทานได้

นายอาหมื่อ เผอเมียะ ผู้นำศาสนาคริสต์ บ้านป่าบงงามบน หมู่ 15 ต.ป่าตึง กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการสัมปทานเหมืองหินแกรนิตในพื้นที่ ต.ป่าตึง เพราะที่ผ่านมาเกิดผลกระทบต่อชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม น้ำประปา พื้นที่ป่าสงวนในเขตหมู่บ้าน รวมทั้ง ผลกระทบจากทำสัมปทานเหมืองใกล้เขตชุมชนคือ ฝุ่นละอองที่เกิดจากการระเบิดหิน โม่หิน จะเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคปอดได้.

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท