Skip to main content
sharethis

วันที่ 3 - 4 มีนาคม 2550 ที่ ผาสุขแคมป์ รังสิต , กลุ่มองค์กรภาคประชาชน ซึ่งประกอบไปด้วย  --- มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน, กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี, คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย, แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย, กลุ่มสตรี ITF, เครือข่ายผู้ทำการผลิตภาคอีสาน, เครือข่ายผู้หญิงอีสาน, ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้ป่วยเอดส์, เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ, สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย , กลุ่มอัญจารี, สภาเครือข่ายผู้ป่วย, เครือข่ายสลัม 4 ภาค, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า, สหพันธ์สิ่งทอ ตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องหนังแห่งประเทศไทย, กลุ่มแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง, กลุ่มสหภาพแรงงานเบอร์ล่า, กลุ่มแรงงานย่านสระบุรี, เครื่อข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานต่างประเทศ, ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  --- ได้จัดเวทีเสวนาเวทีเสวนาเรื่อง "สิทธิวิถีเพศกับการปฏิรูปการเมือง"


 


โดยจุดประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้ามเครือข่ายระหว่างผู้หญิง ชาย คนรักเพศเดียวกัน จากกลุ่มองค์กรภาคประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ต่อต้านการค้าที่ไม่เป็นธรรม ปกป้องวิถีชุมชนและสิ่งแวดล้อม รณรงค์เรื่องสิทธิผู้หญิง สิทธิแรงงานทั้งไทยและข้ามชาติ เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมระหว่างหญิง-ชาย คนรักเพศเดียวกัน สิทธิผู้ป่วยเอดส์ และเรียกร้องการยอมรับวิถีเพศที่หลากหลาย   โดยมุ่งหวังให้เกิดการพบปะสังสรรค์ระหว่างกันเพื่อเรียนรู้ปัญหาของกันและกันด้วยมิตรภาพและหัวใจที่เปิดกว้าง และนำเสนอข้อเรียกร้องร่วมกันเพื่อการปฏิรูปรูปแบบเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและความเท่าเทียม โดยประชาชนทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย สร้างระบบสวัสดิการประชาชน เคารพในความหลากหลาย และยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ


 


โดยในหัวข้อ "บรรทัดฐานทางเพศในสังคมไทย" วิทยากร บุญเรือง นักเขียน / คอลัมนิสต์อิสระได้พูดในเรื่องของ "พื้นที่สำหรับเพศในปัจจุบัน" มีรายละเอียดดังนี้ ...


 


000



 


... สำหรับสิ่งที่เตรียมมาพูดในหัวข้อ "บรรทัดฐานทางเพศในสังคมไทย" นี้ ต้องขออภัยที่ทำการบ้านมาด้วยระยะเวลาอันรวดเร็ว และเป็นคนที่ได้รับการศึกษามาไม่มาก จึงขอเสนออะไรที่กระชับ ไม่มีความเป็นวิชาการมาก ข้อมูลส่วนใหญ่ที่จะนำมาอภิปรายให้ฟังนี้ เกิดจากการสังเกตสังคม-เหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน โดยสิ่งที่พยายามนำมาเกี่ยวพันกับเรื่องเพศในสังคมไทยก็คือเรื่อง "พื้นที่" ขอเชิญรับฟังการบรรยายให้สนุกทุกท่านครับ ...


 


จารีตคร่ำครึ , อำนาจนิยม , ทุนนิยม กับการจัดสรรพื้นที่ทางเพศ


 


ในอดีตจนถึงปัจจุบัน จารีตคร่ำครึ,อำนาจนิยม,ระบบทุนนิยม ได้กำหนดรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในสังคมไว้ในแต่ละพื้นที่


 


สำหรับพื้นที่ในความหมายที่ผมจะพูดนั้นเป็นทั้งลักษณะกายภาพ หรือไม่ใช่กายภาพ (สื่อ , สถานที่ , อาชีพ , การรวมกลุ่มก้อน , ความรุนแรง ฯลฯ) โดยพื้นที่เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ถูกประดิษฐ์มาโดยสังคมมนุษย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น- นิตยสารพระเครื่อง , นิตยสารเย็บปักถักร้อย , วัด , ตลาดนัด , ร้านเสริมสวย , อาชีพคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ , อาชีพแมงดาคุมสถานบริการ , อาชีพคณะรัฐประหาร , อาชีพแก้งตัดเศียรพระ , อาชีพบริการทางเพศ , อาชีพพระสงฆ์ ,  ฯลฯ


 


ในปัจจุบัน จารีตคร่ำครึ , อำนาจนิยม , ทุนนิยม ได้จัดการจัดสรรพื้นที่ให้กับคนธรรมดาสามัญไร้อำนาจเฉกเช่นเรา ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จารีตคร่ำครึ , อำนาจนิยม , ทุนนิยม ได้ใช้เป็นบรรทัดฐานว่าจะเอาใคร คนไหน ยัดใส่เข้าไปในพื้นที่นั้นๆ นอกเหนือจากเรื่องชนชั้นแล้ว ผมคิดว่าประเด็นเรื่องเพศก็ถูกนำมาเป็นบรรทัดฐานหนึ่งในการตีกรอบพื้นที่ สำหรับการกดทับใครคนใดคนหนึ่งหรือคนหมู่มากในสังคมปัจจุบัน ที่จารีตคร่ำครึ , อำนาจนิยม , ระบบทุนนิยม ยังคงมีอิทธิพลสูงอยู่


 


เราจะเห็นได้จากกรณีตัวอย่างเช่น :


 



  • สถานที่ , พิธีกรรมทางศาสนา , อาชีพเกี่ยวกับศาสนา กับ บุคคลที่ไม่ใช่เพศชาย

 



  • การเมือง , ผู้นำด้านจารีตสูงสุด , ผู้นำเหล่าทัพ กับ บุคคลที่ไม่ใช่เพศชาย

 



  • อาชีพที่ใช้ความเมตตาอ่อนโยน กับ บุคคลที่ไม่ใช่เพศหญืง

 



  • ฯลฯ

 


 


การเล่น-การท้าทาย กับพื้นที่


 


แต่ภายใต้สังคมที่กดดันนั้น ก็พบว่ามีความพยายามที่จะเล่นและท้าทายกับพื้นที่นั้นตลอดเวลา ซึ่งอาจจะเกิดจากจิตสำนึกอุดมการณ์ หรืออาจเกิดจากความขัดแย้งกันเองของจารีตคร่ำครึ,อำนาจนิยม,ระบบทุนนิยม โดยขอยกตัวอย่างคร่าวๆ ดังนี้


 



  • อาชีพที่เพศหนึ่งๆ เคยผูกขาดแต่ปัจจุบันบุคคลที่ไม่ใช่เพศเดิมที่ผูกขาดนั้นเข้าไปบุกรุกจับจอง (มอเตอร์ไซด์รับจ้าง,แท็กซี่,นักมวย,นักกอล์ฟ,อาชีพบริการ ฯลฯ) = อาจเกิดจากจิตสำนึกอุดมการณ์ หรือสิ่งที่ทุนนิยมต้องการให้มันเป็น

 



  • การสร้างพื้นที่เฉพาะสำหรับเพศที่ 3 (การประกวดความงามของเพศที่ 3 ,สถานบริการของเพศที่ 3  ฯลฯ)  = อาจเกิดจากจิตสำนึกอุดมการณ์ หรือสิ่งที่ทุนนิยมต้องการให้มันเป็น

 


 



  • การสร้างพื้นที่ทางการเมืองของขบวนการภาคประชาชนในแนวทางสังคมนิยม (เดินขบวนรณรงค์เพื่อความเสมอภาคทางเพศ, เรียกร้องสิทธิในร่างกายของตนเอง , นัดหยุดงาน ฯลฯ) = เกิดจากจิตสำนึกอุดมการณ์

 



  • ฯลฯ

 


 







 


การลุกขึ้นมาแย่งชิงพื้นที่ของเพศหญิง


 



 



การแย่งชิงพื้น "ในสนาม/นอกสนามกอล์ฟ" ของ Michelle Wie


 


มิเชล วี (Michelle Wie) นักกอล์ฟสาวผู้ที่นิตยสาร Time จัดอันดับไว้ใน 100 บุคคลที่จะเปลี่ยนโลก (one of 100 people who shape our world) ในปี 2006 เพราะเธอสามารถเข้าร่วมแข่งขันกอล์ฟกับชาย อกสามศอก


มิเชล วี ได้แสดงความเอกอุในการเล่นกีฬาประเภทนี้มาตั้งแต่เด็กในการเล่นสมัครเล่น ปี 2003 เธอสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นนักกอล์ฟหญิงอายุน้อยที่สุด (13 ขวบ) ที่สามารถคว้าแชมป์  Women's U.S. Amateur Public Links โดยสามารถเอาชนะนักกอล์ฟหญิงจาก LPGA ทัวร์ได้


จากนั้นเธอก็เทิร์นโปรในปี 2005 โดยมีผู้สนับหลักประจำตัว (sponsorship) คือ Nike และ Sony โดยเธอจะได้เงินถึงปีละมากกว่า 10,000,000 เหรียญสหรัฐฯ   ซึ่งบ่อยครั้งที่เธอมักได้รับเชิญเข้าแข่งขันในรายการแข่งขันกอล์ฟของนักกีฬาชาย ซึ่งมักจะมีผลประโยชน์จากด้านเรตติ้งหรือการสนับสนุนจากสปอนเซอร์ของเธอ ทั้งนี้การลงแข่งขันของเธอกับนักกีฬากอล์ฟผู้ชาย มักจะได้รับการต่อต้านจากกลุ่มผู้เล่นหรือผู้ชมกีฬานี้ประเภทอนุรักษ์นิยมในตอนแรก ๆ


แคลร์ ปีเตอร์สัน (Clair Peterson) ผู้อำนวยการจัดการแข่งขันกอล์ฟรายการ จอห์น John Deere Classic ได้สวนกระแสต่อต้านจากหลายฝ่าย ยอมยกเว้นให้ วี เข้าร่วมการแข่งขันด้วยเป็นกรณีพิเศษได้ยอมรับว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องสุด เนื่องจากมีผู้ชมให้ความสนใจเข้ามาในสนามร่วม 10,000 คน ส่งผลให้มีเงินไหลมาเทมาสู่ทัวร์นาเมนต์เพิ่มขึ้นกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นมูลค่าร่วม 2.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 112 ล้านบาท) และมีผู้ชมทางทีวีเพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านคน หรือคิดเป็น 54 เปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นจากเมื่อปีก่อน ก็ได้กล่าวถึงเหตุผลเพียงสั้นๆ ว่า "ผู้คนให้ความสนใจในตัวเธอ พวกเขาอยากจะเห็นเธอทำสิ่งมหัศจรรย์"


ส่วน เควิน แลนดี้ (Kevin Landy) โปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ให้กับ เครือข่ายทีวีในอเมริกา และก็รับหน้าเสื่อถ่ายทอดสดรายการนี้ไปทั่วโลก ก็ได้ออกมายอมรับว่า "มันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะนั่นมันเป็นเรตติ้งของ ไทเกอร์ วู้ด ชัดๆ"


ในลักษณะหนึ่ง มิเชล วี คือ ผู้หญิงที่อาจหาญมาต่อกรแข่งขันกับเพศชาย  แต่ในอีกลักษณะหนึ่งเธอคือสัญลักษณ์ทางการตลาดที่สำคัญของกีฬาประเภทนี้




ผู้หญิงกับการแย่งชิงพื้นที่ทางการเมือง Susan Brownell Anthony


ซูซาน บราวเนลล์ แอนโทนีย์ สตรีชาวอเมริกันผู้เรียกร้องสิทธิของสตรีในสังคมอเมริกัน ในยุคสมัยที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักคำว่า "สิทธิสตรี"


เธอเคยถูกจับในข้อหาล่วงละเมิดสิทธิ์ของผู้ชาย โดยได้ออกบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 18 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งในสมัยนั้นประเทศแห่งเสรีภาพอย่างสหรัฐอเมริกา สตรียังคงเป็นพลเมืองชั้นสองของสังคม โดยสตรีไม่มีสิทธิออกคะแนนเสียงเลือกตั้ง หลังจากการติดคุกครั้งนี้ของเธอก็เหมือนเกิดการตั้งคำถามครั้งสำคัญให้สังคมอเมริกัน


ในปี 1906 เธอเสียชีวิตเมื่ออายุ 84 ปี จากนั้นอีกถึง 14 ปี ผู้หญิงในสหรัฐอเมริกาในสี่รัฐ ถึงจะได้มีโอกาสออกเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ




พื้นที่ความรุนแรงใน "อุดมการณ์และการก่อการร้าย" ของ Leila Khaled และ Susanne Albrecht


เราไม่อาจจะหาหลักฐานได้แน่ชัดว่าหญิงเก่งที่รบเคียงบ่าเคียงไหล่เช่น "สุริโยไท" จะมีตัวตนจริงหรือเปล่า? แต่หลักฐานในประวัติศาสตร์สมัยใหม่เกี่ยวกับเรื่องผู้หญิงและความกล้าหาญนั้นอยู่จำนวนหนึ่งในที่นี้ขอเสนอคร่าวๆ เกี่ยวกับ Leila Khaled และ Susanne Albrecht


ไลลา คาลิด (Leila Khaled) หนึ่งในสมาชิกขบวนการกู้ชาติปาเลสไตน์ (Popular Front for the Liberation of Palestine : PFLP) ภารกิจที่ทำให้โลกกล่าวขานถึงตัวเธอก็คือการจี้เครื่องบินของสายการบิน TWA เที่ยวบินที่ 840 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 1969 โดยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต


ซูซาน อัลเบร๊ซค์ (Susanne Albrecht) สมาชิกของขบวนการกองกำลังแดง (Red Army Faction : RAF) เป็นลูกสาวผู้มั่งคั่งในเยอรมัน แต่ได้เข้าร่วมขบวนการ RAF ซึ่งเป็นขบวนการฝ่ายซ้ายสายที่เน้นความรุนแรง วีรกรรมสำคัญของเธอก็คือการลอบสังหาร Jürgen Ponto มหาเศรษฐีประธานธนาคาร Dresdener Bank ของเยอรมัน เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 1977


 


 


 


 


ทั้งนี้ การเล่นและการท้าทายพื้นที่นั้นก็มิได้เกิดอุดมการณ์หรือจิตสำนึกเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากภาวะกดดันจากสังคมที่เป็นอยู่บีบบังคับให้มีการกระทำนั้น และก็ไม่ได้ทำให้ระบบนั้นล้มลงอย่างใด เพียงแต่เป็นการแสดงให้เห็น / ทำให้เห็นว่า มีความอึดอัดอยู่ในพื้นที่นั้น แน่นอนว่าในหลายกรณีที่มีการเล่นกับจารีตประเพณีและลักษณะอำนาจนิยม แต่ไม่ได้เล่นหรือท้าทายกับระบบทุนนิยมเลย


 


ซึ่งบางครั้งระบบทุนนิยมเองก็ได้ประโยชน์จากการเล่นและท้าทายพื้นที่นั้น ทั้งทางด้านการตลาดและการขยายกลุ่มผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น การที่เพศหญิงต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ก็เปรียบเหมือนการเพิ่มแรงงานและผู้บริโภคให้กับระบบ , นักกอล์ฟผู้หญิงที่เข้าไปทำการแข่งขันร่วมกับผู้ชาย เพื่อกระตุ้นให้เกิดผู้บริโภคธุรกิจกอล์ฟที่เป็นผู้หญิงมากขึ้น (ผมไม่ได้เหยียดเพศหรือมีปัญหากับการที่ผู้หญิงจะแข่งขันอะไรโดยตรงกับผู้ชาย แต่ผมมีปัญหาเกี่ยวกับกีฬาและการตลาดของกีฬาประเภทนี้) หรือการประกวดความงามของเพศที่ 3 ธุรกิจเกี่ยวกับเพศที่ 3 ก็จะได้ประโยชน์ทางด้านการตลาดด้วย เป็นต้น


 


ดังนั้นผมเห็นว่าเราควรเล่นและท้าทายพื้นที่พื้นที่หนึ่งที่จะสามารถปลดปล่อยความเหลื่อมล้ำต่ำสูงได้ทางด้านเพศหรือแม้กระทั่งเรื่องชนชั้น --- นั่นก็คือพื้นที่ทางการเมืองภาคประชาชน โดยเฉพาะการเมืองแนวสังคมนิยม พูดถึงสิทธิของผู้หญิงในเรื่องของการเมือง เช่น ผู้หญิงกับภัยจากสงคราม , ผู้หญิงกับสิทธิการทำแท้ง , ผู้หญิงกับความเท่าเทียมทางการเมือง ฯลฯ เพื่อผสานกับการท้าทายกับโครงสร้างระบบชนชั้นที่ จารีตคร่ำครึ , อำนาจนิยม , ระบบทุนนิยม ถูกใช้เป็นเครื่องมือให้แก่คนส่วนน้อย (ชายส่วนน้อย,หญิงส่วนน้อย) ในสังคมปัจจุบัน เสวยสุขอยู่บนหัวกลางคนหมู่มาก (ชายส่วนมาก , หญิงส่วนมาก)


 


สรุป


 


พื้นที่หลายๆพื้นที่ในสังคมถูกกำหนดไม่ให้มีเพศใดเพศหนึ่งเข้าไปมีส่วนร่วม โดยจารีตเก่าที่คร่ำครึ , อำนาจนิยม , ระบบทุนนิยม ซึ่งมันทำให้ความหลากหลายในการดำเนินชีวิตลดลงไป


 


ถ้าเราอยากจะฉีกหนีภาวะที่เป็นอยู่นี้การเล่นกับการท้าทายพื้นที่นั้นอาจะเป็นหนทางเล็กๆ หนทางหนึ่งที่อาจจะช่วยสะกิดสังคม ให้มาสนใจในประเด็นเรื่อง "ความเท่าเทียมที่หลากหลาย"  แต่ทั้งนี้กระบวนการของทุนนิยมเองก็มีการเล่นและท้าทายพื้นที่นั้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป้าหมายของมันไม่ได้นำไปสู่ความเสมอภาคใดๆ ทั้งสิ้น


 


พื้นที่ทางการเมืองเรื่องเพศต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการเมืองแนวสังคมนิยมที่เน้นหนักเรื่องความเสมอภาคแบบ "เพื่อทุกเพศ-ทุกคน"


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net