Skip to main content
sharethis

ประชาไท - เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 50 ในงานเสวนาและแถลงข่าวเรื่อง "ยึดอำนาจไอทีวี: ใครได้ ใครเสีย?" มีผู้ร่วมเวทีได้แก่ สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) จอน อึ๊งภากรณ์ ตัวแทนกลุ่มกู้คืนไอทีวี และ นคร ชมพูชาติ นักกฎหมาย ดำเนินรายการโดยต่อพงษ์ เสลานนท์ รองประธานคปส. โดยมีผู้เข้าร่วม อาทิ ผู้สื่อข่าวไอทีวี อดีตกบฏไอทีวี


 



ภาพจาก radarmagazine.com


 


จอไม่มืดก็จริง แต่ไอทีวีจะถูกพาไปแนวไหน?


สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ กล่าวว่า จากกรณีไอทีวี จะเห็นว่า สังคมไทยเดินหลงทางไปในทิศทางที่ถอยกลัง สถานการณ์ปฏิรูปสื่อไม่ได้ดีขึ้นเลย สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือ การที่สื่อเอกชนต้องไปติดอยู่กับภายใต้อำนาจรัฐ ถือเป็นความผิดพลาดอย่างยิ่ง


 


ถ้าเราเจ็บปวดจากความผิดพลาดในอดีต ก็เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับร่วมกันว่า ผิดพลาดมาตั้งแต่แรกที่ปรับแก้สัญญาสัมปทาน แต่ทางแก้ความผิดพลาดนั้นต้องเดินไปข้างหน้า หากยอมถอยหลังกลับไป ยกไอทีวีไปอยู่ในการดูแลของกรมประชาสัมพันธ์ ก็คงจะต้องเจ็บ


 


สุภิญญากล่าวว่า รูปแบบในอนาคตของไอทีวีก็คงจะคล้ายกับช่อง 5 แต่จะไม่เหมือนช่อง 11 เสียทีเดียวที่ห้ามมีโฆษณา ก็คือ ให้รัฐดูแลส่วนหนึ่ง แต่ทำธุรกิจได้ หรือหากจะเข้าสู่แบบช่อง 11 ที่ทำธุรกิจได้ ก็จะเข้ารูปแบบของ SDU เหมือนที่รัฐบาลทักษิณพยายามพูดมาในหลายปีที่ผ่านมา


 


"ถ้าเราจำได้ กรมประชาสัมพันธ์เคยเสนอรูปแบบ SDU หรือ Service Delivery Unit คือตั้งหน่วยพิเศษขึ้นมา เพื่อจะแปลงสภาพกรมประชาสัมพันธ์เข้าไปทำธุรกิจได้ แล้วถ้าเอาไอทีวีเข้ามาสู่สูตรนี้ มันก็เท่ากับไปสู่สูตรที่เคยถูกทำมาแล้วสมัยรัฐบาลทักษิณ เราวิพากษ์วิจารณ์ว่ามันไม่ถูกต้อง มันคือการแปลงสภาพสื่อ"


 


สุภิญญากล่าวว่า เรื่องไอทีวีมันซับซ้อนกว่าเมื่อเทียบกับกรณีช่อง 11 คือช่อง 11 เป็นสื่อของรัฐและกำลังจะถูกจะแปลงสภาพไปทำมาหากินโดยไม่มีเสรีภาพทางการเมือง แต่ไอทีวี เป็นทีวีเอกชน มีความผิดพลาดในหลายๆ กรณี แทนที่จะแก้หลักการให้คงสภาพเป็นทีวีเสรีต่อไป แต่รัฐปัจจุบันดันดึงเอากลับมาว่า ไม่ต้องเป็นของเอกชนแล้ว ดึงกลับมาเป็นของรัฐ ซึ่งก็ไม่ได้มีโมเดลว่าจะทำให้เป็นสื่อสาธารณะหรือทีวีเพื่อประชาชนแต่อย่างใด


 


"การดึงกลับมาแบบช่อง 11 ไม่มีระยะเวลาแน่นอน เสมือนดึงกลับไปถาวร นี่จะเป็นอันตรายทั้งในการเมืองและเศรษฐกิจ ในเชิงการเมือง คงไม่ต้องพูดแล้วว่า ถ้าสื่อไปอยู่ในอาณัติของกรมประชาสัมพันธ์แล้ว อะไรจะเกิดขึ้น มันย้อนไปไกลมาก ไม่ใช่แค่สิบห้าปีก่อนเกิดไอทีวีเท่านั้น การมีบอร์ดบริหารจากกรมประชาสัมพันธ์ มันไม่สามารถจะทำให้ไอทีวีคงความเป็นอิสระได้"


 


"แล้วถ้าไอทีวีเหมือน 5 ช่องที่มีอยู่ มันก็ไม่เกิดอะไรกับสังคมอยู่แล้ว ฉะนั้น อยากให้สังคมตั้งหลักว่า การที่เราอาจจะรู้สึกผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเราปล่อยให้ทิศทางหลงทาง เราจะผิดหวังอีกในอนาคต เพราะว่าสิ่งที่รัฐกำลังนำพาเราไป ไม่รู้จะนำพาไปไหน ไม่รู้จะนำพาไอทีวีไปไหน ไม่รู้จะนำพาสังคมไปไหน จะพาไปลงเหวตกห้วยที่ไหน แล้วก็ไม่มีทิศทางชัดเจน"


 


เลขาธิการคปส.กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 40 ที่ระบุว่า คลื่นความถี่เป็นของประชาชน ก็ถูกตัดออกไปแล้วในคณะกรรมาธิการยกร่างเมื่อวานนี้ (6 มี.ค.) บอกว่า ไม่ให้อยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพ แต่ให้ไปอยู่ในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ นั่นกลายเป็นการถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องทำ แต่ไมได้บอกว่าเป็นสิทธิของประชาชนที่เป็นเจ้าของคลื่นความถี่ อันนี้ถือเป็นผลกระทบใหญ่หลวงระยะยาว เท่ากับว่า เราผลักให้คลื่นความถี่กลับไปอยู่ในมือของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือกรมประชาสัมพันธ์  


 


สุภิญญากล่าวว่า บางท่านพูดไว้ว่า บางทีไอทีวีอาจจะเป็นศพสุดท้ายจากเหตุกาณ์พฤษภานั้น อาจจะไม่ไกลเกินความจริง เพราะว่าถึงแม้หกปี เจ็ดปี แปดปีที่ผ่านมา ไอทีวีจะผันผวน เจอแรงบีบทางการเมืองมาตลอด มันก็ต้องเจอสังคม ต้องตรวจสอบกันไป


 


"แต่นี่คือการเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง การเข้าไปอยู่ภายใต้รัฐโดยไม่มีหลักประกัน มันเท่ากับการขุดหลุมฝัง เท่ากับว่าเรามีทีวีหกช่องที่มีคุณภาพเหมือนกัน ช่องที่เป้นน้องใหม่ ที่ยังล้มลุกคลุกคลาน แทนที่เราจะทำให้ดี เราก็มาสนับสนุนให้มันถอยหลังไป"


 


ฉะนั้น จุดยืนคปส.เห็นว่า มติครม. เรื่องไอทีวีนี้ นอกจากจะสับสน ลักลั่น มันยังนำพาสังคมไทยไปอยู่ใต้ความเป็นเผด็จการมากขึ้นในอนาคต เป็นกระบวนการที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย นี่คือกระบวนการยึดอำนาจไอทีวี โดยที่ไม่มีหลักประกันว่าประชาชนจะได้อะไร


 


"ในระยะยาว อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของไอทีวี ไม่ใช้การกำหนดกัน ล็อบบี้กัน เจรจากัน จากคนไม่กี่กลุ่มที่ต่อรองกันทางการเมือง  ทำอย่างไร ในฐานะที่ไอทีวีเกิดจากเจตนารมย์ของประชาชน ต้องโยนกลับไปให้ประชาชนตัดสินใจ ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรเมื่อวันนี้มันเจอทางตัน ถามว่า ผู้มีอำนาจรัฐในขณะนี้ ได้เคยฟังเสียงประชาชนแล้วหรือไม่ ว่าเขาต้องการให้ไอทีวีเป็นอย่างไร อาทิตย์ที่แล้วรัฐก็บอกว่าจะทำอย่าง ผ่านไปสามวันก็บอกว่าจะทำอีกอย่าง ใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยที่ไม่ได้แคร์ประชาชนเลย ถามว่ามันถูกต้องหรือไม่"


 


สุภิญญากล่าวว่า คปส.จึงเรียกร้องว่า ประชาชนต้องป็นผู้ตัดสิน แล้วจะทำอย่างไรล่ะ ก็ต้องมีกระบวนการ มีระยะเวลา ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่านี้ และต้องระวังมิให้การตัดสินไอทีวีคือการตกลงกันของกลุ่มผลประโยชน์ ไม่ว่าจะกลุ่มเก่ากลุ่มใหม่ไม่กี่กลุ่ม เพรามันก็จะเข้าสู่วังวนเดิม แล้วประชาชนก็จะไม่ได้อะไร แล้วก็จะเช้าสู่เกมการเมืองแห่งการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนต่อไป


 


"อยากเน้นให้สังคมตั้งหลัก ถ้ามองดีๆ จะเห็นว่า คนตกที่นั่งลำบากที่สุดคือประชาชนและนักวิชาชีพ โดยที่กลุ่มธุรกิจเดิมแทบไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ค่าสัมปทานก็ไม่จ่าย ไม่มีความพยายามจะทวง"


 


เลขาธิการคปส.เสริมว่า การที่ไม่พยายามให้เขาใช้หนี้ ให้เขาไปไหนก็ได้ แล้วให้คนอื่นไปทำโดยให้รัฐไปอุ้ม สุดท้ายแล้วเราไม่รู้ว่าอำนาจกับอำนาจตกลงอะไรกันบ้าง และโยนผลให้ประชาชนแบกรับ ซึ่งระยะยาวไอทีวีคงไปไม่รอด การแก้ปัญหาก็เป็นเรื่องหนีเสือปะจรเข้ ประชาชนได้อะไร ซึ่งต้องเรียกร้องให้พนักงานไอทีวีสู้ในจุดนี้ด้วยว่า คนที่ทำให้ไอทีวีผิดพลาดจะรับผิดชอบอย่างไร และรวมกันสู้ว่าถ้าอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ฮั้วกัน อะไรจะเป็นหลักประกันให้ประชาชนไม่ต้องรับกรรม นี่คือความมั่วอันเกิดจากการรัฐประหาร


 


เลขาธิการคปส.ยังกล่าวว่า การพูดเรื่องไอทีวีต้องพูดถึงการปฏิรูปทีวีทั้งระบบ ควรถือโอกาสนี้ปฏิรูปสื่อ ช่อง 5 ช่อง 11 ซึ่งเป็นแดนสนธยายิ่งกว่าไอทีวี ไม่เช่นนั้นปัญหาก็เป็นแบบเดิม และขอเรียกร้องว่า อย่าทำให้เรื่องนี้เป็นการเมืองมากโดยไม่มองหลักการ ให้ประชาชนต้องคอยให้เขาเล่นเกมทางการเมืองตลอดเวลา


 


 


ระวังลืมอดีต : "ทีวีเสรี" อย่าเป็น "เพียงสัญญาปากเปล่า เพียงแค่ลมปากเป่า"


จอน อึ๊งภากรณ์ ในนามของกลุ่มกู้คืนไอทีวีกล่าวว่า กลุ่มกู้คืนไอทีวี เริ่มรณรงค์ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณช่วงท้าย เพราะเห็นว่าไอทีวีไมได้เป็นไปตามเจตนารมย์ในการก่อตั้ง ซึ่งจุดมุ่งหมายของกลุ่มมีอย่างเดียวคือ ให้ไอทีวีเป็นไปตามเจตนารมย์ของการก่อตั้ง


 


จอนกล่าวถึงสองสิ่งสำคัญที่เป็นเจตนารมย์ของกำเนิดไอทีวีว่า หนึ่งคือเป็นสถานีข่าวสาร เน้นการเรียนรู้ทางการเมือง สังคม ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับรู้ได้อย่าเงต็มที่ เป็นสถานีข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน


 


ส่วนที่สอง คือ ไอทีวี คือ Independence Television - iTV มีการใช้คำว่า "อิสระ" ไอทีวีจึงใช้คำว่า "ทีวีเสรี" มาตลอด อิสระนี้ ต้องอิสระจากการครอบงำของรัฐบาล กลุ่มทุน กลุ่มการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น


 


แต่ระยะหลังไอทีวีไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมย์เหล่านั้น


 


จอนกล่าวต่อ ว่าเมื่อมาถึงปัจจุบัน รัฐบาลกำลังจะยึดคืนไอทีวี ซึ่งนั่นยิ่งห่างไกลจากเจตนารมย์ของประชาชน ที่ต้องการให้ไอทีวีเป็นของส่วนรวม สาธารณะ ไม่ใช่ของรัฐบาล


 


"การดำเนินการของรัฐบาลขณะนี้ เราไม่เห็นด้วย เพราะการดำเนินการทุกส่วนไม่ได้พูดถึงเจตนารมย์ของไอทีวี ทุกรัฐบาลคิดผิดกับไอทีวีมาตลอด ถ้าไอทีวีจะเป็นไปตามเจตนารมย์ที่ก่อตั้ง ต้องไม่เก็บค่าสัมปทานแพงๆ เพราะมันไปด้วยกันไม่ได้" จอนกล่าว


 


จอนกล่าวว่า หากทุกวันนี้ ไม่กำหนดว่าไอทีวีต้องจ่ายค่าสัมปทาน ไอทีวีไปรอดแน่นอน ฉะนั้น การจัดการต้องไม่ใช่นึกถึงผลประโยชน์ของสัมปทาน เรื่องเจ้าของและผู้บริหารต้องเปลี่ยน แต่ไมได้แปลว่าเปลี่ยนพนักงาน


 


จอนยกตัวอย่างกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นว่า รัฐบาลพูดถึงว่าจะให้อสมท.มาบริหาร ฝ่ายอสมท.ก็ออกมาพูดว่าดีใจที่ไอทีวีจะมาอยู่ในเครือ เพราะเชื่อมั่นว่าจะทำรายได้ได้ สิ่งเหล่านี้แปลว่า ไม่เข้าใจในเจตนารมย์ของการตั้งไอทีวี


 


"รัฐบาลไม่มีความสามารถในการจัดการไอทีวี ไม่ใช่คนที่รับรู้ ไม่เข้าใจระบอบประชาธิปไตย ไม่เข้าใจเรื่องทีวีสาธารณะ เรื่องการมีส่วนร่วม เรื่องทีวีประชาชน"


 


ดังนั้น จุดยืนของกลุ่มกู้คืนไอทีวี คือ การจัดการไอทีวีต้องเป็นไปตามเจตนารมย์โดยเคร่งครัด และต้องให้ประชาชนทุกส่วนเข้ามากำหนดอนาคตไอทีวี


 


"เราเห็นว่าควรจัดการประชาพิจารณ์  และไม่ใช่ปรชาพิจารณ์ผิวเผิน ควรประชาพิจารณ์สาธารณะ เพื่อให้ทุกส่วนที่สนใจได้มาแสดงความเห็น โดยมีเป้าหมายว่า ไอทีวีเป็นของส่วนร่วม"


 


สิ่งที่น่าสนใจคือเมื่อจอนกล่าวว่า ภาคประชาชนไม่ได้เห็นด้วยกันทุกประเด้น ในกลุ่มกู้คืนไอทีวีก็เห็นแตกต่าง นั่นคือ บนพื้นฐานตามเจตนารมย์การก่อตั้งไอทีวีนั้น บ้างเห็นว่า รูปแบบการอยู่รอด อาจจะเป็นธุรกิจเอกชนก็ได้ บ้างเห็นว่า ควรเป็นทีวีสาธารณะของประชาชน


"แต่ผมเห็นว่า ไอทีวีไม่ควรดำเนินการต่อด้วยธุรกิจเอกชน เพราะเป็นแบบนั้นก็มีธุรกิจมากมายรอเขมือบไอทีวี และอาจจะไปทำข้อตกลงรับสัมปทานกับสำนักนายกฯ ภายใต้ธุรกิจเอกชน มันไม่มีหลักประกัน เพราะสำนักนายกฯ นั้น รัฐบาลก็เข้ามาคุมได้ ผมเห็นว่าไอทีวีต้องเป็นของสาธารณะ ของส่วนรวม วิธีการต้องดำเนินการจากการจัดประชาพิจารณ์ออกอากาศทางโทรทัศน์ เพราะมีน้อยครั้ง ที่จะมีกิจกรรมที่ประชาชนรับรู้โดยทั่วถึง"


 


 


เจ้าหนี้ที่ดี ต้องพยายามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ต่อไป


นคร ชมพูชาติ นักกฎหมาย กล่าวว่า จากแง่มุมทางกฎหมาย กรณีนี้เป็นเรื่องของสัญญาสำนักงาน คู่สัญญาถูกกล่าวหาว่าผิดสัญญา ในเบื้องต้น โดยหลักการการพูดคุยเพื่อรักษาสภาพตัวกิจการ สัมปทาน น่าจะเป็นจุดเริ่มต้น แล้วมามองว่าจะเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้อย่างไร


 


เขากล่าวว่า ที่ผ่านมา คำพิพากษาศาลปกครองมี 2 ส่วนคือ ค่าสัมปทานและเบี้ยปรับ ซึ่งจริงๆ แยกกันได้เพราะผิดสัญญาคนละส่วน ในประเด็นสัมปทานนั้น ช่วงแรกมีข่าวว่าไอทีวีสามารถจ่ายได้ แต่รัฐบาลทวงมา 2 ก้อนจึงชะงักไว้ก่อน แต่ความเป็นจริงเพื่อผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน อันนั้นเป็นสิ่งที่ควรจะทำ แต่ก็ได้ผ่านขั้นตอนนั้นมาแล้ว


 


นครกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หากมติครม. ไม่ถูกต้อง ก็ต้องทบทวนกัน แต่ปัญหาที่กลัวกันมากคือ จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย


 


ทั้งนี้ นายกฯ ก็ไม่ชัดเจนในแง่มุมทางกฎหมาย การที่จะเข้ามายึดกุมสถานีไอทีวี โดยหลักแล้วไม่น่าจะถูกต้อง แต่น่าจะเป็นไปตามลำดับของการเยียวยา เจรจาให้ทำให้ถูกต้องตามสัญญา ในสภาพที่ปฏิบัติได้ตามความเป็นจริง แล้วจึงพิจารณาต่อไปว่า ไอทีวีในแบบที่ผ่านมากับที่กำลังจะเป็นไปนั้น จริงๆแล้วแนวทางที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร


 


เขาเห็นว่า ปัญหาของไอทีวี มีมาตั้งแต่การเอนเอียงไปทางธุรกิจ เพื่อให้อยู่ได้เพราะสัมปทาน ช่วงหลังเอียงมากไปจะให้สถานีเป็นแหล่งหารายได้ด้วยส่วนหนึ่งและใช้กิจการในทางการเมือง ซึ่งการแก้ปัญหานี้ ต้องสร้างโมเดลใหม่ให้ชัดว่า ไอทีวีควรดำเนินการไปในลักษณะไหน ในแง่ของกฎหมาย นิติกรรมจะจัดให้เป็นอย่างไร ก็สามารถทำได้ในรายละเอียดโดยไม่มีความจำเป็นต้องให้สถานีไอทีวีปิดไปในทันที แต่ปัญหาคือความเข้าใจในการตัดสินใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง


 


อย่างไรก็ตาม  ยังไม่ทราบท่าทีที่ชัดเจนของผู้บริหารไอทีวี ว่าจะมามีส่วนแก้ปัญหาอย่างไร ต้องแสดงท่าทีให้ชัดว่าจะสามารถตกลงกันได้อย่างไร


 


เขากล่าวว่า ไอทีวียังมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อหนี้ที่เกิดขึ้นอยู่ ในแง่ของเจ้าหนี้ที่ดี ต้องพยายามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ต่อไป ขณะเดียวกันก็ต้องมีความเป็นอิสระ เป็นเรื่องต้องทำคู่กันไป รัฐบาลควรจะค้นหารูปแบบและยอมรับหลักการให้ชัดเจน ตอนนี้ยังไม่เห็นว่ารัฐแสดงออกมาแค่ไหนอย่างไร


 


ฉากล้มกระดาน ทำน้ำตาท่วมจอ เพียงเพื่อหาเหตุ "ยึด" ไอทีวี


สุวรรณา อุยานันท์ บรรณาธิการข่าวเด็ก เยาวชน และครอบครัว ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 และอดีตกบฏไอทีวี กล่าวถึงสิ่งที่ไอทีวีดำเนินมา และอนาคตของไอทีวีว่า เมื่อมองในแง่สื่อมวลชนแล้ว ทั้งสองด้านไปกันไม่ได้เลย เหมือนจบเกมส์ แล้วนับหนึ่งใหม่


 


สุวรรณากล่าว (ขณะที่พูด สังคมยังลุ้นชะตากรรมไอทีวีอยู่) ว่าการล้มกระดานเช่นนี้ แล้วโดนทำให้กลับไปที่กรมประชาสัมพันธ์ เธอวิเคราะห์ว่า ไม่ว่าศาลปกครองจะออกมาอย่างไร ไอทีวีได้ออกอากาศแน่ๆ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นการปักธงแค่ "ยึด" และกฤษฎีกาก็คงตีความว่ากรมประชาสัมพันธ์ดูแลได้


 


ปัญหาคือ เมือต้องไปอยู่ภายใต้การดูแลของกรมประชาฯ ซึ่งไม่ได้เรื่องอยู่แล้ว กรมประชาฯ ซึ่งอาสาแล้วไม่เคยบอกหลักประกันว่า โมเดลของไอทีวีคืออะไร อย่างนี้เรียกว่าไม่มีหลักประกัน ไม่เฉพาะพนักงาน แต่กับคนดูที่ไม่มีหลักประกันเลยว่าจะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารแบบไหน


 


อดีตกบฏไอทีวีกล่าวว่า อย่าไปสนใจเรื่องมันจะปิด เพราะตำนานของไอทีวีไม่เสรีมาตั้งนานแล้ว แต่ต่อไปนี้จะยิ่งแย่กว่าเดิม  การดีไซน์จะเป็นแบบไหน ภาคประชาชนจะเข้ามาไหม ไม่มีการวางแผนแม้แต่เรื่องเดียว ขอแค่ยึดคืนไว้ก่อน เพราะมันเป็นของแสลงบางอย่าง ยึดความถี่กลับมาเป็นของรัฐ 


 


สุวรรณากล่าวว่า ปัญหาคือ กรมประชาฯ มีหน้าที่อะไรไปดูแล และจะต้องโมเดลแบบไหน เราต้องมองโมเดลให้ไอทีวีว่าต้องมีบอร์ด ที่ไม่ได้ดูแลเฉพาะไอทีวี และอย่ามองว่ามันต้องเร่งด่วนอันเดียว แล้วช่องอื่นๆ ทำเป็นเฉยๆ ไม่ยุ่ง


 


"โมเดลไหนก็ใช้ไม่ได้ ถ้ามีวิธีคิดมาจากสปน.หรืออาจารย์บางท่านที่เป็นรัฐมนตรีที่มีอคติและไม่เข้าใจในเรื่องสื่อเสรี" อดีตกบฏไอทีวีกล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net