Skip to main content
sharethis

ประชาไท—9 มี..2550 กรณีที่พนักงานไอทีวีออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือและไม่ให้ปิดสถานีนั้น นายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในฐานะคนทำข่าวที่อยากจะทำหน้าที่ แต่พนักงานที่ออกมาเหล่านี้ควรจะสร้างความเป็นกลางให้กับสังคมด้วย โดยไม่ควรมากดดันกับรัฐบาลเพราะรัฐบาลนี้มีความตั้งใจ มีเจตนาที่จะแก้ปัญหาไอทีวีในช่วงเปลี่ยนผ่านให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยที่สุด เช่น ความชัดเจนในเรื่องทรัพย์สิน อุปกรณ์ใดที่จะตกเป็นของรัฐหลังจากไอทีวีถูกยกเลิกสัมปทาน


ดังนั้น พนักงานไอทีวีต้องกดดันผู้บริหารตัวเอง ซึ่งภาพที่ผ่านมาไม่เห็นผู้บริหารไอทีวีพยายามที่จะให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาเท่าที่ควร วันนี้ยังไม่สายที่ผู้บริหารไอทีวีต้องกลับมาคุยกับรัฐบาลให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด


"พนักงานต้องคิดเรื่องนี้ให้มาก เพราะตั้งแต่ที่ศาลปกครองชี้ขาด คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการกรณีไอทีวี จากนั้นมาทางพนักงานไอทีวีก็เหมือนต้านรัฐบาลตลอด พนักงานต้องย้อนไปคิดด้วยว่าตอนที่ชินคอร์ปเข้ามาถือหุ้นใหญ่ พนักงานได้ทำหน้าที่ของตัวเองสมบูรณ์แค่ไหน กรณีเกิดกบฏไอทีวี 23 คนที่ถูกไล่ออก ก็มีคำถามว่าเหตุใดต้องทำขนาดนั้น การเสนอข่าวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีใบสั่งจากรัฐบาลเก่าให้เสนอใคร หรือไม่เสนอใคร ผมว่าสื่อด้วยกันต้องช่วยกันตรวจสอบว่าช่วงนั้นไอทีวีเป็นกลางแค่ไหน เขาต้องประเมินตัวเองด้วย ซึ่งในช่วง 2 วันที่รัฐบาลนี้เข้ามาแก้ปัญหาผมว่าเขาก็ให้เสรีภาพกับพนักงานมากไม่เข้าไปแทรกแซงอะไร" กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าว


นายธิติพันธุ์ กล่าวว่า ไม่คิดว่ารัฐบาลชุดนี้จะตั้งใจกลั่นแกล้งไอทีวีเพื่อไม่ให้ออกอากาศ แต่เมื่อเหตุการณ์เริ่มคลี่คลายก็อยากให้รัฐบาล พนักงานไอทีวี ที่สำคัญคือบริษัทไอทีวี ซึ่งเราไม่ค่อยเห็นบทบาทในการแก้ปัญหา มาเจรจากันในช่วงการเปลี่ยนผ่านว่าทรัพย์สินหรืออุปกรณ์ชิ้นใดของไอทีวีที่จะกลับมาเป็นทรัพย์สินของรัฐตามกฎหมายอันเป็นผลจากการยกเลิกสัญญา ทั้งนี้ ไอทีวีไม่ควรโยนภาระให้รัฐบาลเพียงอย่างเดียว พนักงานไอทีวีก็ต้องกลับไปเรียกร้องผู้บริหารของตัวเองให้การแก้ปัญหาดำเนินไปอย่างราบรื่น เพราะทุกอย่างจะตบมือข้างเดียวไม่ได้


นายธิติพันธุ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาของไอทีวีส่วนหนึ่งมาจากการไม่ปฎิบัติตามสัญญาที่ตกลงไว้ ซึ่งมักเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับโครงการบริการสาธารณะ เช่นเดียวกับโครงการก่อสร้างทางด่วน โดยก่อนจะมาประมูลงานก็เสนอผลตอบแทนสูง เมื่อได้งานมาก็ให้ผลตอบแทนไม่ได้ จึงมาเจรจากับรัฐเพื่อขอเปลี่ยนเงื่อนไข อย่างนี้ถือว่าไม่แฟร์ ตรงนี้ถือเป็นจุดบอดของโครงการบริการสาธารณะในประเทศ ทำให้ บริษัทที่ไม่ชนะการประมูลก็เสียโอกาสในส่วนนี้ ขณะเดียวกันในการขอเปลี่ยนแปลงสัญญามักมีข่าวเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง และรัฐบาลก็มักจะยอมตลอด


กรณีไอทีวีถือว่าผิดเงื่อนไขในส่วนนี้ชัดเจน รวมถึงการปรับผังรายการที่ลดเนื้อหาด้านข่าวจากที่ตกลงไว้ 70 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามในการแก้ปัญหาสปน.ควรที่จะเจรจากับทางไอทีวีถึงกรณีค่าปรับที่สูงเกือบแสนล้านบาท เพราะตามกฎหมายหากไม่สามารถพิสูจน์ความเสียหายได้ก็สามารถที่จะเจรจาถึงความเสียหายที่เป็นจริงได้




 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net