Skip to main content
sharethis

พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ
มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์


 


"12 มีนาคม" อาจเป็นวันที่ใครต่อใครสามารถจดจำได้ ในหลายต่อหลายเรื่อง แต่ในบรรดาความทรงจำเหล่านั้น 


คงยากยิ่งที่จะคล้ายคลึง หรืออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน...


 


จริงอยู่ การเกิดขึ้นของมนุษย์ ตลอดจนการเติบโตและแตกดับ เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ และสามารถเกิดขึ้นเสมอเมื่อมีเหตุและปัจจัยพร้อม และเพียงพอ


 


ในศาสนาต่างๆ ก็อธิบายและตีความปรากฏการณ์เหล่านี้ไว้ในหลายแง่มุม เพื่อรองรับความจริง และหล่อเลี้ยงความเชื่อถือศรัทธาของเหล่าศาสนิก


 


แต่ในสัจจะและคำอธิบาย-ตีความ ประดามีนั้น สำหรับคนธรรมดาระดับปุถุชน ซึ่งมิได้มีสภาวจิตสูงส่งมากมายอะไรนัก จะมีสักกี่คนเล่า ที่จะ "ทำใจ" ให้ยอมรับได้ ในชะตากรรมของ "คนในครอบครัว" ที่ต้องมาพลัดพรากจากกันไปด้วยเหตุอันไม่สมควรได้ง่ายๆ


 


มิหนำซ้ำ ยังเป็นการ "สูญหาย" หรือ "ถูกทำให้สูญหาย" ไป โดยไม่สามารถแม้แต่จะทราบได้ ว่าผู้ถูกกระทำนั้น


เป็นตายร้ายดีไปแล้วหรือไม่ และ/หรือ โดยวิธีใด


 


แน่ล่ะ ว่าผ่านมานานขนาดนี้ ถ้ายังมีชีวิตอยู่ และไปไหนมาไหนตามปกติ เจ้าตัวก็คงจะกลับมาแล้ว เวลาที่ผ่านไปตั้ง 3 ปี ย่อมชวนให้เชื่อว่าเสียชีวิตไปแล้วอย่างแน่นอน


 


แต่ถ้าเป็นคนในครอบครัวของคุณสมชายเล่า แม้จะเข้มแข็งเพียงใด หนักแน่นเพียงใด จะมากจะน้อย ก็ยัง "อยากให้" หรือ "อยากได้" คุณสมชายกลับมามิใช่หรือ


          


นี่เองมิใช่หรือ ที่ทำให้ "คนนอก" กับ "คนใน" ไม่สามารถระลึกถึง "ความสูญเสีย" และอะไรต่อมิอะไรอื่นร่วมกันได้ง่ายดายนัก...


 


และความรู้สึก "แตกต่าง" กันเช่นนี้เอง ความรู้สึกแบ่งแยกเป็นเราเป็นเขา หรือธุระไม่ใช่ ไม่เกี่ยว ไม่ใส่ใจ ฯลฯ เช่นนี้เองมิใช่หรือ ที่ทำให้ความเป็น "เพื่อนร่วมทุกข์..ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย" ของเรา เริ่มอ่อนแอ และลดทอนพลังของความดีงามลง


 


และด้วยเหตุนั้นกระมัง จึงทำให้คณะบุคคล ผู้ "อุ้มหาย" ทนายสมชาย นีละไพจิตร จึงทำไปอย่างไม่รู้สึกรู้สาว่าผลการกระทำของตน ได้จำหลักสิ่งใดลงไปในหัวใจของภรรยาและลูกๆ ของคุณสมชาย ทั้งที่คณะผู้ "อุ้มหาย" หรือ "อุ้มฆ่า" เหล่านั้นก็เป็นมนุษย์(หรืออย่างน้อยก็ยังมีคราบมนุษย์ให้อาศัยอยู่ได้) มีพ่อ มีแม่ และมีลูกๆ หรือครอบครัว ญาติ พี่น้อง เช่นเดียวกับคุณสมชาย


 


ทั้งที่กลุ่มบุคคลผู้อุ้มหายเหล่านั้น จะมากจะน้อย ก็รักสุข เกลียดทุกข์ เช่นเดียวกับคุณสมชายและใครต่อใครอื่นๆ


หรือรวมตลอดไปถึงความมี-ความเป็น และไม่อยากมี-ไม่อยากเป็นทั้งหลาย อันเป็นสามัญสำนึกที่มีกันได้โดยทั่วๆ ไป ทุกรูปทุกนาม ซึ่งส่อสะท้อนสามัญลักษณะของความเป็นคนปกติของใครต่อใคร


 


จะอ้างว่า "การอุ้มหาย" ที่ทำลงไปนั้นเป็น "คำสั่ง" ก็คงยากที่จะอ้างได้ ด้วยว่ามันเป็นคำสั่ง "โดยมิชอบ" หรือเป็นคำสั่ง "ผิดกฏหมาย" ที่ไม่จำเป็นต้องกระทำตาม


 


ถามว่า "คนเหล่านั้น" หรือ "สิ่งมีชีวิตเหล่านั้น" กระทำลงไปได้อย่างไร จึงเป็นคำตอบที่ไม่มีใครตอบได้ นอกจากการติดตามจับกุม และเอาตัวคนผิดมาสารภาพเพื่อลงโทษ และมาคลี่คลายความคลางแคลงใจให้กับสังคม


 


แต่หากการณ์กลับกลายเป็นว่า บุคคลเหล่านี้ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเหล่านี้ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจเหล่านี้ ฯลฯ(ตามที่ปรากฎพูดถึงหรือเล่าข่าวสู่กันฟังในวงสนทนาอื่นๆ) กระทำลงไปด้วยความเมามัน ด้วยความคึกคะนอง ด้วยความกระเหี้ยนกระหือรือ ที่จะใช้ตำแหน่งหน้าที่ ยศฐาบรรดาศักดิ์ และเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่ประชาชนทั้งหลายเสียสละซื้อให้ หาให้ ผ่านระบบการจ่ายภาษีหลากหลายชนิดประเภทแล้ว... สิ่งที่รัฐ (ในฐานะรัฐผู้บำบัดทุกข์บำรุงสุข) ควรที่จะแสดงความรับผิดชอบ ก็คือการตรวจรื้อโครงสร้างอันชั่วร้ายและเน่าเหม็น ในกระบวนการยุติธรรม หรือในโครงสร้างของตำรวจ ดังที่ว่ามานี้ แล้วแก้ปัญหา-พัฒนา ขึ้นให้จงได้


 


ตรองดูเถิด ว่าอะไรกันแน่ ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มียศฐาบรรดาศักดิ์ ผ่านการศึกษา ผ่านการอบรม ผ่านการทำงาน ผ่านการเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่งมามากต่อมาก ต่างพร้อมหน้าพร้อมตากันกระทำเลวทรามต่ำช้า ต่อทนายความที่ปราศจากอาวุธคนหนึ่งได้ ทั้งๆ ที่ต่างก็อยู่ในกระบวนการยุติธรรมด้วยกัน


 


นอกจากนั้นแล้ว รัฐและกลไกต่างๆ ของรัฐ หรือของผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะมาจากการแต่งตั้ง หรือมาจากการฉีกรัฐธรรมนูญ ก็จำเป็นต้องผลักดัน ให้กรณีการ "อุ้มหาย" หรือ "อุ้มฆ่า" ทนายสมชาย นีละไพจิตร เป็นบทเรียน หรือกรณีตัวอย่าง เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการกระทำอันป่าเถื่อน ที่กระทำต่อนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ครั้งสำคัญ เพื่อป้องกัน หรือสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม การเมือง และ/หรือ กลไกอื่นๆ ที่จะสามารถป้องปราม ไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก


 


ด้วยว่าการกระทำเช่นนั้น เป็นเรื่องที่มีค่า และควรแก่การยกย่อง ยิ่งกว่าการให้โอกาสภรรยาของคุณสมชาย  ได้เข้าไปมีตำแหน่งหน้าที่ ในงานด้านนิติบัญญัติ ในยุคที่สภาฯ มาจากการแต่งตั้งของนักรัฐประหาร และการแต่งตั้งนั้นๆ เป็นเพียงการเปิดโอกาสให้เธอเข้าไปเกลือกกลั้ว เพื่ออาศัยภาพนักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชน ของคุณอังคณา นีละไพจิตร มาประชาสัมพันธ์เสริมภาพลักษณ์ของบุคคลบางกลุ่มเท่านั้นเอง


 


วันที่ 12 มีนาคม ในปีต่อๆ ไป เราคงไม่ต้องกล่าวถึงกรณีของทนายสมชาย นีละไพจิตร กันอีก ถ้าหากบ้านเมือง หรือรัฐ มีความรับผิดชอบ ในการทำหน้าที่ของตัวเอง หรือทำหน้าที่ที่ตนเองสมัคร หรืออาสาเข้ามาทำได้อย่างที่ควรจะเป็น


 


เช่นเดียวกับวันที่ 17 มิถุนายน เราไม่จำเป็นต้องมารื้อฟื้น หรือเรียกร้องความเป็นธรรม ในคดีการฆาตกรรม พระสุพจน์ สุวโจ ซึ่งแม้จะเกิดขึ้นต่างปี แต่ร่วมเดือนมิถุนายน กับที่คุณเจริญ วัดอักษร ถูกลอบสังหารอย่างทารุณโหดร้าย ในวันที่ 21 มิถุนายน และถ้าจะว่าไปแล้ว หากรัฐทำหน้าที่ของรัฐ ให้เพียงพอ หรือคุ้มค่า กว่าสิ่งที่ปล้นชิงไปจากประชาชน อีกหลายๆ วัน อีกหลายๆ กรณี ก็คงสามารถป้องกัน หรือแก้ไขได้ โดยไม่ชักช้า


 


12 มีนาคม ปีนี้ ครอบครัวคุณสมชาย นีละไพจิตร จะร้องไห้ หรือประสานมือประสานใจกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อยืนหยัดต่อสู้ กับความอยุติธรรม คงไม่ใช่เรื่องที่ใครจะกำหนด หรือแทรกแซงบังคับให้เกิดขึ้นได้


 


แต่หากเราทั้งหลายรักความเป็นธรรม หากเราทั้งหลายยังรักความถูกต้อง ก็ควรจะร่วมมือกับครอบครัวนี้ ในการต่อสู้ต่อไปให้ถึงที่สุดมิใช่หรือ


 


เพราะยิ่ง 12 มีนาคม ผ่านไปหลายปีเข้า ก็ดูเหมือนกับว่า "กำลังใจ" เพียงอย่างเดียว จะไม่เพียงพอเสียแล้ว...


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net