คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน : หรือจะหนีเสือปะจระเข้ !

มุทิตา เชื้อชั่ง

 

 

หากจำได้ สมัยที่เวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังคึกคัก ประเด็นปราศรัยที่ถูกหยิบยกให้ความสำคัญลำดับต้นๆ หนีไม่พ้นการต่อต้านการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่าเป็นการ "ขายสมบัติชาติ"

 

นอกจากอาศัยเวทีพันธมิตรฯ ในการรณรงค์ รูปธรรมการเคลื่อนไหวที่สำคัญ คือ การฟ้องร้องเพิกถอนการแปรรูป กฟผ.ต่อศาลปกครองเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2548 โดยเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและองค์กรภาคประชาชนรวม 11 คน กระทั่งได้รับชัยชนะเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ปีถัดมา โดยศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ ด้วยเหตุผลว่ากระบวนการออกพ.ร.ฎ.เพื่อการแปรรูปนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้กฟผ. กลับสู่สภาพรัฐวิสาหกิจตามเดิมในโค้งสุดท้ายก่อนปรากฏตัวเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์

 

หลังจากนั้น มีการฟ้องร้องบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อีกด้วยเหตุผลเดียวกัน และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี

 

อย่างไรก็ตาม การต่อต้านการแปรรูป กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจผูกขาดด้านพลังงานมายาวนานนั้นมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป บางส่วนโดยเฉพาะสหภาพแรงงาน กฟผ. เห็นว่าควรคงสภาพดั้งเดิมไว้เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ บางส่วนเห็นว่าควรทำการปฏิรูป กฟผ. เนื่องจากกฟผ.ผูกขาดเพียงรายเดียวและไม่ได้รับการตรวจสอบมากเท่าที่ควร ขณะที่ระดับนโยบายยังเห็นควรให้แปรรูป โดยเฉพาะ "ปิยสวัสดิ์ อมระนันทน์" ผู้มีแนวคิดและบทบาทชัดเจนในการผลักดันการแปรรูปกฟผ.มาแต่ไหนแต่ไร

 

หลังจากโค่นล้มรัฐบาลทักษิณลงแล้ว รัฐบาลใหม่จากการรัฐประหารเข้าบริหารประเทศโดยพยายามเดินสวนทางกับแนวทางเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ของรัฐบาลทักษิณ ด้วยการชูแนวทาง "เศรษฐกิจพอเพียง" และกวาดเก็บประเด็นข้อเรียกร้อง ความต้องการของภาคประชาชนในช่วงที่มีการชุมนุมขับไล่อดีตนายกฯ ไปใส่ไว้ในนโยบายรวมถึงเรื่องพลังงานด้วย

 

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกิจการพลังงานให้มีองค์กรอิสระขึ้นมากำกับดูแลตามข้อเรียกร้องของประชาชน ขณะที่นายปิยสวัสดิ์ อมระนันทน์ ก็ขึ้นนั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ท่ามกลางสายตาหวาดระแวงเรื่องการแปรรูป แต่เขาก็ยืนยันตั้งแต่ต้นว่าจะไม่มีการแปรรูป กฟผ.แน่นอน .. ในช่วงรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

 

"คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน" ซึ่งเป็นความเห็นร่วมของทุกฝ่ายถูกผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อแยกการกำกับดูแลออกจากการประกอบกิจการ ป้องกันการใช้อำนาจผูกขาด คุ้มครองผู้ใช้พลังงานและผู้ได้รับผลกระทบ

 

คณะกรรมการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ โดยมีเพียงมติครม.รองรับเหมือนองค์กรกำกับกิจการไฟฟ้าที่ไม่มีอำนาจแท้จริงและถูกยุบไปแล้ว แต่องค์กรกำกับหรือ เรคกูเรเตอร์ใหม่นี้มีกฎหมายรองรับคือร่างพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ....... มีข่าวแว่วว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็ววันนี้

 

ร่างกฎหมายนี้เพิ่งปรากฏตัวสดๆ ร้อนๆ  และไม่ค่อยเป็นข่าวเท่าไรนัก ทั้งที่มีความสำคัญมากในการปฏิรูปโครงสร้างกิจการพลังงานของประเทศ เพราะคณะกรรมการกำกับฯ นั้นมีอำนาจมากมายหลายประการ ดูแลทั้งกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ

 

ขณะที่บางคนวิพากษ์วิจารณ์ว่านี่คือ การวางรากฐานปูทางไปสู่การแปรรูปกิจการไฟฟ้าได้เช่นเดียวกัน โดยมีการนำส่วนที่บกพร่องในการดำเนินการแปรรูป กฟผ.ของรัฐบาลชุดที่ผ่านมามาปรับแก้ให้ถูกต้อง โดยเฉพาะจะมีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการพลังงาน โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อให้การจัดตั้งมีความหนักแน่นจากการที่มีกฎหมายรองรับ

 

อย่างไรก็ตาม แม้มองโลกในแง่ดีที่สุดว่านี่คือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อแยกอำนาจการตรวจสอบให้ชัดเจนก็ยังเห็นข้อบกพร่องช่องโหว่ใหญ่ๆ ที่น่าตั้งคำถามอยู่หลายประการ โดยเมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมาได้มีวงสัมมนาเรื่องนี้จัดโดยคณะอนุกรรมาธิการด้านเครือข่ายภาคประชาชน และการสื่อสารกับสังคม สนช.

 

มีผู้มาให้ความเห็น ข้อท้วงติงที่หลากหลายทั้งองค์กรผู้บริโภค หรือ "เรคกูเรเตอร์จำเป็น" ที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และนักวิชาการที่ได้ร่วมเป็นอนุกรรมการยกร่างกฎหมายฉบับนี้

 

สายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ให้ข้อสังเกตว่าคณะกรรมการสรรหา 7 คนนั้นมาจากการแต่งตั้งของครม.และส่วนใหญ่มาจากข้าราชการ มีผู้แทนจากองค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไรเพียง 1 คนแต่มีข้าราชการเกษียณอายุถึง 4 คน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเพิ่มความหลากหลายในคณะกรรมการสรรหา เพื่อมุมมองที่หลากหลายและการถ่วงดุลระหว่างกัน

 

ในกฎหมายจะมีตั้งคณะกรรมการระดับภาคหรือระดับเขต โดยมาจาก "ผู้ใช้พลังงาน" ในแต่ละเขตเพื่อทำหน้าที่พิจารณาข้อร้องเรียนของผู้ใช้พลังงาน เสนอมาตรการแก้ไขปรับปรุงบริการพลังงาน ประสานงานผู้ประกอบการเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการร้องเรียน เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม ในความจริง "ผู้ใช้พลังงาน" มีอยู่ 2 ระดับคือผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่คือภาคอุตสาหกรรม ผู้ใช้ไฟรายย่อยทั่วไป ตรงนี้อาจต้องมีการแยกแยะและระบุให้ชัดเจนว่าอย่างน้อยต้องมีตัวแทนผู้บริโภครายย่อยอย่างน้อยกึ่งหนึ่ง รวมทั้งต้องกำหนดคุณสมบัติด้วยว่าเป็นตัวแทนชุมชนหรือองค์กรสาธารณะประโยชน์ด้านพลังงาน ผู้บริโภค  สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เนื่องจากกังวลว่าจะกลายเป็นตัวแทนของหน่วยราชการ หอการค้า สภาอุตสาหกรรม เพราะภาคเอกชนขนาดใหญ่กับเอกชนขนาดเล็กมีผลประโยชน์แตกต่างกันและหลายครั้งที่ขัดแย้งกัน

 

ส่วนประเด็นการเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ การเวนคืน รอนสิทธิ ฯลฯ สายรุ้งเห็นว่ากฎหมายนี้ให้อำนาจคณะกรรมการกำกับฯ เกินความจำเป็น นอกจากนี้เรื่องการรับฟังความเห็น พ.ร.บ.นี้ยังจำกัดแค่ผู้ได้รับผลกระทบเท่านั้น ถือเป็นการจำกัดสิทธิภาคส่วนอื่น เพราะในความเป็นจริงชาวบ้านไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง ต้องเปิดให้นักวิชกาหรือองค์กรเอกชนร่วมด้วย

 

สายรุ้งกล่าวต่อว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้หน่วยงานที่มีอยู่คือ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการกำกับฯชั่วคราวระหว่างที่ยังสรรหากรรมการตัวจริงไม่ได้ เพราะไม่มีความจำเป็นและไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย หากประกาศใช้กฎหมายแล้วยังไม่มีคณะกรรมการ ก็ควรให้หน่วยงานที่มีอยู่เป็นธุรการ ทำหน้าที่เฉพาะช่วยดำเนินการให้เกิดคณะกรรมการสรรหา ไม่ใช่ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการชั่วคราว

 

ประเด็นที่สำคัญที่สุดอีกเรื่องหนึ่งคือ พ.ร.บ.นี้กำหนดว่าเมื่อมีการอุทธรณ์กับคณะกรรมการกำกับฯ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเป็นที่สิ้นสุด เรื่องนี้ถือเป็นการปิดทางของชาวบ้านในการมีที่พึ่งทางอื่นเช่น  ศาลปกครองสูงสุด

 

ส่วนมาตรา 120 ที่ระบุว่า ผู้ใจเจตนากระทำการให้เกิดการรบกวน หรือขัดขวางต่อการประกอบกิจการพลังงาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรานี้สายรุ้งเสนอให้ตัด โดยให้เหตุผลว่ามีกฎหมายที่จะเอาผิดได้อยู่แล้ว มาตรานี้จะไปละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนหากจะมีการประท้วงผู้ประกอบการดังที่ปรากฏอยู่บ่อยครั้ง

 

นอกจากนี้เธอยังเสนอให้มีสถาบันที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคด้านพลังงาน ซึ่งไม่ได้มีอำนาจ แต่มีหน้าที่ตรวจสอบทั้งกระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับฯ และทำรายงานต่างๆ ให้สาธารณชนได้รับรู้ 

 

 

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) หนึ่งในอนุกรรมการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ ท้วงติงว่า ร่างพ.ร.บ.ยังมีปัญหาหลักที่อาจนำไปสู่ความล้มเหลวเช่นเดียวกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)

 

ประเด็นสำคัญที่หยิบยกคือเรื่องอำนาจของคณะกรรมการกำกับดูแลฯ ที่มีอำนาจมากเกินไป ไร้ขอบเขต หลายเรื่องควรที่จะระบุในกฎหมายฉบับนี้ว่าเป็นอำนาจของนิติบัญญัติไม่ใช่อำนาจฝ่ายปกครอง เช่น อำนาจที่มากที่สุดของกรรมการชุดนี้คือ การออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการธุรกิจพลังงาน มาตรา 42 ที่ระบุว่า ผู้ใดประกอบกิจการพลังงานไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ต้องได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการ

 

"เราเคยเถียงกันว่าถ้ามีการผลิตพลังงานชีวภาพเล็กๆ ต้องขอใบอนุญาตหรือ ตรงนี้แม้จะบอกให้คณะกรรมการไปกำหนดหลักเกณฑ์เอาเองว่าใครต้องขอ มันมีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะเขาเป็นคนคุมอำนาจอยู่ แล้วให้กำหนดกรอบตัวเองนั้นมันผิดหลัก นิติบัญญัติต้องเป็นคนตีกรอบ"

 

เรื่องความโปร่งใส ควรปรับปรุงบางประเด็นให้ดีขึ้น เช่น มาตรา มาตรา 13 ระบุว่า กรรมการสรรหาต้องเปิดเผยข้อมูลการมีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจพลังงาน แต่มาตรา 14,15 ไม่ได้บอกไว้ว่าผู้ที่สมัครเป็นกรรมการจะต้องเปิดเผยข้อมูลการมีส่วนได้เสียกับธุรกิจพลังงานของตนเองต่อสาธารณชนด้วย 

 

ผู้ที่มาสมัครเป็นกรรมการ รวมถึงกรรมการสรรหา ต้องชี้แจงความสัมพันธ์และการมีส่วนได้เสียระหว่างกัน กรณีของกทช.มีปัญหา ดังนั้น ในมาตรา 17 เรื่องการพ้นจากตำแหน่งวาระ น่าจะเพิ่มด้วยว่าหากกรรมการท่านใดจงใจปิดบังข้อมูลเป็นเท็จ โดยเฉพาะข้อมูลการมีส่วนได้เสียของตนเองเพื่อบิดเบือนข้อมูลต้องถูกถอดถอนได้

 

สุดท้าย บทเฉพาะกาล มาตรา 25-26 เข้าใจว่าถ้ากฎหมายนี้ผ่านสภาไปแล้ว แต่ยังไม่มีการสรรหากรรมการ ให้ผอ.สนพ.ดูแลกฎหมายฉบับนี้ไปก่อน ไม่เห็นด้วย อำนาจหน้าที่ของกรรมการชุดนี้ตามกฎหมายเป็นอำนาจที่ต้องมาพร้อมกับการเลือกสรรตามกระบวนการตามกฎหมายนี้ด้วย ซึ่งมีขั้นตอนที่ถี่ถ้วนมากกว่าหน่วยงานของรัฐ ถ้าในช่วงที่ยังไม่มีกรรมการ รูปแบบการกำกับดูแลที่มีอยู่เดิมก็ทำหน้าที่ไป ไม่ใช่เอาคนอื่นมาทำหน้าที่นี้

 

ศิริชัย ไม้งาม ผู้แทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ. กล่าวว่า กระบวนการมีส่วนร่วมในการยกร่างนี้ใช้ไม่ได้ มีการจัดรับฟังความคิดเห็นเพียง 4 ครั้ง และประชาชนที่เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นข้าราชการในจังหวัดและพนักงาน กฟผ. และกฎหมายนี้ก็มุ่งเน้นแต่เรื่องไฟฟ้า ไม่ได้พูดถึงก๊าซธรรมชาติที่เป็นพลังงานหลักของประเทศเช่นกันมากนัก

 

เขาระบุด้วยว่า พนักงานกฟผ.ก็ประกาศชัดว่าจะคัดค้านเรื่องนี้ถึงที่สุด เพราะเอาเข้าจริงแล้วคณะกรรมการกำกับฯ ไม่ใช่อะไรนอกจากเป็นบริษัทเกษียณชน เป็นที่รองรับของพวกเกษียณ

 

"วันนี้ไม่เอาคุณทักษิณ ก็กลายเป็นเข้าทางกลุ่มอำนาจเดิม ผลประโยชน์ของประชาชนอยู่ตรงไหน

รอรัฐธรรมนูญออกมาก่อนได้ไหม เพราะวันนี้กฎหมายสูงสุดประเทศก็ยังไม่ออก ทั้งที่มีส่วนสำคัญมากต่อองค์กรอิสระต่างๆ"

 

ณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานอนุกรรมการยกร่างกล่าวว่า ร่างกฎหมายนื้ถือเป็นมิติใหม่ที่มีการให้สิทธิและคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะการตั้ง กองทุนพัฒนาไฟฟ้า แต่เน้นที่โรงไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวไม่รวมโรงแยกก๊าซ โดยจะเก็บ 1 สตางค์ต่อหน่วย ดังนั้น โรงไฟฟ้าขนาด 700 MW จะได้เงินเข้ากองทุนประมาณ 56 ล้านบาทต่อปี เพื่อนำมาดูแลชดเชยค่าไฟฟ้าแก่ผู้ด้อยโอกาส พัฒนาชุมชนในรัศมี 5 km รอบโรงไฟฟ้า

 

"ที่ห่วงเรื่องการแปรรูป กฎหมายฉบับนี้ไม่มีทางนำสู่การแปรรูป ไม่มีการพูดถึง การแปรรูปต้องใช้กฎหมายเฉพาะ โดอาศัยพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท