Skip to main content
sharethis

สัมมนา เปิดประเด็นหนังสือ


ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดน : ความจริงและมายาคติ


วันจันทร์ ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐


ณ ห้องประชุมใหญ่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มอ. ปัตตานี


 


จัดโดย


โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และ วิทยาลัยอิสลามศึกษา


มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โครงการ


เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะทำงานวาระทางสังคม


สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


 






** ถอดเทปและเผยแพร่โดย แผนงานร่วมศึกษา เสริมสร้างสุขภาวะ กรณี 3 จังหวัดภาคใต้, คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


 


นิ ธิ เ อี ย ว ศ รี ว ง ศ์


มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


 


(หมายเหตุ: อ่านความเดิมตอนที่แล้วได้ที่


นิธิ เอียวศรีวงศ์: ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดน ความจริง-มายาคติ 1)


 


ประเด็นที่ 5 ประเด็นนี้ผมไม่ได้พูดมาจากความรู้ความเข้าใจสังคมของมลายูมุสลิมใน 4 จังหวัดภาคใต้ แต่พูดจากความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ เท่าที่ได้เคยศึกษาสังคมอื่นมา ท่านเคยสังเกตไหมครับว่า เวลาพูดถึงชาวมลายูมุสลิม ไม่ว่ารัฐพูดก็ตาม หรือพวกท่านพูดก็ตาม หรือเวลาที่นักวิชาการที่เป็นมลายูมุสลิมพูดก็ตาม มันช่างเป็นสังคมที่เป็นน้ำเนื้อเดียวกันเหลือเกิน ซึ่งทำให้ผมไม่เชื่อ ผมไม่คิดว่า มันจะมีสังคมมนุษย์อะไรที่เป็นน้ำเนื้อเดียวกันมากขนาดนั้น มันมีความแตกแยกภายในแยะ จะเป็นการแตกแยกด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจหรือแม้แต่เหตุผลทางศาสนาก็ตาม


 


อย่างเช่นที่อาจารย์ฉวีวรรณท่านเคยศึกษาเรื่องชุมชนมลายูมุสลิมในปัตตานีแห่งหนึ่ง เมื่อ 20 - 30 ปีมาแล้ว ท่านพบเรื่องการเข้ามาของกลุ่ม "กาบุฮูดา" หรือ กลุ่มใหม่ หรือกลุ่มที่ตีความเรื่องศาสนาใหม่ ได้เข้ามาแล้วมีความขัดแย้งกับกลุ่มเก่าที่สอนศาสนาอยู่ในหมู่บ้านมาก่อน อย่างเช่น ขัดแย้งกันเรื่องการดูเดือนรอมฎอน โดยดูพระจันทร์ขึ้นลงไม่ตรงกัน วิธีละหมาดต้องคุกเข่าลงกี่หน ความเห็นไม่ตรงกัน แตกแยกกันขนาดพี่น้องในครอบครัวเดียวกันต้องทะเลาะกัน


 


ดังนั้น มันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของทุกสังคมในโลกนี้ที่มีความขัดแย้งภายใน เวลาที่รัฐพูดถึงสังคมมลายูมุสลิมก็ตาม นักวิชาการมลายูมุสลิมพูดถึงสังคมมลายูมุสลิมก็ตาม พูดประหนึ่งว่า มันไม่มีความขัดแย้งแตกแยกภายในกันเลย เหมือนประหนึ่งว่า คนมลายูมุสลิมด้วยกันไม่เคยเอาเปรียบกันเลย ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ สังคมที่ไหนก็ต้องมีทั้งคนได้เปรียบเสียเปรียบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีรัฐไทยอยู่หรือไม่ก็ตามแต่ ยิ่งมีโลกสมัยใหม่เกิดขึ้น ผมเชื่อว่า อย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา พื้นที่ใน 3 - 4 จังหวัดภาคใต้นั้นเปลี่ยนแปลงมาก เพราะการคมนาคมที่เปลี่ยนไป และเหตุผลอื่นๆ เยอะแยะ มันมีคนกลุ่มใหม่ๆ เข้ามา ประชาชนกลุ่มอื่นอพยพเข้ามาก็มาก นายทุนเข้ามาก็แยะ ตัวราชการเองก็โตขึ้นมาก รัฐไทยใหญ่ขึ้นตั้งแยะ มีคนแปลกหน้าเข้ามาเยอะแยะไปหมด ทั้งที่เป็นคนมุสลิม และไม่ใช่มุสลิม ทั้งที่เป็นคนมลายูและไม่ใช่มลายู


 


ผมคิดว่า ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันนี้ คนกลุ่มต่างๆ เข้าไปเกาะที่ตัวโครงสร้างที่มันเป็นอยู่เพื่อหาประโยชน์จากโครงสร้างเหล่านั้นมีค่อนข้างมาก ซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นในทุกสังคม เกาะได้มาก เกาะได้น้อยก็แล้วแต่ เกาะแล้วเอาเปรียบคนอื่น เกาะแล้วเสียเปรียบคน อย่างใดก็ตามแต่


 


ฉะนั้น ก็เหมือนกับทุกสังคมอื่นๆ ในโลก การหาฉันทามติจากสังคม มันไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ ผมคิดว่า ในสังคมมลายูมุสลิมก็เหมือนกัน การหาฉันทามติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายๆ


 


ในงานของอาจารย์ธเนศเอง เวลาพูดถึงหะยีสุหรง อาจารย์พูดถึงกลุ่มคนที่เป็นมลายูมุสลิมด้วยกัน แต่จริงแล้วยังมีกลุ่มอีกมากที่ไม่เห็นด้วยกับท่านหะยีสุหรง อาจารย์ไม่ได้เอามาอธิบายให้ชัดเจนว่า มันมีกลุ่มไหนบ้าง อย่างน้อยก็มีกลุ่มตระกูลอับดุลราบุต เป็นต้น ซึ่งเป็นอีกตระกูลหนึ่งที่ไม่เอาด้วยกับท่านหะยีสุหรง นี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง และผมเชื่อว่า ยังมีมากกว่านั้นอีก ถึงแม้ว่า ท่านหะยีสุหรงจะมีอิทธิพลเป็นที่นับถือกว้างขวางอย่างไรก็ตาม คนที่ไม่เห็นด้วยกับท่านก็ต้องมี และก็เป็นมลายูมุสลิมเหมือนกัน


 


ผมคิดว่า แม้แต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวมลายูมุสลิมเอง คุณจะเรียกว่า แบ่งแยกดินแดน ทวงดินแดนคืน เปิดพื้นที่ใหม่ อย่างไรก็แล้วแต่ มันไม่เคยเป็นกลุ่มก้อนอย่างนั้นเลย อย่าลืมว่า ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวมลายูมุสลิม ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวภายในรัฐไทย คือเปิดพื้นที่สำหรับที่จะต่อรองภายในเงือนไขของรัฐไทยก็ตาม หรือไม่เปิดพื้นที่ในรัฐไทย แต่ไปซ่องสุมกำลังคนในการที่จะต่อสู้กับรัฐไทย แล้วเรียกตนเองว่า แบ่งแยกดินแดน ไม่เคยปรากฏว่ามีพรรคที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน


 


ตัวอย่างง่ายๆ คือ ไม่เคยมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมาเลเซีย ภาคใต้ไทย ที่รวมทั้งหมด ตลอดเวลาที่ผ่านมา กลุ่มหนึ่งก็มีความเชื่อว่าต้องดึงเอาอินโดนีเซียสนับสนุน อีกกลุ่มหนึ่งกลับไม่เห็นด้วย ต้องพยายามปฏิวัติระบบสังคมของมลายูมุสลิมเอง อีกกลุ่มกลับบอกว่าไม่ใช่ เราต้องฟื้นฟูกลุ่มผู้นำทางศาสนา เช่น โต๊ะ อิหม่าม เข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยรักษาโครงสร้างเดิมของมลายูมุสลิมไว้


 


เราจะเห็นได้เยอะแยะไปหมดว่า มันมีกลุ่มที่แตกต่างหลากหลาย ผมเชื่อว่า แม้แต่กลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงในเวลานี้ ก็ไม่ได้เป็นเอกภาพกัน มีลักษณะที่แตกต่างหลายแนวทางด้วยกัน ผมคิดว่า ประเด็นนี้มีความสำคัญ แทนที่เราจะไปหลอกตัวเองว่า สังคมมลายูมุสลิมเป็นสังคมที่เป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด


 


 


ประเด็นที่ 6 เรื่องความยุติธรรมจากรัฐ หลักการสำคัญอันหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ รัฐทุกที่ในโลกนี้ ไม่ใช่เฉพาะรัฐไทย ไม่เคยมีรัฐไหนสามารถตรวจสอบตนเองได้ว่า ตนเองมีความยุติธรรมหรือไม่ หากให้รัฐตรวจสอบตนเอง ก็จะพบว่า รัฐต้องบอกว่า รัฐยุติธรรมแล้วทุกที เพราฉะนั้น ถ้าเราต้องการความยุติธรรมจากรัฐ ถามว่า เฉพาะพื้นที่ในภาคใต้ มันมีอะไรอะไรบ้างที่จะเป็นผู้ตรวจสอบ เป็นผู้ทำให้เกิดความยุติธรรมขึ้นในรัฐ ผมคิดว่า เราร้องขอความยุติธรรมไม่ได้ เราร้องขอเสรีภาพไม่ได้ เราไม่สามารถให้รัฐยื่นสิ่งเหล่านี้ให้เราได้เฉยๆ เราต้องมีสังคมที่เข้มแข็งพอ เฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ สังคมที่เข้มแข็งพอประกอบไปด้วย 3 ส่วน


 


ส่วนที่1 ประกอบด้วยสังคมในท้องถิ่นของตนเอง ผมเชื่อว่าถ้าคนในท้องถิ่นไม่ลุกขึ้นมารักษาความยุติธรรมให้เกิดขึ้นให้ได้ มันก็ไม่มีทางเกิด เป็นไปไม่ได้ และคนในท้องถิ่นปัตตานี ยะลา นราธิวาส ก็เคยลุกขึ้นมาแล้วในการที่จะรักษาความยุติธรรมเอง เช่น การประท้วงที่สะพานกอตอ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน กรณีของการประท้วงการสร้างเขื่อนที่แม่น้ำปัตตานี นั่นก็ประสบความสำเร็จ แต่ประสบความล้มเหลวก็แยะ ไม่ได้หมายความว่า ทุกครั้งที่ลุกขึ้นสู้จะประสบความสำเร็จหมด แต่ผมเชื่อว่า สังคมท้องถิ่นต้องมีความเข้มแข็งพอที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ในเวที ซึ่งเวทีนั้นมันมีพื้นที่ที่แคบ พื้นที่นั้นมันจะไม่มีวันขยายเองเป็นอันขาด จนกว่าเราจะดันให้มันขยายขึ้นมา


 


ส่วนที่ 2 สังคมไทยในวงกว้าง อย่างเช่น คนภายนอกอย่างผม อย่างอาจารย์มารค อาจารย์ธเนศ ฯลฯ สามารถเข้ามาช่วยได้ และเราก็พยายามที่จะช่วย เพราะอย่างที่อาจารย์มารคพูดว่า ปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถแก้ได้ ไม่ใช่ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่แก้ได้ที่รัฐไทย


 


รัฐไทยต้องเปลี่ยน และรัฐไทยจะเปลี่ยนได้นั้น สังคมไทยในวงกว้างต้องบีบบังคับให้รัฐไทยเปลี่ยน อยู่เฉยๆ มันไม่มีวันเปลี่ยน จนกว่าจะต้องบีบให้มันเปลี่ยน โดยการบีบผ่านสื่อ บีบผ่านการให้การศึกษา ให้คนรู้ ให้คนเข้าใจ เหล่านี้เป็นต้น อย่างเช่นที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เปิดสอนหลักสูตรมลายูศึกษาที่เชียงใหม่ แล้วทำไมต้องเปิดที่เชียงใหม่ ก็เชียงใหม่เป็นตัวปัญหา ยังมีคนอีกมากที่ไม่เข้าใจว่า พี่น้องร่วมชาติอื่นๆ เขาอยู่กันอย่างไร เราต้องรู้จักเขา ดังนั้นไม่ใช่ว่าปัญหาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะอยู่เฉพาะที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้นตอของปัญหาทั้งหมด มันอยู่ที่ความไม่ลงรอยของรัฐไทยที่เราได้พูดถึงมาแล้วเมื่อช่วงเช้า เพราะฉะนั้นสังคมไทยในวงกว้างจึงมีความสำคัญ


 


ส่วนที่ 3 สังคมส่วนที่เหลือคือ สังคมโลก ซึ่งในอนาคตที่พอจะมองเห็นได้ ผมเชื่อว่า โลกไม่สนใจ ทุกวันนี้ เราเริ่มจะยอมรับกันแล้วว่า มาเลเซียไม่มีวันเกี่ยวกับความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของไทย และเหตุผลที่ผมคิดว่า มาเลเซียไม่มีวันเกี่ยวเพราะว่า มาเลเซียย่อมมองเห็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนสำคัญกว่าอย่างอื่นทั้งหมด


 


ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มาเลเซียมีต่อประเทศไทยนั้น มันมโหฬารเกินกว่าที่เขาจะมาทำอะไรอย่างนั้นในภาคใต้ เขาอยากจะเห็นประเทศไทยที่สงบสุข เพื่อจะได้หาประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ มากกว่าที่จะหาประโยชน์จากความวุ่นวายที่สามจังหวัดภาคใต้ ทีวีทุกเครื่องที่เราซื้อ มันผลิตที่อยุธยาและมาเลเซีย มันไม่ได้ผลิตที่ใดที่หนึ่ง เวลานี้เราเป็นโรงงานให้กับญี่ปุ่นเท่าๆ กันทั้งคู่ คือใครถนัดอะไรก็ผลิตกันตรงนั้น แล้วมาประกอบเข้ากันที่บางปะอินบ้าง ที่มาเลเซียบ้าง และถือเป็นตลาดร่วมกันในสายตาของญี่ปุ่น


 


ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้ข้างหน้าที่เรามองเห็นได้ โลกจะไม่สนใจปัญหาชายแดนภาคใต้ไทย ทำท่าสนใจแต่จริงๆ แล้วไม่สนใจ เพราะมันมีผลประโยชน์อื่นบดบังมากกว่า หากถามว่าอเมริกาหรือจะมาทำอะไรประเทศไทย ผลประโยชน์ที่อเมริกามีอยู่ในประเทศไทย มันมากกว่าที่จะมาทำอะไรกันตรงนี้ ฉะนั้น ผมจึงคิดว่า มันเหลือเพียง 2 ที่ คือ สังคมท้องถิ่นกับสังคมไทยเองที่จะต้องแก้ปัญหาตัวเอง ส่วนสังคมโลกไม่มีความหมาย และทั้ง 2 อันนี้มันมีเงื่อนไข มันมีปัจจัยที่ไม่ง่าย การที่จะทำให้สังคมท้องถิ่นเคลื่อนไหวเพื่อที่จะขยายพื้นที่ทางการเมืองของตนเอง เคลื่อนไหวเพื่อที่จะรักษาความยุติธรรมอันพึงที่จะได้จากรัฐก็ตาม ทำให้สังคมไทยทั้งหมดเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันจากคนที่แตกต่าง จากคนที่มีความหลากหลายจากเรา ก็ไม่ใช่ง่ายทั้ง 2 อย่าง แต่มันเป็นทางออกทางเดียวที่เราจะทำได้ ไม่คิดว่าจะมีหนทางอื่น


 


ประเด็นที่ 7 เป็นประเด็นสุดท้ายคือ ความสมานฉันท์ ผมคิดว่า สมานฉันท์ถูกใช้เป็นคาถาในการเรียกร้องความสมานฉันท์โดยฝ่ายรัฐตลอดเวลา แต่รัฐกลับไม่มีความจริงใจในการสมานฉันท์ เพราะเหตุที่ว่า สมานฉันท์เกิดขึ้นได้จาก


 


หนึ่ง ความจริง คุณต้องทำความจริงให้ปรากฏ การที่เราจะสมานฉันท์กันได้ จะรักกัน จะให้อภัยต่อกันได้ เราต้องรู้กันก่อนว่าเราทำอะไรผิด แต่ปรากฏว่า กระบวนการที่จะเปิดเผยความจริงทั้งหมดของความสัมพันธ์ระหว่างชาวมลายูมุสลิมกับรัฐไทย มันไม่ได้เคยถูกเปิดเผยอย่างจริงจังสักที


 


ก่อนที่คุณจะให้อภัยผม ก่อนที่ผมจะให้อภัยคุณ เราต้องรู้ก่อนว่า ใครทำอะไรกันมาบ้าง ผิดแค่ไหน ถูกแค่ไหน จึงจะให้อภัยกันได้ ตราบใดที่เราไม่มีความพยายามที่จะเปิดเผยความจริงกันอย่างแท้จริง กรณีกรือเซะก็ตาม กรณีตากใบก็ตาม และกรณีอื่น ๆ อย่าง กรณีหะยีสุหรง ทุกวันนี้ก็ไม่มีใครที่จะพูดอะไรได้ว่าท่านถูกกระทำโดยรัฐ เพราะไม่มีหลักฐานอะไรที่จะพูดว่าอย่างนั้น แต่ก็รู้กันอยู่ว่า ท่านเสียชีวิตอย่างทารุณโหดร้ายเพราะอะไร แต่รัฐไม่เคยยอมรับว่า ครั้งหนึ่งเราปล่อยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมาทำอะไรต่อประชาชนได้ถึงขนาดนี้ ถ้าอย่างนั้นถามว่า ลูกหลานหรือผู้ที่นับถือท่านหะยีสุหรงจะให้อภัยรัฐได้ไหม ในเมื่อรัฐบอกว่า เขาไม่ได้เป็นคนทำ มันก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น การพูดความจริงเป็นเรื่องใหญ่


 


สอง เราต้องแก้ปัญหาเรื่องชาติ อย่างที่เคยพูดว่า ชาติไทยเป็นชาติที่พัฒนาไม่ถึงจุดสมบูรณ์สุดของมัน เราต้องพัฒนาให้มันถึงจุดสมบูรณ์สุดให้ได้ ต้องไม่มีความเหนือกว่าของกลุ่มชาติพันธุ์ใดในชาติ เราทุกคนต้องเท่าเทียมกัน ถ้าไม่อย่างนั้น มันก็ไม่เกิดชาติ คำว่าชาติคือคำว่าเสมอภาคนั่นเอง ไม่เคยมีครั้งไหนที่เรามีรัฐ แล้วทุกคนเท่าเทียมกันหมด แต่เราพยายามสร้างชาติขึ้นมาโดยพยายามรักษาความไม่เท่าเทียมกันที่มันเคยมีอยู่ ให้มันคงไว้ต่อไป ซึ่งคุณต้องแก้โจทย์นี้ให้ได้ ถ้าเราแก้โจทย์นี้ไม่ได้ ก็ไม่สามารถที่จะเปิดพื้นที่ให้กับชาวมลายูมุสลิมได้


 


ปัญหาอีกอันที่ผมทิ้งค้างไว้เมื่อช่วงเช้าคือ ปัญหาเรื่องเกี่ยวกับ Secularism รัฐโลกียวิสัย (Secular State) จะทำอย่างไร อย่างที่มีคนพูดถึงเรื่อง Revolution คุณต้องกระจายอำนาจ เราต้องกระจายอำนาจจริงๆ ไม่ใช่การกระจายอำนาจหลอกๆ จนถึงที่สุด แม้แต่การที่คุณจะต้องมีเขตปกครองพิเศษ ซึ่งจะแปลว่าอะไรก็ไม่ทราบ แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ จะต้องมี ก็ต้องมี


 


ผมเคยถามอาจารย์ธเนศที่เคยเรียนรัฐศาสตร์มาเหมือนกัน ว่า Unitary State รัฐเดี่ยว รัฐศาสตร์เขานิยามว่าอะไร ท่านบอกไม่รู้เหมือนกัน ดังนั้น ในที่สุดแล้ว การที่รัฐธรรมนูญมากำหนดว่า ประเทศไทยจะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแบ่งแยกมิได้ การที่เขาจะบอกว่า พื้นที่ 3 - 4 จังหวัดภาคใต้มีระบบปกครองอีกระบบหนึ่ง มันจะเป็นการแบ่งแยกดินแดนตรงไหน ก็ยังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่ ไม่เห็นแปลกอะไร


 


เพราะฉะนั้น เราต้องยอมรับความแตกต่างหลากหลายของระบบปกครองเพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ของเขา คนของเขา วัฒนธรรมของเขา ดังนั้น ข้อเสนอ 7 ประการของท่านหะยีสุหรง ข้อที่หนึ่ง เขตปกครองพิเศษ มันไม่เหมือนที่อื่น มันเป็นเขตที่มีคนถูกเลือกตั้งขึ้นมา แล้วก็เป็นผู้ดูแลทั้ง 3 - 4 จังหวัดนี้ คุณอาจจะไม่เอาโมเดลนี้ แต่คุณต้องคิดโมเดลที่มันเหมาะกับพื้นที่นี้ จะเป็นอย่างไรผมก็ไม่ทราบ และเมื่อมันมีเขตปกครองพิเศษ เราต้องคิดถึงสิทธิของคนกลุ่มน้อย


 


ผมขอยกคำพูดของอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ท่านบอกว่า


"พวกเราทุกคนซึ่งอยู่ตรงนี้เป็นคนส่วนน้อยหมด แล้วแต่คุณจะขีดวงไว้ตรงไหน ชาวมลายูมุสลิมเป็นคนส่วนน้อยในรัฐไทย คนไทยเป็นคนส่วนน้อยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นคนมลายู เราคือคนส่วนน้อย ฉะนั้น เราจึงต้องอ่อนไหวกับเรื่องสิทธิของคนส่วนน้อยให้มาก เพราะทุกคนเป็นคนส่วนน้อยหมด ไม่มีใครเป็นคนส่วนใหญ่สักคน"


 


ฉะนั้น ถ้ามันมีเขตปกครองพิเศษ จะต้องตกลงยังไง ผมก็ไม่ทราบโดยรายละเอียด แต่ต้องคิดถึงสิทธิของคนส่วนน้อย คือคนที่ไม่ใช่มุสลิม ซึ่งเขาอยู่ร่วมกันที่นี่มาหลายชั่วคนแล้ว เขาจะอยู่กันอย่างไร อันนี้ผมขอโยนลูกบอลให้ทางฝ่ายมลายูมุสลิมคิดบ้างแล้วว่า หากคุณจะอยู่ร่วมกับเขา คุณต้องกำหนดกติกาขึ้นมาเพื่อให้เขาอยู่ได้สบาย อย่างที่คุณอยากอยู่อย่างสบาย ไม่ว่าคุณจะแยกดินแดน ไม่ว่าคุณจะอยู่ในเขตปกครองพิเศษ ไม่ว่าจะอะไรก็ตามแต่


 


การไม่คิดถึงสิทธิของคนกลุ่มน้อย ก็จะเกิดปัญหาตลอดไป ถ้าอยู่ในประเทศไทย ก็จะเกิดปัญหากับประเทศไทย ถ้าแยกเป็นรัฐอิสระ ก็จะเกิดปัญหากับรัฐอิสระ เพราะมันไม่มีหรอก หากเราลองย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์มลายู ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ของชนชาติมลายู เป็นประวัติศาสตร์ของรัฐ ของเมือง ที่มีความหลากหลายที่สุดก็ว่าได้ เนื่องจากอยู่ริมทะเล ใครๆ ก็มาอยู่ตรงนี้ คนนานาประเทศต่างก็มาอยู่ตรงนี้ ดังนั้นคนมลายูมุสลิมล้วนมีประสบการณ์กับการอยู่ร่วมกับคนส่วนน้อยมาอย่างยาวนานมาก เราต้องดึงเอาความสามารถนั้นกลับมาใหม่ เพื่อจะใช้กับการที่จะมาอยู่ต่อไปข้างหน้า


 


สุดท้าย ผมขอพูดเรื่อง ความสมานฉันท์ ก็คือ คุณต้องยอมรับอัตลักษณ์ของมลายู ผมคิดว่า ปัญหาเรื่องศาสนาอิสลามไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ที่ผมทิ้งไว้เมื่อช่วงเช้าว่า ผมสงสัยว่ามีคนมุสลิมที่อยู่นอกเขตสามจังหวัดภาคใต้ มากกว่าคนมุสลิมที่อาศัยในเขตสามจังหวัดภาคใต้เสียอีก แต่คนเหล่านั้นกลับไม่มีปัญหา ที่มันมีปัญหาจริง ๆ คือ ความเป็นมลายู อัตลักษณ์ที่คุณรู้สึกสำคัญและถูกย่ำยีอย่างมากคือ ความเป็นมลายู


 


แต่อย่างที่ผมบอกในตอนต้นว่า คุณแยกทั้ง 2 อย่างออกจากกันไม่ได้ เพราะสำนึกของคนมลายูกับความเป็นมุสลิมนั้น มันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแยกไม่ออก และด้วยเหตุผลที่รัฐไทยไม่เปิดพื้นที่ให้คนอิสลามต่อสู้ได้ จึงจำเป็นต้องซ่อนการต่อสู้ ต่อรองกับรัฐมาในรูปของศาสนาอิสลามทุกที ไม่สามารถต่อรอง ต่อสู้ในเรื่องของความเป็นมลายูได้ ผมว่า เราต้องยอมรับความจริง คุณอยากเป็นมลายู คุณต้องอยู่ในรัฐนี้ให้ได้ ถ้าไม่ได้ก็ยุ่ง เพราะทุกคนจะทำแบบคนจีนหมด โดยสามารถหลบตนเองให้กลายเป็นไทยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ แต่คนมลายูทำแบบนั้นไม่ได้ เมื่อทำไม่ได้ คุณก็ต้องเป็นมลายู และรัฐต้องยอมรับความเป็นมลายูมุสลิม


 


และในบรรดาความเป็นมลายูทั้งหมด เรื่องภาษาเป็นเรื่องที่สำคัญ ผมเห็นด้วยกับทาง กอส. เป็นอย่างยิ่งในการมีข้อเสนอบอกว่า "ทำไมการศึกษาในเขตพื้นที่ 3 - 4 จังหวัดภาคใต้ จะเริ่มศึกษาประถม 1 ถึง ประถม 6 ด้วยภาษามลายูไม่ได้" ในเมื่อคนเขาเกิดเป็นมลายู เขาก็น่าจะใช้ภาษามลายูได้ การเรียนมันไม่ได้เรียนเพียงแค่ภาษาอย่างเดียว โรงเรียนนั้นสอนวิชาอื่นๆ ทุกอย่าง เมื่อเราเรียน เราก็ใช้ภาษามลายูไป เมื่อเราจบชั้นประถม แล้วเริ่มเรียนมัธยม เราก็สามารถเรียนภาษาไทยเหมือนกับเป็นภาษาต่างประเทศภาษาหนึ่งได้ จริงๆ ภาษาไทยไม่ได้แข่งกับภาษามลายู อย่างไรคนมลายูก็ไม่สามารถรู้ภาษามลายูอย่างเดียวได้ ที่จะอยู่ในโลกปัจจุบันนี้ คุณต้องรู้ภาษาที่สอง หนีไม่พ้น ถ้าไม่เป็นภาษามลายูแบบมาเลเซีย ก็ต้องเป็นภาษาอาหรับ ภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศส สำหรับภาษาไทยนั้นแข่งกับภาษาพวกนี้ ไม่ได้มาแข่งกับภาษามลายูท้องถิ่น แต่ไปแข่งกับภาษามลายูหลวง มลายูกัวลาลัมเปอร์โน่น หรือแข่งกับภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศสต่างหาก


 


สิ่งที่น่าเสียดายสำหรับภาษามลายูท้องถิ่นที่สุดก็คือว่า ทุกภาษาในโลกนี้ เมื่อตอนที่เรากำลังจะเข้ามาสู่สมัยใหม่ เรามีโอกาสพัฒนาภาษา แต่มันมีภาษาอีกเป็นร้อยเป็นพันภาษาที่ไม่มีโอกาสพัฒนาภาษา คือคุณไม่สามารถใช้ภาษานั้นในการที่จะสื่อสารของโลกสมัยใหม่ได้


 


ผมเคยถามกับเพื่อนที่เป็นคนเชียงใหม่โดยกำเนิดว่า ให้สอนวิชาประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นวิชาที่ง่ายแล้ว ด้วยภาษาคำเมืองได้ไหม เพื่อนผมทดลองดูก็คิดไม่ออก สอนไม่ได้ คิดไม่ทันที่จะเอาคำเมืองมาใช้อธิบายแนวคิดบางอย่าง คงยากมากเลย ผมกำลังสงสัยว่า แม้แต่ภาษามลายูท้องถิ่นก็อาจจะยากเหมือนกัน


 


คงทราบกันว่า ภาษามลายูนั้นถูกพัฒนาก่อนเพื่อนที่สุด และไปได้ไกลที่สุดคือ อินโดนีเซีย เมื่ออินโดนีเซียรับภาษามลายูเป็นภาษาอินโดนีเซียแล้ว มันมีการพัฒนาภาษามลายูในอินโดนีเซียมากกว่าในมาเลเซียด้วยซ้ำไป แล้วเป็นภาษาที่ใช้ทางวิชาการ ใช้แต่งวรรณคดี ใช้อะไรได้ร้อยแปด มาเลเซียเสียอีกที่มาพัฒนาภาษาตามมาในภายหลัง ผมคิดว่าภาษามลายูท้องถิ่นเสียโอกาสอันนี้ เหมือนกับที่ภาษาคำเมืองในเชียงใหม่เสียโอกาส ภาษาอีสานเสียโอกาสอย่างเดียวกัน คือ ไม่ได้มีโอกาสที่จะถูกใช้เอามาเขียนนิยายรัก เอามาใช้อธิบายวิทยาศาสตร์ และอธิบายอื่นๆ อีกร้อยแปด


 


เราต้องเปิดโอกาสอันนี้ให้ภาษามลายูท้องถิ่นได้มีโอกาสพัฒนาตนเอง แน่นอน ภาษามลายูหลายคำเราอาจต้องยืมมาจากภาษามลายูที่ใช้กันในมาเลเซีย อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น


 


เพราะฉะนั้น ความเป็นอัตลักษณ์มลายู เราต้องยอมรับ รัฐต้องยอมรับ ถ้าเราจะสมานฉันท์กัน เราต้องยอมรับว่า คุณกับผมนั้นมีความแตกต่างกัน จะเหมือนกันก็มี ต่างกันก็มี การยอมรับเช่นนี้เท่านั้นจึงจะทำให้เกิดความสมานฉันท์ได้จริง สมานฉันท์ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้จากการท่องคาถาสมานฉันท์ตลอดเวลา โดยไม่ทำอะไรเลย เป็นไปไม่ได้.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net