Skip to main content
sharethis

บทบรรณาธิการ จดหมายข่าวขัดขืน ฉบับเดือนมีนาคม 2550


 


 


 


นักวิชาการที่อาศัยใบบุญ 14 ตุลา ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลจากรัฐประหารใช้อำนาจเผด็จการมากขึ้น (ดู "ธีรยุทธ บุญมี"  เหน็บ รบ."ฤๅษีเลี้ยงเต่า" - แนะสวมบท "ขุนพันธ์" ห้ำหั่น "แม้ว" ผู้จัดการออนไลน์ 25 กุมภาพันธ์ 2550  )


 


สื่อมวลชนออกมาสั่งสอนคณะรัฐประหารว่าการแทรกแซงสื่อไม่ควรกระโตกกระตาก (ดู อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ "คนชังทักษิณเริ่ม "หดหู่" คนรักทักษิณเริ่ม "เริงร่า""กรุงเทพธุรกิจ 14 มกราคม 2550 หน้า 2)


 


นักกฎหมายบอกว่าคณะรัฐประหารคือรัฐาธิปัตย์อย่างไม่ตั้งคำถาม (ดู สุรพล นิติไกรพจน์ "ผมมีความหวัง" ไทยโพสต์ 15 ตุลาคม 2549)


 


นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยร่วมงานเลี้ยงฉลองความสำเร็จกับผู้นำรัฐประหาร (ดู "งานนี้ต้องฉลอง" จดหมายข่าวขัดขืน ประจำเดือนมกราคม 2550 หน้า 11)


 


นักวิชาการด้านสื่อบอกว่าช่วงเวลารัฐประหารคือโอกาสทองของการปฏิรูปสื่อ (ดู วิลาสินี  พิพิธกุล  (สัมภาษณ์) "ปีนี้เป็นปีทองของการปฏิรูปสื่อ ถ้าขับเคลื่อนต้องแรงและเร็ว" เนชั่นสุดสัปดาห์  19 มกราคม 2550 หน้า 72-75)


 


ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ


 


คงป่วยการที่จะถามว่าทำไมพวกเขา/เธอ ถึงเปลี่ยนไป  จากที่เคยเชื่อมั่นในสิ่งที่เรียกว่า ประชาธิปไตย/การมีส่วนร่วม/หลักนิติรัฐ  หรืออย่างน้อยก็รังเกียจพฤติกรรมผูกขาด/อำนาจนิยม  กลับมาเชิดชูระบอบรัฐประหารอย่างไม่ลืมหูลืมตา  คำตอบเดียวที่ได้รับจากคนเหล่านี้คือ ไม่มีอะไรจะเลวร้ายกว่า "ระบอบทักษิณ"  อีกแล้วและผู้นำรัฐประหารและนายกรัฐมนตรีล้วนแต่เป็น "คนดี"


 


สำหรับเราแล้วพฤติกรรมและการดำเนินนโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  นั้นเป็นปัญหาของพัฒนาการประชาธิปไตยอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นลักษณะอำนาจนิยม  หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการบริหารประเทศ  แต่นั่นก็มิใช่ใบเบิกทางสำหรับระบอบการเมืองอะไรก็ได้ที่เพียงแค่มี "คนดี" เข้ามาปกครองบ้านเมืองและกีดกัน "คนไม่ดี" ออกไป


 


เราอาจจะไม่มีนักธุรกิจที่ขายหุ้น 73,300 ล้านโดยไม่เสียภาษี แต่งบประมาณกระทรวงกลาโหม


หลังรัฐประหารเพิ่มขึ้น 29,800 ล้านบาท, เราอาจจะไม่มีนักธุรกิจ-นักเลือกตั้ง มาบริหารประเทศ แต่เราได้ระบบราชการที่ล้าสมัยกลับมา, เราอาจจะไม่มีเอฟทีเอกับสหรัฐเอมริกา แต่เราได้เอฟทีเอกับญี่ปุ่น, เราอาจจะไม่มีการแทรกแซงสื่อ แต่เราได้สื่อมวลชนที่รับใช้/แก้ต่างให้ระบอบรัฐประหารอย่างเต็มใจ,  เราอาจจะไม่มีรัฐธรรมนูญที่สร้างความเข้มแข็งให้นายกรัฐมนตรี แต่เราจะได้รัฐธรรมนูญที่มอบอำนาจกลับไปให้ข้าราชการและชนชั้นนำนอกรัฐธรรมนูญ ฯลฯ  


 


เราจะสรุปได้หรือยังว่า 6 เดือนที่ผ่านมา มันเป็นเพียง สิ่งที่เรียกว่า "อัปปรีย์ไป จัญไรมา" เท่านั้นเอง 


 


บทเรียนที่เกิดขึ้นนอกจากจะบอกว่ารัฐประหารไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองแล้ว ยังเป็นสิ่งย้ำเตือนสำหรับขบวนการประชาชนด้วยว่า การเคลื่อนไหวในแนวทาง "ประชาธิปไตยแบบพึ่งพิง" โดยโหนกระแส "ปรากฏการณ์สนธิ" (ซึ่งโหนกระแสพระราชอำนาจและรถถังอีกต่อหนึ่ง) นั้นไม่ได้สร้างความเข้มแข็งใด ๆ แก่ขบวนการประชาชนเลย  แน่นอนว่าการสร้างความเข้มแข็งแก่ขบวนการประชาชน นั้นไม่ง่ายและต้องใช้เวลา แต่มันก็เป็นวิถีทางเดียวมิใช่หรือที่จะสร้างความเติบโตและดอกผลกลับคืนสู่ประชาชนอย่างแท้จริง


 


........


 


ภายใต้สภาวการณ์ที่นักวิชาการ สื่อมวลชน และผู้ที่กำลังอ้างตัวว่าเป็นนักประชาธิปไตยจำนวนมากกำลังประหน้าทาแป้งรัฐบาลเผด็จการทหารชุดนี้อยู่นั้น เราเห็นว่าข้อเขียนของ "ปรีชา อารยะ" ซึ่งเป็นนามปากกาของวรพุทธิ์  ชัยนาม ปัญญาชนผู้ล่วงลับก่อนวัยอันควร กลับสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง ในบทความที่มีความแหลมคมยิ่งนี้


 


บัดนี้  เรามีรัฐบาลของพระเจ้าอยู่หัว มีสมัชชาประชาชนของพระเจ้าอยู่หัว และต่อไปก็จะมีรัฐสภาของพระเจ้ายู่หัว สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องประกันประชาธิปไตยของราษฎรแน่หรือ   ตรงกันข้าม นี่คือจุดเริ่มต้นของอำนาจมืดอีกลักษณะหนึ่งในยุคมืดที่เพิ่งสลายไปนั้น ใครที่ตำหนิติเตียนรัฐบาลดังเกินไปก็จะถูกตราหน้าว่าเป็น "ซ้ายจัด" บ้าง เป็น "คอมมิวนิสต์"บ้าง   ซึ่งล้วนเป็นข้ออ้างที่จะทำลายผู้มีความผิดเพียงขัดขวางอำนาจทรราชย์  แต่ต่อไปใครที่ตำหนิรัฐบาลและระบบที่สร้างขึ้นมาใหม่ก็คงต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาอีกกระทงหนึ่งของบรรดาขันทีบ้าอำนาจว่าเป็นกระทำการ "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ("อุบัติเหตุ 2516"  สังคมศาสตร์ปริทัศน์ กันยายน 2517 ) 


 


 


 


 


 

หมายเหตุ  จดหมายข่าว "ขัดขืน" เป็นวารสารข่าวต้านรัฐประหาร จัดทำโดยกลุ่ม 19 กันยาต้านรัฐประหาร ฉบับล่าสุดจะออกในวันที่ 18 มีนาคม 2550

เอกสารประกอบ

Download จดหมายข่าวขัดขืน ฉบับที่ 2 (ฉบับเต็ม)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net