Skip to main content
sharethis



บรรยากาศงาน "หกเดือนรัฐประหาร ก้าวต่อไปของประเทศไทย"


 


 



วิทยากรจากซ้ายไปขวา นพ.เหวง โตจิราการ ชุมพล ศิลปอาชา และ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์


 


 


วันนี้ (20 มี.ค.) ที่ห้อง 222 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาพันธ์ประชาธิปไตยและมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย จัดปาฐกถา "หกเดือนรัฐประหาร ก้าวต่อไปของประเทศไทย" โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้เข้าฟังแน่นห้องบรรยายกว่า 100 คน ผิดกับการเสวนาหัวข้อ "ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์: จะอยู่หรือไป?" ซึ่งจัดอยู่ใกล้ๆ กัน ที่ห้อง LT1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโดยสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สถาบันนโยบายศึกษา มี รศ.ดร.บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ คณะนิติศาสตร์ มธ. และ ศ.ดร.ลิขิต ธีระเวคิน อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคไทยรักไทย เป็นวิทยากรเสวนา โดยวงเสวนาดังกล่าวบรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงา มีผู้สนใจรับฟังเพียงไม่กี่สิบคนเท่านั้น


 


สำหรับวงปาฐกถา "หกเดือนรัฐประหาร ก้าวต่อไปของประเทศไทย" ซึ่งมี รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายชุมพล ศิลปอาชา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัย, อดีต ส.ส.ร. รัฐธรรมนูญปี 2540, อดีตวุฒิสมาชิกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นพ.เหวง โตจิราการ จากสมาพันธ์ประชาธิปไตยเป็นวิทยากรนั้น


 


ในช่วงหนึ่งของปาฐกถา รศ.ดร.วรเจตน์กล่าวว่า หลังการรัฐประหารแม้จะมีการอ้างการคอรัปชั่น การมีผลประโยชน์ทับซ้อนในรัฐบาลเดิม ในกลุ่มอำนาจเดิม แต่หลังรัฐประหารก็ไม่ปรากฏว่ามีหลักเกณฑ์ใดๆ ในการขจัดผลประโยชน์ที่ซ้ำซ้อนกัน คือบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในหลายองค์กรปัจจุบันนี้ ต่างได้รับเงินประจำตำแหน่งตอบแทนในทุกองค์กรที่ตนเองดำรงตำแหน่ง มีเงินประจำตำแหน่ง ไม่มีกฎเกณฑ์ในการขจัดประโยชน์อันซ้ำซ้อนในตัวรัฐธรรมนูญหรือในตัวกฎหมาย และไม่ปรากฏการตีความกฎหมาย ที่สามารถอธิบายให้เหตุผลได้ ทั้งในแง่ของวินัย งบประมาณ และการคลัง ทั้งในแง่ความเหมาะสม ถ้าเกิดจะกล่าวเลยไปถึงมโนสำนักและจริยธรรม ที่มีการกล่าวอ้างกันอยู่มากในเวลานี้ก็ไม่สามารถอธิบายได้ด้วย ว่าในการกล่าวอ้างเรื่องประโยชน์ทับซ้อนกัน สามารถชี้นิ้วไปที่บุคคลอื่นได้ แต่เมื่อชี้นิ้วกลับมาที่ตัวเองกลับไม่สามารถอธิบายได้


 


ผลของการรัฐประหารประการหนึ่ง คือทำให้เกิดการอ้างคุณธรรมจริยธรรมอย่างมากมาย การอ้างคุณธรรมและจริยธรรมโดยตัวมันเองไม่ใช่สิ่งผิด การอ้างคุณธรรมและจริยธรรมอาจเป็นอันตราย เพราะในที่สุดแล้วอาจเกิดมาตรฐานที่ไม่เหมือนกันหรือเกิดสองมาตรฐานในทางปฏิบัติ ถ้าการอ้างคุณธรรมเป็นไปในเกณฑ์เดียวกัน ก็ต้องบอกว่า ถ้าการตั้งพวกพ้องของตนเองเข้าไปในรัฐวิสาหกิจนั้น ถ้าคนอื่นทำไม่ได้พรรคพวกของตัวเองก็ทำไม่ได้ แต่แน่นอนการอ้างคุณธรรมนั้นไปไกลมาก ถึงขนาดให้ผู้ที่อ้างพ้นไปจากการตรวจสอบ นี่คือสิ่งที่อันตรายที่สุด


 


ตนขออนุญาตกล่าวถึงบุคคลท่านหนึ่งที่ไม่ต้องเอ่ยนาม ท่านอ้างว่าท่านเป็นวีรบุรุษ และเมื่อเป็นแล้วไม่ใช่จำเลยของสังคม และเมื่อไม่ใช่จำเลยของสังคมก็ไม่ควรต้องถูกตรวจสอบ ถ้ามองท่านผู้นี้ด้วยสายตาที่เป็นกลางนึดหนึ่ง ผมคิดว่า ลึกๆ แล้วคือความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนทรงคุณธรรม แต่เมื่อตนเองครอบครองอำนาจทางคุณธรรรมแล้วก็ถูกตรวจสอบไม่ได้ แต่คุณธรรมที่กล่าวอ้างนั้น มันขัดกับคุณธรรมประชาธิปไตย


 


"คือเราเวลาเราพูดถึงคุณธรรมและจริยธรรม เราไม่ควรพูดถึงคุณธรรมและจริยธรรมทั่วไป ในการปกครองประเทศต้องกล่าวอ้างถึงคุณธรรมจริยธรรมประชาธิปไตยด้วย นั่นคือคนที่อยู่ในอำนาจนั้นถูกตรวจสอบได้ ไม่ได้อ้างเพื่อไม่ให้ไม่ถูกตรวจสอบ เมื่อสิ้นหนทางก็อ้างความเป็นวีรบุรุษ" รศ.ดร.วรเจตน์กล่าว


 


ส่วนนายชุมพล ศิลปอาชา กล่าวว่า การเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ มีข้อดี เพราะสะท้อนเจตนารมย์ของประชาชน ทำไมเราไม่ไปหาประชาชนซึ่งสามารถสะท้อนเจตนารมย์ได้อย่างแท้จริงและครบถ้วน ชอบพรรคเลือกพรรค ชอบคนเลือกคน ความต้องการทางประชาธิปไตยของเราก็จะสมบูรณ์ และทำให้พรรคเล็กๆ มีสิทธิที่จะนั่งในสภาได้ และระบบนี้บังคับให้พรรคต้องเอานโยบายไปขาย ทำให้นโยบายเป็นหัวใจสำคัญของระบบบัญชีรายชื่อ บังคับให้พรรคเปลี่ยนวิธีเล่นการเมืองใหม่ ไม่ใช่โกหกพกลม ตอแหล หรือซื้อเสียง


 


ระบบบัญชีรายชื่อเป็นระบบการแต่งตั้ง สรรหา คัดเลือกผู้สมัครโดยพรรคการเมือง แล้วให้ประชาชนตัดสิน แต่ถ้าเป็นระบบแต่งตั้ง สรรหา คัดเลือกแบบที่คิดๆ กันทุกวันนี้ คนตัดสินไม่ใช่ประชาชน แต่เป็นกลุ่มที่มีอำนาจเป็นคนตัดสิน นายชุมพลกล่าว นอกจากนี้ในเรื่องกระแสการปฏิวัติซ้อนนั้น นายชุมพลกล่าวว่า ขอให้ดูว่ากองทัพลงตัวไหม ถ้าการบริหารอำนาจของคนมีอำนาจในปัจจุบันลงตัว การปฏิวัติไม่มี แต่ถ้าบริหารไม่ลงตัวทุกอย่างก็จบ


 


ด้าน นพ.เหวง โตจิราการ กล่าวถึงการประเมินนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลคณะรัฐประหารในช่วงระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมาว่า ทำให้เกิดความผิดพลาดและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อประเทศชาติ 6 ประการ ได้แก่ มาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์ การคงให้ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับสูงมาก การแก้กฎหมายประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว การยึดสถานีโทรทัศน์ไอทีวี การให้ข่าวความเสียหายของสนามบินสุวรรณภูมิจนทำให้ต่างชาติเกิดความไม่เชื่อมั่น ความไม่รู้ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช. และ ผบ.ทบ. เกี่ยวกับเรื่องดาวเทียม การรักษาความมั่นคงภายในประเทศไม่ได้ ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ-สังคมทุกตัวของประเทศตกต่ำ ตลาดหุ้นซบเซาอย่างรุนแรง โครงการเมกะโปรเจค ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การยึดอำนาจเนื่องจากกดดันจากสื่อบางฉบับ รัฐบาลไม่สนใจประชาชน ดึงดันจัดงบประมาณแบบขาดดุลนำเงินแผ่นดินไปเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง และการเปลี่ยน รมว.คลังคนใหม่ทำให้ความไว้วางใจในระบบเศรษฐกิจตกต่ำลง


 


ทั้งนี้ นพ.เหวง ระบุว่า สิ่งเหล่านี้จะทำให้ระบบเศรษฐกิจของไทยดิ่งเหวลงในที่สุด ถ้าเราปล่อยให้รัฐบาลชุดนี้บริหารมากขึ้น 1 วัน ความหายนะของประเทศชาติก็จะเพิ่มขึ้นอีก 1 วัน ทางที่ดีที่สุดของรัฐบาลชุดนี้คือหยุดบริหารทันที แล้วเปิดให้มีการเลือกตั้ง แล้วเอารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และเลือกตั้งกันอีกที เพื่อให้รัฐบาลใหม่มาแก้ความหายนะที่เกิดขึ้น


 


ในช่วงของการแลกเปลี่ยน นายวรพล พรหมิกบุตร อาจารย์คณะคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่า คณะที่ทำรัฐประหารได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ไม่ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีมาตราที่ 113 ที่ระบุว่าการยกเลิกรัฐธรรมนูญถือเป็นความผิดฐานกบฎ ถือเป็นความผิดติดตัว และมีอายุความอยู่ 20 ปี ส่วนการนิรโทษกรรมตัวเองนั้น หลักนิติธรรมไม่อนุญาตให้ผู้กระทำความผิดนิรโทษกรรมตัวเอง เพราะฉะนั้นเมื่อทำผิดกฎหมายอาญาแล้ว คนที่จะนิรโทษกรรมให้ต้องเป็นผู้อื่น คือประชาชน


 


 





0000


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


มาแว้ว! ปาฐกถาร้อนฉ่า: วรเจตน์ ภาคีรัตน์ "หกเดือนรัฐประหาร: ก้าวต่อไปของประเทศไทย"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net