Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 21 มี.ค. 50 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดสัมมนา เรื่อง "สื่อเสรี...ความเป็นไปได้ในสังคมไทย" โดยมีวิทยากรได้แก่ ดร. สมเกียรติ  ตั้งกิจวานิชย์, วสันต์ ภัยหลีกลี้ และอดิศักดิ์
ลิมปรุ่งพัฒนกิจ


 


ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างสื่อของรัฐ สื่อพาณิชย์ สื่อสาธารณะ และสื่อเสรี สื่อของรัฐจะทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐ สื่อพาณิชย์เสมือนการตลาดที่เน้นกำไรสูงสุด มักจะถูกแทรกแซงโดยกลุ่มทุน ส่วนสื่อสาธารณะจะพิจารณาได้จากการที่สื่อสาธารณะมองพลเมืองเป็นเจ้าของประเทศ และดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ปราศจากการแทรกแซงจากทั้งรัฐและกลุ่มทุน


 


สำหรับสื่อเสรีนั้น แม้เป็นอิสระจากรัฐแต่ไม่เป็นอิสระจากกลุ่มทุน ยังต้องพึ่งรายได้จากการโฆษณา ทำให้ไม่ถือเป็นสื่อเสรีอย่างแท้จริง เช่น ITV เนื่องจากกลุ่มทุนเหล่านั้นมีความสัมพันธ์กับกลุ่มการเมือง และมีการขยายหรือผสมผสานบทบาทเข้าไปมีอิทธิพลต่อสื่อ เช่น กลุ่มทุนทางการเกษตร กลุ่มทุนข้ามชาติ กลุ่มทุนโทรคมนาคม การดำเนินงานจึงไม่เป็นกลาง และขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ดำเนินงานไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เช่นที่มิได้ดำเนินตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้เสนอรายการสาระ 70 % และบันเทิง 30 %


 


วิธีที่จะทำให้ทีวีออกจากกลุ่มทุน คือ ออกกฎหมายเก็บภาษีจากการดูรายการทีวี ก็จะไม่มีการโฆษณา ทำให้สื่อมีความเป็นเสรีโดยแท้


 


ต่อการแก้ปัญหาไอทีวีนั้น ดร. สมเกียรติ เห็นว่า ควรมีทีวีเสรี เช่น ไอทีวี แต่ที่ผ่านมาไอทีวีถูกออกแบบมาผิด ควรปรับรูปแบบการดำเนินการใหม่  และต้องพิจารณาประเด็นที่ไอทีวีมีรายได้จากการโฆษณา ทำให้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงกลุ่มทุนได้ ย่อมถูกแทรกแซงจากกลุ่มทุน หากเป็นไปได้ ในประเทศไทยควรมีทีวี 2 ช่องที่เป็นทีวีเสรี เช่น ไอทีวี และ มีทีวีสาธารณะ เช่น ช่อง 11


 


ดร.สมเกียรติกล่าวว่า ต้องทำให้เกิดทีวีสาธารณะ ซึ่งรัฐจะต้องสนับสนุนทางการเงิน ใช้งบประมาณปีละ 1,000 - 1,700 ล้านบาท จากนั้นทำเป็นทีวีเสรี ซึ่งรัฐบาลจะประมูลโดยนำเงินประมูลเข้ารัฐ อันจะทำให้รัฐมีแรงจูงใจในการดำเนินการ


 


เขาเสนอ 4 ประเด็นที่จะให้สื่อสาธารณะ ที่เป็นสื่อเสรีที่แท้จริง คือ


 


หนึ่ง นายกรัฐมนตรีควรแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับทีวีสาธารณะ ประกาศ "วาระแห่งชาติด้านการปฏิรูปสื่อ"


สอง คณะรัฐมนตรีด้านสังคม ควรนำร่างพระราชบัญญัติองค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี


สาม สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายพระราชบัญญัติองค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะ


สี่ ประชาชนควรรวมตัวกันอย่างน้อย 100,000 คน เพื่อเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายพระราชบัญญัติองค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะ


 


นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ เครือเนชั่น กล่าวว่า ประชาชนควรมีทางเลือกมากขึ้นในการเลือกชมจากทีวีสาธารณะ หรือทีวีช่องปกติในปัจจุบัน อุดมคติในการสร้างทางเลือกในการจัดตั้งทีวี โดยมีทั้งทีวีสาธารณะ และทีวีของภาคธุรกิจ ควรใช้ประโยชน์จากโครงข่ายโทรคมนาคม ไม่ควรใช้เฉพาะระบบโทรศัพท์เพียงอย่างเดียว ซึ่ง ทศท. ควรใช้ประโยชน์จากโครงข่ายที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดในการสื่อสารของประเทศ


 


 


 


ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net