ข่าวประชาธรรม : หนุนปฏิรูปที่ดิน เริ่มที่ตรวจสอบนายทุน

ตามที่นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ส.ป.ก.ประกาศให้ปี 2550 เป็นปีแห่งการคุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเขตปฏิรูปที่ดินนั้น เบื้องต้นได้กำหนดพื้นที่ดำเนินการนำร่องเป็นรายตำบล รองรับมาตรการคุ้มครองพื้นที่การเกษตร โดยคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.)

 

ส่วนการดำเนินงาน ส.ป.ก.จะเข้าไปตรวจสอบการถือครองที่ดิน ส.ป.ก.ใหม่โดยใช้แผนที่ 1:4,000 หากพบว่าผู้ถือครองที่ดินรายใดใช้ประโยชน์ในที่ดินไม่เต็มที่ หรือใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ ผิดเงื่อนไข หรือสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะพิจารณาเพิกถอนสิทธิ และนำที่ดินเหล่านั้นมาจัดสรรใหม่ให้แก่เกษตรกรไร้ที่ดิน

 

นอกจากนี้ ส.ป.ก.ก็จะเจรจากับเกษตรกรเพื่อลดขนาดการใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงตามศักยภาพของเกษตรกร เพื่อนำที่ดินส่วนที่เหลือมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่ยังไร้ที่ดินด้วย

 

นายรังสรรค์ แสนสองแคว ตัวแทนกลุ่มปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน จ.ลำพูน และเป็นกรรมการกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ(นกน.) กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับหลักการของแนวคิดดังกล่าวที่จะมีการตรวจสอบการถือครองและใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก.ใหม่ และกระจายที่ดินเหล่านั้นไปยังเกษตรกรที่ไร้ที่ดิน ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นเจตนารมณ์ของกฏหมาย ส.ป.ก. แต่ก็ยังวิตกว่า กลไกการตรวจสอบพื้นที่ที่ดำเนินการเฉพาะ ส.ป.ก.ฝ่ายเดียว และใช้เครื่องมือแค่แผนที่ 1:4,000 นั้น อาจไม่สามารถตรวจสอบการถือครองและการใช้ประโยชน์ได้อย่างละเอียดถูกต้อง

 

ทั้งนี้ตนเห็นว่าในกระบวนการดำเนินการต้องให้ชุมชนในพื้นที่นั้นๆ รวมทั้งภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่นจะรู้ว่า พื้นที่ใดเป็นของใคร พื้นที่ใดมีการเปลี่ยนมือแล้วบ้าง ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริงหรือไม่ เพราะเรื่องเหล่านี้แผนที่ 1:4,000 ไม่สามารถอธิบายได้

 

"ผมอยากให้คนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบด้วย เพราะปัญหานี้มีความซับซ้อน อย่าง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ที่ดิน ส.ป.ก.ส่วนใหญ่ได้มาจากการซื้อขาย คนที่ได้ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่เกษตรกร ที่ดินมีการเปลี่ยนมือกันมาก หากจะตรวจสอบโดย ส.ป.ก.ฝ่ายเดียว อาจไม่เป็นผล เพราะเขาไม่รู้ข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งนี่คือปัญหา ดังนั้นผมขอเสนอว่า หาก ส.ป.ก.จะดำเนินการต้องให้ชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ มีส่วนร่วมด้วย" นายรังสรรค์ กล่าว

 

ส่วนการเจรจากับเกษตรกรเพื่อให้ลดขนาดการถือครองที่ดินส.ป.ก.ตามศักยภาพนั้น นายรังสรรค์ กล่าวว่า กรณีนี้ตนก็เห็นด้วย แต่ ส.ป.ก.ก็ต้องไปพิจารณากฎหมายส.ป.ก.ด้วยว่า มีการกำหนดจัดสรรให้เกษตรกรกี่ไร่ และที่สำคัญ ต้องพิจารณาด้วยว่า เงื่อนไขการลดขนาดการถือครองที่ดินลงนั้น มีหลักเกณฑ์ เงื่อนไข รายละเอียดอย่างไร

 

"โดยรวมของแนวคิดนี้ผมเห็นด้วย เพราะปัจจุบัน ที่ดินส.ป.ก.ที่จัดสรรให้เกษตรกรตกไปอยู่ในมือนายทุนจำนวนมาก ซึ่งขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของกฎหมายส.ป.ก.ที่จัดสรรที่ดินเหล่านั้นให้เกษตรกรไร้ที่ดิน ดังนั้นหาก ส.ป.ก.ดำเนินการตามแนวคิดนี้อย่างจริงจังและให้ชาวบ้านและส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าไปมีส่วนร่วมก็คิดว่าสามารถกระจายการถือครองที่ดินได้ในระดับหนึ่ง" นายรังสรร กล่าว

 

นายโยคินธ์ คำวงค์ กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อชุมชนภาคใต้ กล่าวว่า นโยบายของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ภาคใต้ ผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาการถือครองและการกระจายที่ดินมาโดยตลอด เช่น ที่ดินเอกชนที่ขาดสัญญาเช่า และที่ดินส.ป.ก.ที่มีการใช้ประโยชน์ขัดกับวัตถุประสงค์ แต่ที่ผ่านมา เครือข่ายฯ ไม่ได้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะมีปัญหาอุปสรรคหลายอย่าง อีกทั้งภาครัฐเองก็ไม่มีข้อมูลสถานการณ์ปัญหาของเกษตรกรที่ไร้ที่ดิน รวมทั้งในบางครั้งเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปตรวจสอบข้อมูลก็ไม่มีความเข้าใจในข้อกฎหมายต่างๆ

 

"ในรายละเอียดมีบอกเอาไว้อยู่แล้วว่า ควรจะจำกัดสิทธิในการถือครองที่ดินทำกินอย่างไร เช่น เกษตรกรรายย่อยตามคุณสมบัติ ควรจะมีที่ดินครอบครองกี่ไร่ นอกจากนี้ คนที่ถือครองที่ดินบางส่วนไม่ได้เป็นเกษตรกร แต่ประกอบอาชีพอื่น เช่น ข้าราชการ เป็นต้น ดังนั้นอาจจะเสนอกฎหมายให้มีการกำหนดคุณสมบัติของเกษตรกรว่า เกษตรกรต้องเป็นผู้ผลิตเอง นอกจากนี้ ต้องมีการเก็บภาษีที่ดินแบบอัตราก้าวหน้า เป็นต้น" นายโยคินธ์ กล่าว

 

นอกจากนี้ คณะกรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อชุมชนภาคใต้ กล่าวต่อว่า สำหรับที่ดิน นส.3 ที่อยู่ในการครอบครองของประชาชนในขณะนี้ ควรจะจัดตั้งหน่วยงานที่ไม่มีความซับซ้อนในข้อกฎหมายขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างจริงจังด้วย โดยตั้งคณะกรรมการนโยบายระดับชาติเฉพาะกิจ ทำหน้าที่ตรวจสอบที่ดินและติดตามแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด เพราะที่ผ่านมาเกิดการปัดปัญหาที่ดินไปให้กับหน่วยงานอื่น เช่น สปก. โยนไปให้หน่วยงานป่าไม้ ส่วนป่าไม่ก็โยนไปให้หน่วยงานอื่นๆ อีก ซึ่งเป็นความสลับซับซ้อนในข้อกฎหมาย

 

นายโยคินธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับข้อเสนอเบื้องต้นคือ รัฐควรสำรวจเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน พร้อมตั้งคณะกรรมการ โดยมีเครือข่ายที่ดินฯ เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย และรัฐต้องให้หลักประกันการมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ตั้งแต่การตรวจสอบจนถึงการใช้อำนาจในการตัดสินใจแก่คณะกรรมการที่เป็นภาคประชาชนด้วย ไม่ใช่เอากฎหมายมารุกรานเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนที่จะต้องลงมือทำ ถ้าไม่ทำตรงนี้หมายความว่า กระบวนแก้ไขปัญหาที่ดินไม่อาจเป็นจริงได้

 

นายสมยศ โต๊ะหลัง เจ้าหน้าที่ภาคสนามเครือข่ายเซฟอันดามัน (Save Andaman Network) กล่าวว่า เกษตรกรที่ถือครองที่ดินทำกินประมาณไม่เกิน 30-50 ไร่ ยังถือเป็นเกษตรรายย่อย ในกรณีการทำสวนยางพารา มีความจำเป็นต้องใช้ที่ดินอย่างพอเพียงในแบบเกษตรกรอยู่แล้ว หากรัฐจะทำการตรวจสอบ น่าจะตรวจสอบและจัดการกับผู้ถือครองที่ดินที่มีจำนวนเป็นพันหรือหมื่นๆ ไร่ให้เห็นเป็นรูปธรรมก่อนจะดีกว่าการมาไล่ตรวจสอบการถือครองที่ดินเอากับเกษตรกรรายย่อยแบบนี้ เพราะกรณีดังกล่าวดูเหมือนรัฐมาไล่บี้ขอแบ่งที่ดินจากเกษตรกรด้วยกันเอง แล้วมาจัดสรรให้กับเกษตรกรที่ไร้ที่ดินซึ่งไม่ค่อยยุติธรรมกับเกษตรกรนัก

 

"ผมคิดว่าควรมีการปฏิรูปที่ดิน โดยเฉพาะการตรวจสอบผู้ที่ถือครองที่ดินจำนวนหลายพันไร่ ออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมก่อนเพราะปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่ บางรายถือครองนับพันไร่แต่ไม่ใช้ประโยชน์ ส่วนเกษตรกรที่มีที่ทำกินมากเกินไปและยังไม่ตรวจสอบก็ค่อยว่าอีกที" นายสมยศ กล่าว 

 

นอกจากนี้ นายสมยศ กล่าวเสริมว่า การจัดสรรที่ดินควรระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ระบุแนวทางและมาตรการอย่างเป็นลำดับว่าจะดำเนินการจัดสรรที่ดินอย่างเป็นธรรมอย่างไร เช่น การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าสำหรับผู้ที่ครอบครองที่ดินจำนวนมาก ส่วนที่ดินที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ก็ต้องทำการยึดคืนมาเป็นของรัฐเพื่อนำมาจัดสรรใหม่ เพราะยังมีคนในประเทศอีกเป็นจำนวนมากยังขาดแคลนที่ดินอยู่อาศัยและที่ดินทำกิน

 

นายเที่ยง มุ่งทอง ตัวแทนชาวบ้านสำโรงเกียรติ ต.บักดอง อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งได้รับปัญหากรณีป่าสงวนแห่งชาติเขาพระวิหารทับที่ทำกิน กล่าวว่า ปัญหาการจัดสรรที่ดินทำกินให้เกษตรกรนั้นเป็นปัญหาที่หมักหมมมานาน รัฐบาลหลายชุดต่างก็บอกว่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นลำดับต้นๆ แต่เอาเข้าจริงๆ กลับไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอื่นๆแทน อย่างกรณีปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านสำโรงเกียรติมีมานานหลายสิบปีแล้ว แต่มาตรการการแก้ไขปัญหาก็ยังไม่คืบหน้าไปไหน หาก ส.ป.ก.จะพิสูจน์สิทธิ์การถือครองที่ดิน ส.ป.ก.ใหม่แล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้ชาวบ้านตามที่กล่าวไว้จริงก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะขั้นตอนการพิสูจน์สิทธิ์ของชาวบ้านในพื้นที่นี้ถูกดองไว้หลายปีแล้วเนื่องจากการทำงานที่ทับซ้อนกันของเจ้าหน้าที่รัฐเอง

 

"เรื่องความมั่นใจว่า ส.ป.ก.จะดำเนินการได้ตามแผนที่ว่าหรือไม่นั้น เรื่องนี้ผมให้น้ำหนักครึ่งต่อครึ่ง เพราะที่ผ่านมาก็มีการพูดในลักษณะนี้มาหลายยุคสมัยแล้วแต่ก็ไม่เป็นอย่างที่พูดไว้สักที ชาวบ้านก็เลิกหวังแล้ว แต่หาก ส.ป.ก.จะเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาที่ดินทำกินก็ถือเป็นข่าวดีสำหรับชาวบ้าน" นายเที่ยง กล่าว

 

นายเที่ยง กล่าวต่อว่า ปัญหาที่ดินทำกินนั้นตนอยากฝากไปยังหน่วยงานรัฐว่า เป็นปัญหาที่ซับซ้อน อย่างกรณีของพื้นที่ตน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหลายหน่วย การทำงานที่ทับซ้อนกันทำให้การแก้ปัญหาให้ชาวบ้านล่าช้าไม่คืบหน้าไปไหน ดังนั้นหาก ส.ป.ก.จะดำเนินการในเรื่องนี้ให้สำเร็จ จะต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเช่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่ด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วการแก้ปัญหาจะไม่สามารถสำเร็จลงได้.

 

 

ที่มา : สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท