Skip to main content
sharethis


วิทยากร บุญเรือง


 


 


ทำทีท่าว่าจะเป็นปาหี่ทางการเมืองอีกหนึ่งเรื่อง สำหรับกลุ่มคนผู้กำหนดชะตากรรมประเทศไทยจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารชุดนี้ เมื่อล่าสุด พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่อาจจะถูกนำมาเลือกปฏิบัติบังคับใช้กับคนบางกลุ่ม หรือไม่ได้แก้ไขปรับปรุงให้มีเนื้อหาให้สามารถต้านทานบรรษัทข้ามชาติได้อย่างจริงๆ จังๆ เสียแล้ว


 


หลังจากการรัฐประหารเมื่อปีที่ผ่านมา ประเด็นการนำ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ฉบับนี้มาตีความ / บังคับใช้ / ปรับปรุง / เปลี่ยนแปลง / แก้ไข นั้นมันร้อนแรงยิ่งนัก! เพราะถือว่าเป็นพันธกิจแรกๆ ที่กลุ่มคนผู้กำหนดชะตากรรมประเทศไทยจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารชุดนี้จะต้องพยายามทำและโฆษณาต่อสาธารณะชนอย่างเร่งด่วน ที่มันต้องเร่งด่วนก็เพราะ กระแสที่พ่วงมากับการรัฐประหารคือ กระแสเกลียดทักษิณ กระแสเกลียดสิงคโปร์ กระแสเกลียดนักธุรกิจข้ามชาติ นั่นเอง


 


ทีแรก ฝ่ายก้าวหน้าหลายพวกก็ดูเหมือนจะยอมๆ หยวนๆ ให้นำไปใช้เลือกปฏิบัติกับอำนาจเก่า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ต้านทานโลกาภิวัตน์กระแสหลัก เพราะกะว่าจะเกาะเอา พ.ร.บ.ชิ้นนี้เป็นเกราะกำบังโลกาภิวัตน์บรรษัทข้ามชาติ แต่ไปๆ มาๆ กลุ่มคนผู้กำหนดชะตากรรมประเทศไทยจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารชุดนี้ ก็เริ่มที่จะแสดงให้เห็นแล้วว่า ถ้าพวกเขายังอยากให้ชนชั้นนำ (ซึ่งก็รวมพวกเขาด้วย) เสวยสุขกันต่อไป ก็อย่าไปแตะกับนักลงทุนต่างประเทศให้มันมากนักจะดีกว่า --- นั่นปะไร! มิติทางเศรษฐกิจเอาชนะมิติทางอารมณ์ได้อีกครั้ง!


 


เพราะเพียงแค่ทูตสหรัฐกับทูตสหภาพยุโรปตบเท้าเข้าพบ รมต.พาณิชย์ กล่าวถึงความกังวลของ พ.ร.บ.ชิ้นนี้ว่า อาจจะขัดกับข้อตกลง WTO หรืออาจจะกระทบกับการลงทุนจากทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรป กลุ่มคนผู้กำหนดชะตากรรมประเทศไทยจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารชุดนี้ก็หนาวๆ ร้อนๆ กันเสียแล้ว นี่ยัง ยังไม่นับถึงแรงกดดันจากภาคธุรกิจภายในประเทศ ที่ดูเหมือนจะอึดอัดพอสมควรกับอาการกล้าๆ กลัวๆ ไม่กล้าตัดสินใจอย่างเด็ดขาดของกลุ่มคนผู้กำหนดชะตากรรมประเทศไทยจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารชุดนี้


 


ตอนนี้เรามีร่างที่ปรับปรุงของ พ.ร.บ.นี้ 2 ฉบับนะครับ ฉบับแรกก็เป็นของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากำลังตีความอยู่ ทั้งนี้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ร่างแก้ไขของกระทรวงพาณิชย์ ยังมีบางมาตราที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่ เพราะดูจะเป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างนักลงทุนเดิมกับนักลงทุนใหม่ --- ส่วนอีกฉบับ เป็นร่างคู่ขนานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)


 


และทั้งสองร่างแก้ไขนี้ มีข้อแตกต่างกันพอสมควร ที่เห็นชัดๆ ซึ่งได้มีการเปิดเผยไปแล้ว ก็เช่นเรื่องสิทธิออกเสียงหรือโหวต ของผู้ถือหุ้นต่างชาติ --- ซึ่งหลายฝ่ายยังเห็นตรงกันว่า มันยังกำกวมในการตีความ


 


ร่างของกระทรวงพาณิชย์นั้น ใช้หลักการพิจารณาความเป็นคนต่างด้าวโดยดูที่ความเป็นเจ้าของบริษัท หรือการถือหุ้นข้างมาก โดยได้เพิ่มในเรื่องสิทธิการออกเสียงเข้ามา เพราะสามารถตรวจสอบได้จากการจดทะเบียน แต่ทั้งนี้กลับไม่ได้ดูถึงอำนาจในการบริหารจัดการ ซึ่งร่างนี้อ้างว่ามันมีความยุ่งยาก เนื่องจากกรรมการมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย


 


ขณะที่ร่างของสนช. ได้ปรับนิยามคนต่างด้าว โดยผ่อนปรนให้กับบริษัทที่คนต่างด้าวถือหุ้นไม่เกิน 50% แต่มีสิทธิออกเสียงเกินกึ่งหนึ่ง สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด คือ สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำโดยสุจริต และมีความจำเป็นในทางธุรกิจ มีการพิสูจน์ได้ชัดว่า ที่มาของทุน ทำให้ผู้ร่วมทุนฝ่ายไทยได้ประโยชน์ในทางธุรกิจจริง และมิได้มีเจตนาที่จะให้ผู้ลงทุนฝ่ายไทย เป็นผู้ถือหุ้นแทนหรือลงทุนแทนคนต่างด้าว เพราะคนไทยต้องการแบรนด์หรือเทคโนโลยีของต่างชาติ จึงยอมให้มีสิทธิออกเสียงมากกว่าคนไทยได้



ร่างใหม่ของ สนช. นี่แหละ ที่แสดงให้เห็นถึงอาการหวาดหวั่น หากนักลงทุนต่างชาติชิ่งหนีไป จึงต้องยอมผ่อนคลายการกดดันนักลงทุนจากต่างประเทศลงไป ...ว่ากันว่าการกดดันเกิดมาจากภาคธุรกิจที่ทำให้ สนช. 58 คนต้องรวบรวมรายชื่อ เสนอแนวทางปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ทำคู่ขนานไปกับแนวทางเดิมที่ ครม.เคยอนุมัติในหลักการไปแล้ว


 


โดยขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์เองก็ได้ตั้งคณะทำงานชุดพิเศษขึ้นมาเพื่อปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฉบับนี้ ซึ่งมีเวลาทำงาน 30 วัน (จากวันที่ 21 มีนาคม) ก่อนที่จะนำเสนอให้ รมต.พาณิชย์ให้นำข้อสรุปส่งเข้า ครม. อีกครั้ง


 


จะอย่างไรก็แล้วแต่ ในการแก้ไขร่างและบังคับใช้ พ.ร.บ.นี้ให้มีความเข้มงวดน้อยมากแค่ไหน สิ่งสำคัญขณะนี้ที่ภาคเอกชนต้องการคือ "ความชัดเจน"


 


"รัฐบาลควรยึดมั่นในเจตนารมณ์และแนวทางเดิมในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ตามร่างของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งแม้จะกระทบต่อความเชื่อมั่นและบรรยากาศในการลงทุนไปบ้าง แต่ก็ควรจะไปแก้ไขด้วยแนวทางอื่น ไม่ใช่กลับมาแก้ไขที่กฎหมายอีกครั้ง เช่น หากกฎหมายฉบับนี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ก็อาจจะไปยืดหยุ่นในการกำหนดระยะเวลาปรับตัวของบริษัทต่างด้าว จากเดิมที่ให้เวลาปรับตัว 1-2 ปี ... รัฐบาลควรจะมีหลักการ ยึดหลักโปร่งใสทางกฎหมาย ไม่ควรจะไปหวั่นวิตกตามกระแส เพราะเราต้องการทำให้เกิดความชัดเจน สอดคล้องกับหลักสากลที่ต้องการส่งเสริมหลักธรรมาภิบาล" --- พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองเลขาธิการสภาหอการค้าไทย ให้ความเห็นถึงการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ครั้งนี้ ( ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ Bizweek ฉบับวันที่ 16 - 22 มี.ค. 2550 )


 


ครับ ผลที่ออกมาจะเข้มงวดกว่าเดิม อ่อนยวบกว่าเดิม หรือไม่เปลี่ยนแปลงไปจากที่มันเป็นอยู่ อย่างไรก็แล้วแต่ ต้องรีบเผยไต๋ออกมาว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ เพราะยิ่งนานวันไปเท่าไหร่ ก็พาลแต่จะมีคนอึดอัดไม่กล้าทำอะไร


 


สิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้นักลงทุนเพียงแค่ต้องการความชัดเจน เพื่อที่จะได้วางหมากปรับกลยุทธให้อยู่รอดกันใหม่ ในยุคที่การเมืองจะมีสภาพง่อนแง่นไม่แน่นอนเฉกเช่นในอนาคต --- ทั้งนี้ข้อสรุปที่จะเกิดขึ้น มันก็ยังอาจจะช่วยทำให้เห็นว่าพวกท่านมีน้ำยาแค่ไหน สำหรับการขุด พ.ร.บ.ชิ้นนี้มาสร้างความชอบธรรมให้แก่อำนาจเถื่อนที่พวกท่านกำลังพิงอยู่มันอยู่ พวกท่านกล้าไหม? ที่จะท้าทายกับโครงสร้างการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากบรรษัทข้ามชาติ ... เห็นชอบอ้างกันนักบ่อยหนิ คำนี้ ;-)


 


( โปรดรอลุ้นอีก 30 วัน ครับ! )


 






 


สาระสำคัญของ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 2542

เป็นกฎหมายด้านเศรษฐกิจที่กำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองการลงทุนของคนไทยจากการแข่งขันของต่างชาติ โดยกำหนดประเภทธุรกิจและเงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้ชาวต่างประเทศเข้ามาลงทุนได้ มีการประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2542 ซึ่งสาระสำคัญประกอบด้วย



1. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี ตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีจะประกาศกำหนด



2. กำหนดประเภทธุรกิจที่ห้ามคนต่างด้าวลงทุน แบ่งเป็น 3 บัญชี ได้แก่บัญชีหนึ่ง ห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบกิจการด้วยเหตุผลพิเศษจำนวน 9 ประเภท บัญชีสอง ห้ามประกอบธุรกิจตามบัญชีด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง วัฒนธรรมประเพณี เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีโดยการอนุมัติคณะรัฐมนตรี จำนวน 13 ประเภท และบัญชีสาม ห้ามมิให้ประกอบธุรกิจที่คนไทยยังไม่มีความพร้อม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี โดยความเห็นชอบคณะกรรมการ จำนวน 21 ประเภท



3. กำหนดทุนขั้นต่ำในการเริ่มต้นประกอบการในประเทศไทยที่ 2 ล้านบาทสำหรับธุรกิจทั่วไป และเท่ากับ 3 ล้านบาทสำหรับธุรกิจในบัญชี



4. กำหนดหลักปฏิบัติเกี่ยวกับการลงทุนของคนต่างด้าวที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน การได้รับอนุญาตตามกฎหมายการนิคมอุตสาหกรรม และกฎหมายอื่นๆ



5. กำหนดให้มีคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว มีหน้าที่ให้คำปรึกษาในการออกกฎข้อบังคับตามกฎหมาย ศึกษาจัดทำรายงานผลกระทบเสนอรัฐมนตรี และให้คำเสนอแนะต่างๆ มีกรมทะเบียนการค้าเป็นสำนักงานเลขานุการ



6. กำหนดบทลงโทษการไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายที่มีโทษทางอาญาทั้งโทษปรับ และหรือจำคุก โดยมีบทกำหนดโทษสูงสุดคือการจำคุก 3 ปี


 


อ่านฉบับเต็ม >> พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net