Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 22 มี.ค. 50 อาจารย์วิชัย กิจโร ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ ให้สัมภาษณ์ว่า จากการที่ตนได้ดูเอกสารที่ ผศ.ดร.มาณพ ภาษิตวิไลธรรม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มรช.) ทำหนังสือถึงนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในเรื่อง การขอจัดตั้งวิทยาลัยชาติพันธุ์ศึกษา ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2549 ตนเองคาดว่า ทางนี้อาจจะพยายามต่อสายการเมือง ซึ่งถ้ามองในแง่เจตนาก็คงจะหวังดี จึงมาแนะแนวนักเรียนที่นี่ให้ไปเรียนต่อ


 


อาจารย์วิชัย กล่าวต่อว่า เด็กนักเรียนที่นี่มีอยู่ 6 ชาติพันธุ์ รุ่นนี้เป็นรุ่นแรกของโรงเรียน ช่วงนั้นมีมหาวิทยาลัยอื่นมาแนะแนวเยอะ ส่วนใหญ่ทำหนังสือมาเป็นทางการ บางแห่งก็ไม่มี ทาง ผอ.สถาบันชาติพันธุ์


มาคุยปากเปล่า ทางเราก็ให้คุยกับเด็ก ท่านบอกว่า ถ้าได้ไปเรียนให้ทุนให้อะไร เด็กๆ ก็สนใจ วันนั้นนอกจากตนแล้วก็ยังมีอาจารย์ฝ่ายแนะแนวอีกท่านที่ย้ายไปประจำที่ อ.ทุ่งช้าง คือ อาจารย์อนงค์ลักษณ์ มโนวงค์ ฟังอยู่


 


"ท่านไม่ได้มีการเซ็นเยี่ยม มาคุยปากเปล่า ก็มีนักเรียนมาฟังทั้งห้อง ตอนที่นักเรียนไปลงทะเบียนที่ราชภัฏเชียงรายก็มีรถของอาจารย์ที่ปรึกษา คือ อาจารย์วัชระ ยะปัญญา กับ รถโรงเรียนอีก 1 คัน เดินทางไปส่ง ทางโรงเรียนเห็นว่า เด็กกลุ่มนี้เป็น นักเรียนรุ่นแรก และเด็กยังมีปัญหา เมื่อมีที่เรียนที่ไหนทางโรงเรียนก็จะไปส่งให้


 


เด็กรุ่นแรกได้โควตาที่อื่นเยอะแยะครับ อย่าง น.ส.นิภา แซ่ลิ้ม ก็ได้โควตาพิษณุโลกเอกภาษาไทย และเอกภาษาอังกฤษที่ราชภัฏลำปาง แล้วเขาเลือกไปเชียงราย ผมจำได้เลย แต่ไม่แน่ใจเรื่องเอกสารการได้โควตาว่า เก็บไว้หรือไม่ ส่วนใหญ่ผมก็เห็นว่า ได้หลายที่ราชภัฏพิบูลสงครามก็ได้ เอกภาษาไทย ราชภัฏลำปาง เอกภาษาอังกฤษที่เขามีหนังสือแจ้งมา แล้วเชียงรายก็แจ้งมาอีก คือที่ศูนย์ชาติพันธุ์


 


เมื่อเกิดปัญหาอย่างนี้ขึ้นมา ทางโรงเรียนก็พร้อมที่จะช่วยเหลือดูแลให้ตามสภาพ ผมไม่มีอำนาจอะไรไปจัดการเรื่องนี้ แต่ต้องการให้มหาวิทยาลัยราชภัฏแก้ปัญหาให้ นักเรียนของเราได้มีโอกาสเรียนต่อ ถ้าเรียนที่ชาติพันธุ์ไม่ได้ก็หาคณะอื่นให้ ช่วยเทียบหน่วยกิตแล้วก็เรียนปี 2 จะได้ไม่เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายอะไรอีก" ผอ.วิชัยกล่าว


 


น.ส.นิภา แซ่ลิ้ม นักศึกษาชาติพันธุ์ชั้นปีที่ 1 จากจังหวัดน่าน กล่าวว่า ทางโรงเรียนได้มอบเอกสารให้กับพวกตน 2 ชุด คือ การติดต่อโทรศัพท์ทางไกลระหว่างโรงเรียนกับสถาบันชาติพันธุ์ศึกษาในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2548 ถึงต้นมกราคม 2549 ที่ระบุว่าเป็น "การศึกษาต่อ" และหนังสือขอความร่วมมือตรวจสอบหนังสือสำคัญแสดงหลักฐานการศึกษาของตนและเพื่อนรวม 10 คนที่ออกโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เมื่อวันที่ 21สิงหาคม 2549 เพื่อทำสำเนาไว้ให้เป็นหลักฐาน


 


 "พวกเราแยกกันลงไปรวบรวมข้อมูลที่โรงเรียนเก่าและที่บ้าน นักเรียนรุ่นแรกของที่นี่มีกันอยู่ 41 คนไปสมัครเรียนที่ มรช. 26 คน ในนั้นมี 13 คน สมัครเข้าเรียนในสาขา ชาติพันธุ์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่ ผอ.สมบัติ มาแนะแนว พวกเราต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับ มรช. และค่าเดินทางในการสมัครเรียนที่นี่ รวม 34,472 บาท ตอนนี้เหลือที่เรียนอยู่ มรช.แค่ 4 คน คือ พวกหนู ส่วนเพื่อนคนอื่นไปเรียนต่อที่ราชภัฏอุตรดิตถ์ วิทยาเขตน่าน ราชภัฏลำปาง ไปทำงานก่อสร้างที่กรุงเทพ และทำไร่อยู่ที่บ้าน"


 


นส.นิภา กล่าวเพิ่มเติมว่า การกลับบ้านในครั้งนี้ ถือโอกาสมารวบรวมข้อมูลทำเป็นรายงานเสนอต่อสาธารณชนเพื่อพิสูจน์ความจริงว่า ทาง ผอ.สถาบันชาติพันธุ์ฯ ได้มาหลอกเด็กจริงๆ และการกระทำครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายให้กับพวกเราชาวน่านหลายสิบครอบครัว


 


ทางด้าน ร.ต.อ.รังสรรค์ ทินบุตร พนักงานสอบสวน สภอ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน กล่าวถึงความคืบหน้าหลังจากที่นายอรุณ แซ่ลิ้ม อายุ 62 ปี บิดาของ นส.นิภา แซ่ลิ้ม พร้อมผู้ปกครองของนักศึกษาอีก 3 รายได้เข้าแจ้งความกับตนในวันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม 2550 ตอนนี้ทาง ตำรวจได้สืบพยานที่เป็นผู้ปกครองของเด็กที่ได้รับความเสียหายจากพฤติการณ์ของ ผอ.สถาบันชาติพันธุ์ฯ ในเขตจังหวัดน่านเสร็จแล้ว และกำลังขยายผลเพื่อสืบนักเรียนคนอื่นกับทางโรงเรียนต่อ คาดว่าปลายเดือนนี้ทางทีมสอบจะเดินทางไปสืบพยานที่จังหวัดเชียงราย


 


"ทางผมได้เรียนท่านผู้กำกับแล้ว ท่านมีนโยบายให้เราติดตามเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจ คงต้องใช้เวลาพอสมควรในการสอบพยานหลายปาก เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย เมื่อสอบเอาพยานเพื่อให้ได้ข้อมูลหลักฐานแล้วจึงจะเรียก เจ้าตัวมารับทราบข้อกล่าวหาและถ้าเป็นความผิดในหน้าที่ทางราชการ ทางตำรวจก็ต้องส่งเรื่องไปให้ ปปช. อีกที".


 


ขณะเดียวกัน ในเวทีเสวนาเดือนสตรีสากล หัวข้อ "ผู้หญิงในรัฐธรรมนูญไทย" ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 19-21 มีนาคม 2550 ได้มีการหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาสนทนากันอีกครั้ง โดยนายศักดิ์ดา แสนหมี่ ผู้ประสานงานสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT) ตอบคำถามในที่ประชุมว่า


 


ตนรู้สึกเสียใจกับเรื่องนี้ และคิดว่า เครือข่ายผู้รู้ที่เข้าไปเกาะเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยก็ถูกหลอกเช่นกัน ทางออกในเรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องให้นักศึกษาทั้งกลุ่มที่ถูกหลอกลวง และกลุ่มที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศได้รับการคุ้มครอง แต่ก็ไม่แน่ใจว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายจะทำเรื่องนี้จริงจังหรือไม่ เพราะเท่าที่ดูอยู่ตอนนี้ เรื่องนี้เป็นประเด็นสาธารณะแล้ว แต่มหาวิทยาลัยยังมี Action (มาตรการเคลื่อนไหว) น้อยมาก ส่วนทางเราก็ยังไม่มีช่องทางอะไรในทางกฎหมายที่จะเอาผิดกับผู้กระทำได้ สมกับความเสียหายที่ชนเผ่าได้รับ ตนคิดว่า ปัญหานี้จะต้องมีการแก้ไขแบบร่วมมือหลายฝ่าย เพราะถ้าปล่อยให้มหาวิทยาลัยทำเองฝ่ายเดียว คาดว่า เรื่องก็จะเงียบหายไปในที่สุด


 


นายศักดิ์ดายังเสนอให้มหาวิทยาลัยมีมาตรการในการคัดสรรบุคลากรหรือครูบาอาจารย์ที่จะมาทำงานกับชนเผ่าใหม่โดยใช้บทเรียนจากกรณีนี้ และกล่าวว่า ในฐานะที่องค์กรของตนให้การสนับสนุนเครือข่ายผู้รู้อยู่ก็ต้องกลับมาทบทวนและสรุปบทเรียนว่า จะทำอย่างไรให้เครือข่ายผู้รู้มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาเยาวชนมากขึ้น และจะต้องพัฒนากลไกสนับสนุนให้เท่าทันกับเล่ห์เหลี่ยมขององค์กรที่เข้าไปร่วมทำงานด้วย


 


ทาง รศ.วิระดา สมสวัสดิ์ ประธานมูลนิธิผู้หญิง กฎหมายและการพัฒนาชนบท กล่าวว่า องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิชนเผ่า สิทธิเด็ก ผู้หญิง สิทธิพลเมือง ต้องมีกระบวนการในการติดตามผลเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง อาจจะทำหนังสือถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายโดยตรง หรือกระทรวงศึกษาธิการก็ได้ ส่วนตอนนี้ทางมูลนิธิฯ ได้ยื่นหนังสือถึงสถานทูตนิวซีแลนด์ให้ระงับการออกวีซ่าจนกว่าจะมีการสอบสวนเสร็จ เนื่องจากทราบข่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยมีโครงการให้ทุนอดีต ผอ.สถาบันชาติพันธุ์ฯ ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ซึ่งทางสถานทูตก็ได้ดำเนินการตามคำร้องขอแล้ว นอกจากนี้ทางมูลนิธิฯ ยังออกแถลงการณ์ และให้ร่วมลงชื่อในทางเว็บไซต์อีกด้วย


 


ด้าน อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ คณาจารย์อาวุโส มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของการหลอกลวง การล่วงละเมิดทางเพศ หรือแค่เรื่องความขัดแย้งระหว่างอาจารย์ตามที่มหาวิทยาลัยพยายามจะบอก แต่ยังเป็นเรื่องของการแสวงหาประโยชน์บนความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นประเด็นทางเศรษฐกิจการเมืองในภูมิภาคนี้ เนื่องจาก อดีต ผอ. สถาบันชาติพันธุ์ฯ พยายามจะไปดึงเงินจากฝ่ายการเมือง คือ พรรคไทยรักไทย เพื่อนำมาใช้ในการขยายงานด้านนี้ เมื่ออดีต ผอ.และผู้บริหารมหาวิทยาลัยตกอยู่ภายใต้ความหอมหวานของอำนาจและเงินที่จะมาจากฝ่ายการเมืองก็เลยทำให้เขาไม่ต้องการจะรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น และต้องการจะปกปิดไม่ให้ใครเห็นปัญหาตรงนี้


 


เขาพยายามทำให้เรื่องเงียบ ให้มันหายไป แล้ววิธีการที่ง่ายที่สุด ก็คือ การจัดการเด็กและอาจารย์ที่ปรึกษาเสีย จะทำยังไงให้เด็กยุบ ให้ถอนตัว ให้ละลายหายไปเลย เรื่องจะได้เงียบไป ซึ่งก็เท่ากับว่าถ้าเป็นเรื่องการ rape หรือการข่มขืน ก็เท่ากับ เป็นการข่มขืนเด็กในครั้งที่สาม ที่สี่ ที่ห้า เลยทำให้เด็กหมดความเชื่อมั่นในตนเอง หมดความภาคภูมิใจในตนเอง กลายเป็นว่าเด็กเป็นผู้ผิด เป็นผู้สร้างเรื่อง เป็นผู้ทำให้ผู้ใหญ่เดือดร้อน ทำให้มหาวิทยาลัยเสียชื่อเสียง ตราบาปแบบนี้จะติดตัวเขาไป แต่ถ้าเราคิดจะเป็นผู้คอยจับตาดูเรื่องนี้แล้ว จะทำอะไรต่อไป เราต้องทำอย่างเข้าใจว่า เด็กเป็นเหยื่อตลอด เป็นเหยื่อที่ถูกกระทำตลอด


 


อาจารย์ฉลาดชายทิ้งท้ายว่า "เรื่องนี้มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าราชภัฏ ผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัยหรือ


กระทรวงศึกษาว่า จะทำอะไร อันนี้ขึ้นอยู่กับเรา ประชาชนว่า จะทำอย่างไร จะเคลื่อนไหวอย่างไร ต้องการให้เกิดอะไรขึ้น คือ ถ้าเราต้องการให้เกิดการสะสางในเรื่องนี้ให้ชัดเจนก็ต้องผลักดันต่อ ต่างฝ่ายไม่ควรจะนิ่งเชย ไม่เช่นนั้นผู้มีอำนาจก็จะนิ่งเชยจนกว่าพลังผลักดันจะหมดแล้วเรื่องจะเงียบ ประเด็นนี้โยงเข้ากับรัฐธรรมนูญในฐานะที่เราเป็นเจ้าของชีวิต เป็นเจ้าของเนื้อตัวร่างกาย ในฐานะที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรม เป็นชนเผ่า และเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยนี้ ซึ่งเป็นหมวดที่รัฐธรรมนูญต้องยึดถือไว้ ในเรื่อง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน" อาจารย์ฉลาดชายกล่าวในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net