Skip to main content
sharethis


ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี


ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


 


เหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระยะหลัง มักเกิดขึ้นโดยมีความพยายามที่จะนำเอามวลชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยเปิดเผย ทั้งนี้ เพราะความรุนแรงหรือการก่อการร้ายในปัจจุบัน เป็นรูปแบบพิเศษของการเมืองว่าด้วยอัตลักษณ์ อาจจะกล่าวในอีกแง่หนึ่งได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสงครามแห่งสัญลักษณ์นั่นเอง


 


แม้ว่าการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 ผ่านมาเป็นเวลา 5 เดือนกว่าแล้ว แต่สถานการณ์ในพื้นที่ก็ยังมีแนวโน้มไปในทางรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งๆ ที่นโยบายรัฐบาลปัจจุบันมุ่งเน้นการส่งสัญญาณเชิงสมานฉันท์ไปสู่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ประชาชนโดยทั่วไป และพยายามใช้ความประนีประนอมในการแก้ปัญหาด้านชาติพันธุ์และศาสนาในพื้นที่


 


แต่ปัญหาก็ยังคงรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งแสดงออกให้เห็นในรูปแบบของการใช้ความรุนแรงด้วยความถี่สูงขึ้นและด้วยวิธีการที่โหดเหี้ยมมากยิ่งขึ้น


 


นอกจากวิธีการใช้ความรุนแรงแล้ว สัญญะของความรุนแรงก็ยังถูกแสดงออกในรูปอื่นๆ เพื่อเสริมความเข้มแข็งของปฏิบัติการทางวาทกรรมในการต่อสู้เพื่อต่อต้านและลดทอนอำนาจอันชอบธรรมของรัฐ ทั้งในรูปของการแจกใบปลิวและข่าวลือในหมู่ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการแสดงออกด้วยการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐ นโยบายและการปฏิบัติการทางยุทธวิธีของรัฐต่อการเคลื่อนไหวมวลชน จึงมีผลต่อการสกัดกั้นและยับยั้งไม่ให้ความขัดแย้งขยายตัวไปสู่ประชาชนในวงกว้างอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต


 


จากสถิติที่ผ่านมาในรอบ 3 ปีกว่าของความรุนแรงในพื้นที่ มีเหตุการณ์ที่เรียกว่า การชุมนุมประท้วงโดยมวลชนรวม 26 ครั้ง ครั้งล่าสุดก็คือในอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา (20 มี.ค. 50)


 


จะเห็นได้ว่า ในช่วงเวลา 38 เดือน มีการประท้วงเกิดขึ้นที่จังหวัดยะลา 12 ครั้ง จังหวัดปัตตานี 7 ครั้ง นราธิวาส 4 ครั้ง และสงขลา 3 ครั้ง


 


เหตุประท้วงเกิดขึ้นมากที่สุดที่จังหวัดยะลา ซึ่งมีเหตุเกิดขึ้นมากทั้งในปี 2549 และ 2550


 


ประเด็นที่น่าสนใจคือ ลักษณะข้อเรียกร้องในการชุมนุมประท้วงส่วนใหญ่ เป็นการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมในคดีการก่อความไม่สงบ (13 ครั้ง) รองลงมาคือการเรียกร้องขับไล่กองกำลังทหารหรือตำรวจออกจากพื้นที่ (5 ครั้ง)


 




















เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ต้องหา


13 ครั้ง


ขับไล่กองกำลังทหารและตำรวจออกจากพื้นที่


5 ครั้ง


ประท้วงเจ้าหน้าที่การยิงผู้ต้องสงสัย


1 ครั้ง


ประท้วงสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ก่อสถานการณ์


3 ครั้ง


เสนอข้อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รักษาความสงบ


3 ครั้ง


 


เกิดการประท้วง 8 ครั้งในปี 2549 และ 16 ครั้ง ในปี 2550 ทั้งๆ ที่ปีนี้เพิ่งจะผ่านมาเพียงแค่สองเดือนกว่าเท่านั้น จึงเป็นสัญญานบอกเหตุว่า แนวโน้มการเคลื่อนไหวมวลชนในลักษณะเช่นนี้อาจจะเกิดขึ้นมากขึ้นในปีนี้


 


องค์ประกอบของผู้ชุมนุมประท้วงในระยะแรก มักจะเป็นชายฉกรรจ์หรือรวมกันทั้งผู้ชายกับผู้หญิง จำนวนผู้ชุมนุมประท้วงส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 50 คนจนถึงสูงสุดประมาณ 300-500 คน


 


แต่เมื่อดูจากจำนวนผู้ชุมนุมประท้วงแต่ละครั้ง มีผู้ร่วมชุมนุมประท้วงระหว่าง 50-100 คน เป็นจำนวน 15 ครั้ง (ร้อยละ 58), 200-300 คน 8 ครั้ง (ร้อยละ 31), 400-500 คน เพียงแค่ 3 ครั้ง (ร้อยละ 11) จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุการณ์ส่วนมาก เป็นการรวมตัวชุมนุมขนาดเล็ก โดยมีผู้ประท้วงจำนวน 50-100 คน


 


ประเด็นที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ นับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2549 องค์ประกอบของผู้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วง จะเป็นกลุ่มผู้หญิงมุสลิมและเด็กเป็นส่วนใหญ่ รวมแล้ว การชุมนุมประท้วงของผู้หญิงและเด็ก มีจำนวน 15 ครั้ง หรือร้อยละ 58 ของเหตุประท้วงทั้งหมด


 


ในจำนวนนี้ มากกว่าครึ่งเป็นการชุมนุมประท้วงของผู้หญิงที่มีคนเข้าร่วมไม่เกิน 100 คน แสดงให้เห็นว่าผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นผู้หญิงมักจะเป็นการจัดตั้งในกลุ่มที่ไม่ใหญ่มากนัก แต่ก็สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการรวมตัวหรือสลายตัว


 


 



 


ปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดในขณะนี้ก็คือ การชุมนุมประท้วงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่มีพลังมากในการเคลื่อนไหว และสามารถก่อผลกระทบได้เป็นอย่างสูง โดยเฉพาะต่อความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ ทั้งในและนอกพื้นที่ ควรสนใจด้วยว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้น ยังขึ้นอยู่กับวิธีการในการจัดการแก้ปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐด้วย


 


นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา การชุมนุมครั้งแรกในพื้นที่ ก็คือกรณีอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 25 ต.ค. 47 ซึ่งรัฐต้องเผชิญหน้ากับการชุมนุมประท้วงใหญ่เป็นครั้งแรก มีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 1,300 คน การจัดการที่ไม่มีความพร้อมของเจ้าหน้าที่รัฐทำให้การเจรจาไม่ประสบผล


 


สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ การเผชิญหน้าและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจกับมวลชน เหตุการณ์นองเลือดเกิดขึ้น มีคนตายในที่เกิดเหตุ 7 คน และมีการควบคุมตัวผู้ประท้วง 1,292 คน หลังจากนั้นมีผู้เสียชีวิตจากการลำเลียงคนไปค่ายอิงคยุทธบริหารอีก 78 คน ผลสะเทือนของความล้มเหลวในการจัดการเจรจากับผู้ชุมนุมประท้วงที่ตากใบ ทำให้เหตุการณ์นองเลือดเป็นข่าวไปทั่วโลก และก่อให้เกิดความรู้สึกโกรธแค้นในหมู่ประชาชนในพื้นที่


 


ในเดือนก.ย. 2548 เกิดเหตุประท้วงเป็นครั้งที่สอง คราวนี้มีการประท้วงและจับตัวประกันนาวิกโยธิน 2 นายที่บ้านตันหยงลิมอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส  มีชาวบ้านทั้งชายและหญิงเข้าร่วมประมาณ 100 กว่าคน การเจรจาล้มเหลวอีก ทำให้นาวิกโยธิน 2 นายที่ถูกจับเป็นตัวประกันเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ


เหตุการณ์รุนแรงที่เกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงครั้งที่สาม เกิดขึ้นในเดือนพ.ค. 49 ที่โรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาสเช่นเดียวกัน ในเหตุการณ์ดังกล่าว ชาวบ้านทั้งผู้ชายและผู้หญิงจับครูผู้หญิงคนพุทธ 2 คนเป็นตัวประกัน หนึ่งในนั้นคือครูจู หลิง ปงกันมูล ผลการเจรจาที่ล้มเหลวทำให้มีการทำร้ายครูทั้งสองอย่างทารุณ ครูจูหลิงได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา


 


เหตุการณ์ตากใบ ตันหยงลิมอ และกูจิงลือปะ เป็นกรณีความรุนแรงที่เกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงสามครั้งแรกที่มีการบันทึกไว้ในระหว่างปี พ.ศ. 2547-2549 และมีผลกระทบอย่างมากต่อสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่


 


ประเด็นที่สำคัญก็คือ ทั้งสามกรณี รัฐล้มเหลวในการจัดการและเจรจาเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง


แต่สิ่งที่ควรบันทึกไว้ด้วยก็คือ เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงรัฐในพื้นที่สี่จังหวัดภาคใต้ที่เหลืออีก 23 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2549-2550 ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงและการนองเลือด แม้ว่าหลายครั้งจะมีความตึงเครียดและแนวโน้มของการเผชิญหน้ากันระหว่างรัฐกับประชาชนในระหว่างการชุมนุมประท้วง แนวทางและยุทธวิธีในการจัดการความขัดแย้งในสถานการณ์ประท้วง จึงน่าจะมีนัยสำคัญต่อการลดความรุนแรงและผลกระทบที่เกิดขึ้น


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีเหตุการณ์หลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ใช้วิธีการเจรจาโดยอาศัยผู้นำท้องถิ่น เช่นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. และผู้นำทางศาสนาเช่นอิหม่ามและกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เข้าร่วมเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อหาข้อยุติ


 


กรณีที่มีการเรียกร้องมากที่สุดในระยะหลังก็คือ การเรียกร้องความเป็นธรรมจากการจับกุมผู้ต้องสงสัยในการกระทำผิดคดีความมั่นคง เนื่องจากความหวาดระแวงที่มีต่อรัฐและความไม่ไว้ใจในกระบวนการยุติธรรมของรัฐของชุมชนมุสลิมในพื้นที่ ทำให้ครอบครัวและญาติพี่น้องไม่พอใจต่อการดำเนินการของเจ้าหน้าที่


 


เพื่อให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายต่อความวิตกกังวลดังกล่าว มีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้วิธีการประนีประนอม ด้วยการจัดการให้ญาติเข้าเยี่ยมตัวผู้ต้องสงสัย และเปิดโอกาสให้มีการประกันตัวหรือปล่อยผู้ต้องหาบางคนที่หลักฐานไม่เพียงพอ เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่อาจจะขยายตัว เนื่องจากในระยะหลัง เกิดจากการชุมนุมของสตรีและเด็กมากขึ้น ในลักษณะคล้ายโล่มนุษย์ เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ เจ้าหน้าที่รัฐได้มีการใช้ทหารพรานหญิงเพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งและการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง


 


การใช้ทหารพรานหญิงทำให้ลดความรุนแรงและมีส่วนช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้ดังเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง 2 ครั้งที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลาและอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นต้น นอกจากนั้น ประเด็นที่น่าสังเกตด้วยก็คือ การชุมนุมประท้วงในระยะหลัง มีบางครั้งที่กลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกันและไม่สามารถแสดงข้อเรียกร้องของตนเองให้ชัดเจน ผู้ประท้วงจะพากันสลายตัวไปเองเมื่อเวลาพลบค่ำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย


 


อย่างไรก็ดี การที่รัฐหันมาใช้วิธีการประนีประนอมในการชุมนุมประท้วงของชุมชน ในกรณีที่เกิดการจับกุมผู้ต้องสงสัย ทำให้เกิดปัญหาในอีกด้านหนึ่ง กล่าวคือ ภาพลักษณ์ของรัฐเสียไปในแง่ที่ว่า ทำให้เสียกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย และอ่อนเกินไปในการจัดการปัญหาความขัดแย้งโดยเฉพาะต่อความรุนแรงที่มีต่อชุมชนชาวพุทธในพื้นที่


 


ดังจะเห็นได้จากใน 26 ครั้งของการเกิดเหตุประท้วงทั้งหมดนั้น 3 ครั้งเป็นการประท้วงของกลุ่มชาวพุทธในพื้นที่ เหตุการณ์ปลายเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2549 ที่อำเภอธารโต จังหวัดยะลา เริ่มมีการชุมนุมเรียกร้องของคนพุทธเป็นครั้งแรก โดยชาวบ้านชุมชนพุทธกว่า 200 คนรวมตัวกันปิดถนนสาย 410 ยะลา-เบตงเพื่อยื่นข้อเสนอให้ทหาร ตำรวจเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลรักษาความปลอดภัยของคนพุทธและเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธ์


 


ต่อมามีการชุมนุมของชุมชนชาวพุทธอีกที่ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานีเพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายต่อผู้กระทำผิด ในวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมาก็มีการชุมนุมของชุมชนชาวพุทธอีกครั้งที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา โดยมีชาวบ้าน 500 คนจาก 3 ตำบลคือตำบลเขาแดง ตำบลคูหาและตำบลทุ่งพอยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลมีความเด็ดขาดกับผู้ก่อความไม่สงบและช่วยเหลือเยียวยากับผู้ถูกกระทำอย่างเท่าเทียมกัน


การชุมนุมของชาวพุทธในพื้นที่ สะท้อนให้เห็นแรงกดดันอีกด้านหนึ่งที่รัฐต้องเผชิญในการจัดการปัญหาด้วยความสมานฉันท์ คือความรู้สึกไม่พอใจของชุมชนพุทธในพื้นที่ และความรู้สึกไม่เข้าใจกันระหว่างชุมชนพุทธกับมุสลิมที่เพิ่มระดับมากขึ้น อันเนื่องมาจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น


  


ดังที่กล่าวไปแล้วว่า นโยบายและแนวการปฏิบัติของรัฐต่อการเคลื่อนไหว โดยอาศัยมวลชนมาต่อต้านรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผลต่อการสกัดกั้นและยับยั้งไม่ให้ความขัดแย้งขยายตัวไปสู่ประชาชนในวงกว้าง ในช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐทำได้ดีในการจัดการความขัดแย้งด้วยการใช้วิธีประนีประนอมในการจัดการการชุมนุมประท้วงของมวลชนมิให้เกิดปัญหาดังเช่นกรณีตากใบ ตันหยงลิมอและกูจิงลือปะ


 


แต่ในอีกด้านหนึ่ง การที่ผู้ก่อความรุนแรงหันไปพุ่งเป้าการโจมตีอย่างโหดร้ายต่อคนพุทธในพื้นที่และชุมชนหลายแห่ง ก็กระตุ้นความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ระหว่างคนพุทธกับคนมุสลิมให้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ประเด็นความรู้สึกต่อความปลอดภัยของคนพุทธกลายเป็นตัวแปรที่อ่อนไหวมากขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงต่อการปะทะกันระหว่างชุมชนระหว่างชาติพันธุ์และศาสนาที่ต่างกันดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ


 


ในสถานการณ์เช่นนี้ จะเห็นได้ว่า ในขณะที่รัฐเพิ่มปัจจัยในเรื่องความสมานฉันท์เข้าไปในนโยบายแก้ปัญหาไฟใต้เพื่อลดพื้นที่การเคลื่อนไหวสร้างเงื่อนไขของฝ่ายขบวนการก่อการร้าย และกลุ่มก่อความไม่สงบ ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบก็สามารถลดพื้นที่ทางการเมืองของรัฐด้วยการเพิ่มปัจจัยความแตกแยกในหมู่คนมุสลิมและคนพุทธเข้าไปในสมการความรุนแรง เร่งกระแสสาธารณะที่ปฏิเสธนโยบายสมานฉันท์และสันติวิธี และในที่สุดก็เพื่อที่จะลดความน่าเชื่อถือความชอบธรรมของรัฐในการปกครอง


 


ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่จะต้องยอมรับก็คือ นโยบายสมานฉันท์และสันติวิธีในการจัดการการชุมนุมประท้วงของประชาชนในรอบสองปีที่ผ่านมาของรัฐบาล มีผลทำให้ลดความรุนแรงหรือผลกระทบด้านลบที่มีต่อประชาชนในเหตุการณ์แต่ละครั้งได้อย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่า หลังจาก 3 กรณีแรกที่การเจรจาต่อรองล้มเหลว ทุกครั้งที่มีการชุมนุมเรียกร้อง ไม่ว่าจะโดยมีเจตนาแอบแฝงหรือไม่ก็ตาม เหตุการณ์ยุติลงโดยสงบแม้จะมีความตึงเครียดเกิดขึ้นในระหว่างการเจรจาต่อรองและการเผชิญหน้า


 


สิ่งที่รัฐจะต้องทำเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับนโยบายสมานฉันท์ก็คือ พยายามรักษาความปลอดภัยในชีวิตของชุมชนพุทธให้ได้ โดยการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย ในขณะเดียวกัน ฟื้นความมั่นคงปลอดภัยให้กลับคืนมาให้ได้มากที่สุดโดยเฉพาะในเขตที่มีอันตรายสูงเช่นเขตแดง


 


ในพื้นที่ดังกล่าวทั้งชุมชนมุสลิมและชุมชนพุทธต้องได้รับการปกป้องและปฏิบัติโดยเท่าเทียมกัน การปฏิบัติโดยเท่าเทียมกัน ไม่มีอคติของรัฐเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายสมานฉันท์และสันติ ท่าทีการปฏิบัติของรัฐที่ให้ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน จะช่วยลดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์และศาสนาได้


 


ในอีกด้านหนึ่ง การสร้างความยุติธรรมในกระบวนการทางกฎหมายก็มีความสำคัญ การดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดโดยอาศัยกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งที่จะต้องทำโดยอาศัยความร่วมมือขององค์กรชุมชน ผู้นำท้องถิ่น และผู้นำทางศาสนาในทุกขั้นตอนกระบวนการ รัฐจะต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจผู้นำท้องถิ่นและพลังชุมชนเพื่อจัดการความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นเพื่อฟื้นอำนาจของสังคมให้กลับมา  


 




























































































































































































































































































  วันที่ พื้นที่ สาเหตุประท้วง จำนวน (คน) ศาสนา เพศ การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ผลของเหตุการณ์
1 25 ตค 47 อ.ตากใบ นราธิวาส ประท้วงเรื่องผู้ต้องหา ชรบ. แจ้งความเท็จกรณีปล้นปืน ชรบ.  1,000 มุสลิม ชายและหญิง เจ้าหน้าที่เจรจาไม่สำเร็จ สลายการชุมนุมด้วยกำลังผู้เสียชีวิตในการชุมนุม 7 คน
2 21 กย 48 อ.ระแงะ นราธิวาส ประท้วงและจับตัวประกันนาวิกโยธิน 2 นาย 100 มุสลิม ชายและหญิง เจ้าหน้าที่เจรจาไม่สำเร็จ ตัวประกัน 2 นาวิกโยธินถูกฆ่าตาย
3 19 พค 49 อ.ระแงะ นราธิวาส เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาและจับครู 2 คนเป็นประกัน 100 มุสลิม ชายและหญิง เจ้าหน้าที่เจรจาไม่สำเร็จ ผู้ประท้วงทำร้ายครู 2 คน ครูจูหลิงบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตต่อมา
4  5 พย 49 บันนังสตา ยะลา เรียกร้องให้ย้ายฐานตำรวจ ตชด. 300 มุสลิม ชายและหญิง เจ้าหน้าที่เจรจาสำเร็จ ยุติการชุมนุมโดยสงบ
5 20 พย 49 อ.ยะหา ยะลา เรียกร้องให้ย้ายฐานตำรวจ ตชด. 60 มุสลิม ชาย หญิง และเด็ก นายอ. ตำรวจ ผู้ใหญ่บ้านและโต๊ะอิหม่ามเจรจาสำเร็จ ยุติการชุมนุมโดยสงบ
6 21 พย 49 อ.ยะหา ยะลา เรียกร้องให้ย้ายฐานตำรวจ ตชด. (อีกครั้ง) 300 มุสลิม ชายและหญิง เจ้าหน้าที่เจรจาสำเร็จ ยุติการชุมนุมโดยสงบ
7 22 พย 49 อ.ธารโต ยะลา แย่งศพคนร้ายถูกเจ้าหน้าที่ยิงตาย 400 มุสลิม ชายและหญิง ไม่มีการตอบโต้จากเจ้าหน้าที่ มีการทำลายทรัพย์สินและสลายตัว
8 17 ธค 49 อ.ยะรัง ปัตตานี เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ต้องหา 60 มุสลิม ผู้หญิงและเด็ก เจ้าหน้าที่เจรจาสำเร็จ ให้ญาติเข้าเยี่ยม ยุติการชุมนุมโดยสงบ
9 27 ธค 49 อ.ธารโต ยะลา เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ต้องหา 50 มุสลิม ผู้หญิงและเด็ก เจ้าหน้าที่เจรจาสำเร็จ ปล่อยตัวกลับบ้าน ยุติการชุมนุมโดยสงบ
10 27 ธค 49 อ.ธารโต ยะลา เสนอข้อเรียกร้องให้รักษาความสงบ 200 พุทธ ชายและหญิง เจ้าหน้าที่รับฟังและเจรจาสำเร็จ ยุติการชุมนุมโดยสงบ
11 5 มค 50 อ.กะพ้อ ปัตตานี เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ต้องหา 50 มุสลิม ผู้หญิง เจ้าหน้าที่เจรจาให้ประกันตัวโดยร่วมกับ ประธานณะกรรมการอิสลามและกำนัน ยุติการชุมนุมโดยสงบ
12 9 มค 50 อ.กะพ้อ ปัตตานี เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ต้องหา 200 มุสลิม ผู้หญิง เจ้าหน้าที่เจรจาสำเร็จ ให้ประกันตัว ยุติการชุมนุมโดยสงบ
13 26 มค 50 อ.เมือง ยะลา เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ต้องหา 8 คน 50 มุสลิม ผู้หญิงและเด็ก เจ้าหน้าที่เจรจาและปล่อยผู้ต้องหาไป 1 คน ยุติการชุมนุมโดยสงบ
14 29 มค 50 อ.หนองจิก ปัตตานี เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ต้องหา 80 มุสลิม ผู้หญิงและเด็ก เจ้าหน้าที่เจรจาสำเร็จ ให้ประกันตัว ยุติการชุมนุมโดยสงบ
15 15 กพ 50 อ.รามัน ยะลา ประท้วงเจ้าหน้าที่ยิงผู้ต้องสงสัยบาดเจ็บ 100 มุสลิม ผู้หญิงและเด็ก เจ้าหน้าที่เจรจาชี้แจงสำเร็จ ยุติการชุมนุมโดยสงบ
16 16 กพ 50 อ.รามัน ยะลา ขับไล่ทหารพัฒนาและพิทักษ์ทรัพยากร 100 มุสลิม ผู้หญิงและเด็ก เจ้าหน้าที่เจรจาอีกครั้ง ยังไม่มีข้อสรุปเจรจา ยุติการชุมนุมโดยสงบ
17 27 กพ 50 อ.เมือง ยะลา เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ต้องหา 100 มุสลิม ผู้หญิง เจ้าหน้าที่เจรจาสำเร็จ  ยุติการชุมนุมโดยสงบ ปล่อยตัว
18  2 มีค 50 อ.เมือง ยะลา เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ต้องหา 100 มุสลิม ผู้หญิงและเด็ก เจ้าหน้าที่ใช้ทหารพรานหญิงสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม ปะทะกันเล็กน้อย
19  8 มีค 50 อ.บาเจาะ นราธิวาส เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ต้องหา 50 มุสลิม ผู้หญิงและเด็ก เจ้าหน้าที่ร่วมกับผู้ใหญ่บ้านทำการเจรจาให้ญาติเข้าเยี่ยมและถ้าไม่ผิดจะปล่อยตัว ยุติการชุมนุมโดยสงบ
20  8 มีค 50 อ.บันนังสตา ยะลา เรียกร้องให้ถอนฐานของทหารในหมู่บ้าน 100 มุสลิม ผู้หญิงและเด็ก เจ้าหน้าที่เจรจา ยังไม่มีข้อสรุป ยุติการชุมนุมโดยสงบ
21 11 มีค 50 อ.โคกโพธิ์ ปัตตานี เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ต้องหา 200 มุสลิม ผู้หญิงและเด็ก เจ้าหน้าที่เจรจา ยุติการชุมนุมโดยสงบ
22 11 มีค 50 อ.โคกโพธิ์ ปัตตานี เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฏหมาย 100 พุทธ ชายและหญิง เจ้าหน้าที่เจรจาสำเร็จ ยุติการชุมนุมโดยสงบ
23 11 มีค 50 อ.หนองจิก ปัตตานี เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ต้องหา 200 มุสลิม ผู้หญิงและเด็ก เจ้าหน้าที่กดดันด้วยทหารพรานหญิงขอจดรายชื่อผู้ประท้วง ยุติการชุมนุมโดยสงบ
24 19 มีค 50 อ.สะบ้าย้อย สงขลา ประท้วงสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ยิงนักเรียนปอเนาะ ~200 มุสลิม ชายและหญิง เจ้าหน้าที่เจรจาร่วมกับประธานกก. อิสลาม   ยุติการชุมนุมโดยสงบ
25 20 มีค 50 อ.สะบ้าย้อย สงขลา ประท้วงสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ยิงนักเรียนปอเนาะ 200 มุสลิม ผู้หญิงและเด็ก เจ้าหน้าที่เจรจาร่วมกับกำนัน นายก อบต. และกรรมการอิสลามจังหวัด ยุติการชุมนุมโดยสงบ ให้เจ้าหน้าที่วิทยาการตำรวจเข้าตรวจพิสูจน์หลักฐาน
26 20 มีค 50 อ.สะบ้าย้อย สงขลา เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกัน 500 พุทธ ชายและหญิง เจ้าหน้าที่รับข้อเรียกร้อง ยุติการชุมนุมโดยสงบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net