Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 22 มี.ค. 50 คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (Working Group on Justice for Peace) ออกแถลงการณ์ "กรณีโรงเรียนปอเนาะ สะบ้าย้อย : ข้อเสนอ แนวทางสันติ แก้ไข การชุมนุมประท้วงปิดล้อมของชาวบ้าน ต้องมีหน่วยงานที่เป็นกลาง โปร่งใส่  เชื่อถือได้ ช่วยคลี่คลายวิกฤตศรัทธา"


  


จากเหตุการณ์คืนวันที่ 17 มี.ค.50  ที่โรงเรียนปอเนาะบำรุงศาสน์วิทยา บ้านควนหรัน ม.2 .เปรียน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ถูกแรงระเบิดและอาวุธสงครามโจมตี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน เป็นเด็กอายุ 12 ปี และอายุ 14 ปี และเด็กบาดเจ็บ 8 คน ชาวบ้านเชื่อว่าเหตุการณ์นี้เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และทางฝ่ายรัฐให้ข่าวและดำเนินการไปในลักษณะที่โจมตีโรงเรียนว่าเป็นแหล่งซ่องสุมอาวุธ และการโจมตีเกิดขึ้นจากมีกลุ่มคนร้ายลอบวางระเบิดและซุ่มยิงเด็กนักเรียนของโรงเรียนดังกล่าว  ต่อมามีสื่อมวลชนบางส่วนแพร่ข่าวไปในทำนองว่า มีการทำระเบิดในโรงเรียนจนเกิดระเบิดขึ้น ทั้งที่ยังไม่มีการสอบสวนข้อเท็จจริงแต่อย่างใด


 


สิ่งที่เกิดขึ้น ชาวบ้านเกิดความไม่พอใจ  ชาวบ้านที่เป็นหญิงคลุมฮิญาบปกปิดหน้าสีดำ และเด็กๆ รวมประมาณ 100-200 คน จึงชุมนุมกันที่ทางเข้าโรงเรียน ปิดกั้นไม่ให้เจ้าหน้าที่สนธิกำลังฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ และชุดวิทยาการ พร้อมตัวแทนกรรมการอิสลามเข้าตรวจสอบโรงเรียนปอเนาะ ตั้งแต่วันที่เกิดเหตุตั้งแต่วันเกิดเหตุจนกระทั่งวันที่ 20 มี.ค. เป็นเวลากว่า 3 วัน


 


ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มี.ค.50 แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ที่ปรึกษากรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาภาคใต้ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และนางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพและเป็นสมาชิกกรรมการวิสามัญแก้ไขปัญหาภาคใต้ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เดินทางไปเป็นพยานร่วมกับเจ้าหน้าที่กองวิทยาการเข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุเมื่อเวลาบ่ายโมงวันที่ 20 มี.ค. 50 หลังจากนั้น ผู้ชุมนุมได้สลายการชุมนุม และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี


 


จากการตรวจสอบเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ พบว่าบ้านพักนักเรียนปอเนาะ ถูกคนร้ายกราดยิงโดยใช้อาวุธอย่างน้อย 4 ชนิด อาทิ ปืนเอ็ม 79, ลูกซอง, เอ็ม 16 นอกจากนี้ ยังพบว่า คนร้ายยังได้เตรียมระเบิดเพลิงจำนวนกว่า 10 ขวด เพื่อเผาบ้านพักนักเรียน อย่างไรก็ตาม ต้องให้เจ้าหน้าที่กองวิทยาการเข้ามาตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง


 


แถลงการร์ระบุว่า สำหรับที่เคยมีรายงานข่าวว่า มีนักเรียนคนหนึ่งเสียชีวิตขณะประกอบระเบิดนั้นไม่เป็นความจริง แต่นักเรียนทั้ง 2 คนเสียชีวิตจากเหตุคนร้ายกราดยิงบ้านพักนักเรียนดังกล่าว


ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านจนก่อให้เกิดการชุมนุมต่อต้านเจ้าหน้าที่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนี้อยู่ในขั้นวิกฤต ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐในขณะนี้ มีความหวาดระแวงไม่ไว้ใจระหว่างกันสูง ประกอบกับมีการกระพือข่าวทั้งในพื้นที่และโดยสื่อมวลชนบางส่วนในเรื่องความขัดแย้งระหว่างคนพุทธกับคนมุสลิม ทำให้ความขัดแย้งกำลังจะขยายเป็นวงกว้างออกไป 


 


ชาวบ้านขาดความเชื่อถือการดำเนินการตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบเหตุร้าย สถานที่เกิดเหตุ  การจับกุมผู้ต้องสงสัย  โดยเกรงว่าจะถูกกลั่นแกล้ง ซ้อมทรมาน อุ้มหาย และการกล่าวหาความผิดที่ไม่มีหลักฐาน ทั้งชาวบ้านก็ไม่เชื่อว่ารัฐจะสามารถนำคนกระทำความผิดจริงมาลงโทษได้จริง  เพราะที่ผ่านมารัฐยังคงปล่อยให้คนผิดทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มก่อการความไม่สงบลอยนวลอยู่ ความหวาดระแวงดังกล่าวทำให้ชาวบ้านปฎิเสธไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปรักษาความปลอดภัยในบางพื้นที่  ซึ่งความไม่ไว้วางใจดังกล่าวจะเป็นผลร้ายต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยและสวัสดิภาพของประชาชนทุกคนอย่างยิ่ง


 


ความขัดแย้งนี้อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่แตกต่างของเหตุการณ์และปรากฎการณ์ก่อนและหลังเหตุการณ์ความรุนแรงในแต่ละครั้ง  ข้อเท็จจริงของทั้งสองฝั่งเป็นคนละชุด  ข่าวลือของชาวบ้านและข้อมูลจากสายข่าวบางครั้งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง รวมทั้งการให้ข่าวปล่อย  สร้างสถานการณ์ของกลุ่มผู้ไม่หวังดีและต้องการชี้นำสถานการณ์ความรุนแรง    หรือในบางครั้งการชี้แจ้งข้อเท็จจริง การเสนอข่าวทางสาธารณะก็เป็นปัญหาให้เกิดการลุกลามบานปลายของปัญหาและอาจนำไปสู่ความรุนแรงที่กว้างขวางยิ่งขึ้น


 


"รัฐต้องปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมของตนที่จะนำไปใช้กับประชาชน เจ้าหน้าที่ต้องรับฟังข้อมูลให้รอบด้านและให้ความเป็นธรรม ต้องมีหน่วยงานที่เป็นกลางเข้ามาทำงานอย่างทันสถานการณ์ เพื่อแก้ไขวิกฤตศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเร็วที่สุด เพื่อระงับเหตุการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการยั่วยุและการสร้างความแตกแยก" อังคณา  นีละไพจิตร  ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพกล่าว


 


ทางคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ จึงเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการชุมนุมของชาวบ้านเพื่อต่อต้านการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในทางการรักษาความปลอดภัย ทางกฎหมายและในทางปกครอง ดังนี้


 


1. ต้องจัดให้มีหน่วยสันติเสนา ตามคำแนะนำของคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ โดยเป็นการจัดตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือของฝ่ายรัฐและภาคประชาสังคมทั้งในพื้นที่และส่วนกลาง  โดยมีภาระกิจหนึ่งคือเพื่อเป็นคนกลางในการเจรจาลดระดับความขัดแย้งในพื้นที่ขณะเกิดเหตุให้ทันท่วงที


 


2. ต้องส่งเสริมศักยภาพในการทำงานของหน่วยงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ที่เป็นอิสระ เช่น การทำงานของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม การทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ให้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการตรวจพิสูจน์หลักฐาน และการเก็บรวบรวมหลักฐาน ได้อย่างทันท่วงที และต้องได้รับการประสานความร่วมมือจากหน่วยงานด้านความมั่นคงทุกฝ่ายอย่างเต็มที่


 


3. ขอให้ทุกฝ่ายเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย ยึดแนวทางสันติ รวมทั้งเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนและเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม และขอให้ดำเนินการเร่งรัดตามกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายเพื่อสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำความผิดไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ก่อความไม่สงบมาลงโทษตามกฎหมาย และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม


 


4. ขอให้สื่อมวลชนเสนอข่าวด้วยความรอบคอบ โดยยึดหลักความเป็นจริงและเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีของประชาชน เพื่อนำไปสู่ความสมานฉันท์


 


5. ขอให้เจ้าหน้าที่ทำงานด้วยความอดทน และประพฤติตนอยู่ในกรอบของกฎหมายและวินัย และความเป็นธรรม ปราศจากอคติทางเชื้อชาติ ศาสนา และการเลือกปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อสร้างและฟื้นความเชื่อมั่นจากประชาชน


 


 


ด้านพลเอกปานเทพ ภูวนาถนุรักษ์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญเพื่อสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีการก่อเหตุระเบิดและซุ่มยิงโรงเรียนปอเนาะ ในอำเภอสะบ้าย้อย จ.สงขลา ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการสร้างสถานการณ์ของมือที่สาม ที่จะสร้างความแตกแยกระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารพรานและชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากที่ผ่านมา ปอเนาะให้ความร่วมมือกับทางการเป็นอย่างดี ซึ่งอาจสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ จึงได้สร้างข่าวให้ร้ายปอเนาะว่าเป็นแหล่งซ่องสุม และเป็นแหล่งผลิตวัตถุระเบิด รวมทั้งได้มีการแต่งการเป็นเจ้าหน้าที่ระหว่างก่อเหตุส่งผลให้ชาวบ้านเกิดความไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่


 


"ชาวบ้านที่มาชุมนุมปิดกั้นไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่เพราะในอดีตได้รับความเจ็บปวดทำให้ไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่ การชุมนุมของเด็กและผู้หญิงเป็นไปด้วยความบริสุทธ์ใจ" พลเอกปานเทพกล่าว


           


อย่างไรก็ตามพลเอกปานเทพ กล่าวว่า เขาได้หารือกับแม่ทัพภาคที่4 ในการสับเปลี่ยนทหารจากทหารพรานเป็นหน่วยงานอื่นตามที่ชาวบ้านเรียกร้องมา นอกจากนี้พลเอกปานเทพยังกล่าวอีกว่า เท่าที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาภาคใต้เป็นอย่างดี แต่เขาขอแนะนำว่า การที่รัฐบาลมอบหมายให้นายอารีย์ วงอารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงพื้นที่นั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แต่ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าหน้าที่เกิดความสับสนและไขว้เขว ในการรับฟังคำสั่ง พร้อมกันนี้ รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณให้กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ให้เพียงพอเนื่องจากขณะนี้มีการนำงบประมาณจากส่วนอื่นมาใช้


           


ส่วนที่มีการเสนอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ทำหน้าที่รับผิดชอบในจังหวัดชายแดนใต้นั้น พลเอก ปานเทพ กล่าวว่า หน้าที่ของคมช.มีเพียงอย่างเดียวคือการแต่งตั้งหรือถอดถอนนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ซึ่งหน้าที่ในจังหวัดภาคใต้เป็นของกอ.รมน.อยู่แล้ว


           


ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร กมธ.เปิดเผยระหว่างการรายงานผลการลงพื้นที่อ.สะบ้าย้อย ต่อที่ประชุมกมธ.ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยว่า จากการให้ปากคำของเด็กที่อยู่ในเหตุการณ์ก่อนเกิดเหตุ เด็กได้ยินเสียงคนพูดเป็นภาษาไทยว่า "ฆ่าพวกมันให้หมด" ทำให้ชาวบ้านปักใจเชื่อว่า การกระทำดังกล่าวเป็นของเจ้าหน้าที่รัฐ ประกอบกับเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมามีการยิงทีมฟุตบอลของชาวบ้านทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 19ศพ อย่างไรก็ตาม พ..คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้นำหลักฐานกระสุนปืนที่พบในที่เกิดเหตุ ไปเปรียบเทียบกับร่องรอยของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ว่าบาดแผลกับกระสุนปืนตรงกันหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net