Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 22 มี.ค. 2550 เวลา 12.00 น. ที่รัฐสภา พล.อ.ปรีชา โรจนเสน ประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ แถลงข่าวเรื่องการบัญญัติเกี่ยวกับศาสนาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ซึ่งประกอบด้วยชาวพุทธ มุสลิม และคริสต์ รวม 13 คน ได้ทำหนังสือแจ้งมติของคณะกรรมาธิการฯ ไปที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ และประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ว่า คณะกรรมาธิการการศาสนาฯ ได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่มบทบัญญัติใหม่กล่าวถึงความจริงเกี่ยวกับศาสนาในประเทศไทย โดยเห็นควรเพิ่มมาตราใหม่เพิ่มเติมแทรกระหว่างมาตรา1และ2 ว่า ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ศาลนาอื่นได้แก่ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์ เป็นศาสนาที่ได้รับการรับรองจากรัฐ ทั้งนี้ เพื่อให้เรียงตามลำดับชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์


 


พล.อ.ปรีชา กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องเพิ่มมาตรา 2 ใหม่ เนื่องจากสถาบันหลักสำคัญของประเทศไทยมีสามสถาบัน จึงควรบัญญัติในหมวดทั่วไป ให้ครบถ้วนทั้งสามสถาบัน ไม่ควรละเลยข้ามสถาบันศาสนาไป นอกจากนี้ ไทยกำลังเผชิญวิกฤตคุณธรรมอย่างรุนแรง ทุกภาคส่วนเรียกร้องให้สร้างสังคมคุณธรรม วิธีที่จะสร้างให้ประชาชนมีคุณธรรมได้ง่ายที่สุด เร็วที่สุด ประหยัดที่สุด และมีประสิทธิภาพที่สุด ได้แก่การฟื้นฟูความเป็นศาสนิกชนที่ดีตามศาสนาที่ตนนับถือ จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญแก่สถาบันศาสนา


 


พล.อ.ปรีชา กล่าวต่อว่า มาตรา73 ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ ซึ่งระบุว่า "รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น..." อันหมายความว่า รัฐต้องใช้งบประมาณแผ่นดินและอำนาจรัฐมาอุปถัมภ์และคุ้มครองทุกศาสนาที่มีอยู่ในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า มีศาสนา นิกาย หรือลัทธินิยมจำนวนไม่น้อยที่สอนแปลกๆ เพี้ยนๆ จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่รัฐต้องอุปถัมภ์และคุ้มครองทุกๆ ศาสนา จึงควรเพิ่มข้อความขยายให้ชัดว่า ศาสนาอื่นที่รัฐต้องอุปถัมภ์และคุ้มครองหมายถึงเฉพาะศาสนาที่ได้รับการรับรองจากรัฐเท่านั้น นอกจากนั้น คงข้อความอื่นๆ ของมาตรา73ไว้ ดังนี้ "รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นที่ได้รับการรับรองจากรัฐ ส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสามัคคีปรองดองระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา รวมทั้งสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต"


 


พล.อ.ปรีชา กล่าวว่า ในส่วนมาตราที่เกี่ยวกับศาสนาตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งบัญญัติไว้ดีแล้ว ให้คงรักษาไว้ตามเดิม 2 มาตรา คือ มาตรา9 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก และมาตรา 38 ที่ระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา


 


ด้านนายภัทระ คำพิทักษ์ กรรมาธิการฯ กล่าวว่า ถ้าพิจารณาบริบทของการเปลี่ยนแปลงในภาวะสังคมโลกและของไทย กระแสหลักที่เกิดขึ้นคือ การอ้างศาสนาเพื่อก่อความรุนแรง การบัญญัติเช่นนี้น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าข้อเสีย อยู่ที่ว่าจะเลือกใช้ถ้อยคำในการบัญญัติอย่างไร


 


"การบัญญัติว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติเป็นแต่เพียงการพูดความจริง ถ้าเขียนไม่ได้จะแปลกประหลาดและถูกใช้เป็นเรื่องให้เกิดปัญหาในสังคมมากกว่า อีกทั้งประชาชนยังคงมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาอยู่ นอกจากนี้ยังมีการบัญญัติว่ามีศาสนาอื่นถูกรับรองโดยกฎหมาย ไม่มีอะไรแตกต่างจากปัจจุบันเลย เป็นเพียงทำให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้ การบัญญัติรับรองศาสนาไว้ ยังเป็นการป้องกันลัทธิอื่นมาขอการสนับสนุนจากรัฐด้วย"


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า การบัญญัติเช่นนี้จะเป็นการจุดชนวนความขัดแย้งหรือไม่ นายภัทระ กล่าวว่า ไม่มีปัญหา เนื่องจากเป็นการรับรองสิทธิว่าทุกศาสนาเท่าเทียมกัน ขณะที่ที่ผ่านมาปัญหาเกิดจากการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม


 


"การบัญญัติสิ่งนี้ไม่มีปัญหา ไม่มีอะไรต่างจากความเป็นจริงในปัจจุบัน การเพิกเฉยและทัศนคติที่ด่วนตัดสินใจว่าจะเกิดปัญหาเป็นทัศนคติที่คับแคบ" นายภัทระ กล่าว


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้ มีการกล่าวว่า "คนนอกศาสนามาปกครอง" อยู่แล้ว หากบัญญัติว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ จะมีผลกระทบหรือไม่ นายภัทระ กล่าวว่า ถ้าเราไม่คิดตามโจร คิดแบบมีสติขึ้นมาหน่อย การบัญญัตินี้เป็นการรองรับศาสนา ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และการเป็นอยู่ของคนไทย การบัญญัติว่าศาสนาอื่นได้รับการรับรองจากรัฐบ่งถึงความเท่าเทียมกันน่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า  


 


ด้านนายเสฐียรพงษ์ วรรณปก กรรมาธิการฯ กล่าวว่า โดยจารีตประเพณีและราชประเพณีมาตั้งแต่ต้น พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์มีพระราชปณิธานที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้บันทึกข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์นี้ไว้ โดยหลักทุกประเทศมีศาสนาประจำชาติ แม้บางประเทศจะไม่ได้กำหนดหรือใช้กฎหมายจารีตประเพณีก็ได้กำหนดให้ศาสนานิกายใดเป็นศาสนาประจำชาติ ประเทศไทยซึ่งมีศาสนาประจำชาติโดยจารีตอยู่แล้ว กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจึงควรบัญญัติไว้ให้เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญ


 



นายกีรติ บุญเจือ ประธานอนุกรรมาธิการศาสนาคริสต์ กล่าวว่า การระบุว่า ศาสนาอิสลาม คริสต์ พราหมณ์-ฮินดู และซิกข์ เป็นศาสนาที่ได้รับการรับรองจากรัฐนั้นไม่ใช่การปิดประตูศาสนาอื่นๆ ที่ไม่ได้ระบุไว้ หากศาสนาอื่นนั้นสามารถพิสูจน์ตัวเองว่าเข้ามาตรฐาน อาทิ เป็นศาสนาที่มีคนไทยเข้าร่วมเป็นระยะเวลาหนึ่ง เมื่อปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาแล้วไม่ขัดกับขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ก็สามารถเสนอตัวให้รัฐบาลรับรองได้


 


นายกีรติ กล่าวว่า การระบุเช่นนี้ จะไม่ก่อให้เกิดปัญหา แต่จะมีปัญหาหากเราไม่ได้ระบุ เนื่องจากนโยบายด้านศาสนาขึ้นกับแต่ละรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้ง ขึ้นกับกรมศาสนาว่าจะมีนโยบายอย่างไร หากระบุในมาตรา73ให้รัฐต้องอุปถัมภ์ศาสนา รัฐบาลจะได้ทราบว่าควรมีนโยบายอย่างไร เมื่อศาสนาใดมีปัญหาก็จะสามารถทักท้วงได้   


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net