Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 23 มี.ค. 50 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคออกแถลงการณ์ เรื่อง สิทธิที่ผู้ประสบภัยพึงได้กรณีรถทัวร์มรณะ เนื้อความว่า จากกรณีอุบัติเหตุรถทัวร์ของบริษัท ศรีสงวนยานยนต์ สายอุบลราชธานี-กรุงเทพฯ เกิดเหตุไฟไหม้คลอกผู้โดยสารจนเสียชีวิตถึง 30 ราย และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสอีกจำนวนหนึ่งนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอแจ้งให้ผู้ประสบภัยและประชาชนได้รับทราบถึงสิทธิที่พึงได้รับ


 


สิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยความเสียหาย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ


 


1.1 ค่าเสียหายเบื้องต้น ซึ่งผู้ประสบภัยจะได้รับความคุ้มครองในความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บและเป็นค่าปลงศพในกรณีเสียชีวิต โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด บริษัทประกันภัยที่บริษัท ศรีสงวนยานยนต์ไปทำ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถไว้จะต้องชดใช้ให้แก่ผู้ประสบภัย/ทายาทของผู้ประสบภัย ภายใน 7 วัน นับแต่บริษัทประกันภัยได้รับคำร้องขอค่าเสียหายดังกล่าว


 


บริษัท ศรีสงวนยานยนต์ ควรเป็นผู้ดำเนินการประสานงานโดยเร่งด่วนอย่าให้ตกเป็นภาระของผู้ประสบภัย โดยกรณีบาดเจ็บ จะได้รับการชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท กรณีเสียชีวิต จะได้รับการชดใช้เป็นค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ จำนวน 35,000 บาท และกรณีเสียชีวิตภายหลังการรักษาพยาบาล จะได้รับการชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท และค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาท รวมแล้วจะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท


 


1.2 ค่าเสียหายส่วนเกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้น  เป็นค่าเสียหายที่บริษัทประกันภัยตาม พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยฯจะต้องจะชดใช้ให้ภายหลังจากที่มีการพิสูจน์ความรับผิดตามกฎหมายแล้ว โดยบริษัทที่รับประกันภัยรถที่เป็นฝ่ายผิดต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ประสบภัย/ทายาทผู้ประสบภัย ซึ่งได้รวมค่าเสียหายเบื้องต้นแล้ว โดยกรณีบาดเจ็บ จะต้องได้รับการชดเชยเป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลรวมกับค่าสินไหมทดแทน ไม่เกิน 50,000 บาท กรณีเสียชีวิต หรือสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ จะต้องได้รับการชดเชยจำนวน 100,000 บาท ไม่ว่าจะมีการรักษาพยาบาลหรือไม่ ถ้ามีค่ารักษาพยาบาลก่อนเสียชีวิตให้นำมารวมด้วย และรวมแล้วเท่ากับ 100,000 บาท


 


2. สิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยความเสียหายจากการทำประกันภัยภาคสมัครใจของบริษัท ศรีสงวนยานยนต์ ซึ่งบริษัท ศรีสงวนยานยนต์ในฐานะผู้ประกอบการที่ต้องรับผิดชอบต่อผู้โดยสารของตนควรเป็นผู้ดำเนินการประสานงานให้ผู้โดยสารที่ประสบเหตุทั้งหมดได้รับการชดเชยโดยเร็วที่สุด อย่าให้เป็นภาระของผู้ประสบเหตุ


 


3. การใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ผู้ประสบเหตุ  และญาติของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ สามารถใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งในเรื่องนี้ผู้เสียหายหรือญาติควรรวมตัวกันไปร้องขอต่อสภาทนายความให้เป็นตัวแทนในการฟ้องร้องคดีเรียกค่าเสียหายต่อบริษัท ศรีสงวนยานยนต์


 


ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเห็นว่า ผู้ประสบภัยหรือญาติผู้ประสบภัย ควรจะได้รับความคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ตามที่แจ้ง ซึ่งบริษัท ศรีสงวนยานยนต์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการโดยเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเสียหายและความทุกข์ที่เกิดขึ้น อนึ่งหากผู้ประสบภัยหรือญาติไม่ได้รับความสะดวก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยินดีเป็นผู้ประสานงานให้หากมีการร้องขอ และหากผู้ประกอบการคือบริษัท ศรีสงวนยานยนต์ ไม่ให้การเอาใจใส่ดูแลสมกับความเป็นผู้ประกอบการที่ดีก็เป็นเหตุผลพอที่กรมการขนส่งทางบกจะได้พิจารณายกเลิกใบอนุญาตการเดินรถได้ตลอดไป


 


แถลงการณ์ดังกล่าวลงชื่อ อิฐบูรณ์  อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net