Skip to main content
sharethis

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง


 


 


มีไม่บ่อยนักที่สังคมสยามจะพูดถึงประวัติศาสตร์จากมุมมองของสังคมอื่นๆ ที่ประกอบกันเป็น "ไทย" ปัจจุบัน แทบทุกครั้งเมื่อเอื้อนเอ่ยถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ก็หนีไม่พ้นการพูดแค่ "ประวัติศาสตร์ของชนชั้นปกครองสยาม" ซึ่งเรื่องราวเล่าขานเหล่านี้มักมาจากหลักฐานจากพงศาวดารที่เขียนขึ้นตามความประสงค์ของชนชั้นปกครองเองเพื่อใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการชี้นำสังคมจากระดับความรู้สึกร่วม ต่อมาจึงบังคับถ่ายทอดส่งต่อกันมาจนกลายเป็นวาทกรรม "ชาติ" และ "วีรบุรุษ" หรือ "วีรสตรี" สยาม ที่แทบมองไม่เห็นคนหรือชาติพันธุ์อื่นๆ อีกมากมายในเรื่องเล่าเหล่านี้เลย


 


แต่ไม่นานมานี้ บทความ  "4 กษัตริยาปัตตานี ผู้หญิง บัลลังก์เลือด และตำนนานรักเพื่อแผ่นดิน" ได้ปรากฏขึ้นอย่างแหวกกระแส "สุริโยไทนิยม" หรือ "สุพรรณกัลยานิยม" และอื่นๆ (จะรวมมณีจันทร์นิยมและเลอขิ่นนิยมด้วยก็ได้) ผ่านการตีพิมพ์โดย "ศิลปวัฒนธรรม" ปีที่ 28 ฉบับที่ 5 ประจำเดือนมีนาคม 2550 ค่ายมติชน


 


บทความนี้อาจนับได้ว่าเป็นงานประวัติศาสตร์ชั้นดีอีกชิ้นหนึ่งที่แผ้วถางทางประวัติศาสตร์ให้ใหม่และกว้างขึ้นผ่านหลักฐานอื่นๆ ที่มองว่า สยามไม่ใช่พระเอกหรือนางเอกเสมอไป เพราะบางครั้งก็เป็นผู้รุกรานคนอื่นเขาเหมือนกัน การนำเสนอผ่านหลักฐานแบบนี้ จะช่วยให้สังคมไทยได้คิดมอง "ความแตกต่างแบบอื่นๆ" ได้อย่างเข้าใจขึ้น


 


4 กษัตริยาปัตตานีฯ เขียนโดย สุภัตรา ภูมิประภาส เนื้อหากล่าวถึงเรื่องราวตอนหนึ่งของประวัติศาสตร์ "นครปตานี" หรือปัตานี ศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของคาบสมุทรมลายูในช่วงศตวรรษที่ 17 ความน่าสนใจที่ยิ่งยวดคือ ประเด็นทางเพศ เนื่องจากผู้ปกครองนครปตานีเวลานั้นล้วนเป็น "สตรี" ที่สามารถบริหารรัฐและสืบต่อราชสมบัติส่งต่อกันมาได้ถึง  4 พระนาง ภายใต้การบริหารของ 4 กษัตริยายังคงสถานะที่ค่อนข้างรุ่งเรืองและมีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ขุนนางหรือเสนาบดีที่รายล้อม รวมทั้งเจ้าผู้ครองนครรอบด้านหรือแม้แต่กรุงศรีอยุธยาแห่งสยามประเทศผู้มีอิทธิพลในภูมิภาคอุษาคเนย์เวลานั้นล้วนปกครองด้วยบุรุษและจ้องท้าทายตลอดเวลา


 


เรื่องราวนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2127 ราชาหรือราตู "ฮิเจา" แห่งราชวงศ์ศรีวังสา ก้าวขึ้นครองบัลลังก์แห่งราชอาณาจักรมลายู ทรงเป็นกษัตริยาพระองค์แรก หลังสุลต่าน มันซูร์ ซาฮ์ เจ้าผู้ครองนครปตานี สิ้นพระชนม์ได้ 12 ปี ช่องว่างระหว่าง 12 ปีมานี้เป็นช่วงของการแก่งแย่งของบรรดาประยูรญาติฝ่ายชายและเสนาบดี ที่ผลสุดท้ายทั้งพระเชษฐาและพระอนุชาต่างชนนีก็สิ้นพระชนม์หมด กรณีนี้เองทำให้นครปตานีสิ้นรัชทายาทชายที่จะขึ้นครองบัลลังก์


 


หลังราตูฮิเจาสิ้นพระชนม์ พระน้องนางเธอ "บีรู" และ "อุงงู" จึงขึ้นมาเป็นกษัตริยาองค์ที่ 2 และ 3 ตามลำดับ ต่อด้วยช่วงเวลาของพระเจ้าหลานเธอ "กูนิง" กษัตริยาพระองค์สุดท้าย สิ้นพระชนม์ที่ "กัมปุง ปันจอร์" พ.ศ.2231 เป็นการสิ้นสุดช่วงสมัยการปกครองโดยกษัตริยาอย่างสมบูรณ์


 


ทั้งนี้หากมองประวัติศาสตร์เชิงเปรียบเทียบกับสยามเป็นเกณฑ์แล้ว ไม่ว่าจะช่วงเวลาเดียวกัน ก่อนหน้านั้นหรือหลังจากนั้น สยามเองเสียอีกที่ไม่เคยมีกษัตริยาปรากฏขึ้นเลย ทั้งตลอด 417 ปีแห่งการเป็นราชธานีของกรุงศรีอยุธยา หรือกว่า 200 ปีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์  หรือหากจะกล่าวว่ามีนามสตรีลือเลื่องขึ้นมาบ้างอย่าง "สุริโยไท" "สุพรรณกัลยา" "ศรีสุดาจันทร์" และพระนางอื่นๆ บทบาทของพระนางเหล่านี้ก็ทำได้เพียงจำกัดอยู่ในฐานะผู้รองรับ "องค์พระมหากษัตริย์" อันเป็นบุรุษอีกชั้นหนึ่งทั้งสิ้น


 


ดังนั้น หากจะหันมามองประวัติศาสตร์สยามและอุษาคเนย์อย่างรอบด้านแล้ว  "4 กษัตริยาแห่งปตานี" นับว่ามีความโดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์สตรีภูมิภาคนี้เลยทีเดียว จึงทั้งน่าสนใจศึกษาและกล่าวถึงอย่างยิ่งไม่ว่าจะด้านบทบาทในฐานะผู้ใช้อำนาจสูงสุดเหนือบุรุษได้เป็นเวลายาวนาน การแหกขนบดั้งเดิมทิ้งอย่างสวยงามนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ประวัติศาสตร์ช่วงนี้จึงเป็นตัวอย่างการทำลายฐานรากมายาคติทางการปกครองด้วยวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ได้อย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ยังมีด้านการเมืองระหว่างรัฐที่สามารถใช้ทั้งการทูตและการสงครามได้อย่างชาญฉลาดจนเคยเอาชัยชนะในสงครามประกาศเอกราชต่อสยามเจ้าอาณานิคมใหญ่ได้


 


ถึงกระนั้นก็ไม่รู้ว่าด้วยภาวะอคติอันใด ชื่อชั้นของพระนางทั้ง 4 พระองค์ที่มีบทบาทสูงต่อภูมิภาคถึงขนาดนี้จึงมิได้รับเกียรติในการเรียนการสอนหรือการกล่าวขานถึงเลย ในขณะที่ประวัติศาสตร์ของพระนางสยามอื่นๆกลับถูกผลิตซ้ำด้วยการเล่าแบบเดิมๆ อยู่ตลอดเวลา


 


การปรากฎขึ้นของบทความนี้จึงถือว่ามีคุณค่าอย่างยิ่ง ณ เวลาที่ประวัติศาสตร์มีศักดานุภาพร้ายแรงยิ่งกว่าศาสตราวุธใด ในการสังหารผู้คนที่อาจมีขึ้นได้ในเวลาอันใกล้นี้


 


ส่วนคุณูปการที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของบทความด้านการแผ้วถางทางประวัติศาสตร์ใหม่นั้นก็จะนำมาสู่การคิดต่อ และชวนให้แผ้วถางทางเสริมเพิ่มเติมให้ประวัติศาสตร์หรือวิธีคิดอื่นๆ มีที่เดินกันมากขึ้น ซึ่งจะขออนุญาตทำหน้าที่นี้ต่อเนื่องโดยพลัน


 


ประเด็น 4 กษัตริยาแห่งปตานี หากเบี่ยงไปมองในบริบทเรื่องอำนาจและการเมือง จะเห็นเส้นทางการมองประวัติศาสตร์คู่ขนานอีกเส้นหนึ่ง ซึ่งหากเดินไปตามทางนั้นแล้วก็ขอเสนอต่อไปว่า บทความ 4 กษัตริยาแห่งปัตตานีฯ กำลังอยู่ในวังวนการสร้างวาทกรรมรัฐชาติอีกชุดหนึ่งโดย "ชนชั้นปกครอง" อีกกลุ่มหนึ่งสร้างขึ้นมาคัดง้างหรือปะทะกับวาทกรรมรัฐชาติชุดเดิมของสยาม


 


โดยเฉพาะการเล่าเรื่องในลักษณะการสร้างความโรแมนติกทางประวัติศาสตร์ผ่าน "ตำนานรักเพื่อแผ่นดิน"ของหญิงสาวที่กดดันข่มขื่นซ้ำแล้วซ้ำเล่าสลับกับภาพความเป็นสตรีที่เก่งกาจจนสร้างเป็น "วีรสตรีใหม่" มาชนกับประวัติศาสตร์ชุดที่สร้างโดยชนชั้นนำสยาม การชนกันด้วยวาทกรรมแบบนี้นั้น อาจจะได้ผลเชิงสัญลักษณ์จริง แต่ล้วนเป็นกระบวนวิธีที่ชนชั้นปกครองใช้ในการสร้างฐานอำนาจตัวเองผ่านการจัดการความทรงจำ ผลผลิตของการเล่าประวัติศาสตร์เชิงโรแมนติกนี้ จึงอาจตามมาด้วยการหักหาญด้วยความรุนแรงที่มากขึ้นได้


 


ดังนั้น สิ่งที่จะชวนคิดต่อจากบทความในมุมอำนาจและการเมือง คือการมองชั้นปกครองไม่ว่าจะสยามหรือ ปตานีที่เป็นบุรุษหรือสตรีเมื่อมีอำนาจสูงสุดเหนือรัฐแล้วจะมีกระบวนการจัดการ "อำนาจ" และ  "การเมือง" ทั้งภายในและภายนอกอย่างไร การตั้งประเด็นแบบนี้ก็เพื่อให้การวิจารณ์นั้น ขยายประเด็นไปจากประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาจจะกลายเป็นวาทกรรมที่จะเพาะสร้างอคติทางชาติพันธุ์ให้มากขึ้นได้ เป็นการมองภาพรวมของกระบวนการการใช้อำนาจที่ไม่ว่ากลุ่มไหนก็มีลักษณะที่ดู "เลวร้าย" ไม่ต่างกัน


 


และแน่นอน เรื่องเหล่านี้ล้วนไม่โรแมนติกโดยสิ้นเชิง


 


การที่ภาพรวมของบทความพยายามย้ำไปที่คำว่า "ตำนานรักเพื่อแผ่นดิน" (ที่ดูจะล้วนขมไปหมด) ควรต้องพูดไปถึงบริบททางวัฒนธรรมของช่วงเวลาด้วย เพราะหากมองข้ามการเน้นเรื่องความเป็นสตรีที่ผูกพันไปกับอารมณ์ ความรัก ความขมขื่นต่างๆ แล้วไปมองบริบทฐานะ "ผู้ใช้อำนาจ" แล้ว การที่ "ราตูฮิเจา" กษัตริยาพระองค์แรก พระราชทาน "เจ้าหญิงอุงงู" ให้เสกสมรสแก่เจ้านครปะหัง เพื่อคานอำนาจการเป็นคู่แข่งทางการค้าของนครยะโฮร์ตามที่บทความนำเสนอนั้น เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ไม่ว่าจะเป็นบุรุษหรือสตรีเมื่อนั่งในอำนาจแล้ว ก็ล้วนมีวิธีการจัดการเพื่อคงอำนาจไว้ด้วยกลวิธีที่ไม่แตกต่างกัน วิธีการนั้นก็คือ "การใช้สตรีเป็นเครื่องมือ" นั่นเอง และอาจฟังดูโหดร้ายกว่ามาก เมื่อสตรีต้องใช้วิธีการนี้กับสตรีด้วยกันเอง โดยเฉพาะสตรีที่เป็นน้องเสียด้วย


 


เข้าใจกันง่ายๆ ก็คือ การยกเครือญาติที่เป็นสตรีให้นครอื่น ถือเป็นการเมืองแบบหนึ่งที่ใช้เพื่อรักษาสมดุลอำนาจของผู้ปกครองนครซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับความรักอันใดเลยก็ได้ เพียงแต่การสร้างเรื่องเล่าแบบ "ตำนานการเสียสละ" เป็นวิธีการที่ง่ายเพื่อสร้างผลทางจิตวิทยาสำหรับผู้คนที่ได้รับรู้ วิธีการนี้ทางกรุงศรีอยุธยาเองก็ใช้ เช่น กรณีสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ตัวแทนของอำนาจฝ่ายสุพรรณภูมิทรงยกพระวิสุทธิกษัตริย์ให้เสกสมรสกับสมเด็จพระมหาธรรมราชาตัวแทนอำนาจฝ่ายสุโขทัย (ดู พี่ตั้ว ศรันยู ยกหนูกบ พิมลรัตน์ รุ่นลูก ให้พี่นก ฉัตรชัย ในหนัง "สุริโยไท" ของท่านหม่อมมุ้ยประกอบ) ซึ่งมีกำลังขึ้นมากหลังร่วมมือกันกำจัดขั้วอำนาจฝ่ายอู่ทอง (ขุนวรวงษาและท้าวศรีสุดาจันทร์) อีกขุมอำนาจหนึ่งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น ต่อมาเรื่องเหล่านี้ถูกผูกเป็นตำนานหรือเรื่องเล่าผ่านละคร ภาพยนตร์ ที่มีผลทางจิตวิทยาในการสร้างอุดมการณ์ "ชาติไทย" มาถึงคนรุ่นปัจจุบัน


 


ส่วนเรื่องความขมขื่นของการการตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองแบบนี้มีหรือไม่นั้น คงมิอาจทราบได้ อย่างไรก็ตาม สถานภาพของเครื่องมือทางการเมืองที่เป็นสตรีอาจขึ้นกับความเข้มแข็งหรือความสัมพันธ์กับนครเจ้าของสตรีที่เป็นเครื่องมือนางนั้น ในบทความของคุณสุภัตราก็กล่าวถึงให้พอเห็นเค้าลางได้ เช่น กรณีรัฐปะหังเริ่มท้าทายอำนาจของนครปตานีในช่วงปลายสมัยราตูฮิเจา (คงคิดว่าเริ่มชราจนไม่มีแรงสั่งการแล้วกระมัง) โดยเริ่มไม่ทำตามคำร้องขอของปตานีเหมือนกาลก่อน ราตูฮิเจาจึงแสดงแสนยานุภาพข่มเสียด้วยกองกำลังทหาร ซึ่งหากไม่ทำดังนี้ สิ่งที่ตามมาอาจเป็นเรื่องราวร้ายๆ ต่อมเหสีอุงงูเพื่อแสดงอาการแข็งข้อที่ชัดเจนขึ้นของรัฐปะหัง


 


หรืออีกกรณีหนึ่งในช่วงสมัย "ราตูบีรู" กษัตริยาองค์ที่ 2 แห่งปตานีที่ต้องยกหลานหรือ "เจ้าหญิงกูนิง" ให้เสกสมรสกับออกญาเดโชบุตรชายเจ้าเมืองลิกอร์ (นครศรีธรรมราช) หัวเมืองประเทศราชหนึ่งที่ขึ้นแก่กรุงศรีอยุธยา การเสกสมรสแบบนี้ก็เป็นอีกสัญลักษณ์ทางการเมืองที่สตรีถูกหยิบยกมาใช้ เพราะเวลานั้นกรุงศรีอยุธยาคงเริ่มมองปตานีที่รุ่งเรื่องมากขึ้น จากการเป็นเมืองท่าค้าขายอย่างหิวกระหายจนทำให้สาวเจ้ารู้สึกตัวได้ก่อน เพียงแต่การดำเนินนโยบายทางการเมืองกับผู้เข้มแข็งอย่างสยามต้องทำอย่างชาญฉลาดที่สุด


 


สิ่งที่บทความของคุณสุพัตรานำเสนอ และเป็นอีกจุดที่น่าสนใจคือ การเดินนโยบาย 2 ทาง นอกจากการเชื่อมสัมพันธ์ด้วยสตรีและการส่งบุหงามาศสานไมตรีต่อเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นนโยบายละมุนละม่อมแล้ว อีกทางหนึ่งกลับเป็นการเตรียมการแข็งขืนอยู่ในทีด้วยการที่ ราตูบีรู ไปเจรจาต่อสุลต่านกลันตันเรื่องการรวมตัวเป็นสหพันธรัฐปตานีเพื่อต่อต้านอิทธิพลกรุงศรีอยุธยา โดยมีเงื่อนไขว่า กลันตันมีอำนาจในการปกครองตัวเองและไม่ส่งบรรณาการรวมทั้งภาษีต่อนครปตานี นอกจากนี้ยังเตรียมการป้องกันเมืองด้วยการสร้างกำแพงอย่างแข็งแรงที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "กำแพงบีรู" รวมทั้งหล่อปืนใหญ่ 3 กระบอก นาม "ศรีนครา" "ศรีปตานี" และ "มหาเลลา" ด้วย


 


จนเมื่อเข้าสู่ยุคของ "ราตูอุงงู" กษัตริยาพระองค์ที่ 3 สถานการณ์ในกรุงศรีอยุธยาเองเกิดพลิกผัน เมื่อเกิด "รัฐประหาร" ขึ้น โดยมีหัวหน้าคณะคือเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ แล้วปราบดาภิเษกเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ได้เปลี่ยนแค่ตัวผู้นำสยามเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนฐานอำนาจด้วยการเปลี่ยนราชวงศ์เลยทีเดียว ในการผันผวนแบบนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ จะเกิด "การตีตัวออกห่าง"  เพราะมีสถานการณ์ที่ลงตัวต่อการปกครองตนเอง ราตูอุงงูจึงระงับการส่งบุหงามาศและยกทัพไปตีลิกอร์กับพัทลุง ส่วนสตรีเองก็ไม่พ้นเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการหักหาญนั้นด้วย


 


ผลกระทบของสถานการณ์ทำให้ "เจ้าหญิงกูนิง" ภรรยาของออกญาเดโช ถูกดึงไปสมรสกับเจ้านครยะโฮร์แทน (หากจำได้ เดิมทีนครยะโฮร์เคยถูกมองเป็นศัตรูสำคัญมาก่อน และเป็นสาเหตุที่ทำให้ราตูอุงงูต้องไปสมรสกับเจ้านครปะหังเพื่อผูกมิตร) สิ่งที่ราตูอุงงูเคยถูกกระทำในฐานะเครื่องมือทางการเมืองก็ถูกส่งไม้ต่อไปยัง "เจ้าหญิงกูนิง"อย่างซ้ำซากวนเวียน


 


เรื่องความวุ่นวายภายในรัฐใหญ่ที่นำมาสู่การตีตัวออกห่างคงไม่ใช่เรื่องการทรยศแต่อย่างใด ในบริบทเดียวกันสยามก็เคยกระทำแบบนี้ ดังกรณี หลังพระเจ้าบุเรงนองสิ้นพระชนม์ หัวเมืองต่างๆ ก็เริ่มลองของต่อพระเจ้านันทบุเรงกษัตริย์พระองค์ใหม่ (เมืองคังของเลอขิ่นนำมาแรกๆ โดยไม่ยอมเข้าร่วมถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา) ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยาและพระนเรศวรเจ้าฟ้าเมืองสองแควก็รอดูท่าทีและพร้อมที่จะแข็งเมืองอยู่แล้วดังที่พระเจ้านันทบุเรงเกรงมาตั้งแต่ต้น


 


ทั้งนี้ทั้งนั้น การแข็งเมืองแม้จะเป็นช่วงที่อาณาจักรใหญ่วุ่นวายก็ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่พร้อมในระดับหนึ่ง การเตรียมการมาตั้งแต่ยุค "ราตูบีรู" ทั้งการสร้างกำแพง สร้างอาวุธ การรวมสหพันธ์ปตานี และการดึงนครยะโฮร์มาเป็นมิตร คงเป็นปัจจัยสำคัญที่นำมาสู่การตัดสินใจแข็งเมืองในครั้งนี้


 


เป็นจริงดังคาด เมื่อกรุงศรีอยุธยาจัดการภายในลงตัวและต้องการอำนาจเหนือปตานีอีกครั้งก็ได้ส่งกำลังมาหนุนออกญาเดโชทำศึกกับนครปตานี แต่ก็ต้องแพ้พ่ายกลับไปอาจด้วยปัจจัยหลายด้าน เช่น การขาดประสบการณ์การรบทางทะเล การเดินทัพมาจากระยะไกล และการเตรียมการตั้งรับที่ดีมาตั้งแต่ต้นของ ปตานีดังที่กล่าวมาแล้ว


 


หลังผ่านสถานการณ์ล่อแหลมกับสยามมาได้ ก็มาสู่รัชสมัยของ "ราตูกูนิง" การแต่งงานของสุลต่านยะโฮร์และยอมช่วยรบในสงครามสยามในสมัยราตูอุงงู อาจมองได้ว่าเป็นการวางวางนโยบายทางการเมืองของนครยะโฮร์ไว้เช่นกัน หลังพระราชพิธีฝังพระศพราตูอุงงู สุลต่านยะโฮร์กลับทิ้งอนุชาและกองกำลังจำนวนหนึ่งไว้ ด้วยข้ออ้างว่า เพื่อถวายคำปรึกษาแก่ราชินี (ต่างอะไรกับการมีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติไว้เป็นที่ปรึกษารัฐบาลหรือไม่ลองคิดเล่นๆ ดู) ต่อมามีการข่มเหงพระนางโดยอนุชาสุลต่านเมืองยะโฮร์และอนุชาพลันเปลี่ยนไปมีสัมพันธ์สวาทกับนางดัง สีรัต นักร้องหน้าตาอัปลักษณ์แต่เสียงไพเราะแทน


 


กระบวนวิธีแบบนี้เป็นไปได้หรือไม่ที่เป็นการพยายามค่อยๆ ลดทอนอำนาจแห่งราตูเหนือปตานีลง ส่วนเสนาบดีต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเก่าอาจไม่พอใจกลุ่มอำนาจใหม่อย่างอนุชาสุลตานยะโฮร์ และอาจต้องการอำนาจคืน จึงเสนอราชินีกูนิงให้มีพระราชวินิจฉัยกรณีสัมพันธ์สวาทกับนางดัง สีรัต (ถวายคืนพระราชอำนาจ?) ซึ่งราตูกูนิงมอบหมายให้เป็นภารกิจเสนาบดี โดยขอชีวิตเจ้าชายเมืองยะโฮร์เอาไว้


 


เหตุการณ์ครั้งนั้นเจ้าชายเมืองยะโอร์แทบเอาตัวไม่รอด แต่ราตูกูนิงได้เตรียมเรือไว้ให้หนี เหตุการณ์นี้มองได้หลายทาง ทางหนึ่งคือความรัก แต่อีกทางหนึ่งอาจเป็นนโยบายทางการเมืองที่ใช้การผูกบุญคุณ อาจเพื่อไว้ใช้คานอำนาจเสนาบดีต่างๆ ภายในปตานี และอาจป้องกันไม่ให้นครยะโฮร์ยกมาเป็นข้ออ้างในการทำสงครามกับปตานี การไว้ชีวิตนอกจากเป็นการรักษาสัมพันธ์ทางการเมืองแบบหนึ่งแล้ว จึงเป็นการสร้างสมดุลย์ทางอำนาจด้วย ส่วนสยามเองกลับจับพลัดจับผลูมาได้ประโยชน์หลังปตานีวุ่นวายภายในครั้งนี้เช่นกัน เพราะจากนั้นมาราตูกูนิงก็กลับมารื้อฟื้นความสัมพันธ์ใหม่ผ่านบุหงามาศอีกครั้ง (ไม่ทราบว่าลืมแผลใจกับออกญาเดโชสามีเก่าไปแล้วหรือไม่ เพราะตัวราตูกูนิงเองก็เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของสงครามกับสยาม)


 


กรณีที่กล่าวมาทั้งหมดทั้งปวงนี้คงพอเป็นเค้าได้ว่า "ความรัก" ล้วนไม่เป็น "ตำนาน" เพราะล้วนสามารถเปลี่ยนไปตาม "สถานการณ์" "อำนาจ" และ "การเมือง" ได้ โดยมีผู้กุมอำนาจปกครองสูงสุดเป็นผู้กำหนดบทบาทให้ความรักนั้นทั้งสิ้น


 


สำหรับบทสรุปในช่วงท้าย ใน พ.ศ. 2184 ราตูกูนิงได้เสด็จเยือนกรุงศรีอยุธยาด้วยพระองค์เองเพื่อตอกย้ำสัมพันธไมตรี สงครามสยามกับปตานีจึงสิ้นไปในสมัยของพระนาง และเป็นช่วงเวลาที่การค้ารุ่งเรืองที่สุด


ถึงกระนั้น ยุคสมัยของพระนางกลับจบลงด้วยความเศร้าด้วยอำนาจแห่งสงครามกับอีกรัฐหนึ่งที่มาแทนที่ เรื่องราวฉากจบตอนนี้เป็นอย่างไรไปติดตามอ่านเต็มๆ ได้ในศิลปวัฒนธรรม ปกสีโทนฟ้าพร้อมภาพวาดองค์กษัตริยาสวยสด...ครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net