Skip to main content
sharethis

วันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้หลักผู้ใหญ่ 3 ท่านของประเทศนี้ขึ้นเวทีปาฐกถาร่วมกัน ในเวทีสาธารณะ "ข้อเสนอเพื่อปฏิรูปการเมืองและสังคม : ว่าด้วยชุมชน เกษตรกรรมและเศรษฐกิจพอเพียง" นั่นคือ ศ.ระพี สาคลิก ศ.เสน่ห์ จามริก และศ.นพ.ประเวศ วะสี


 


เวทีนี้เป็นการนำเสนอข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองและสังคม โดยเฉพาะประเด็นนโยบายเกี่ยวกับ "เกษตรกรรรม" ที่รวบรวมไว้อย่างครบถ้วนและเป็นรูปธรรมมากที่สุดเวทีหนึ่ง หลังจากที่ประเทศนี้หลงลืม "ชาวไร่ชาวนา" ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ เป็นผู้สร้างความมั่นคงด้านอาหาร มากขึ้นทุกทีๆ


 


ศ.นพ.ประเวศ วะสี กล่าวว่า การพัฒนาที่ผ่านมาได้เปลี่ยนทรัพยากรที่เป็นของคนส่วนใหญ่ให้กลายมาเป็นเงินของคนส่วนน้อย ขณะที่ "วัฒนธรรม" ซึ่งทำให้เกิดดุลยภาพระหว่างชีวิตและสิ่งแวดล้อมก็ถูกกระแทกจากแรงภายนอกคือ อำนาจรัฐ อำนาจทุน และอำนาจของการศึกษาสมัยใหม่ นอกจากนี้เรื่องความเป็นธรรมก็เป็นเรื่องใหญ่มากและขณะนี้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นเต็มแผ่นดิน ดังนั้น จึงต้องมีการฟื้นฟูแผ่นดินโดยการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งแก้ไม่ได้จาก "ข้างบน" และ "ข้างนอก" เพราะธรรมชาติของทั้งสองสิ่งนั้นมักเอาเปรียบ


 


"ขณะนี้แผ่นดินไทยเข้าห้องไอซียูแล้ว ประเทศไทยกำลังสูญเสียยิ่งกว่าเสียกรุงให้พม่าอีก เพราะตอนนั้นวัฒนธรรมทรัพยากรยังอยู่ แต่ตอนนี้รุนแรงกว่า เพราะสูญเสียทุกอย่าง"


 


ทางออก = ประชาธิปไตยชุมชน


ศ.นพ.ประเวศนำเสนอว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรมีหมวดใหญ่ว่าด้วย "ประชาธิปไตยชุมชน" ซึ่งต้องคืนวิถีชีวิตให้ชุมชนทั้งในด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การศึกษา ระบบยุติธรรม ระบบสุขภาพ ฯ โดยให้มีผู้นำตามธรรมชาติ เพราะผู้นำตามธรรมชาติจะมีคุณสมบัติที่ชุมชนรู้ดี เช่น การเห็นแก่ส่วนรวม ฉลาด สุจริต สื่อสารเก่ง เป็นที่ยอมรับของคนทั้งปวง ซึ่งคนเหล่านี้มีจำนวนมากใน 7,000 หมู่บ้าน ดีกว่าการให้ต้องมาเลือกวนเวียนอยู่กับนักเลือกตั้ง 3,000 กว่าคนเช่นทุกวันนี้


 


ในหมวดประชาธิปไตยชุมชนนี้ควรจะบัญญัติเรื่องสิทธิชุมชน ซึ่งต้องกำหนดการเข้าถึงทรัพยากร การพัฒนา การสื่อสาร การศึกษาของชุมชนเอง และควรมีสภาผู้นำชุมชนทั้งระดับตำบาล จังหวัด และระดับชาติ โดยเน้นผู้นำตามธรรมชาติ คอยดูแลด้านนโยบาย สุดท้ายที่ต้องบัญญัติคือ การสื่อสารเพื่อชุมชน ต้องมีการตั้งองค์กรสื่อสารสาธารณะ ที่เป็นอิสระปลอดจากอำนาจรัฐและอำนาจทุน รับใช้ประโยชน์ของสาธารณะ


 


"เราต้องเอาวิถีชีวิตชุมชนเป็นตัวตั้ง มาเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญ การเมืองของเราสร้างแต่จากยอด แต่ไม่พูดถึงประชาธิปไตยท้องถิ่น เศรษฐกิจก็พูดถึงการลงทุนต่างชาติไม่คิดถึงเศรษฐกิจชุมชนรัฐธรรมนูญต้องจับตรงนี้ให้ได้ ถ้าไม่ได้จะเกิดความล่มสลายทางอารยธรรมในดินแดนแห่งนี้ ความดี ความงาม ความรู้ทั้งหลายที่สร้างกันมาจะล่มสลาย จะเกิดการฆ่ากันตาย เกิดการนองเลือด ถ้าเป็นเช่นนั้นต้องโทษ สสร.ที่คุณมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน โทษ สนช. โทษ คมช. โทษนายกฯ สุรยุทธ์ ขอให้จารึกชื่อเหล่านี้เอาไว้ในประวัติศาสตร์"  


 


ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 บัญญัติเรื่องสิทธิประชาชนตลอดจนเกษตรกรไว้ค่อนข้างดี แต่จากประสบการณ์ที่กรรมการสิทธิฯ เห็นได้ว่าสิ่งที่บัญญัติไว้นั้นไร้ความหมายเพราะไม่เกิดผลบังคับใช้แท้จริง ทางออกที่คณะกรรมการสิทธิพยายามนำเสนอและผลักดันมาโดยตลอดคือ การกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น ให้ชุมชนท้องถิ่นมีสิทธิในการเข้าถึง จัดการทรัพยากรอย่างแท้จริง


 


อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่บทบัญญัติของกฎหมายเท่านั้น เพราะสิทธิต่างๆ จะยังคงไร้ความหมาย หากไม่มีพลังของชุมชน ชุมชนต้องเป็นตัวกระทำเอง มีขบวนการของตนเอง ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่ามีชุมชนจำนวนไม่น้อยที่มีศักยภาพ การสร้างพลังของชุมชนจะต้องควบคู่ไปกับการสร้างกลไกในการกระจายอำนาจ


 


"โจทย์ของการปฏิรูปครั้งนี้ คือ การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ครั้งนี้ต้องไม่ใช่สูตรเดียวที่ทำกันมาหลายสิบปี ต้องให้คนที่ถูกกระทำมาตลอดได้ลืมตาอ้าปาก ต้องเชื่อมโยงผสมผสานสิทธิชุมชนกับการกระจายอำนาจ"


 


เค้าลางความล้มเหลว หลังรัฐบาลเดินหน้าเอฟทีเอ


นอกจากนี้ ศ.เสน่ห์ยังกล่าวแสดงความผิดหวังในการเดินหน้าเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นด้วยว่า "เรื่องเอฟทีเอ เราเจรจาและหารือกันแทบตาย เสร็จแล้วล่าสุด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กำลังไปญี่ปุ่นเพื่อเป็นพยานการลงนามเสียเอง ผมผิดหวังมาก ผมถึงบอกว่าตรงนี้เป็นลางบอกเหตุของความล้มเหลว ท่านนายกฯเป็นคนซื่อสัตย์ แต่ท่านตามไม่ทัน เราไปคุยกับท่านเรื่องเอฟทีเอซึ่งห้อมล้อมด้วยข้าราชการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ ทุกคำข้าราชการจะบอกว่าเราต้องเอาใจต่างชาติและเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุน ถือว่าเป็นอาณานิคมโดยไม่รู้ตัว เราเริ่มไม่รู้แล้วว่าเราเป็นอะไรในสังคม"


 


ขณะที่ศ.ระพี สาคลิก กล่าวว่า ความมั่นคงของประเทศมักคิดถึงเรื่องทหารและการมีอาวุธที่เข้มแข็งทำให้เกิดปัญหาอย่างภาคใต้ ทั้งๆ ที่ด้านเกษตรเป็นฐานที่เข้มแข็ง และเกษตรกรเป็นกำลังสำคัญด้านความมั่นคงของประเทศ แต่ปัจจุบันการศึกษาไทยเหมือนกับหมาไม่มีตีน คือลืมพื้นดินและเกษตร การเกษตรไม่ใช่เป็นแค่อาชีพแต่เป็นวัฒนธรรมคือความรักแผ่นดินที่เป็นถิ่นเกิด ตอนนี้สังคมไทยแตกมาก


 



เสนอหักภาษีจัดสวัสดิการ "ชาวนา"


ในส่วนของการเสวนาภาคบ่ายก็มีหลายความเห็นที่น่าสนใจ เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมณ์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวว่า เกษตรกรรายย่อยที่ผ่านมาถูกกระทำมาก เงินจากน้ำพักน้ำแรงของประชาชนไม่ค่อยกลับมาพัฒนาชีวิตของเกษตรกร จึงเสนอให้รัฐบาลทำ 4 เรื่อง คือ นำเงิน 50% ที่ได้จากภาษีการนำเข้า ส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด จัดสวัสดิการของเกษตรกร ทำงานหนักมาตลอดชีวิต แต่ไม่ได้รับการดูแล


 


2. การปฏิรูปที่ดิน เมืองไทยพยายามมานานแต่ไปไม่รอด ต้องเอาเงินจำนวนนี้มาซื้อที่ดิน กระจายให้เกษตรกรมีปัจจัยการผลิตของตัวเอง 3. งานวิจัยและงานทดลองของเกษตรกรมีจำนวนมาก ต้องมีสถาบันที่เกษตรกรเป็นเจ้าของและดำเนินงาน 4.สวัสดิการการศึกษา หากลูกหลานเกษตรกรยังต้องกู้เงิน หรือขายไร่นามาส่งเรียน อนาคตของเกษตรกรย่อมไม่มี ควรนำเงินส่วนนี้มาสนับสนุนการศึกษาของบุตรหลานเกษตรกร


 


อุบล อยู่หว้า จากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า เคยมีพระสงค์ถามเขาว่า พอจะรู้จักทหารแล้วประสานให้เขาสนับสนุนชาวนาในการปฏิวัติแทนได้ไหม เรื่องนี้ทำให้นึกถึงเวเนซุเอลา ประเทศนั้นนอกจากยึดบริษัทน้ำมันกลับมาแล้ว ยังยึดสนามกอล์ฟมาจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรด้วย อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นได้ สิ่งที่ผู้นำเวเนซุเอลาทำมาก่อนหน้านั้นอย่างยาวนานคือ การปฏิวัติประชาชน ถ้าเราเริ่มปฏิวัติประชาชนตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศที่ลึกไปถึงระดับประชาชน ยึดหลักศาสนาในการเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนพฤติกรรมชาวนาน ทำงานกับผู้บริโภค เตรียมจัดกลุ่มจัดองค์กรเพื่อนนำความเห็นของเวทีนี้ไปใส่ในทุกภาคส่วนที่จะเคลื่อนไหวเรื่องรัฐธรรมนูญต่อไปนี้


 


ชาวบ้านไม่หวังพึ่ง "รัฐธรรมนูญ" ต้องยืนบนขาตัวเอง


ตัวแทนเกษตรกรคนหนึ่งกล่าวว่า เนื้อหาของรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ชาวบ้านจะได้แสดงความคิดเห็น แต่โดยส่วนตัวไม่คาดหวังกับรัฐธรรมนูญมากเท่าไร เพราะโดนฉีกง่ายมาก พ.ร.บ.เล็กๆ ยังถูกทำลายยากกว่า อย่างไรก็ตาม การที่ภาคเกษตรกรถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญก็จะทำให้รู้สึกเป็นเจ้าของประเทศมากขึ้น ที่ผ่านมาไม่เคยมีกลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็งภายใต้การส่งเสริมของรัฐบาล เริ่มตั้งแต่วิธีคิดที่เกษตรกรไม่เคยเชื่อมั่นในตัวเอง น้อยคนนักที่จะบอกว่าให้ลูกกลับมาเป็นเกษตรกร เมื่อศักดิ์ศรีของเกษตรกรเป็นแบนี้ องค์กรเกษตรกรก็ไม่เคยมีความเข้มแข็ง สหกรณ์การเกษตรทั้งหลายส่วนใหญ่ล้วนล่มสลาย


 


บุญยืน ศิริธรรม จากองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ไม่คิดหวังอะไรกับรัฐธรรมนูญ แต่อยากจะมีการรวมกลุ่มจริงจัง อย่างไรก็ตาม ควรต้องคงสิทธิดั้งเดิมไว้เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งแม้จะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ 10 ปีที่ผ่านมาก็เห็นพัฒนาการ แม้จะฉีกรัฐธรรมนูญไปแล้ว แต่ร่องรอยการมีส่วนร่วมยังอยู่


 


"วันนี้คุณฉีกกระดาษได้ แต่คุณฉีกใจเราไม่ได้"


 


การศึกษาสมัยใหม่ที่ถึงทางตัน


ชัชวาล ทองดีเลิศ จากวิทยาลัยการจัดการทางสังคม กล่าวว่า ระบบการศึกษาในโรงเรียนมีมา 150 ปี แต่ไม่มีการเรียนการสอนเรื่องเกษตรอินทรีย์ การศึกษาแยกขาดจากวิถีชีวิตและชุมชน เพิ่งจะมีการทำงานเรื่องนี้โดยองค์กรภาคประชาชนมาประมาณ 20 ปี 


 


"ทุกวันนี้การศึกษามาถึงทางตันแล้ว เด็กๆ ตกงาน กลับบ้านก็ทำงานการเกษตรไม่เป็น หนี้สินการศึกษาสูสีกับหนี้สินกรเกษตร กู้เรียนกันทั่วหน้า  ถ้าไม่ปฏิวัติการศึกษาที่ดินจะหายไปหมด เพราะไม่มีคนทำงานต่อไป ทุนทางสังคมที่บรรพบุรุษสั่งสมมาจะล้มหมด นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก หากปล่อยให้การศึกษาเป็นเช่นนี้ จัดโดยรัฐเช่นนี้ เกษตรกรอยู่ลำบาก สังคมไทยก็จะอยู่ยาก"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net