Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 24 มี.ค. 2550 วานนี้ (23 มี.ค.) เวลา 9.30น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกรอบที่ 1 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชนและการกระจายอำนาจ โดย นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานคณะอนุฯ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ในหมวด 4 หน้าที่ของชนชาวไทยนั้น ที่ประชุมได้เห็นชอบให้การลงประชามติเป็นหน้าที่ ควบคู่ไปกับหน้าที่ในการเลือกตั้ง เพื่อให้มีบทลงโทษ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะมีบทลงโทษอย่างไร


 


นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการถกเถียงกันในการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 4 ที่ระบุว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง โดยมีข้อเสนอ 3 รูปแบบคือ 1.ให้คงไว้ตามเดิม 2.ให้เพิ่มเติมให้การคุ้มครองเป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยมีอยู่ 3.ให้การคุ้มครองเป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ โดยอนุกรรมาธิการฯ จำนวนหนึ่งกังวลว่า หากระบุเช่นนั้น กรณีพันธกรณีระหว่างประเทศในด้านเศรษฐกิจและการค้าอาจกระทบกับสิทธิของคนไทยได้ จึงจะมีการพิจารณาอีกครั้งในที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 27 มี.ค. นี้ที่รัฐสภา


 


สำหรับหมวด 3 สิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย นพ.ชูชัย กล่าวว่า ในส่วนของสิทธิเด็กและเยาวชนนั้น ก้าวหน้ามากกว่ารัฐธรรมนูญปี 40 โดยจะให้สิทธิเด็กตั้งแต่แรกเกิดให้ได้รับการคุ้มครองให้มีสิทธิในการอยู่รอด ได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสติปัญญาเต็มตามศักยภาพในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพิ่มคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานให้แก่เด็กและเยาวชนตามหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ไทยเป็นภาคีให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น


 


นอกจากนี้ นพ.ชูชัย กล่าวว่า มีการคุ้มครองให้บุคคล ชุมชน ชุมชนท้องถิ่น และชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมมีความเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรมากขึ้น โดยให้มีสิทธิมีส่วนร่วมกับรัฐในการบำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพและในการคุ้มครองส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่อง โดยให้ชุมชนท้องถิ่นมีสิทธิใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมมีสิทธิในการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน


 


"ทั้งนี้ ยังมีการเพิ่มมาตราใหม่โดยให้การกำหนดนโยบายสาธารณะ การวางแผนพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การวางผังเมืองและการกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการออกกฎหมายที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้ส่วนเสียสำคัญของบุคคลหรือชุมชนใด ให้รัฐจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของบุคคลหรือชุมชนดังกล่าวก่อน" นพ.ชูชัยกล่าว


 


นพ.ชูชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังเพิ่มหลักประกันสิทธิของบุคคลในเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยให้บุคคลหรือชุมชนมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจงและเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ก่อนการอนุญาตหรือดำเนินโครงการอันอาจมีผลกระทบต่อตนหรือชุมชน รวมทั้งมีสิทธิแสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าว


 


และให้การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ จะทำไม่ได้ เว้นแต่มีการศึกษาและประเมินผลกระทบรวมทั้งจัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นของบุคคลและชุมชนผู้มีส่วนได้เสียก่อน โดยหากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐไม่ปฏิบัติตาม บุคคลและชุมชนสามารถฟ้องร้องได้


 


นอกจากนี้ยังมีการระบุให้บุคคลมีสิทธิฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคลให้รับผิดทั้งทางแพ่ง อาญาและการปกครอง เนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานนั้นหรือผู้รับจัดทำงานบริการสาธารณะแทนหน่วยงานนั้น


 


สำหรับหมวด 7 การมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น มีการแก้ไขให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิในการเสนอกฎหมายได้ง่ายขึ้น โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 20,000 คนเพื่อเสนอกฎหมาย โดยไม่ต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติมาด้วย และกำหนดให้บุคคลที่มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. มีสิทธิออกเสียงประชามติ โดยมติในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นยุติ ส่วนมติเรื่องอื่นๆ ให้มีผลเป็นการปรึกษาหารือตามหลักการเดิม


 


สำหรับหมวด 9 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เห็นควรสร้างกลไกหรือส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะในด้านการบริการจัดการ การตัดสินใจแก้ปัญหาในพื้นที่และระบบการเงินการคลังที่สอดคล้องต่อการจัดบริการสาธารณะเพื่อตอบสนองแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยลดภาระภาครัฐ และพัฒนากลไกในการตรวจสอบจากภาคประชาชนให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเห็นชอบให้เพิ่มบทบาทของ อปท. มากขึ้น โดยให้ระบุในบทเฉพาะกาลกำหนดระยะเวลาเพื่อให้มีการตรากฎหมายเพื่อให้ อปท.จัดการศึกษาและบำรุงทรัพยากรสิ่งแวดล้อมภายใน 1 ปีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net