Skip to main content
sharethis

24 มี.ค. 50 - ศูนย์ข่าวประชาสังคม จ.อุบลราชธานี สำรวจความเห็นประชาชนเรื่องรัฐธรรมนูญพบยังอยากให้นายกฯมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนด้วยการออกเสียงประชามติแบบประชาธิปไตย ด้านนักวิชาการเห็นว่านายกฯควรมาจากการเลือกตั้งผ่านระบบเลือกตั้งของ ส.ส.


 


อาจารย์สุเชาวน์ มีหนองหว้า นักวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี แสดงความเห็นเกี่ยวกับที่มาของนายกรัฐมนตรี ว่า การเมืองไทยในปัจจุบันนี้ถือว่าเลยขั้นตอนของการที่จะให้นายกรัฐมนตรีมาจากการแต่ตั้งโดยบุคคลภายนอก และหากการเมืองไทยยังต้องการให้เป็นอย่างนั้นการเมืองในยุคปัจจุบันคงไม่ใช่การเมืองในแบบประชาธิปไตย เพราะการเปิดกว้างให้บุคคลภายนอกเข้ามามีบทบาทในการสรรหาคนที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีอาจมีการแทรกแซงอำนาจที่ไม่ชอบธรรมแฝงเข้ามาด้วย ซึ่งจะทำให้นายกรัฐมนตรีที่ผ่านขั้นตอนการสรรหาโดยบุคคลดังกล่าวไม่ได้มาจากประชาธิปไตยโดยแท้จริง ประกอบกับประเทศไทยได้รับบทเรียนจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมปี พ.ศ. 2535 และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ปี พ.ศ. 2519 และเหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้ทำให้คนไทยทั้งประเทศได้รับบทเรียน โดยความเห็นในเรื่องนี้ตนเห็นว่า การที่จะได้มาของนายกรัฐมนตรีนั้นควรมาจากการเลือกตั้งผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพราะวิธีดังกล่าวถือว่านายกรัฐมนตรีเป็นตัวแทนของ ส.ส. ที่ประชาชนได้ลงมติเลือกตั้งผ่านระบบการลงคะแนนให้ ส.ส. ซึ่งทั้ง ส.ส. และนายกรัฐมนตรีต่างก็มีความเกี่ยวพันที่จะต้องร่วมรับผิดชอบต่อประชาชนร่วมกันในเรื่องต่างๆ ขณะเดียวกันประชาชนเองก็เกิดความมั่นใจเพราะผู้นำประเทศ และ ส.ส. เป็นตัวแทนที่มาจากการลงคะแนนของประชาชนในระบบการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย


 


ด้านนายสงกรานต์ วงศ์ด้วง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหนองหิน หมู่ 5 ต.คำไฮใหญ่ อ.ดอนมดแดง จ.อุบลราชธานี ให้ความเห็นเกี่ยวกับที่มาของนายกรัฐมนตรีว่า อยากให้ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำของประเทศมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงเหมือนกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีรายชื่อพร้อมกับหมายเลขระบุในบัตรเลือกตั้งชัดเจน โดยระบุตัวผู้สมัครในบัตรเลือกตั้งทั้ง ส.ส. และ ผู้สมัครเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะถ้าหากเลือกผู้นำประเทศด้วยวิธีการอื่นจะไม่ใช่การสรรหาที่ได้มาด้วยระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย และอาจนำไปสู่ความไม่โปรงใสในการทำงานตรวจสอบยาก ขณะเดียวกันความใกล้ชิดระหว่างผู้นำประเทศกับประชาชนจะเกิดช่องว่างมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ผู้นำประเทศไม่ทราบปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเพราะไม่ได้ลงมาคลุกคลีกับประชาชนโดยตรง หากประเทศไทยใช้ระบบการเลือกตั้งเหมือนที่ตนเองเสนอมาคิดว่าความใกล้ชิดระหว่างผู้นำประเทศกับประชาชนคงจะมีมากขึ้นและปัญหาต่างๆ ก็จะได้รับการแก้ไขไปพร้อมๆ กัน


 


ขณะที่นายหมู่ใหญ่สนั่นท์ ผลศิริ เจ้าหน้าที่รักษาความสงบภายในสถานที่ราชการ ประจำศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ระบุที่มาของนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เมื่อประชาชนเดินเข้าไปในคูหาเลือกตั้งควรมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใบที่หนึ่งระบุตัวผู้สมัครนายกรัฐมนตรีพร้อมหลายเลข และใบที่สองระบุตัวผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พร้อมหมายเลข จะทำให้ประชาชนได้เลือกคนที่ตัวเองคิดว่าจะเข้ามาบริหารประเทศชาติอย่างโปรงใสและเป็นธรรม ซึ่งวิธีดังกล่าวเป็นวิธีที่ประทศชาติที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยน่าจะนำไปใช้ และการเลือกตั้งด้วยวิธีดังกล่าวจะช่วยลดช่องว่างการบริหารงานที่ไม่เป็นธรรมของผู้นำประเทศได้ เพราะกว่าที่บุคคลคนหนึ่งจะเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำประเทศได้ต้องขอเสียงประชามติจากประชาชนทั่วทั้งประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net