Skip to main content
sharethis

"If you have not been TCDC lately, you may want to visit it before it will be closed down by the government. It seems like Design and Creativity are no longer in the vision of the people who try to find a way to run this country. Spread the news if you want to support TCDC and somehow, make this world a little better place."


 


"หากคุณยังไม่เคยไป TCDC อาจต้องรีบแล้ว ก่อนที่มันจะถูกรัฐบาลปิด เพราะดูเหมือนเรื่องความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบจะไม่ได้อยู่ในวิสัยทัศน์ของคนที่กุมอนาคตประเทศนี้ ถ้าต้องการสนับสนุน TCDC ต่อไป ช่วยกันกระจายข่าวนี้ ช่วยกันสร้างพื้นที่ดีๆ แม้เพียงส่วนเล็กๆ ในโลกนี้"


 


นี่เป็นข้อความที่ส่งต่อกันทาง SMS ในแวดวงของนักออกแบบ นักโฆษณา สถาปนิก สร้างกระแสให้คนเมืองตกใจได้ว่า หรือ TCDC กำลังตกเป็นเหยื่อทางการเมือง เหมือนกรณีการล้างบางสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากอดีตนายกฯ ทักษิณ



 


000


 


 


TCDC - ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ มีความโดดเด่นที่เป็นที่รู้จัก ด้วยเป็นแหล่งเรียนรู้ใจกลางเมือง ที่มีห้องสมุดเฉพาะด้านการออกแบบ มีการจัดอบรมในประเด็นที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ และยังมีสื่อนิทรรศการสำคัญๆ บ่อยครั้งที่ TCDC เป็นตัวกลางประสานเอานิทรรศการจากต่างประเทศ เข้ามาจัดแสดงที่ศูนย์แห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าเอ็มโพเรี่ยม ถ.สุขุมวิท


 


ก่อนที่จะเกิดรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน ที่ผ่านมา TCDC ทำงานภายใต้ "สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้: สบร." หรือ Office of Knowledge Management and Development: OKMD ซึ่งสังกัดอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ภายใต้ OKMD มี 7 หน่วยงาน ซึ่งนอกจาก TCDC ยังมีหน่วยงานอื่นๆ อาทิ อุทยานการเรียนรู้แห่งชาติ: TK park, สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ฯลฯ โดยมี พันศักดิ์ วิญญรัตน์ อดีตประธานที่ปรึกษาเศรษฐกิจของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวเรือใหญ่ พอหลังรัฐประหาร คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งให้ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ เข้ามากำกับดูแล OKMD


 


เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา ในงานระดมความคิดเรื่อง "บทบาท TCDC กับสังคมไทย" ผู้จัดงานกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการระดมความคิดไว้ว่า ต้องการวางแผนงานสำหรับอนาคตในปี 2551 ที่จะมาถึง โดยตั้งประเด็นการคุยไว้สามประเด็นหลัก คือ บทบาทและหน้าที่ - Goal, การบริการ - Service, และการบริหารความรู้ - Content


 


องค์ประกอบของผู้คนที่เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น มาจากสาขาอาชีพต่างๆ อาทิ สถาปนิก นักโฆษณา ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ นักออกแบบอุตสาหกรรม และนักเรียนนักศึกษาบางส่วน


 


ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ หรือแทบจะเรียกได้ว่าเกือบทั้งหมด ย้ำว่า เห็นประโยชน์และคุณค่าของการก่อเกิดองค์กรที่มีแนวคิดสนับสนุนเรื่องความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบอย่าง TCDC โดยเฉพาะเมื่อเกิดกระแสที่ว่า TCDC จะถูกปิด แรงสนับสนุนนี้ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่น่าแปลกใจ


 


อย่างไรก็ดี การระดมความเห็นครั้งนี้ มีข้อเสนอต่อการวางแนวทางในอนาคตของ TCDC ที่น่าสนใจ


 


 


 


000


 


 


 


TCDC กับความใกล้ชิดผู้คน


โดยแนวคิดเริ่มต้นของ TCDC ที่เชื่อว่า ความคิดสร้างสรรค์คือแรงขับเคลื่อนสำคัญของทุกสิ่งทุกอย่าง แต่การดำเนินงานที่ผ่านมา มีเสียงวิพากษ์ TCDC ว่า เป็นที่เฉพาะกลุ่มสำหรับคนเพียงไม่กี่วิชาชีพ เช่น สถาปนิก ดีไซนเนอร์ นักโฆษณา และยังเป็นที่เฉพาะของคนที่ใช้วิถีชีวิตหรูหรา เพราะหากจะใช้บริการ TCDC ให้เต็มที่ ก็ต้องจ่ายค่าสมาชิก เช่น ค่าสมาชิกห้องสมุดที่ประชาชนทั่วไปต้องเสียค่าสมาชิก ขั้นต่ำปีละ 1,200 บาท


 


อนุสรณ์ ภักดิ์สุขเจริญ สถาปนิก และอาจารย์พิเศษ กล่าวว่า เรากำลังก่อตั้งสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการวิชาชีพ ที่ให้ความสำคัญกับคนกลุ่มหนึ่ง แต่ให้ความสำคัญกับคนกลุ่มใหญ่น้อยไปหรือไม่


 


ทั้งนี้ เขาเห็นว่าเป็นเรื่องดีสำหรับการจัดตั้งองค์กรเช่นนี้ขึ้นมา สำหรับ 3 วิชาชีพและสถาบันการศึกษา แต่เป้าหมายต่อไปต้องขยาย ไม่ใช่แค่กลุ่มวิชาชีพด้วยกัน นั่นคือ ถ้าสังคมจะพัฒนา ต้องพัฒนาไปด้วยกันระหว่างเรากับลูกค้า


 


วีร์ วีรพร นักออกแบบอิสระ และอาจารย์พิเศษ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.กรุงเทพ กล่าวว่า "มันจะดีกว่าถ้าที่นี่ เป็นมากกว่าที่ที่นักออกแบบมารวมตัวกัน"


 


ทั้งนี้ เขาเล่าจากประสบการณ์ของลูกศิษย์บางส่วน ซึ่งอยู่นอกวงการการออกแบบ และมีทัศนคติต่อ TCDC ว่า คนจำนวนหนึ่งยังมองว่า คนที่เดินทางมา TCDC ก็คือกลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตแบบหนึ่ง เดินทางด้วยรถไฟฟ้า แต่งกายด้วยเครื่องประดับจัดๆ ทานอาหารใน Food Court ขณะที่ลูกศิษย์บางคนทานอาหารข้างถนน เฟอร์นิเจอร์ที่นี่มันดีมากสำหรับนักออกแบบ แต่เมื่อคุยกับคนนอกวงการมันคือการใช้เงินลงทุนมหาศาลโดยที่คนไม่เข้าใจ


 


วีร์ เห็นว่า ขณะนี้ สถานที่นี้มีอยู่แล้วก็มีต่อไป แต่อยากเสนอให้ TCDC เป็นที่ที่คนทั่วไปกล้าเข้ามาได้มากขึ้น หากสถานที่ดูน่ากลัวแล้วมันจะเป็นกำแพง นอกจากนี้ กิจกรรมที่มี ก็น่าจะประชาสัมพันธ์ไปยังคนนอกวงการด้วย


 


นายฐิติพัฒน์ ศุภภัทรานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท HARN PRODUCT จำกัด และรองนายกสมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์ กล่าวว่า อยากให้คิดว่า ในฐานะผู้ให้บริการนั้น TCDC กำลังทำอะไรอยู่ คือ เราอยู่เอ็มโพเรี่ยม ก็อย่าไปคิดที่จะสนองคนที่อยู่ที่ลำลูกกา หรือจะให้ป้าจากต่างจังหวัดมานั้นเขาก็ไม่มาอยู่แล้ว เขาเห็นว่า TCDC น่าจะทำหน้าที่ของเราให้ดี ผู้ให้บริการต้องคิดถึงผู้รับบริการว่าเราอยู่ไหน แล้วปรับสินค้าและบริการให้เหมาะสม


 


 


มากกว่าทำงานสำเร็จรูป แต่คือการต่อยอดความรู้


ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการนิตยสาร a day แสดงความคิดเห็นว่า TCDC ทำหน้าที่ของศูนย์ข้อมูลได้อย่างดีมาก แต่กับคนนอกเอง หลายคนคงยังตั้งคำถามว่า งาน design ที่ดี จะนำมาสู่ยอดขายที่ดี และความมั่งคั่งของประเทศจริงหรือเปล่า


 


"บทบาทของศูนย์ นอกจากงานเชิงข้อมูลแล้ว งานเชิงรุก ประเภทงานวิจัย ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ" ทรงกลดกล่าวว่า TCDC น่าจะมีโครงการสักอย่างที่พิสูจน์ว่า งานดีไซน์จะสามารถช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้ เช่น อาจจะมีโครงการที่ดึงเอา "ผลิตภัณฑ์บ้านๆ" มาผนวกกับงานออกแบบเพื่อให้เห็นว่า การออกแบบได้สร้าง "มูลค่าเพิ่ม" อย่างไร มันจะเป็นตัวอย่างที่ดีว่า งานออกแบบมีความจำเป็นกับชีวิตอย่างไร


 


ทองดี ศรีกุลศศิธร รองกรรมการผู้จัดการบริษัท C.A.S. Paper จำกัด กล่าวว่า เขามีความรู้สึกว่า นักออกแบบทุกวันนี้ไม่ได้คิดไปถึงอนาคต และที่ผ่านมา หลายกรณี เราแพ้ตัวเอง ผู้ผลิตไทยยังนิยมที่จะตาม แต่ขาดความคิดที่เป็นของตัวเอง


 


เขาพูดถึงกรณีที่สำคัญว่า เรารู้หรือไม่ว่า กระดาษที่เราใช้กันอยู่นั้น บางชนิดมีส่วนผสมของสารเคมีที่ตกค้าง ซึ่งท้ายที่สุดจะกลายเป็นขยะพิษ เพราะขณะที่เกษตรกรต้องรู้กฎ FDA (Food and Drug Administration) แต่นักออกแบบอาจจะไม่รู้กฎระหว่างประเทศเหล่านี้ บางทีออกแบบชิ้นงานไปสวยงามแต่งานถูกตีกลับเพราะหีบห่อ เช่น เราส่งมะม่วงออกไปที่ญี่ปุ่น แต่ถูกตีกลับเพราะไม่ผ่านที่หีบห่อ (packaging)


 


เขาเห็นว่า สิ่งที่อยากให้ TCDC ทำเพิ่ม คือการร่วมกับองค์กรอื่นๆ เช่น อาจตั้งเป็นศูนย์มาตรฐานการพิมพ์ไทย ที่ทำงานเรื่อง Packaging ทั้งหมด


 


ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิค และนักออกแบบ ผู้มีส่วนกำหนดแนวทางของ TCDC มาตั้งแต่แรก กล่าวว่า จริงๆ TCDC เป็นเรื่องความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ (Creative and Design) มันไม่ใช่เรื่องการออกแบบ (Design) อย่างเดียว มันเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ และต้องการสร้างคน จริงๆ ไมได้ตั้งใจจะมาสนับสนุนดีไซนเนอร์ให้มาทำมาหากิน


 


เขากล่าวว่า ที่ผ่านมา ภาครัฐไม่ได้มีนโยบายในการสร้างคนจริงจัง คือมีลงไปในระบบการศึกษา มีการสนับสนุนเป็นโครงการย่อยต่างๆ แต่ไม่มียุทธศาสตร์หลักที่จะมาทำให้คนไทยฉลาด นี่คือวัตถุประสงค์ ต้องเข้าใจก่อน แล้วมันไม่ใช่เรื่องดีไซน์อย่างเดียว เป็นเรื่องของครีเอทีฟ


 


"ดังนั้น มันกินความค่อนข้างกว้าง และวัตถุประสงค์คือต้องการให้คนไทยฉลาดขึ้น" ดวงฤทธิ์กล่าว


 


ดวงฤทธิ์กล่าวต่อว่า ตอนแรก TCDC มีองค์ประกอบเยอะกว่านี้ มีทั้งห้องสมุดที่เราเห็น มีนิทรรศการ ทั้งหมดเป็นเรื่องขั้นตอนการเรียนรู้ที่ต่างกัน เขากล่าวว่า การพัฒนานั้น ลำดับแรกคือสร้างสมองก่อน ทำให้คนฉลาด ก็อ่านหนังสือไป


 


ลำดับที่สอง คือเรียนรู้จากผู้อื่น ก็คือดูนิทรรศการ "ทำไมต้องซื้อ Exhibition แพงๆมา? ก็เพราะเราจะได้เรียนรู้จากคนอื่น ไม่ต้องบินไปดู วิเวียน เวสต์วู้ดที่ลอนดอน แต่เข้ามาดูที่นี่ เด็กไทยก็มีโอกาส" ดวงฤทธิ์กล่าว


 


ดวงฤทธิ์กล่าวว่า "สิ่งที่สามที่ยังไม่ได้ทำ ก็คือ "ทดลองทำ" หมายความว่าถ้าเกิดดีไซนเนอร์เรียนรู้จากตำรา ดูคนอื่นทำ แล้วเกิดอาการคัน อยากทำเอง ก็มีที่ให้เขาลองทำ กระบวนการของเวิร์คช้อป กระบวนการของที่ที่ให้ลองทำ ก็ยังมีอยู่"


 


ส่วนลำดับที่สี่ คือการเจรจากับภาคธุรกิจ เป็นตัวเชื่อมกับ Material connection กับผู้ผลิต กับ supplier


 


ดวงฤทธิ์ย้ำว่า วัตถุประสงค์ของ TCDC คือ Creativity การสร้างคน การพัฒนาคน


 


"การที่เข้าไปแหย่พวกตัวแสบทั้งหลายให้เกิดอาการคัน มันไม่ใช่แค่เรื่องดีไซน์อย่างเดียว แต่คนที่ทำงาน Creativity ทั้งหมด ผมว่านั่นคือวัตถุประสงค์ของ TCDC แล้วเขาคงไม่อยากเป็นตุลาการนั่งอยู่บนแท่น แล้วบอกว่าอันนี้ดี อันนี้ไม่ดี อันนี้ใช่ อันนี้ไม่ใช่ แต่ว่าเขาอยากเป็นตัวแบบทีแหย่ให้เด็กไทย ให้พวกตัวแสบเหล่านี้เกิดอาการอยาก อยากที่จะเรียนรู้ให้มากขึ้น อยากที่จะได้ลองลงมือทำ"


 


"จริงๆ แล้ว TCDC เป็นเรื่องยุทธศาสตร์ระดับชาติ เราต้องเข้าใจว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า การผลิตของประเทศไทยไม่มีทางแข่งกับประเทศจีนได้แล้ว แก้วใบหนึ่งเราทำราคา 10 บาท แต่เมืองจีนทำราคาแค่บาทเดียว ผมถามว่า ในทรัพยากรเท่ากัน จะทำยังไงให้แก้วเรา 10 บาทแล้วขายได้ หรืออยากให้แก้ว 10 บาทมันราคาร้อยบาท ก็ต้องพึ่งสมองนักออกแบบ เป็นวิธีเดียวในการเพิ่มผลผลิตของประเทศ เป็นวิธีเดียวในการเพิ่มผลผลิตของประเทศ"


 


"ดีไม่ดีไม่รู้ เราอาจจะไม่อยากร่ำรวย อยากอยู่จนๆ ก็ไม่ว่าอะไร แต่ต้องมองยุทธศาสตร์ระยะยาว แต่ต้องมองยุทธศาสตร์จากนี้ไป เพราะจากวันนี้ไปถึงวันข้างหน้า การผลิตเราไม่อาจสู้จีนได้แล้ว"


 


"วันนี้ ถ้าจะเอาตัวรอด ทุกอย่างต้องดีไซน์ให้ก้าวต่อไปอีก ซึ่งนี่เป็นวิธีที่เราทำได้ เป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องทำความเข้าใจ ว่ามันเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ ไม่ใช่ทำเพื่อเอาใจนักออกแบบให้มีความโก้เก๋"


 


ดวงฤทธิ์ ได้กล่าวประเด็นทิ้งท้าย ต่อกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การใช้งบประมาณของ TCDC ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่พูดกันมาก คือความหรูหราของสถานที่นั้นว่า "ค่าก่อสร้างไม่ได้แพงเท่าไร จริงๆ แล้วเท่ากับตึกรัฐบาลตึกอื่นๆ เผอิญไม่ได้โกงเท่านั้นเอง"


 


 


ใช้เงินไปกับการช้อปหนังสือและนิทรรศการแพงๆ เล่นง่ายไปหรือเปล่า


ดร.ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ส่วนใหญ่คนจะพูดว่า TCDC เป็นห้องสมุด และเราควรจะต้องทำให้เกิดอาการคันด้วยการดูหนังสือเยอะๆ เราควรจะทำให้มีมือฝรั่งเข้ามาเกา เราจะได้มีความรู้สึกว่าเราออกแบบได้ โดยเฉพาะ นี่เป็นศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบที่เป็นจัดตั้งในระดับยุทธศาตร์แห่งชาติด้วย


 


ดร.ไขศรีกล่าวว่า เราอาจจะต้องทบทวนอีกทีว่า TCDC เลือกทางที่ง่ายไปหรือเปล่า จริงๆ แล้ว ในระยะเวลาที่จัดตั้งยุทธศาสตร์ ควรจะกำหนดโทนที่เหมาะสมกับการเป็นศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบที่แท้จริง มากกว่าที่ทำแค่ห้องสมุดที่มีหนังสือเยอะแยะ หรือซื้อนิทรรศการแพงๆ มา


 


"คือในกรณีนั้น ถ้าเรามีตังค์มาก เราก็ทำได้อยู่แล้ว ถ้ามี management cost ขนาดนี้ ไปทำที่ไหนก็ได้อยู่แล้ว มีห้องสมุด มีหนังสือให้ดูเยอะ"


 


ดร.ไขศรีกล่าวว่า จากประสบการณ์การเป็นอาจารย์ มีความรู้สึกว่า เราควรทำให้นักออกแบบรู้จักตัวเอง


 


"คือ ห้องสมุดก็มีประโยชน์ เพียงแต่มันเหมือนขาดสิ่งที่สำคัญไป คือส่วนที่จะทำให้รู้จักตัวเอง ส่วนที่จะไปสืบทอดกับงานวิจัยว่า อะไรคือจุดที่เราอยู่ปัจจุบัน อะไรคือหมุดที่เราจะปักว่า ตอนนี้ดีไซน์เนอร์ของไทยอยู่ตรงไหน ต่อไปเราจะก้าวไปทางไหน มากกว่าจะเอางบส่วนใหญ่ไปลงที่การซื้อหนังสือมา แล้วก็ซื้อ Exhibition มา"


 


"เรื่อง Image ก็สำคัญ คือ อย่างที่หลายท่านพูดไปว่า มันค่อนข้างต่างจากสังคมไทยทั่วไปค่อนข้างมาก ดูจากภายนอกแล้ว จริตมากเกินไป มีความรู้สึกว่าเหมือนขาดความเข้าใจ ขาดความต่อเนื่องกับสิ่งที่เป็นมนุษย์เดินดินธรรมดา"


 


ดร.ไขศรีกล่าวถึงแนวทางของ TCDC ว่า "นักออกแบบจำเป็นต้องมีการกำหนดโทน กำหนดทิศทางอะไรบางอย่าง เพื่อเป็นหมุดในการก้าวต่อไป แต่ว่าทำอย่างไรที่จะเลือกสร้างภาพลักษณ์ นั่นคือ หาวิธีที่จะให้สังคมไทยมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการออกแบบมากกว่านี้ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งถ้าเรากำหนดโทนผิด หรือเราเลือกคนที่เข้ามากำหนดโทนผิดตั้งแต่ต้น โทนนี้ก็จะติดภาพตลอดไป"


 


แค่ปรับทัศนคติ


วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ นักออกแบบ กล่าวว่าถึง TCDC ว่า ตอนนี้เรามีสถาบันที่ได้ยกระดับวิธีการ เนื้อหาต่างๆ ของวงการออกแบบขึ้นมาในมาตรฐานอีกระดับหนึ่ง


 


"แต่ผมอยากจะต่อยอดในหลายๆ ประเด็น รวมถึงเรื่องการกำหนดโทน คือ ทุกอย่างของที่นี่ดีหมดเลย แต่โทนคือตัวที่จะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง หรือทำให้มันไม่สามารถพุ่งทะยานไปได้อย่างสวยงามอย่างที่ผู้คนตั้งใจให้เป็น"


 


"โทนที่ว่านี่คืออะไร ผมฟังที่พี่ด้วง (ดวงฤทธิ์ บุนนาค) บอกว่า เราจะมาทำให้คนไทยฉลาด ผมคิดว่าทัศนคติแบบนี้ไม่ถูกต้อง เราไม่ควรที่จะคิดว่า เราเป็นผู้ที่จะทำให้คนไทยฉลาด คนไทยมีองค์ความรู้ มีความฉลาด มีความน่าสนใจ มีเนื้อหาซ่อนอยู่มากมาย TCDC คือผู้รวบรวม ไม่ใช่ผู้ป่าวประกาศ หรือว่าเอาอะไรมาบอกว่านี่คือดีไซน์ที่ดี"


 


"TCDC น่าจะเป็นศูนย์ที่ดึงความรู้ สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างสังคมไทยด้วยกัน ประเด็นที่สำคัญของสังคมไทยที่เกิดขึ้นคือ ตอนนี้มันมีกลุ่มคน มีนักออกแบบ ...อย่าลืมว่าการศึกษาการออกแบบมันคือการศึกษาตะวันตก แต่เราจะเชื่อมการศึกษาตะวันตกกับภูมิปัญญาที่เรามีอยู่ ซึ่งประเด็นนี้ เวลาผมเรียนอาจารย์ก็พูดปาวๆ ใส่ ผมไม่รู้เรื่องเลย ผมก็ไปออกแบบตึกสวยๆ ตึกเอียงๆ เบี้ยวๆ แต่พอผมมาทำงาน มาทำความเข้าใจกับคน กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่มันมีอยู่ทั่วไป ความรู้เหล่านี้ มันมีค่าและสำคัญต่อพวกเราที่จะพัฒนาให้มันเป็นการออกแบบไปสู่ระดับโลกมาก"


 


"ถ้าเราแค่คิดว่า เราอิมพอร์ตตำราจากเมืองนอกมา อิมพอร์ตนิทรรศการจากเมืองนอกมา เพื่อที่เราจะทำให้คนไทยฉลาดขึ้น เราก็จะเป็นแค่ผู้ตามที่ใกล้ระยะเขามากกว่าสิงคโปร์แค่นั้นเอง เราไม่มีทางเป็นผู้นำได้จริง เพราะฉะนั้น นี่ล่ะคือโทน โทนหรือทัศนคติที่เราเห็นว่าคนอื่นไม่รู้เท่าเรา"


 


"TCDC ควรจะมีทัศนคติที่ประสาน คือมีศิลปากรแล้ว มีจุฬาฯแล้ว มีที่นั่นที่นี่ คือประเทศไทยไม่ต้องการคำตอบคำตอบเดียวที่จะมาสร้าง solution แล้วฉลาดทั้งประเทศ ประเทศนี้ไม่ใช่ประเทศที่นักเรียนอังกฤษประเทศเดียวจะมาบอกว่า ใช้ solution นี้แล้ว คนจะฉลาดขึ้นเรื่อยๆ ยังมีนักเรียนญี่ปุ่น ยังมีนักเรียนอเมริกา ยังมีนักเรียนฝรั่งเศส ที่มีทัศนคติต่อประเทศนี้อีกหลายแบบ เราต้องเคารพความรู้สึกของคนเหล่านี้ เราต้องเคารพทิศทางของคนเหล่านี้ แล้วถ้าเราปรับทัศนคติว่า เมืองเราเป็นเมืองที่มีองค์ความรู้ที่หลากหลาย TCDC จะใช้ Facility ได้อย่างมีประโยชน์มาก"


 


วิชญ์กล่าวยกตัวอย่างว่า ผลงานจบการศึกษาของนักศึกษาที่มีทุกๆ ปีนั้น เป็นผลงานที่ไม่ได้ทำมุ่งหวังเอาใจใคร และมีมากมายที่นักออกแบบเห็นแล้วทึ่ง แต่ที่ผ่านมายังไม่มีเวทีให้แสดงออก


 


"ทำไม TCDC ไม่ใช้ Facility ที่มีให้เขาแสดงออก น่าจะรวบรวมงานเหล่านี้ ต่อยอด เอามาไว้ที่นี่ แล้วที่นี่จะเป็นที่ที่ดีสำหรับนักออกแบบที่ดีจริงๆ ไม่ใช่ซื้อของมา หรือเป็นแบบนักออกแบบมีปมด้อย ออกแบบไม่เก่งแล้วซื้อของมา ผมว่าไม่ใช่ เหมือนคนที่เอะอะก็ซื้อของใส่ตัว มี Gadget ต่างๆ แต่ว่าจริงๆ แล้วตัวเองไม่รู้อะไรจริงๆ"


 


วิชญ์กล่าวทิ้งท้ายว่า "ผมรักที่นี่ ผมรักวงการออกแบบไทย คนที่กลับมาทำงานที่ประเทศไทย รัก อยากให้วงการออกแบบไทยดี ไม่อยากจะให้เราตามเขา เราต้องนำเขา แค่ปรับทัศนคติแค่นั้นล่ะครับ"


 


ต่อ สันติศิริ นักโฆษณา กล่าวว่า ที่นี่มีศักยภาพที่จะทำให้เด็กไทยฉลาดขึ้น มีศักยภาพมากที่จะสอนนักเรียนให้เป็นกิจลักษณะ เป็นเวิร์คช้อปที่พอสอนเสร็จแล้วออกไปก็ช่วยเขาผลิต หาคนที่จะหางานให้เขา ซึ่งก็มีผู้ประกอบการให้เขาอยากได้ดีไซน์เนอร์ไป สิ่งเหล่านี้ก็วัดผลได้


 


"ส่วนเด็กที่บอกว่า ที่นี่ดูหรูเกินไป ไม่เข้ากับชีวิต อย่างที่บอก ผมทำบริษัทโฆษณา บริษัทโฆษณาแต่ละแห่งก็หรูกว่านี้มาก ก็ต้องการความรู้ จะให้ไปเรียนที่กองขยะหรือไง"


 


ต่อกล่าวว่า คนที่ทำงานจริงๆ จะพูดเรื่องเนื้อหา ว่ามา TCDC แล้วได้ความรู้อย่างไร "เขาจะไม่พูดว่ามาแล้วประตูหรูไป พูดไปมันเสียเวลา มาแล้วได้ความรู้ ก็มาเอาความรู้ จบ ไม่ต้องมาเถียงกันว่า โอ เก้าอี้มันดูสีส้ม"


 


เขากล่าวว่า ส่วนที่มีการบอกว่า โทนแปลว่าทัศนคติ คิดว่าเป็นคนละความหมาย เรื่องทัศนคตินั้น เขาเห็นว่า TCDC ก็ให้ความรู้ทั่วไปตลอดเวลา ตั้งแต่อีสาน, เวสต์วูดก็จากอังกฤษ, ชีวิตกลางทะเลทราย ก็ให้ความรู้หลากหลายมากแก่คน ไม่ได้ระบุเลย ไม่มีการจัดรางวัลว่าที่หนึ่งคือใครหรืออะไร


 


สมพิศ ฟูสกุล ภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวสนับสนุนกรณีที่มีคนเสนอให้ TCDC เป็นพื้นที่แสดงผลงานของนักศึกษาด้วย เพราะหลายครั้งที่รู้สึกว่า TCDC เป็นพื้นที่สำหรับโปรโมทดีไซน์เนอร์ที่ต้องเก่งแล้วหรือเปล่า


 


สมพิศกล่าวว่า มันเป็นเรื่องสูตรสำเร็จเกินไป ที่จะเอาดีไซน์เนอร์ที่เก่งแล้ว หรือดีไซน์เนอร์ที่เป็นท็อปดีไซน์เนอร์มาโชว์งาน แต่น่าจะสนใจถึงความคิดเด็กนักเรียนและคนทั่วไป ซึ่งจะช่วยให้เห็นกระบวนการของการคิด ที่ไม่ได้มุ่งอยากจะดูงานที่ผลสำเร็จแล้ว แต่อยากรู้กระบวนการก่อนจะมาถึงผลงานสำเร็จด้วย


 


สมพิศกล่าวถึงการอบรมว่า ที่ผ่านมา หลังจากทำเวิร์คช้อปแล้ว พอผลงานที่ออกมา ไม่ได้เป็นผลงานที่แจ๋วมาก หรือดูแล้วเป็นมืออาชีพ หรือดูแล้วขายได้ TCDC ก็ไม่จัดแสดงผลงาน ซึ่งรู้สึกว่ามันน่าเสียดาย เพราะทุกคนน่าจะมีโอกาสได้รู้ว่า การทำเวิร์คช้อปแต่ละครั้ง ถ้ามีผลออกมาไม่แจ๋ว อย่างน้อยเราก็อยากรู้ว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผล เช่นทำไมคุณถึงคิดว่ามันขายไมได้ หรือทำไมคุณถึงเลือกโปรโมทงานนี้ ทำไมถึงคิดว่างานนี้ขายได้


 


000


 


 


การทำงานขององค์กรที่มีแนวคิดแบบ TCDC คงหลีกไม่พ้นที่ต้องยึดถือเรื่องประโยชน์ในการสร้างองค์ความรู้ระยะยาวเป็นที่ตั้ง TCDC จะมีวิสัยทัศน์อย่างไร จะเชื่อมโยงกับสังคมไทยได้แค่ไหน สิ่งเหล่านี้ต่างหากคือความสำคัญที่คนทำงานต้องยึดถือเสมอ ก่อนที่จะให้ความขัดแย้งหรือการเมืองภายในครอบงำจนองค์กรแห้งตายไป หาใช่การลดงบประมาณตามที่เป็นข่าว


 


 


 


เพิ่มเติม :


สิ่งที่มีใน TCDC ได้แก่


เฉพาะสมาชิก : ห้องสมุดเฉพาะด้านการออกแบบ, ห้องชมภาพยนตร์, ห้องสมุดเพื่อการออกแบบ


สำหรับบุคคลทั่วไป : นิทรรศการ ได้แก่



  1. นิทรรศการถาวร What is design? ต้องมีอะไรถึงออกแบบได้ จัดแสดง 256 วัน ผู้เข้าชม 74,115 คน
  2. กันดารคือสินทรัพย์ : อีสาน Isan Retrospective, Deprivation, Creativity and Design จัดแสดง 40 วัน ผู้เข้าชม 22,032 คน
  3. ถอดรหัสญี่ปุ่น DNA of Japanese Design (ร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศแห่งญี่ปุ่น - JETRO) จัดแสดง 51 วัน ผู้เข้าชม 24,234 คน
  4. แล้ง หนาว ... แต่เร้าใจ marimekko (ร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์การออกแบบฟินแลนด์) จัดแสดง 40 วัน ผู้เข้าชม 24,108 คน
  5. วิเวียน เวสต์วูด Vivienne Westwood (ร่วมกับพิพิธภัณฑ์วิตอเรียแอนด์อัลเบิร์ต) จัดแสดง 51 วัน ผู้เข้าชม 44,075
  6. วิถีชีวิต วัฒนธรรมการกิน กับการออกแบบ Multipli di Cibo, 100 Projects of foodesign guzzini จัดแสดง 21 วัน ผู้เข้าชม 7,449 คน
  7. พลังกรรมาชนจีน เมื่อเหล่าสหายกลายเป็นนักช็อป! WORKERS (WITH MONEY) UNITE! China"s Shopping Revolution จัดแสดง 34 วัน ผู้เข้าชม 11,411 คน

กิจกรรมอื่นๆ : เวทีความคิดเห็น, การบรรยายและการชุมนุมทางความคิดประจำปี


 


 


กระแสที่เกี่ยวข้อง :


กระทู้เรื่อง TCDC ในพันทิบ


 


อ่านประกอบ :


การเมืองย้อนกลับใน TCDC


TCDC Profile: เราก้าวมาไกลแค่ไหนในหนึ่งปีที่ผ่านมา


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net