Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คุยเรื่อง "หนังสือ" กับ "อภิชาติ เพชรลีลา"


 


โดย  อรรคพล สาตุ้ม , ภฤศ ปฐมทัศน์


 


 


 


อภิชาติ เพชรลีลา หรือ นอม วิเศษสิงห์ เป็นนามปากกาของ นายสุรฉัตร เพชรลีลา เกิดที่กรุงเทพฯ เรียนจบจากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยทำงานหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่เชียงใหม่อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะกลับไปทำงานที่กรุงเทพฯเป็นเวลาสี่ปี แล้วลาออกมาทำงานเขียนหนังสือ มีงานเขียนเล่มแรกคือ "กล่องไปรษณีย์สีแดง" (2543) เป็นสารคดีท่องเที่ยวกึ่งนิยาย ต่อมามีผลงานเขียนนิยายอีกสองเรื่องคือ "อยากให้ลมหนาวหวนมาอีกครั้ง" (2544) กับ นกดวงจันทร์ (2545) และงานเขียนเชิงบันทึกกึ่งสารคดีชื่อ "หนึ่งปีของชีวิต" (2546) และนิยายเรื่อง "แม่" (2546) ในนามปากกา นอม วิเศษสิงห์ ปัจจุบันนอกจากทำงานเขียนแล้วยังเปิดสำนักพิมพ์ในชื่อ "นกดวงจันทร์" อีกด้วย


 


วันนี้ประชาไทมีโอกาสได้พบปะและร่วมคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับวงการหนังสือไทยในปัจจุบัน ลองมาดูกันว่านักเขียนคนนี้มีมุมมองต่อแวดวงหนังสือในปัจจุบันอย่างไร ...


 


ประชาไท : มีผลสำรวจออกมาเมื่อปีที่แล้วว่าตลาดสื่อสิ่งพิมพ์ไทยยังคงโตเรื่อย ๆ  มันสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของวงการวรรณกรรมรึเปล่า? หรือในความเป็นจริงมันขัดแย้งกัน ?


 


อภิชาติ เพชรลีลา : ผมคิดว่ามันก็ไม่ได้ขัดแย้งกันนักหรอกนะ ตลาดสื่อสิ่งพิมพ์กับวงการวรรณกรรมในความหมายโดยรวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นงานวรรณกรรมแปล งานวรรณกรรมเยาวชน งานวรรณกรรมที่ไม่ใช่งานเชิงสร้างสรรค์หรืองานที่ซีเรียส มันก็ยังมียอดจำหน่ายที่เติบโตขึ้น แต่ถ้าจะจำเพาะลงไปเป็นงานวรรณกรรมเชิงสร้างสรรค์ของนักเขียนในประเทศมันก็ทรง ๆ เป๋ ๆ อยู่ อย่างงานนวนิยาย เรื่องสั้น บทกวี อะไรอย่างนี้ แต่มันก็อยู่ของมันอย่างนี้มานานแล้วล่ะนะ ไม่ได้มีส่วนไปเพิ่มยอดขายให้ตลาดสื่อสิ่งพิมพ์อะไรเขาหรอก แต่มันก็เหมือนกับการปลูกไม้ใหญ่แหละผมว่า หลายปีกว่าที่มันจะโต -- มันช้า แต่รื่นรมย์


 


ประชาไท : ปัจจุบันเห็นนักเขียนหลายคนพิมพ์งานของตนเองอย่างคุณก็ทำสำนักพิมพ์นกดวงจันทร์ด้วย ระหว่างการทำสำนักพิมพ์เอง กับการเขียนส่งให้สำนักพิมพ์อื่น มีความแตกต่างกันอย่างไร?


 


อภิชาติ เพชรลีลา : การที่นักเขียนจะทำสำนักพิมพ์เอง พิมพ์งานของตัวเอง กับการที่นักเขียนจะเขียนส่งสำนักพิมพ์ที่เป็นมืออาชีพทำ มันก็ได้อย่างเสียอย่าง ก็ต้องชั่งน้ำหนักเอา อย่างที่ผมพิมพ์เอง เหตุผลหลัก ๆ ก็คือเราควบคุมหน้าตาหนังสือของเราได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งเนื้อหา,รูปแบบ,รูปเล่ม แล้วอีกอย่างคือถ้าหนังสือเราขายได้ ก็จะได้ส่วนแบ่งจากการที่เราทำงานมากกว่าที่เราได้สิบเปอร์เซ็นต์จากสำนักพิมพ์


 


แต่มันต้องขายได้นะ ซึ่งตรงนี้มันมีโอกาสเกิดได้กับนักเขียนได้น้อยคนมาก ๆ มันจะเกิดกับใครได้บ้างล่ะ? ชาติ กอบจิตติ , วินทร์ เลียววาริน และก็อาจจะเป็นปราบดา หยุ่นด้วย ซึ่งทุกคนที่ว่ามาต่างก็พิมพ์หนังสือกันเอง สำหรับผม ผมค่อนข้างโชคดีที่หนังสือที่เขียนได้ถูกดัดแปลงไปเป็นภาพยนตร์ (ภาพยนตร์เรื่อง "เพื่อนสนิท" เขียนบทเพิ่มเติมจากหนังสือ "กล่องไปรษณีย์สีแดง" บทประพันธ์ของ อภิชาติ เพชรลีลา) ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เกิดกับนักเขียนได้น้อยราย


 


และสำหรับข้อเสียก็คือ หนึ่ง คุณต้องเป็นนักเขียนที่บรรลุวุฒิภาวะพอสมควร คุณต้องควบคุมงานเขียนของคุณเองได้ ถ้าไม่ได้ก็ต้องหาบรรณาธิการให้มาช่วยดูให้ และข้อเสียที่สำคัญที่สุดที่เกิดกับนักเขียนโดยทั่วไป ถ้าจะต้องมาพิมพ์หนังสือของตัวเองก็คือ มันจะขาดทุนเอานะสิ ขาดทุนเข้าเนื้อเสียเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ก็ บางคนก็คิดว่า แทนที่จะเอาเวลาไปทำเรื่องพวกนี้ ก็เอาเวลาไปเขียนหนังสืออย่างเดียวดีกว่า


 


ประชาไท : แล้วที่คุณพิมพ์หนังสือของตัวเอง ได้เคยมองเรื่องการตลาดไหม?


 


อภิชาติ เพชรลีลา : ปกติแล้วผมจะไม่เคยมองเรื่องการตลาดเลยนะ คิดแต่จะทำหนังสือให้มันสวย ถูกใจตัวเองที่สุด แต่ที่ไม่ปกติ แล้วดูเรื่องการตลาดเหมือนกัน ก็ตอนที่หนังสือกล่องไปรษณีย์สีแดงกลายไปเป็นภาพยนตร์เรื่องเพื่อนสนิท ก็อาศัยการตลาดตาม ๆ กระแสภาพยนตร์ไปเหมือนกัน ซึ่งก็ทำให้หนังสือมันขายได้ดีมากขึ้น แต่ในวงเล็บนะ ว่านั่นหมายถึงเราทำการตลาดให้กับสิ่งที่เราคิดว่าเราทำมันออกมาได้ดีที่สุดแล้ว เต็มที่กับมันแล้ว


 


ประชาไท : ปัจจุบันนี้ในวงการหนังสือ มันได้มีปรากฏการณ์ของหนังสือจำพวก "ฉูดฉาด" ที่เน้นเรื่องการตลาดมากกว่าเนื้องาน เช่น พวกหนังสือขายเรื่อง sex ของวัยรุ่น หรือหนังสือแฉความรุนแรงต่างๆ ฯลฯ คุณคิดเห็นว่ายังไงบ้าง?


 


อภิชาติ เพชรลีลา : มันเป็นสิ่งที่เรารู้สึกได้นะ แล้วทุกครั้งที่เห็นก็จะรู้สึกแย่มาก ๆ เออ ถ้ามันมีสักสิบยี่สิบเล่ม มันก็เป็นความผิดปกติของไอ้คนเขียนกับไอ้คนพิมพ์ แต่นี่มันเป็นกระแส มีเป็นร้อย ๆ ปก ขายกันเป็นแสน ๆ เล่ม (หรือจะเป็นล้าน?) มันก็เลยกลายเป็นความผิดปกติของสังคมไปแล้ว แสดงว่าสังคมเรามันป่วยไข้แล้วมั้ง เราคงต้องช่วยกันพูดว่า "สิ่งที่คุณทำนั้นมันทำร้ายสังคม ทำร้ายคนอ่านนะ!" ซึ่งที่ผ่านมาในวงการหนังสือรู้สึกว่ามันมีการตรวจสอบกันน้อยมาก คุณจะนิ่งเฉยไม่ได้นะกับปรากฏการณ์แบบนี้ คือมันเหมือนเอาสิ่งที่เป็นอาชีพของคนทำหนังสือมาทำให้มันเป็นแบบนี้ มันเลวร้ายมาก ๆ เลยนะ


 


ประชาไท : มันดูฉาบฉวย?


 


อภิชาติ เพชรลีลา : มันยิ่งกว่าฉาบฉวย ... มันเลวไง! --- มันจะไม่เลวได้ยังไง คือหากคุณทำหนังสือโดยไม่คิดถึงใคร ผลกระทบจากสิ่งที่คุณทำมันจะเกิดอะไรกับผู้อ่านบ้าง? โดยเฉพาะกับคนที่เป็นเด็กเป็นเยาวชน แล้วคุณไม่คิดว่ามันจะสร้างมาตรฐานที่ต่ำลงของศีลธรรม ที่คุณทำมันเป็นสื่อนะ เป็นความชั่วร้าย เพราะคุณทำอะไรที่มันเป็น mass แต่สิ่งที่คุณนำมาอ้างเสมอ ๆ ก็คือ คุณนำเสนอสิ่งที่มันเลวร้ายเพื่อเป็นตัวอย่างให้เด็กมันรู้ว่าความเลวร้ายเป็นอย่างนี้ ๆ เหมือนเอาสีข้างเข้าถู กูไม่รับผิดชอบอะไรแล้ว


 


ประชาไท : แต่ก็เหมือนมีข่าวว่าหนังสือฉูดฉาดประเภทนี้เริ่มจะขายไม่ได้บ้างแล้ว?


 


อภิชาติ เพชรลีลา : แต่มันก็ทำกันไปเยอะแล้วไง พอถึงช่วงขาลงมันก็ไปทำอย่างอื่นกันได้


 


ประชาไทย : แล้วคุณคิดว่า กลุ่มที่ไม่ได้ทำหนังสือแบบฉาบฉวย คือกลุ่มที่สร้างงานวรรณกรรมโดยคำนึงถึงความเป็นศิลปะ หรือเพื่อจรรโลงสังคม พวกนี้คุณคิดว่าพวกเขาจะมีโอกาสได้รับการสนับสนุนมากกว่านี้ไหม? อาจไม่ต้องถึงขั้นเทียบกับตลาดกระแสหลัก แต่เอาเท่าที่พวกเขาอยู่ได้และมากพอจะมีกำลังผลิตงานเขียนต่อ


 


อภิชาติ เพชรลีลา : ถามถึงโอกาสเหรอ ถ้าให้พูดจริง ๆ ก็คือ โอกาสมันน้อย แต่ก็ขอให้ทำงานให้ดีที่สุด แล้วก็โชคดีแล้วกันนะ.   


 


 






 




 


ผลการสำรวจ "ธุรกิจสำนักพิมพ์ และ หนังสือเล่ม ในประเทศไทย" ซึ่งจัดทำโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ประเมินภาพรวมของตลาดในปีนี้ว่า จะยังคงเติบโตได้แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงจากเหตุบ้านการเมือง  สาเหตุหลักๆ ก็เนื่องจากการที่รัฐบาลให้ความสำคัญด้าน "คน" โดยธุรกิจสิ่งพิมพ์ ซึ่งถูกประเมินไว้คร่าวๆ ว่ามีมูลค่าอยู่ราว 16,000 ล้านบาทนั้น ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ผลิต และจำนวนของช่องทางจัดจำหน่าย


 



เริ่มจากจำนวนของสำนักพิมพ์ในไทยปี 2549 ประมาณการว่ามีทั้งสิ้น 492 สำนักพิมพ์ เติบโตขึ้นเล็กน้อยจากปี 2548 ที่มีทั้งสิ้น 475 สำนักพิมพ์ โดยจากจำนวนทั้งสิ้น 492 สำนักพิมพ์นั้น แบ่งออกเป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก (ยอดขายน้อยกว่า 30 ล้านบาท) มากถึง 77.6% หรือเท่ากับ 382 สำนักพิมพ์  ตามด้วยสำนักพิมพ์ขนาดกลาง (ยอดขายตั้งแต่ 30-100 ล้านบาท) มีทั้งสิ้น 75 สำนักพิมพ์ คิดเป็น 15.3% ส่วนสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ (ยอดขายมากกว่า 100 ล้านบาท) จำนวนทั้งสิ้น 35 สำนักพิมพ์นั้น คิดเป็นสัดส่วนเพียง 7.1%  แม้ว่าสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่จะมีจำนวนเพียง 7.1% ของจำนวนทั้งหมด แต่กลับมียอดจำหน่ายสูงลิ่วเป็นอันดับหนึ่ง โดยอยู่ที่ 9,800 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 58.3% จากยอดขายทั้งสิ้น 16,800 ล้านบาท โดยมีสำนักพิมพ์ขนาดกลาง ตามมาเป็นอันดับสอง มียอดขายที่ 5,000 ล้านบาท คิดเป็น 29.8% สุดท้ายเป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก มียอดขายทั้งสิ้น 2,000 ล้านบาท คิดเป็น 11.9%


 



ทั้งนี้ เมื่อเจาะลึกลงไปที่จำนวนหนังสือที่จำหน่ายเมื่อปีที่ 2549 พบว่ามีมูลค่าทั้งสิ้น 16,800 ล้านบาท โดยคิดเป็นราคาเฉลี่ยต่อเล่มอยู่ที่ 156.72 บาท จากจำนวนหนังสือทั้งสิ้น 107 ล้านเล่มเศษ  เมื่อสำรวจลงไปที่พฤติกรรมการจับจ่ายของนักอ่านชาวไทย ก็พบว่ามีการใช้จ่ายเงินซื้อหนังสือต่อคนต่อปีอยู่ที่ 259.93 บาท เติบโตจากปี 2548 ซึ่งมียอดเฉลี่ยอยู่ที่ 239.78 บาทอยู่เพียงเล็กน้อย โดยรวมแล้ว แม้ว่าธุรกิจสำนักพิมพ์และหนังสือ จะเติบโตไม่มาก แต่ก็ยังมีแนวโน้มที่สดใส โดยทางสมาคมประมาณการว่า ธุรกิจสำนักพิมพ์จะมีอัตราการเติบโตระหว่างร้อยละ 10-15 หรือมียอดขายไม่น้อยกว่า 18,500 ล้านบาท


 



 ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ Bizweek ฉบับวันที่ 16 - 22 ก.พ. 2550


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net