Skip to main content
sharethis


อรรคพล สาตุ้ม สัมภาษณ์


 



 


 


อภิชาต ดำดี อดีตผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ "ผู้ใหญ่บ้านดำดี" และ "ไม่ลองไม่รู้" ช่อง 9 โดยคลุกคลีกับเกษตรกรมาอย่างยาวนาน เป็นวิทยากรในเรื่อง " ผู้หญิงเกษตกร" (โดยประชาไทจะนำเสนอรายละเอียดต่อไป) บนเวทีเกี่ยวกับ ผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ ณ ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา ประชาไท ได้สอบถามถึงประเด็นในหลายด้าน ทั้งประเด็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กับผู้หญิง รวมถึงปัญหาเกษตรกรในปัจจุบัน ประชาไทจึงนัดแนะขอสัมพาษณ์พิเศษเป็นการส่วนตัว ในมุมมองต่างๆ ของอภิชาติ ดำดี ที่น่าสนใจ ดังนี้ ..


 


ในฐานะ ส.ส.ร. แล้ว คิดว่า ร่างรัฐธรรนูญ 2550 จะดีกว่า รัฐธรรมนูญ2540 ไหม?


ก็เป็นธรรมดาสำหรับคนทำ หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ก็ต้องมองในด้านดี คืออยากให้มันดีขึ้นกว่าปี 2540 เพียงแต่ว่า มีข้อจำกัดเรื่องเวลา และเราก็ร่างรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางความหวาดระแวงแคลงใจของสังคมด้วย เพราะฉะนั้นก็ต้องพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อให้เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญออกมาสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เพราะสุดท้ายแล้ว พวกเราไม่ได้เป็นคนตัดสินใจ ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ ถ้าเกิดประชาชนไม่รับร่าง ส.ส.ร.ก็หน้าแตก ก็เลยคิดว่าเน้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นทำให้ทั่วถึง แม้ว่าจะมีข้อจำกัดเรื่องเวลา ในขณะเดียวกันเนื้อหาต้องสอดคล้องกับประชาชน นั่นคือสิ่งที่พยายามทำกันอยู่


 


ผู้หญิงกับภาคเกษตร โดย สสร จะเพิ่มในรัฐธรรมฉบับใหม่ อย่างไร


เมื่อกี้ก็มีข้อเสนอที่น่าสนใจจากที่มารับฟังเครือข่ายที่เชียงใหม่วันนี้ แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะระบุว่า บุคคลย่อมมีความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ทั้งหญิง และชาย แต่ก็มีข้อเรียกร้องหลายส่วนที่อยากจะให้มันมีลักษณะเฉพาะที่ชัดเจนขึ้นกว่าพูดรวมๆอย่างนี้ มีบางท่านก็เสนอ เรื่องเพศภาวะ มันไม่ได้หมายความถึงแค่เพศหญิงและชาย แต่มันหมายรวมถึงค่านิยม หรือทัศนคติที่สังคมมีต่อเพศนั้นๆ ว่าเพศนั้นเป็นอย่างนั้น เพศนั้นเป็นอย่างนี้ ก็มีเสียงเรียกร้องว่า ค่านิยมเล่านี้ ต้องไม่เป็นเหตุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ นั่นหมายถึงว่ามันจะลึกซึ้งไปมากกว่าหญิงหรือชาย แต่หมายถึงค่านิยมที่มองเพศหญิงเป็นอย่างนั้น มองเพศหญิงเป็นอย่างนี้ น่าจะเป็นค่านิยมที่จะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง และไม่เป็นเหตุให้บุคคลได้รับการเลือกปฎิบัติ นั่นก็เป็นอีกข้อหนึ่ง และในขณะที่อีกหลายข้อก็มักเป็นความคิดเห็นที่อาจจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายประกอบ แม้จะไม่เกี่ยวกับกฎหมายแม่เลยทีเดียว


 


เรื่องของผู้ติดเชื้อเอดส์ เรื่องของผู้ด้อยโอกาส ก็เสนอความเห็นกันหลากหลาย เรื่องของเงื่อนไขของการให้สินเชื่อ ที่เอื้อให้ผู้ชายมีสถานะเหนือกว่าในการกู้ แล้วทำให้ผู้หญิงไม่ได้มีส่วนร่วมรู้เห็นการกู้ของพ่อบ้าน โดยรวมผู้หญิงเนี่ย มันถูกกดดันอยู่แล้ว ภายใต้สภาพของสังคม เศรษฐกิจโดยรวม ผู้หญิงในภาคเกษตร อย่างที่ผมบอกว่า จนแล้วก็ต้องเครียดอยู่แล้ว แต่ว่าด้วยความเป็นผู้หญิง ก็ถูกกดดดัน ในสถานะความเป็นผู้หญิง มันก็ต้องออกแรงสู้ สองเด้ง สู้ในแง่ความเสมอภาค และในขณะเดียวกันสู้ในแง่โอกาส ของผู้หญิงเกษตร ที่จะต้องได้รับการจัดสรรโอกาสทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ให้เพียงหน้าเพียงตาคนอื่นๆ


 


แง่มุมสถานะปัญหาภาคใต้ และสตรีที่ภาคใต้ซึ่งมีภาษาเฉพาะ สำหรับ ส.ส.ร. แล้วสื่อสารกันอย่างไร


ตรงนี้เป็นข้อคิดที่ดีมากเหมือนกัน เพราะการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ต้องยอมรับว่าในบางกลุ่มก็มีภาษาเฉพาะ ซึ่งถ้าเราจะใช้สื่อหลักก็คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะสื่อหลักจะสื่อสารด้วยภาษาไทยกลาง เพราะงั้นเลยคิดว่า การทำงานของ ส.ส.ร. ต้องออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมเหมือนกัน คือสังคมที่ใช้ภาษายาวี ส.ส.ร.ก็ต้องเลือกใช้ภาษายาวีเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร หรือเลือกสื่อท้องถิ่นที่ใช้ภาษายาวีได้ในการทำความเข้าใจ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร พอมาเชียงใหม่ ก็มีชนเผ่า ก็ต้องเป็นภารกิจของ ส.ส.ร. ที่ต้องออกแบบวิธิการสื่อสารที่จะเข้าถึงคนเหล่านี้ คือต้องพยายามหาสื่อท้องถิ่น หรือหาบุคคลที่สามารถเชื่อมโยงโดยใช้ภาษาท้องถิ่นได้ ตรงนี้ก็จะทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งบางทีเรามองมาจากส่วนกลาง เรามองไม่เห็น แทบไม่ได้ยินเสียงสะท้อนจากท้องถิ่น


 


ส.ส.ร. วางแผน ประชาสัมพันธ์อย่างไร


มันก็มีกรรมมาธิการประชาสัมพันธ์ ที่ดูแลงานเรื่องนี้อยู่ แต่ก็ยอมรับ เรื่องเวลา เรื่องงบประมาณ ต้องใช้งบประมาณอย่างระมัดระวัง ประหยัด โปร่งใส ด้วยเหตุนี้ มันก็เลยทำให้งานประชาสัมพันธ์ไม่คึกโครม เท่าที่ควร ผมเลยมองว่า นอกจากประชาสัมพันธ์จากส่วนกลางแล้ว ประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงหัวใจคนได้ดี คือประชาสัมพันธ์จากท้องถิ่นกันเอง เพราะฉะนั้นประชาสัมพันธ์ที่สอดคล้องกับภูมิสังคมเอง สำคัญไม่น้อยกว่าประชาสัมพันธ์ของส่วนกลาง ส่วนกลางก็เดินหน้ากันไป ในขณะที่ใต้ก็ต้องประชาสัมพันธ์แบบใต้ เหนือก็ต้องประชาสัมพันธ์แบบเหนือ


 


ที่ผ่านมาคลุกคลีกับเกษตรกรตลอด คิดว่าเกษตรกรกระตือรือร้นมากขึ้นในเรื่องรัฐธรรมนูญ หรือเปล่า


ผมคิดว่าถ้าโดยทั่วๆไป การเมืองกับเกษตรกร จะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะว่าเกษตรกรจะมองการเมือง เป็นเรื่องของ ส.. ส.ว. สภา ไม่ได้เกี่ยวกับน้ำ ไม่ได้เกี่ยวกับปุ๋ย ไม่ได้เกี่ยวกับปากท้อง แต่ถ้าเรามีความพยายามที่จะอธิบายให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญกินได้ รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องปากท้อง รัฐธรรมนูญเป็นกติกาในการจัดสรรแบ่งปันอำนาจในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งจัดสรรทรัพยากร ที่จะต้องกิน จะต้องใช้ในสังคม ให้ทุกฝ่ายอยู่ด้วยกันได้อย่างสันติสุข ถ้ามองให้ทะลุถึงจุดนี้ได้ ผมก็คิดว่าเกษตรกรก็จะมีความเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญมีผลกระทบต่อตัวเขาอย่างไร กระทั่งเปิดเอฟทีเอกระทบไหม กระทบ หอม กระเทียม เพราะอะไร จีนเขาบริหารต้นทุนต่ำกว่าเรา แข่งราคาเราแข่งไม่ได้ เห็นง่ายๆ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็มีข้อถกเถียงเหมือนกันว่า การใช้อำนาจรัฐ นอกรัฐ ด้วยการไปทำสัญญาต่างๆ ที่จะมีผลกระทบมากๆ ต่อสังคมไทย อย่างเช่น ไปเซ็นสัญญาเอฟทีเอมันต้องผ่านสภา….ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภา ไม่ใช่ใครจะไปเซ็นสัญญาก็ได้ เพราะนี่เป็นการใช้อำนาจรัฐ นอกรัฐ ในเรื่องที่มีผลกระทบต่อประเทศชาติ และประชาชนอย่างมาก ควรจะมีความผ่านการเห็นชอบของรัฐสภาก่อน


 


แต่เกษตรกรไม่ใช่หรือที่ออกมาประท้วง อย่างเรื่องพักหนี้เกษตรกร ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว รัฐธรรมนูญกลับกลายเป็นเรื่องไกลตัว จะอธิบายอย่างไร


ผมคิดว่ามีอะไรมากกว่านั้น คือว่าเกษตรกรเป็นหนี้เป็นสินจนต้องเรียกร้องให้มีการพักหนี้ เมื่อกี้เห็นไหมว่า เป็นเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ พอนโยบายเศรษฐกิจมาจากใคร มาจากนักการเมือง นักการเมืองมาจากใคร มาจากเกษตรกรเป็นผู้เลือก เห็นไหม มันเชื่อมโยงกันไปหมด เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญก็จะต้องออกแบบ เพื่อจะให้เราได้ตัวแทนที่เข้าไปทำหน้าที่ เป็นคนดี แล้วก็ออกแบบนโยบายเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อเกษตรกร มากกว่าเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตัวเอง เมื่อกี้เราก็อภิปรายเรื่องสารเคมีว่าเป็นผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจ ถ้าเกิดกลุ่มธุรกิจกับนักการเมือง เขาเป็นพวกเดียวกัน เสร็จเลย เราก็ไม่มีตัวแทนต่อสู้เรื่องราวที่มีประโยชน์ต่อเกษตร เพราะฉะนั้นในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน เกษตรกรก็ต้องเลือกนักการเมืองที่ไปทำหน้าที่กับพี่น้องเกษตรกรได้ อย่าเห็นประโยชน์เฉพาะหน้าเพียงชั่วครั้งชั่วคราว เพียงแค่ช่วงเลือกตั้ง เขาให้เรานิดๆ หน่อยๆ พอไปถึงตรงนั้นแล้ว เขาก็ไปกินก้อนใหญ่ แล้วเราก็ลำบากเหมือนเดิม


 


มองเกษตรกรกับภารกิจการร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร


เกษตรกรควรจะเข้ามามีส่วนร่วม ติดตาม ว่าเขาไปถึงไหนกันแล้ว มีความคิดเห็น แสดงความเห็น แสดงความเห็นแบบพูดไม่ถนัด เขียนก็ได้ เขียนภาษาชาวบ้านๆ มีเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ไหน พูด แสดงออก เป็นโอกาสที่เสียงเล็กๆ ของพี่น้องเกษตรกรจะได้สะท้อนถึงความต้องการ แล้วถ้าเกิดรวมกลุ่มเป็นเครือข่าย เป็นองค์กร นำเสนอข้อสรุปร่วม เป็นองค์กรเป็นเครือข่าย ก็จะมีน้ำหนักมากขึ้น แต่โดยส่วนตัวของผมในฐานะที่คลุกคลีกับภาคเกษตรกรมาตลอด ผมเสนอเรื่องให้บรรจุเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงลงในรัฐธรรมนูญ เพราะผมมองว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มันเป็นหลักคิดที่จะช่วยประคองสถานการณ์การทำมาหากินของคนทุกระดับให้อยู่รอดปลอดภัยได้มีภูมิคุ้มกัน ไม่เกิดความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงไป ผมเชื่อมั่นมากว่า ถ้ามีการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ในการใช้ชีวิต ในการทำงาน ในการทำการเกษตร เมื่อเราอยู่รอดพึ่งตัวเองได้ ใครมาซื้อเราก็ไม่ขาย นี่เป็นการแก้ปัญหาการเมืองที่ต้นทาง ถ้านักการเมืองรู้จักพอ ไม่โกง ถ้าชาวบ้านรู้จักพอไม่ขายเสียง แล้วการเมืองมันก็ดีขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net